นายกฯ อาเบะยุบสภา คุมเกมการเมือง เดินหน้าตีความรัฐธรรมนูญใหม่

นายชินโซ อาเบะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดเลือกตั้งส.ส.ใหม่ในวันที่ 14 ธันวาคม ภายหลังจากรัฐบาลประกาศเลื่อนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 จากเดือนตุลาคม 2015 เป็นเมษายน 2017 นายกฯ อาเบะกล่าวว่า “การยุบสภาครั้งนี้คือการยุบ Abenomics ... การเลือกตั้งเป็นการถามว่าต้องการให้ดำเนิน Abenomics ต่อไปหรือไม่” พรรคฝ่ายค้านมักวิพากษ์ว่า Abenomics ล้มเหลว “ข้าพเจ้าจึงต้องการถามประชาชนว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเราถูกต้องหรือไม่”
            ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น ส.ส.ที่เข้ามาจะทำหน้าที่ในวาระ 2 ปีที่เหลือ จากวาระเต็ม 4 ปี ปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาล LDP-Komeito มี 325 เสียง จาก 480 เสียง หรือเท่ากับร้อยละ 68 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด
วิพากษ์ ข้ออ้างการยุบสภา :
            เหตุผลการยุบสภาเป็นประเด็นที่สังคมญี่ปุ่นถกเถียงกันมาก จากการประมวลและวิเคราะห์ มีประเด็นสำคัญๆ คือ
            ประการแรก เศรษฐกิจหดตัว ประชาชนสนับสนุนเลื่อนการเพิ่มภาษี
            การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 กลายเป็นข่าวใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนพากันตกใจเมื่อจีดีพีไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคกับบริษัทต่างๆ ลดการใช้จ่ายหลังจากรัฐบาลขึ้นภาษีผู้บริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมาจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 การหดตัวไตรมาส 3 เป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน (ไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบต่อไตรมาสเดียวกัน)
            ผลสำรวจของ Yomiuri Shimbun เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พบว่าประชาชนร้อยละ 71 ไม่เห็นด้วยหากจะขึ้นภาษีอีกครั้ง มีเพียงร้อยละ 26 ที่สนับสนุน สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดที่ทำเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนของ Kyodo News พบว่าร้อยละ 65.4 เห็นด้วยกับการเลื่อนขึ้นภาษี ร้อยละ 28.4 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

            นักวิเคราะห์บางคนเชื่อมโยงประเด็นเศรษฐกิจหดตัวเข้ากับคะแนนนิยมรัฐบาลอาเบะ ผลสำรวจที่เผยแพร่แสดงหลักฐานว่าคะแนนนิยมรัฐบาลเริ่มตก เช่น ผลสำรวจของ Yomiuri Shimbun เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมชี้ว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลอาเบะลดลงเหลือร้อยละ 53 หลังเหตุรัฐมนตรี 2 คนต้องลาออกเนื่องจากเหตุอื้อฉาว คะแนนดังกล่าวลดลง 9 จุดเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อต้นเดือนตุลาคม
            ข้อวิพากษ์คือ แม้คะแนนนิยมจะลดลงบ้างแต่ยังทิ้งห่างแกนนำพรรคฝ่ายค้านหลายช่วงตัว ผลสำรวจเดียวกันพบว่าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ของนายกฯ อาเบะยังมีความนิยมถึงร้อยละ 42 ลดลงเพียง 3 จุด ส่วนพรรคฝ่ายค้าน Democratic Party of Japan (DPJ) ได้คะแนนนิยมเพิ่มจากร้อยละ 4 เป็น 9 เท่านั้น จึงประเมินว่าผลการเลือกตั้งใหม่พรรคฝ่ายรัฐบาลอาจสูญเสียที่นั่งบ้าง แต่เป็นจำนวนเล็กน้อย คาดว่าผลการเลือกตั้งใหม่พรรครัฐบาลยังสามารถครองเสียงข้างมากเช่นเคย
            ผลสำรวจล่าสุดที่ทำเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนของ Kyodo News ยืนยันทิศทางดังกล่าว แม้ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 63.1 ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา แต่เมื่อถามว่ายังจะสนับสนุนรัฐบาลอาเบะต่อไปหรือไม่ ร้อยละ 47.4 ตอบว่าสนับสนุน ร้อยละ 44.1 ไม่สนับสนุน
            นอกจากนี้ การขึ้นภาษีไม่ใช่การริเริ่มของรัฐบาลอาเบะ แต่เป็นนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน นำโดยพรรค DPJ (ซึ่งขณะนี้เป็นแกนนำฝ่ายค้าน) ได้ข้อสรุปให้ขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 โดยแยกขึ้นเป็น 2 ช่วง รัฐบาลอาเบะเป็นเพียงผู้รับช่วงทำหน้าที่ต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้วเท่านั้น ดังนั้น แม้ประชาชนจำนวนมากจะส่งเสียงไม่พอใจเรื่องการขึ้นภาษี แต่ไม่อาจโทษรัฐบาลปัจจุบัน ในทางกลับกันควรขอบคุณรัฐบาลอาเบะที่เลื่อนการขึ้นภาษีระลอก 2 ตอบสนองสถานการณ์ทันท่วงที
            ตามแนววิเคราะห์นี้ การเลื่อนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มรอบ 2 นอกจากผ่อนคลายเศรษฐกิจหดตัว ยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของประชาชน  การเลือกตั้งจะเป็นการทดสอบแรงสนับสนุนจากประชาชน ช่วยให้รัฐบาลอาเบะสามารถประเมินว่าจะขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรในปีหน้า ทั้งยังมีร่างกฎหมายสำคัญๆ บางฉบับกำลังรอพิจารณา

