ติดอาวุธพวกเคิร์ด ต่อต้านผู้ก่อการร้าย ป้องกัน IS ปะทะอิหร่าน (ตอนจบ)

ความพยายามต่อต้านกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) ที่หลายประเทศทั้งชาติตะวันตก ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังปรึกษาหารือ มีข้อสรุปเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งคือทำให้ภูมิภาคเคิร์ดมีความเป็นรัฐอธิปไตยเพิ่มขึ้นดังที่ได้อธิบายในบทความตอนที่แล้ว การติดอาวุธพวกเคิร์ดเท่ากับเป็นการปกป้องและยอมรับ “การมีตัวตน” ของพวกเขา ประเทศอิรักจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
            การติดอาวุธพวกเคิร์ด เพิ่มขีดความสามารถของกองทัพอิรัก ในด้านหนึ่งอธิบายได้ว่าคือการปกป้องพื้นที่ 2 ส่วนนี้ แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับอิหร่านโดยตรง และอาจกว้างขึ้นกว่านั้นถ้าตีความว่ากระทบต่อผู้ศรัทธาผู้เชื่อของแต่ละฝ่ายที่กระจายหลายประเทศทั่วโลก บทความนี้จะวิเคราะห์ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านโดยตรง
ยุทธศาสตร์ปิดล้อม IS :
            สถานการณ์ที่ปรากฏ ณ ขณะนี้ คือการก่อการของกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) ในซีเรียกับอิรัก องค์การนาโตอันมีสหรัฐเป็นแกนนำร่วมกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางพร้อมใจประกาศต่อต้าน ปราบปราม IS อย่างถึงที่สุด
            เมื่อพิจารณามาตรการที่ประกาศล่าสุด แนวทางที่จะดำเนินการคือสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ ตัดช่องทางสนับสนุนการเงินแก่ IS ติดอาวุธให้กับกองทัพอิรัก พวกเคิร์ด และอื่นๆ เช่น สนับสนุนการข่าว ส่วนการปราบปรามอย่างถอนรากถอนโคนนั้น ประธานาธิบดีโอบามากล่าวอีกครั้งอย่างชัดเจนว่า การรบภาคพื้นดิน “จำต้องทำให้บรรดาเผ่าซุนนีต่างๆ ในหลายพื้นที่ตระหนักว่า พวกเขาไม่อาจฝากอนาคตไว้กับลัทธิสุดโต่งของ ISIL และหันมาสู้กับ ISIL
            ทว่าการเมืองในอิรักยังไม่ชัดเจน แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมานายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอิรักคนใหม่อย่างเป็นทางการ และได้ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเกือบครบทุกตำแหน่ง แต่ยังไม่มีทีท่าว่าพร้อมจะส่งกองทัพอิรักเข้าปราบปราม IS ประเด็นสำคัญที่สุดยังอยู่ที่ความร่วมมือจากพวกซุนนีท้องถิ่น
            ในขณะที่นับวัน IS สามารถลงหลักปักฐานในอิรักอย่างมั่นคงมากขึ้น มีผู้เข้าร่วมขบวนการมากขึ้น ล่าสุดซีไอเอประเมินว่า IS มีกองกำลังทั้งหมดที่อยู่ในซีเรียกับอิรักราว 31,000 นาย มากกว่าประเมินครั้งก่อนถึง 3 เท่าตัว ส่วน Syrian Observatory for Human Rights ประเมินว่ามีกว่า 50,000 นายแล้ว

