ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นเปิดตัวเรือรบลำใหม่
เรือลำดังกล่าวกล่าวมีลักษณะโดดเด่นหลายประการ เริ่มจากเป็นเรือรบที่ประเทศญี่ปุ่นต่อขึ้นเองและมีขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คือมีขนาดความยาว 248 เมตร มีระวางขับน้ำเต็มที่ 24,000 ตัน
ตั้งชื่อเรือว่า อิซูโม (Izumo)
ทางการญี่ปุ่นจัดให้เรือดังกล่าวเป็นเรือพิฆาต สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน 9-14
ลำ คาดว่าจะเริ่มเข้าประจำการในปี 2015
อาจย้อนอดีต ญี่ปุ่นมีความสามารถสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินมานานแล้ว
เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1941 ญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีกองเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก
เป็นผู้สร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้น คือเรือชินาโน (Shinano)
มีระวางขับน้ำถึง 62,000 ตัน (หรือหนักกว่าเรือจักรีนฤเบศรกว่า 5
เท่า) กองทัพญี่ปุ่นอาศัยกองเรือบรรทุกเครื่องบินส่งเครื่องบินรุกรานหลายประเทศ
รวมทั้งการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์นำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกเต็มตัว
ข้อวิพากษ์เรืออิซูโม:
นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมากองทัพญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเป็นกองกำลังป้องกันตนเอง
รัฐธรรมนูญจำกัดบทบาทกองทัพหวังไม่ให้เป็นผู้ก่อสงครามอีก การต่อเรืออิซูโมมีข้อวิพากษ์หลายประการ
ดังนี้
ประการแรกคือ
ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้เรืออิซูโมจัดอยู่ในชั้นเรือพิฆาต
มีหน้าที่ตรวจตราเฝ้าระวังและเป็นเรือกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุวิกฤต (surveillance
and humanitarian assistance and disaster relied missions) แต่โดยหลักการเรือพิฆาตหมายถึงเรือที่มีภารกิจหลักเพื่อปราบเรือดำน้ำ
ในขณะที่เรือพิฆาตสมัยใหม่สามารถปฏิบัติได้หลากหลายภารกิจทั้งเชิงรุกเชิงรับ เป็นข้อสงสัยเบื้องต้นว่าการจัดชั้นให้เป็นเรือพิฆาตนั้นตรงกับภารกิจที่ประกาศไว้หรือไม่
ประการที่สอง เรืออิซูโมสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ราว 9-14 เครื่อง การที่เรือรบซึ่งมีศักยภาพกำหนดให้เป็นเรือพิฆาตแต่ต้องทำหน้าที่เป็นฐานบินลอยน้ำของอากาศยานเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลและเข้ากันไม่ได้
หากจะทำหน้าที่เป็นเรือพิฆาตก็ไม่ควรทำหน้าที่เป็นฐานบินลอยน้ำ
โดยทั่วไปเรือพิฆาตมีเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือเพียง 1-2 เครื่อง เป็นจำนวนที่เหมาะสมสำหรับภารกิจของเรือพิฆาต
ช่วยให้เรือมีความคล่องตัว ไม่ใหญ่เทอะทะ ทำหน้าที่เรือพิฆาตได้อย่างเต็มที่
ทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณเมื่อเทียบกับเรืออิซูโมซึ่งมีขนาดใหญ่
การสร้างเรืออิซูโมเพื่อภารกิจของเรือพิฆาตจึงเหมือนเป็นการสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากโดยใช่เหตุ
มีข้อมูลที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับเรือหลวงจักรีนฤเบศรของไทย
เรือหลวงจักรีนฤเบศรถูกจัดชั้นว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินกลับมีขนาดเล็กกว่าอย่างชัดเจน
คือมีความยาวตลอดลำเพียง 182.6 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน
อากาศยานประจำเรือประกอบด้วยเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S จำนวน 9 เครื่อง กับเฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B จำนวน 6 เครื่อง ส่วนเรืออิซูโมยาว 248 เมตร