            ซาซากิ คูชิมา (Sasaki kushima) นักวิชาการจาก University of Tokyo เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นแผนกระชับอำนาจ เป็นแผนมองการณ์ไกล แม้ว่าพรรค LDP ของนายฯ อาเบะน่าจะได้ที่นั่งลดลง (ปัจจุบันมี 294 จาก 480) แต่การจัดเลือกตั้งใหม่โดยเร็วดีกว่าปล่อยให้ล่าช้าออกไป

            ประการที่ 2 เป้าหมายสูงสุดคือการตีความรัฐธรรมนูญใหม่
            นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการขึ้นภาษีผู้บริโภคอาจไม่ใช่เหตุผลสำคัญ และชี้ว่าในปีหน้ารัฐสภาจะต้องพิจารณาเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง เช่น การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ภายหลังโศกนาฏกรรมฟูคูชิมะเมื่อ 3 ปีก่อนซึ่งยังมีผู้คัดค้านจำนวนมาก แต่ประเด็นที่สำคัญมากๆ คือการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเพิ่มขอบเขตนิยามการป้องกันตนเอง อนุญาตให้ญี่ปุ่นสามารถประกาศทำสงครามในบางกรณี เช่น พันธมิตรถูกโจมตี
            รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับปัจจุบันไม่สามารถประกาศทำสงครามเนื่องจากสหรัฐควบคุมให้ญี่ปุ่นร่างรัฐธรรมนูญเช่นนั้น หลังจากเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป้าหมายของรัฐธรรมนูญปัจจุบันคือ วางกรอบใช้อำนาจการรบเพื่อการป้องกันตนเองเท่านั้น (defense-only defense) ไม่เอื้อต่อยุทธศาสตร์แม่บทของรัฐบาลอาเบะ ที่เปลี่ยนจาก “passive pacifism” มาเป็น “proactive pacifism”  ร่วมกับแนวคิด “Dynamic Joint Defense Force” อันหมายถึงการทำงานร่วมกัน ร่วมรักษาความมั่นคงกับกองกำลังประเทศต่างๆ ถ้ากองกำลังพันธมิตรโดนโจมตี กองทัพญี่ปุ่นสามารถเปิดฉากตีโต้ได้

