อาเบะเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ มุมมองของฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน

เกือบ 2 เดือนเต็มหลังจากที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) เมื่อปลายปีที่แล้ว กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางการจีน เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือที่ออกมาประท้วง เกิดการตอบโต้ไปมา และลุกลามไปสู่ประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ
            ความขัดแย้งอันเนื่องจากศาลเจ้ายาสุกุนิไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นซ้ำหลายรอบแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและยังเป็นประเด็นร้อนในปัจจุบัน การจะเข้าใจดังกล่าวจำต้องเอ่ยถึงเรื่องราวของศาลเจ้าก่อนดังนี้
ความหมายโดยนัยของศาลเจ้ายาสุกุนิ :
            ศาลเจ้ายาสุกุนิเป็นศาลเจ้าของลัทธิชินโต (Shinto) สร้างขึ้นเมื่อค.ศ.1869 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิให้เป็นสถานที่สถิตดวงวิญญาณของวีรชน เป็นที่เก็บอัฐิ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นได้สักการะทหารหาญผู้พลีชีพ ปัจจุบันมีรายชื่อถึง 2.47 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 2 ล้านคนเป็นผู้เสียชีวิตจากช่วงปี 1931-1945 หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
            ตามความเชื่อของลัทธิชินโต วีรชนเหล่านี้จะได้รับการสักการะในฐานะ “เจ้า” ผู้ปกปักษ์รักษาและอำนวยพรแก่คนรุ่นหลัง
            ในอีกด้านหนึ่ง ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ลัทธิทหารนิยม ประวัติศาสตร์สงคราม หลายเรื่องราวที่ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างประเทศ
            ประเด็นปมขัดแย้งหลักอยู่ตรงที่การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ มีค่าเท่ากับให้ความเคารพต่อทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งบุคคลสำคัญ 14 คนที่ถือว่าเป็นอาชญากรสงครามระดับ A (Class A) หลายคนเกี่ยวข้องกับการทำลายล้างนานกิง (ช่วงเดือนธันวาคม 1937-กุมภาพันธ์ 1938) ที่กองทัพญี่ปุ่นละเมิดกฎหมายสงคราม (Law of War) และสนธิสัญญาอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นได้ลงนาม ใจความหลักคือ การทำสงครามรุกราน (Aggressive War) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาตินั้นเป็นความผิด มีบทลงโทษต่อบุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐ ซึ่งใช้สงครามรุกรานชาติอื่นเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย เพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ
            เฉพาะกรณีการทำลายล้างนานกิง มีคำพิพากษาว่าบุคคลสำคัญระดับผู้นำ รวมทั้งนายฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยนั้น ได้สมรู้ร่วมคิดและรู้เห็นการละเมิดกฎหมายสงครามในช่วง 6 สัปดาห์แรกของการยึดครองนานกิง ทหารญี่ปุ่นได้สังหารเชลยศึกและพลเมืองไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน และข่มขืนสตรีมากกว่า 2 หมื่นราย
            แต่นับจากปี 1978 เป็นต้นมา ทั้ง 14 คนได้รับการยกย่องว่าเป็น เจ้า ของลัทธิชินโต ซึ่งผูกโยงกับการบูชาจักรพรรดิ ส่งเสริมให้ประชาชนจงรักภักดีต่อรัฐบาลและสนับสนุนการทำสงคราม

            นอกจากการเป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ศาลเจ้ายาสุกุนิยังมีเป้าหมายให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไม่ผ่านประสบการณ์สงคราม และไม่มีคนในครอบครัวที่เสียชีวิตจากสงครามได้เรียนรู้ซึมซับเรื่องราวในอดีต ซึ่งได้ผลพอสมควร กิจกรรมในหลายเทศกาลได้ดึงดูดผู้เข้าสักการะครั้งละนับแสนคน เช่น ช่วงปีใหม่ เทศกาลเฉลิมฉลอง ‘Summer all Souls’ (Obon) มีประชาชนผู้เข้าร่วมงาน 2-3 แสนคน
            ศาลเจ้ายาสุกุนิจึงมีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของประเทศ มุ่งส่งเสริมลัทธิชาตินิยม ให้รู้สึกรักประเทศ มีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่นับถือลัทธิชินโต (ปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากรราว 127.2 ล้านคน (ข้อมูลปี 2013) ร้อยละ 83.9 นับถือลัทธิชินโต ร้อยละ 71.4 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2 นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือร้อยละ 7.8 นับถือศาสนาอื่นๆ เหตุที่จำนวนเปอร์เซ็นต์รวมเกิน 100 เนื่องจากหลายคนนับถือทั้งลัทธิชินโตกับศาสนาพุทธพร้อมกัน)
            ญี่ปุ่นมีศาลเจ้าจำนวนมาก แต่ศาลเจ้ายาสุกุนิมีความพิเศษแตกต่าง เป็นที่เก็บอัฐิของวีรชน เป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น เป็นที่ซึ่งบุคคลสำคัญของประเทศจะไปเคารพสักการะ
            โดยไปทั่ว การที่ผู้นำประเทศคนหนึ่งไปวัดไปโบสถ์ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ผู้นำนานาประเทศกระทำเป็นปกติ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน แต่ละฝ่ายมีเหตุผลของตนเอง ในที่นี้ขอนำเสนอเหตุผลสำคัญและข้อโต้แย้งบางประการ ดังนี้