แผนสร้างรัฐกันชน ป้องกัน IS ปะทะอิหร่าน :
            ในแง่มุมหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าสหรัฐกับพันธมิตรยังไม่เร่งรีบปราบปราม IS มุ่งให้ความสำคัญกับการบั่นทอนกำลัง การปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลเป็นหลัก
            ฝ่าย IS ก็มีข้อจำกัดในตัวเองเช่น คือ ต้องปฏิบัติการในเขตพื้นที่ที่คนท้องถิ่นสนับสนุน (หรือไม่ค่อยต่อต้าน) ดังนั้น แม้ว่า IS มีกองกำลังมากขึ้น และมีอาวุธหนักเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่อาจต่อกรกับกองทัพของประเทศใกล้เคียงที่มีความพร้อมรบ ไม่อาจต่อกรกับกองทัพอิหร่าน อิรัก (ในพื้นที่ถิ่นอาศัยชีอะห์) แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า IS จะไม่ใช้วิธีลอบโจมตี ซุ่มโจมตีตามแบบฉบับการรบแบบกองโจร ที่คอยรังควานแนวชายแดนหรือแอบรุกเข้าไปในดินแดนฝ่ายตรงข้าม หรืออาจใช้ “อาวุธพิเศษ” ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ผลลัพธ์ที่ได้คือจะทำให้สถานการณ์ภูมิภาคตึงเครียด ประเทศที่ถูกโจมตีต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมถึงการส่งกองทัพเข้าปราบปราม IS ซึ่งประเทศที่ทำเช่นนั้นมีความชอบธรรมไม่น้อยเลยทีเดียว
            แต่หากประเทศที่ส่งกองทัพเข้าปราบปราม IS เป็นอิหร่าน น่าคิดว่าจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในภูมิภาคหรือไม่ ท่าทีของรัฐบาลอิหร่านที่ผ่านมาชี้ว่าอิหร่านระมัดระวังไม่ต้องการให้เกิดภาพสงครามระหว่างซุนนีกับชีอะห์

สงครามซุนนีกับชีอะห์ :
            กระแสสงครามศาสนาระหว่างพวกซุนนีกับชีอะห์ เริ่มปรากฏชัดเจนตั้งแต่ IS เริ่มรุกครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นาย Nickolay Mladenov ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เคยเตือนว่าปัญหาของอิรักไม่อาจแก้ด้วยการใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว ต้องใช้กระบวนทางการเมืองด้วย นอกจากนี้ ความขัดแย้งอาจบานปลายเป็นสงครามศาสนาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างได้แสดงจุดยืนค่อนข้างแน่ชัด
            นาย Mladenov ประเมินตั้งแต่ต้นว่า IS ไม่เข้มแข็งพอที่จะรุกคืบยึดกรุงแบกแดด เพราะกรุงแบกแดดเต็มด้วยทหารอิรัก (ไม่นับรวมประชาชนชีอะห์ที่จับอาวุธต่อต้านผู้ก่อการร้าย)

            ในช่วงนั้น แกรนด์ อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี (Grand Ayatollah Ali Al-Sistani) ผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์ในอิรัก ประกาศอย่างชัดแจ้งขอให้ “พลเมืองทุกคน โดยเฉพาะในเขตที่มีทั้งพวกซุนนีกับชีอะห์อาศัยอยู่ด้วยกัน จะต้องยับยั้งชั่งใจมากที่สุดและกระชับความสัมพันธ์สองฝ่ายด้วยความรัก หลีกเลี่ยงการแสดงออกทางศาสนาที่อาจส่งผลต่อเอกภาพของประเทศอิรัก และหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือความเป็นกองทัพอิรัก”
            จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ IS กำลังรุกหนักนั้น มีกระแสของสงครามศาสนาอย่างชัดเจน จนผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์อิรักเรียกร้องให้ต่อสู้กับ “ผู้ก่อการร้าย” ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อ “นิกายศาสนา” ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกชักจูงว่าเป็นสงครามระหว่างชีอะห์กับซุนนี ย้ำว่า ISIL คือผู้ก่อการร้ายไม่ใช่พวกซุนนี ในขณะที่ ISIL มีเป้าต่อต้านชีอะห์อย่างชัดเจน ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในอิรักเป็นหลักฐานที่ชัดเจน

            ทางด้านรัฐบาลอิหร่านก็แสดงท่าทีระมัดระวังไม่ให้เป็นสงครามศาสนาเช่นกัน เช่น เมื่อมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลโอบามาต้องการร่วมมือกับอิหร่านเพื่อกำจัดกองกำลัง IS ในอิรัก โดยสหรัฐจะสนับสนุนการรบทางอากาศ และให้อิหร่านส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน ทางการอิหร่านปฏิเสธทันควัน นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน กล่าวว่ากองกำลังอิรักทั้งหมดมีศัตรูร่วม นั่นคือผู้ก่อการร้าย ไม่มีกองกำลังอิหร่านในอิรัก แต่อิหร่านพร้อมที่จะช่วยอิรักและพวกเคิร์ด และย้ำว่าลัทธิก่อการร้าย ลัทธิสุดโต่งในอิรักเป็นภัยคุกคามต่อโลก เป็นภัยคุกคามต่อทั้งพวกชีอะห์ ซุนนีและพวกเคิร์ด
            การให้ความร่วมมือของอิหร่าน ขยายความได้ว่า รัฐบาลโรฮานีอยู่ในช่วงเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาหนักมาหลายปี นี่คือนโยบายสำคัญที่สุด ในการนี้จำต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านอาหรับ จึงไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ใดๆ มาทำลายบรรยากาศ