ระวางขับน้ำ 24,000 ตัน บรรทุกอากาศยานจำนวนใกล้เคียงกับหลวงจักรีนฤเบศร
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 ญี่ปุ่นกับฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายปราชัยพ่ายแพ้สงคราม เป็นธรรมดาที่ประเทศเหล่านี้จะถูกจำกัดขนาดกองทัพอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อสงครามขึ้นอีก
ภายใต้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นปัจจุบันจึงจำกัดให้กองทัพมีอาวุธเพื่อการป้องกันตนเองเท่านั้น
เรือบรรทุกเครื่องบินให้ภาพของอาวุธเชิงรุกมากกว่าเชิงรับไม่เหมาะสมที่ญี่ปุ่นจะมีอาวุธดังกล่าว
ข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องเลือกที่จะกำหนดให้เรืออิซูโมอยู่ในชั้นเรือพิฆาต
ทั้งๆ ที่มีลักษณะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินมากกว่า
ประการที่สาม ไม่ว่าญี่ปุ่นจะจัดชั้นเรืออิซูโมว่าเป็นเรือพิฆาตหรือเรืออะไรก็ตาม สมรรถนะของเรือคือสามารถบรรทุกอากาศยานระหว่าง 9-14 ลำ แม้ว่าในขณะนี้ทางการญี่ปุ่นจะอ้างว่าเพื่อบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนประเมินว่าเรือดังกล่าวสามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งรุ่นล่าสุด F-35 ของสหรัฐฯ ที่ญี่ปุ่นกำลังเจรจาขอซื้อ
ประการที่สาม ไม่ว่าญี่ปุ่นจะจัดชั้นเรืออิซูโมว่าเป็นเรือพิฆาตหรือเรืออะไรก็ตาม สมรรถนะของเรือคือสามารถบรรทุกอากาศยานระหว่าง 9-14 ลำ แม้ว่าในขณะนี้ทางการญี่ปุ่นจะอ้างว่าเพื่อบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนประเมินว่าเรือดังกล่าวสามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งรุ่นล่าสุด F-35 ของสหรัฐฯ ที่ญี่ปุ่นกำลังเจรจาขอซื้อ
เครื่องบิน F-35 Lightning
II เป็นเครื่องบินรบเอนกประสงค์รุ่นล่าสุดของสหรัฐฯ
เป็นหนึ่งในเครื่องบินรบหลักที่พัฒนาเพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่าหลายชนิด (เช่น F-16,
A-10, F/A-18, AV-8B) สามารถบินล่องหน หลบหลีกการตรวจจับของเรดาห์ สามารถปล่อยขีปนาวุธทั้งอากาศสู่อากาศกับอากาศสู่ภาคพื้นรุ่นล่าสุดหลากหลายชนิด
ปฏิบัติภารกิจได้ทั้งเชิงรุกเชิงรับ
ขีดความสามารถของเรืออิซูโมจึงขึ้นกับอาวุธที่ติดตั้ง
โดยเฉพาะอากาศยานที่ประจำการบนเรือ หากบรรทุกเครื่องบิน F-35 จะส่งผลทำให้เรือมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องการบรรทุกเครื่องบิน
F-35 เป็นเพียงสมมุติฐานที่รอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
ประการที่สี่ ญี่ปุ่นอ้างว่าหวังใช้เรือดังกล่าวเพื่อลาดตระเวน
ป้องกันหมู่เกาะเซนกากุที่กำลังมีข้อพิพาทกับจีน แต่ความจริงแล้วปัจจุบันเรือรบ
เรือตรวจการยามฝั่งและเครื่องบินลาดตระเวนญี่ปุ่นได้ทำการเฝ้าระวังเป็นประจำอยู่แล้ว
ไม่มีปัญหาเรื่องระยะทาง ที่สำคัญคือหมู่เกาะเซนกากุอยู่ห่างจากหมู่เกาะโอกินาวา
อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เพียง 225 ไมล์ทะเล (410
กิโลเมตร) เท่านั้น หากเกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้นจริง
ฐานทัพที่โอกินาวาคือจุดที่ใกล้ที่สุดและมีศักยภาพสูงสุด
การที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล้าที่จะต่อและประจำการเรือดังกล่าวจึงเป็นเรื่องน่าวิตกของจีน
เพราะแม้ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองเกือบ 7 ทศวรรษ ญี่ปุ่นสามารถสร้างเรือบรรทุกอากาศยานรุ่นใหม่ด้วยตนเองอีกครั้ง
ดังนั้น ญี่ปุ่นจะต่อเรือชนิดดังกล่าวอีกกี่ลำย่อมสามารถทำได้ หรือจะสร้างเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่านี้ย่อมสามารถทำได้เช่นกัน