ศาลเจ้าเป็นตัวแทนของแนวคิดการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อจักรพรรดิ :
            ฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่าศาลเจ้าเป็นตัวแทนของแนวคิดการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อจักรพรรดิญี่ปุ่น เป็นความเชื่อบนพื้นฐานที่ว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครองโลก ชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่เหนือกว่าชนชาติใดในโลก สมควรจะเป็นผู้ปกครองเอเชีย การที่ชาวญี่ปุ่นสมัครเป็นทหารเข้าทำสงครามจึงเป็นเรื่องที่มีเกียรติ สมควรยกย่อง เช่นเดียวกับที่ตัวสงครามได้รับการสดุดีว่าเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์”
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทหารญี่ปุ่นจึงทำสงครามโดยพื้นฐานของความเชื่อ หลายคนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องดีงาม กำลังช่วยชาวเอเชียให้ได้รับสิ่งดีที่มาจากญี่ปุ่น แต่ในมุมของผู้ถูกรุกราน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือเกาหลีย่อมไม่เห็นด้วยกับความเชื่อเช่นนั้น
            หากมองในภาพกว้างจะเห็นได้ว่า ในยุคล่าอาณานิคม ลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกอ้างการสร้างความเจริญแก่พวกผิวเหลือง ผิวดำ ส่วนลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นอ้างเรื่องปลดปล่อยชาวเอเชียจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก และสร้างความไพบูลย์ของชาวเอเชียร่วมกัน

            แม้ว่าความเชื่อดังกล่าวจะขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนชาติอื่น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรวมทั้งบุคคลผู้มีตำแหน่งระดับสูงหลายคนในปัจจุบัน ยังคงมองการทำสงครามของญี่ปุ่นในแง่การปลดปล่อยชาวเอเชีย เช่น ในปี 1994 นายชิน ซากุไร รัฐมนตรีทบวงสิ่งแวดล้อม กล่าวอย่างชัดเจนว่า “การทำสงครามของญี่ปุ่นไม่ใช่การรุกราน แต่เป็นการช่วยปลดปล่อยประเทศในเอเชียจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก และยังเป็นการช่วยให้ประเทศในเอเชียสามารถพัฒนาประเทศในภายหลัง”
            ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่า จนถึงทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสนับสนุนนายกฯ ญี่ปุ่นให้ไปสักการะศาลเจ้า เฉพาะสมาชิกของสมาคมผู้สูญเสียจากสงคราม 1 ล้านครอบครัวให้การสนับสนุนเต็มที่
            ในขณะเดียวกัน ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นทุกคนจะเห็นด้วย อดีตนายกรัฐมนตรี ยาสึฮิโร นากาโซเนะ (Yasuhiro Nakasone) เคยกล่าวเตือนไว้อย่างชัดเจนว่า การรื้อฟื้นชาตินิยมญี่ปุ่น “จะสร้างความรู้สึกเผชิญหน้าระหว่างผู้นำรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังที่ได้แสดงให้เห็นในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน”