            การส่งกำลังเข้าร่วมรบให้อิรัก อาจเป็นโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ไม่หวังดีสร้างกระแสสงครามระหว่างนิกาย IS หรือพวกซุนนีบางกลุ่มบางฝ่ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอาจประกาศญิฮาดกับชีอะห์ ส่งผลต่อการฟื้นฟูประเทศอิหร่านอย่างรุนแรง

            มีผู้พยายามพูดถึงผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้หากร่วมมือกับสหรัฐ เช่น ปัญหาอันเนื่องจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา การยกเลิกการคว่ำบาตร การปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลอิหร่านให้ความสำคัญและเรียกร้องมาโดยตลอด
            ประเด็นที่เป็นคำถามคือ รัฐบาลโอบมามีอำนาจมากพอที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืนหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงการหยิบยื่นผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ชั่วครั้งชั่วคราวแก่อิหร่าน หากเชื่อว่ายุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐคือจัดการอิหร่าน ดังเช่นการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ดังนั้น การเข้าทำสงครามปราบปราม IS ในอิรักจึงได้ไม่คุ้มเสีย

            ข้อเท็จจริงคือ ทางการอิหร่านไม่เคยไว้ใจรัฐบาลสหรัฐและไม่เชื่อว่าจะรัฐบาลโอบามาจะมีอำนาจเพียงพอ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายประเทศ เช่น อิสราเอล

            โดยสรุปคือ รัฐบาลโรฮานีตัดสินใจอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวจนเป็นเหตุให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามศาสนา การสร้างรัฐกันชนจึงตอบโจทย์ เป็นแนวป้องกันไม่ให้กองกำลัง IS รุกเข้ามาในดินแดนของอิหร่าน

            เมื่อดูแผนที่จะเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ณ ขณะนี้ กองกำลัง IS มีอิทธิพลอยู่ในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของซีเรีย (ซึ่งติดต่อกับอิรัก) ส่วนในอิรักนั้น IS มีอิทธิพลอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก
            ถ้ามองเฉพาะอิรัก สามารถแบ่งประเทศอิรักในขณะนี้อย่างง่ายๆ โดยแบ่งเป็น “อิรักตะวันออก” กับ “อิรักตะวันตก” ฝั่งอิรักตะวันตกคือพื้นที่ที่อยู่ใต้อิทธิพลของ IS ส่วนอิรักตะวันออกซึ่งมีพรมแดนติดกับอิหร่านนั้น สามารถแบ่งออกเป็นตอนเหนือกับตอนใต้ “อิรักตะวันออกตอนเหนือ” คือพื้นที่อิทธิพลของพวกเคิร์ด ส่วน “อิรักตะวันออกตอนใต้” คือพื้นที่อิทธิพลของรัฐบาลแบกแดดและเป็นถิ่นอาศัยของพวกชีอะห์
            หนึ่งในยุทธศาสตร์ปราบปราม IS คือสกัดกั้น IS ให้จำกัดอยู่ใน “อิรักตะวันตก” เท่านั้น และเสริมสร้าง “อิรักตะวันออก” ให้เป็นแนวป้องกันหรือรัฐกันชน ไม่ให้ IS ขยายอิทธิพลไปทางตะวันออกมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดจะเกิดการปะทะกับอิหร่าน