ด้วยการวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ญี่ปุ่นในอนาคตอาจมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่โตไม่แพ้ชาติใดในโลกก็เป็นได้
จีนกำลังพัฒนากองเรือบรรทุกเครื่องบิน:
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบิน
จำต้องพูดถึงเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่ชื่อ ‘เหลียวหนิง’
(Liaoning) เดิมเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นคุซเนตซอฟของโซเวียต ที่เริ่มต่อตั้งแต่ปี 1988 แต่เนื่องจากติดปัญหาขาดแคลนงบประมาณจึงสร้างไม่แล้วเสร็จ
ต่อมาจีนได้ขอซื้อและนำมาปรับปรุงกลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงในที่สุด
เรือเหลียวหนิงมีระวางขับน้ำเต็มที่ราว 66,000 ตัน ความยาว 304 เมตร พิสัย 3,850 ไมล์ทะเล ออกปฏิบัติการได้เป็นเวลา 45
วัน คาดว่าบรรทุกเครื่องบินได้ 30 ลำ เฮลิคอปเตอร์อีก 24 ลำ ปัจจุบันเรืออยู่ระหว่างทำการทดสอบ
เมื่อเทียบกับเรืออิซูโมแล้วเรือเหลียวหนิงมีน้ำหนักมากกว่าถึง 3 เท่าตัว
บรรทุกอากาศยานได้มากกว่าราว 3 เท่าตัวเช่นกัน
นอกจากนี้ มีข่าวว่าจีนกำลังอยู่ระหว่างต่อเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่อีกลำ
ที่ผ่านมาทางการจีนให้การปฏิเสธ
แต่แหล่งข่าวเชื่อว่าการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่มีความเป็นไปได้เนื่องจากทางการจีนมักอ้างเสมอว่าเรือเหลียวหนิงเป็นเรือเพื่อการฝึกมากกว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้นแสดงว่าในอนาคตจีนต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อยอีกหนึ่งลำสำหรับประจำการจริงๆ
อย่างไรก็ตามข้อมูลเท่าที่ปรากฏยังไม่ชี้ชัดเรื่องดังกล่าว
เพียงแต่การที่จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกแล้วย่อมสามารถมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง
เป็นหลักการเดียวกับกรณีเรืออิซูโมของญี่ปุ่น
การที่ญี่ปุ่นต่อเรืออิซูโมคือการตอบโต้ที่จีนมีเรือเหลียวหนิงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่วิพากษ์ได้
แต่ท้ายที่สุดคือทั้งสองประเทศมีเรือบรรทุกอากาศยาน เป็นย่างก้าวการเสริมสร้างกำลังรบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
การปรับลดงบประมาณของสหรัฐฯ
กับการก้าวขึ้นมาของญี่ปุ่น:
การกล่าวถึงสถานการณ์ความมั่นคงเอเชียแปซิฟิกต้องกล่าวถึงสหรัฐฯ
ด้วยเนื่องจากมีบทบาทสำคัญยิ่ง ดังที่ทราบกันทั่วไปว่ารัฐบาลโอบามามีแผนเคลื่อนย้ายกำลังรบจำนวนมากมาประจำภูมิภาคดังกล่าว
ในขณะที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ กระทรวงกลาโหมกำลังทบทวนปรับปรุงแผนต่างๆ
เผื่อการปรับลดงบประมาณ
ล่าสุดนายชัค
เฮเกล รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมชี้ว่าผลการศึกษาก่อนหน้านี้กองทัพอเมริกันอาจปรับลดจำนวนทหารพร้อมรบให้เหลือ 490,000 นาย และคงกองหนุนอีก 555,000 นาย ส่วนผลการศึกษาล่าสุดแนวทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คืออาจปรับลดจำนวนทหารพร้อมรบให้เหลือระหว่าง
420,000 ถึง 450,000 นาย ส่วนทหารกองหนุนจะคงเหลือ 490,000 ถึง 530,000 นาย
และอาจยุบเครื่องบินทางยุทธการจำนวน 5 ฝูงบินกับฝูงเครื่องบินลำเลียง C-130 อีกหนึ่งฝูง รวมทั้งอาจลดจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินจาก 11 ลำให้เหลือเพียง 8-9 ลำ ทั้งนี้ขึ้นกับยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศที่เลือกใช้
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการปรับลดกองกำลังดังกล่าวจะกระทบต่อกำลังรบสหรัฐฯ
ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือไม่ เพราะตามยุทธศาสตร์หวนคืนสู่เอเชียนั้นสหรัฐฯ
จะเคลื่อนย้ายกำลังรบส่วนใหญ่มาประจำที่ภูมิภาคนี้ ดังนั้น การปรับลดกองกำลังจะกระทบต่อกองกำลังประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือไม่นั้นยังต้องติดตามต่อไป
ในอีกมุมหนึ่ง
ไม่ว่าสหรัฐฯ จะปรับขนาดกองกำลังอย่างไร
เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลของนายอาเบะกำลังเพิ่มกำลังรบ เพิ่มบทบาทความมั่นคงของตน
ด้วยเหตุผลหลายอย่างโดยเฉพาะการก้าวขึ้นมาของจีน ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ นโยบายกลาโหมภายใต้รัฐบาลอาเบะมีการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดหลายอย่าง
ประการแรก
ทบทวนนโยบายการใช้กำลัง
ทุกวันนี้กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นสามารถโจมตีเป้าหมายทางทหารของศัตรูภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ แต่กองทัพญี่ปุ่นไม่มีอาวุธสำหรับปฏิบัติการดังกล่าวจำต้องให้สหรัฐฯ
เป็นผู้โจมตี จึงมีความคิดทบทวนว่าญี่ปุ่นควรมีอาวุธเหล่านั้นหรือไม่เนื่องจากบริบทความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
นายชินโซ อาเบะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีความคิดแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านี้
ประการที่สอง จัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน นับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองกองทัพญี่ปุ่นไม่มีหน่วยนาวิกโยธิน
แต่นายกรัฐมนตรีอาเบะเห็นว่าญี่ปุ่นควรมีนาวิกโยธินเพื่อใช้ในกรณีที่ข้าศึกยึดครองหมู่เกาะต่างๆ
มีแผนสั่งซื้อยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการศึกษา นักวิเคราะห์คาดว่าในเบื้องต้นญี่ปุ่นควรมีนาวิกโยธินราว 3-400 นาย เพื่อใช้ในกรณียึดคืนหมู่เกาะเซนกากุหากจีนใช้กำลังเข้ายึดครอง
ประการที่สาม
การช่วยมิตรประเทศเสริมสร้างเขี้ยวเล็บ หากไม่นับรวมสหรัฐฯ กรณีฟิลิปปินส์เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนว่าญี่ปุ่นไม่เพียงเสริมสร้างกำลังรบของตน
ยังช่วยเสริมสร้างเขี้ยวเล็บแก่มิตรประเทศด้วย โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
รัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลอากีโนได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบเรือยามฝั่งแก่ฟิลิปปินส์จำนวน 10 ลำ เป็นเรือขนาด 180 ตัน
และจะจัดการซ้อมรบร่วมระหว่างสองประเทศและร่วมกับสหรัฐฯ
เป็นที่ทราบกันว่าฟิลิปปินส์กำลังมีข้อพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้
การมอบเรือยามฝั่งดังกล่าวช่วยให้ฟิลิปปินส์มีเขี้ยวเล็บรุ่นใหม่เพื่อต่อกรกับจีน
ปัญหาการติดขัดด้านงบประมาณกลาโหมสหรัฐฯ
จะส่งผลต่อกองกำลังประจำเอเชียแปซิฟิกหรือไม่ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่รัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้อย่างมาก
ส่วนบทบาทของญี่ปุ่นก็กำลังเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ และมิตรประเทศอื่นๆ
เช่น ฟิลิปปินส์
นับจากสิ้นสุดสงครามเย็นเข้าสู่สหัสวรรษใหม่
หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบยุโรปต่างพากันลดงบประมาณกลาโหม
ปรับขนาดกองทัพให้เล็กลง แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับตรงกันข้าม หลายประเทศในภูมิภาคเสริมกำลังรบ เสริมอาวุธรุ่นใหม่ แม้ว่ารัฐบาลโอบามามีข้อจำกัดด้านงบประมาณกลาโหม
ยังคงพยายามเคลื่อนย้ายกำลังรบต่างๆ มาประจำการที่ภูมิภาคเอเชีย ส่วนรัฐบาลอาเบะมีนโยบายเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นด้านความมั่นคงอย่างชัดเจน