นายกรัฐมนตรีไปเยือนศาลเจ้าส่อนัยยะอะไร :
            ประเทศที่คัดค้านการเยือนอย่างรุนแรง เช่น จีน จะตั้งคำถามว่าการที่ผู้นำประเทศญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ามีความหมายอย่างไร คำถามที่เจาะจงกว่านี้คือ ทหารผู้เสียชีวิตเหล่านั้นประกอบด้วยอาชญากรสงครามระดับ A ที่วางแผน ก่อการรุกรานประเทศอื่น ทำให้พลเรือนประเทศอื่นบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เกิดคำถามว่านายกฯ ญี่ปุ่นไปบูชาเทิดทูนอาชญากรสงครามด้วยเหตุผลใด อะไรคือเป้าหมายเบื้องหลัง
          The Rodong Sinmun สื่อของทางการเกาหลีเหนือชี้ว่า การที่ผู้นำประเทศเยือนศาลเจ้าคือการประกาศว่าอาชญากรสงครามเหล่านั้นเป็น “วีรบุรุษ” เป็น “ผู้รักชาติ” เป็นการประกาศว่าการทำสงครามรุกรานประเทศอื่นๆ ในสมัยนั้นเป็นการกระทำที่น่ายกย่อง แสดงให้เห็นว่านายกฯ อาเบะฝักใฝ่ลัทธิทหารนิยม และพยายามชักชวนให้ชาวญี่ปุ่นเป็นเช่นนั้นด้วย
            ฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะจีน เกาหลี จึงพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นฝ่ายขวาส่อเจตนาใฝ่สงคราม ต้องการยึดครองประเทศอื่นๆ เป็นผู้สร้างความหายนะแก่ประเทศของพวกเขา และมักจะหยิบยกประวัติศาสตร์บางตอนขึ้นมาเพื่อบรรยายความโหดร้ายของสงครามสมัยนั้น เช่น การทำลายล้างนานกิง การบังคับหญิงต่างชาติให้เป็นหญิงบำเรอ (comfort women) การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การนำมนุษย์มาทดลองอาวุธเคมีกับชีวภาพ
            ข้อมูลเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยไม่เคยรับรู้มาก่อน เนื่องจากไม่อยู่ในตำราเรียนของพวกเขา ประวัติศาสตร์ยุคนี้ที่พวกเขาได้อ่านได้ฟังจากในประเทศไม่พูดทำนองนั้น
            นายเจฟ คิงส์ตัน (Jeff Kingston) ผู้ศึกษาเรื่องราวศาลเจ้ายาสุกุนิ ชี้ว่าตัวศาลเจ้ากับพิพิธภัณฑ์ยูชูกัง (Yushukan) ที่อยู่ติดกัน เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ มีเป้าหมายให้ผู้เข้าชมเข้าใจประวัติศาสตร์เพียงบางแง่มุมที่เชิดชูลัทธิชาตินิยม ลัทธิทหารญี่ปุ่น โดยไม่ยอมรับเรื่องการทำลายล้างนานกิง เรื่องหญิงบำเรอ อธิบายว่ากองทัพญี่ปุ่นเป็นผู้ปลดปล่อยชาวนานกิงให้สามารถอยู่อย่างสงบสุข ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือทหารญี่ปุ่นคนใดที่เข้าสนามรบเพื่อปล้นสะดม แต่เป็นการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและประเทศที่พวกเขารัก
            นายคิงส์ตันเชื่อว่าเป้าหมายสูงสุดของศาลเจ้ายาสุกุนิกับพิพิธภัณฑ์ยูชูกัง คือการสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงคราม เป็นความชอบธรรมของผู้ชนะ

            ไม่ว่าศาลเจ้ากับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีเป้าหมายอย่างไร คนญี่ปุ่นที่ไปสักการะใช่ว่าจะเห็นตรงกันหมด ผู้ไปที่สักการะอาจไปด้วยหลายความหมาย บางคนอาจเป็นเพียงการให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตในสงคราม ไม่มีความหมายอื่น คนเหล่านี้เห็นว่าการแสดงความเคารพต่อทหารผู้เสียชีวิตในสงครามเป็นเรื่องที่สมควร เป็นเรื่องที่นานาประเทศกระทำ และไม่เห็นด้วยหากการไปสักการะที่ศาลเจ้ายาสุกุนิจะมีความหมายสนับสนุนอาชญากรสงคราม หรือสนับสนุนแนวคิดของฝ่ายขวาจัด

            เรื่องความเชื่อทางศาสนาเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ทุกคนทุกชาติต่างมีความเชื่อของตนเอง ทหารญี่ปุ่นหลายคนเข้าทำสงครามด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ ในขณะที่คนชาติอื่นย่อมมีความคิดเห็นของตนเอง เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่จบสิ้น แต่สะท้อนอีกภาพความจริงของโลกที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน แม้กระทั่งภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะคิดเห็นตรงกัน ชาวญี่ปุ่นที่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิก็ใช่ว่าจะไปด้วยความหมายเดียวกัน หรือมีความรู้สึกที่เข้มข้นตรงกัน นี่ก็เป็นอีกความจริงของโลกเช่นกัน
            การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิของนายกฯ อาเบะ กลายเป็นตัวจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาลเจ้ายาสุกุนิและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เป็นเรื่องยาวและวิเคราะห์ได้อย่างซับซ้อน หลายแง่มุมหลายมิติ จะขอนำเสนอเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
23 กุมภาพันธ์ 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6319 วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557) 
---------------------
บรรณานุกรม:
1. ธเนศ ฤดีสุนันท์. (2553). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาตินิยมจีนกับญี่ปุ่นในประเด็นสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (1937-1945). (วิทยานิพนธ์). Retrieved from http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/1296/04chapter3.pdf
2. Aides give Abe a headache on history, U.S. alliance. (2014, February 21). Japan Today/Reuters. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/aides-give-abe-a-headache-on-history-u-s-alliance-2
3. Breen, John., & Teeuwen, Mark. (2010). A New History of Shinto. UK: Blackwell Publishing.
4. Central Intelligence Agency. (2014, February 2). The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ja.html
5. Challenge of Militarist Fanatic. (2014, February 4). The Rodong Sinmun. Retrieved http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2014-02-04-0013&chAction=T
6. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley & Sons Ltd.
------------------