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            บทความนี้อธิบายในประเด็นว่า การก่อการของ IS มีผลต่อการสร้างกระแสสงครามระหว่างนิกาย ซึ่งรัฐบาลอิหร่านระมัดระวังตัวอย่างยิ่ง ผลลัพธ์คือติดอาวุธให้กับพวกเคิร์ด สนับสนุนรัฐบาลแบกแดด เพื่อให้อิรักตะวันออกกลายเป็น “รัฐกันชน” ป้องกันไม่ให้กองกำลัง IS เข้ามาก่อกวน สร้างสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลาย กลายเป็นสงครามระหว่าง IS กับอิหร่าน
            ยุทธศาสตร์ปราบปราม IS ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เป็นผลประโยชน์ของหลายประเทศหลายกลุ่มที่ต่างมุ่งหวังใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ และสร้างยุทธศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์แก่ตนมากที่สุด ไม่ได้ตอบสนองประเทศใดเพียงประเทศเดียว และไม่ใช่ประเทศใดเพียงประเทศเดียวที่สามารถควบคุมยุทธศาสตร์ทั้งหมด นโยบายบางข้อมีทั้งผลดีและผลเสียในตัวเอง เช่น การโจมตีทางอากาศ สถานการณ์ที่เกิดจากการก่อการของ IS ยังมีเป็นประเด็นสำคัญๆ ที่น่าติดตามและวิเคราะห์อีกมาก ระบบระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเปลี่ยนแปลง
14 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6522 วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ.2557)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
รัฐบาลชาติตะวันตกหลายประเทศหยิบยกประเด็นพลเรือนของตนที่เข้าร่วม IS จะกลับมาก่อเหตุก่อการร้ายที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จึงเห็นว่าควรดำเนินมาตรการป้องกันหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการติดอาวุธพวกเคิร์ด ซึ่งเป็นการปิดล้อมพื้นที่อิทธิพลของกองกำลัง IS ไม่ให้ขยายออกไปทางทิศตะวันออกให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ผลกระทบต่อประเทศอิรักคือพวกเคิร์ดมีความเป็นอธิปไตยมากขึ้น เท่ากับว่าอิรักสูญเสียอธิปไตย
ในมุมหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่า IS เป็นภัยคุกคาม ต้องกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน ในอีกมุมหนึ่งชี้ว่าการปราบปราม IS ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทันที ที่สำคัญคือต้องรอความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะพวกซุนนี เมื่อวิเคราะห์แล้วนำสู่คำถามว่ารัฐบาลโอบามามีความตั้งใจปราบปรามกองกำลัง IS มากน้อยเพียงใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 
วิกฤตอิรักรอบใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน ในตอนแรกนั้นสื่อมุ่งกล่าวถึงกองกำลัง ISIL/ISIS ที่สามารถยึดครองหลายเมืองได้อย่างรวดเร็ว แต่ล่าสุดการบรรยายเหตุการณ์ในอิรักให้ความสำคัญกับการลุกฮือของพวกซุนนีอิรัก ภาพวิกฤตอิรักจึงกลายเป็นสงครามระหว่างรัฐบาลชีอะห์ผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน (โดยเฉพาะพวกซุนนี) กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนอิรักผู้นับถือนิกายซุนนี กองกำลัง ISIL สถานการณ์ในอิรักจึงคล้ายสงครามกลางเมืองซีเรียมากขึ้นทุกที

บรรณานุกรม:
1. Iran proved it backs Iraq in tough times: Barzani. (2014, August 27). Tehran Times. Retrieved from http://tehrantimes.com/politics/117981-iran-proved-it-backs-iraq-in-tough-times-barzani
2. ISIS Sanctuary Map: September 10, 2014. (2014, September 10). The Institute for the Study of War. Retrieved from http://www.understandingwar.org/backgrounder/isis-sanctuary-map-september-10-2014
3. Islamic State fighter estimate triples - CIA. (2014, September 12). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-middle-east-29169914
4. Islamic State 'has 50,000 fighters in Syria'. (2014, August 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/08/islamic-state-50000-fighters-syria-2014819184258421392.html)
5. Mamouri, Ali. (2014, June 16). Sistani stresses need for unity over sectarianism in battle for Iraq. Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2014/06/iraq-isis-crisis-sistani-avoid-sectarianism.html
6. Remarks by President Obama at NATO Summit Press Conference. (2014, September 5). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/05/weekly-address-time-give-middle-class-chance
7. UN Envoy for Iraq: ISIL Militants Well-Funded. (2014, June 26). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930405000725
--------------------------