            ถ้ามองเรื่องนี้ย้อนหลัง จะเห็นภาพชัดว่านับจากนายชินโซ อาเบะดำรงตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่นจุดประเด็นเผชิญหน้าจีนในหลายระลอก เริ่มจากรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อความเป็นเจ้าเหนือหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู เรือรบและอากาศยานของ 2 ฝ่ายเผชิญหน้าซึ่งกันและกันบ่อยครั้ง และในเดือนธันวาคม 2013 นายกฯ อาเบะ เยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) กลายเป็นประเด็นปะทะคารมระหว่างประเทศ
            ฝ่ายจีนตอบโต้ด้วยการขุดเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ความโหดเหี้ยมของทหารญี่ปุ่น ที่ฆ่าล้างผลาญชาวจีนนับแสน กดขี่ข่มเหงสตรี เช่น การยกประเด็นสงครามนานกิง การบังคับผู้หญิงให้เป็นหญิงบำเรอ (comfort women) ชี้ว่ารัฐบาลอาเบะกำลังหวนคืนสู่ลัทธิทหารนิยม
            ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดก็ปรากฏข่าวรัฐบาลอาเบะกำลังร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ เนื้อหาส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับการแผ่ขยายอำนาจของจีน และรัฐบาลญี่ปุ่นหวังตีความรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเพิ่มขอบเขตนิยามการป้องกันตนเอง
            เป็นการยากที่จะหาหลักฐานว่านายกฯ อาเบะตั้งใจยุบสภาเพื่อเหตุผลเบื้องลึกประการใด แต่การวิเคราะห์มองไปข้างหน้าโดยเชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญๆ มักจะชี้นำคำตอบบางอย่างเสมอ ส่วนจะจริงเท็จเพียงไรต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

วิพากษ์ ปัญหาของการลงคะแนนเลือกตั้ง :
            หลักประชาธิปไตยตะวันตกให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคทางการเมือง จึงกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมี 1 คะแนนเสียงเท่ากัน เพื่อเข้าคูหาเลือกพรรคที่ชอบ คนที่ใช่ การใช้สิทธิ์ดังกล่าวดูเผินๆ เหมือนเป็นแนวทางที่ดี แต่ในแง่หนึ่ง การใช้สิทธิ์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่าง “หยาบ” เนื่องจากเป็นการเลือกแบบ “เหมารวม” คือ เหมารวมนโยบายพรรคทั้งที่ประกาศและยังไม่ประกาศชัดเจน ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ

            จึงมีปัญหาว่าหาก นาย ก เห็นชอบนโยบายบางอย่างของพรรครัฐบาล แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางข้อ เช่น เห็นชอบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะขยายบทบาทกองทัพ พรรคฝ่ายค้านมีนโยบายกลาโหมที่เหมาะสม แต่นักการเมืองไร้ฝีมือ ไม่เชื่อว่าจะสามารถบริหารประเทศได้ดี ภายใต้ระบบการลงคะแนนเลือกตั้งปัจจุบัน นาย ก จึงตัดสินใจเลือกพรรครัฐบาลอีกครั้ง เพราะเห็นว่า “เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด” หรือ “แย่น้อยสุด”
            ในขณะที่พรรคการเมือง กลุ่มบุคคลที่ได้อำนาจสามารถอ้างว่าเข้าสู่อำนาจด้วยความชอบธรรม บริหารประเทศตามนโยบายของตนทั้งแบบที่ประกาศชัด และที่ยังไม่ประกาศชัดแต่รวมอยู่ในชุดนโยบายทั้งหมด

            บางคนอาจอ้างว่าหากรัฐบาลออกนอกลู่นอกทาง ประชาชนสามารถแสงการคัดค้านได้ แต่ ความจริงที่นักรัฐศาสตร์รู้ดีคือ คนที่จะออกมาประท้วงคือคนที่มีสำนึกทางการเมืองสูง ซึ่งมีจำนวนน้อยเสมอ แม้กระทั่งในหมู่ประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้ว ผลที่ตามมาคือกลุ่มคนที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านมักเป็น “คนส่วนน้อย” คนส่วนใหญ่จะเลือกทำงานหาเลี้ยงชีพ ดำเนินชีวิตประจำวันต่อไป เอื้อให้ผู้ถืออำนาจสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ตามต้องการ
            นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถใช้วิธีการต่างๆ เพื่อลดทนแรงต้าน เช่น สร้างสถานการณ์ ออกข่าวเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้ประเด็นที่ประชาชนต่อต้านกลายเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ หรือไม่ก็พยายามควบคุมให้ประชาชนมุ่งจดจ่อเรื่องปากท้อง ขยันขันแข็งในการทำมาหาเลี้ยงชีพ