ได้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม เพิ่มบทบาทของตนเองโดยร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ส่วนจีนนั้นได้พยายามพัฒนากองทัพให้ทันสมัยโดยมีเศรษฐกิจประเทศที่เติบโตต่อเนื่องเป็นกำลังสนับสนุน
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบันจึงมีข่าวการเสริมสร้างกำลังรบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
การปรากฏตัวของเรืออิซูโมเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของบรรยากาศดังกล่าว ชี้ให้เห็นทิศทางสถานการณ์ความมั่นคงในอนาคต
15 สิงหาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1285)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ทฤษฎีสัจนิยมให้ความสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติมากที่สุด
รัฐต้องระแวดระวัง เตรียมการรับมือภัยคุกคามทุกชนิด พร้อมเผชิญหน้าฝ่ายตรงข้าม
แต่ภายใต้แนวคิดนี้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเต็มด้วยความหวาดระแวง ความไม่เชื่อใจ
กลายเป็นดาบสองคมให้ประเทศเพื่อนบ้านมองด้วยความหวาดระแวง
มองอย่างเป็นภัยคุกคามเช่นกัน
นโยบายความมั่นแห่งชาติญี่ปุ่นสะท้อนลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน
เหตุเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ยิงลูกเรือไต้หวันเสียชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ
กลายเป็นเรื่องบาดหมางระหว่างสองฝ่าย
แต่เนื่องจากผลความบาดหมางทำให้สองฝ่ายเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ประสงค์เป็นศัตรูกับไต้หวัน
สองรัฐบาลจึงหาทางประนีประนอมยุติข้อพาท
โดยที่ปัญหาการทำประมงยังไม่ได้รับการแก้ไข
บรรณานุกรม:
1. Japan navy unveils biggest warship since WWII, AFP,
7 August 2013, http://sg.news.yahoo.com/japan-navy-unveils-biggest-warship-since-wwii-105903206.html
2. Wikipedia, Japanese cruiser Izumo, http://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_cruiser_Izumo,
accessed 7 August 2013
3. Raul Colon, Japan Aircraft Carriers of World War 2, http://www.world-war-2-planes.com/japan_aircraft_carriers.html,
accessed 7 August 2013
4. เรือหลวงจักรีนฤเบศร,
http://www.navy.mi.th/cvh911/web-page/about%20ship%20attribute.html,
accessed 7 August 2013
5. ร.อ.วรชาติ สัตยเลขา,
เครื่องบินรบในอนาคต (Future Fighters), http://www.dae.mi.th/JN01_future%20fighters_TH.htm,
accessed 7 August 2013
6. Multi-Mission Capability for Emerging Global Threats, https://www.f35.com/about/capabilities,
accessed 7 August 2013
7. Wikipedia, Chinese aircraft carrier Liaoning, http://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_aircraft_carrier_Liaoning,
accessed 7 August 2013
8. “Liaoning (Varyag) Aircraft Carrier, China”, http://www.naval-technology.com/projects/varyag-aircraft-carrier-china/
9. Images suggest China’s
first carrier is under construction, Jane’s Defence Weekly, 7 August
2013
10. Pentagon review could
presage major cutbacks, Jane’s Defence Weekly, 7 August 2013
11. DEFENSE OF JAPAN 2013, Japan Ministry of Defense, http://www.mod.go.jp/e/publ/w_paper/2013.html,
accessed 9 July 2013
12. Japan unveils largest-ever helicopter carrier, Jane’s
Defence Weekly, 14 August 2013
-------------------------------------------