            การที่รัฐบาลอาเบะยุบสภา แสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองอีกครั้ง ก็เพราะคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าพรรคร่วมของตนจะได้มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป และคราวนี้จะกลับมาด้วยความชอบธรรมกว่าเดิม

            ระบอบประชาธิปไตยตะวันตก เป็นแนวทางการปกครองที่ดีระบอบหนึ่ง แต่ยังมีส่วนต้องปรับปรุงอีกมาก ระบบปัจจุบันเอื้อให้อำนาจการปกครองถูกเบี่ยงเบน มีผู้ตั้งคำถามอยู่เสมอว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (Popular sovereignty) จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ทางแก้เรื่องนี้ นอกจากเรื่องให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว ต้องเสริมด้วยการใช้ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ให้ประชาชนลงคะแนนต่อตัวนโยบายโดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำได้หรือไม่ ต้องสอบถามจากผู้รู้ด้านนี้
            และยังคงต้องถกกันอีกมากว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่กับประชาธิปไตยทางตรง นี่เป็นอีกจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกมิใช่หรือ
23 พฤศจิกายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6592 วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2557)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้เตือนนายกฯ อาเบะว่าไม่ควรก่อความตึงเครียด ควรเจรจาและสร้างความไว้วางใจมากกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมการรุกคืบของญี่ปุ่น เช่น การเพิ่มงบประมาณกลาโหม การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน การปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น การแก้ไขตำราเรียนและการเรียนการสอนที่อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา เป็นดินแดนของญี่ปุ่น
ความขัดแย้งจากการเยือนศาลเจ้ายุสากุนิไม่ใช่เรื่องใหม่ อดีตผู้นำญี่ปุ่นหลายท่านที่เคยเยือนศาลเจ้าจะตามมาด้วยการวิวาทะกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น นายกฯ อาเบะเยือนศาลเจ้าก็เพราะได้คิดไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า ได้มากกว่าเสียอาจต้องการชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของตนกำลังฟื้นตัว ไม่เกรงกลัวแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ กระชับความเป็นพันธมิตร และมั่นใจว่าความขัดแย้งอยู่ภายใต้การควบคุม
รัฐบาลจีนตั้งคำถามว่ายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่นมีเพื่อสันติภาพจริงหรือไม่ คำถามนี้เป็นคำถามเดิมๆ ตั้งแต่นายชินโซ อาเบะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ รอบ 2 ที่ลึกกว่านั้นคือสะท้อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การตอบโต้จากจีนแท้ที่จริงแล้วคือการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ด้วย

บรรณานุกรม:
1. Abe sends legislators home in ‘Abenomics dissolution’. (2014, November 21). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0001736546
2. As Abe’s political ratings fade, top official calls for delay in next sales tax hike. (2014, October 26). The Japan Times/Reuters. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/10/26/business/economy-business/abes-political-ratings-fade-top-official-calls-delay-next-sales-tax-hike/
3. Cabinet support rate dips to 53% after ministers quit. (2014, October 26). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0001671238
4. China Voice: Abe's Yasukuni Shrine visit a dangerous step. (2013, December 26). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-12/26/c_132998040.htm
5. Olmastroni, Francesco. (2014). Framing War: Public Opinion and Decision-Making in Comparative Perspective. New York: Routledge.
6. Poll finds 63% baffled by Abe’s move to dissolve Lower House. (2014, November 20). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/11/20/national/politics-diplomacy/poll-finds-63-baffled-by-abes-move-to-dissolve-lower-house/#.VG6TcjSUeRY
 7. Security draft focuses on territories. (2013, September 8). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0000570774
8. Somin, Ilya. (2013). Democracy and Political Ignorance: Why Smaller Government Is Smarter. CA: Stanford University Press.
9. Takahashi, Kosuke. (2014, February 13). Shinzo Abe’s Nationalist Strategy. The Diplomat. Retrieved from http://thediplomat.com/2014/02/shinzo-abes-nationalist-strategy/
10. Yoshida, Reiji. (2014, November 18). Abe to dissolve Lower House on Friday for Dec. 14 election. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/11/18/national/politics-diplomacy/abe-dissolve-lower-house-friday-dec-14-election/#.VGs2gzSUeRY
--------------------