ความพยายามจัดระเบียบโลกอาหรับของซาอุดิอาระเบีย

ประเทศซาอุดิอาระเบียตกเป็นข่าวเมื่อปฏิเสธเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวร (Non-permanent Members/ Elected Members) ของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ กล่าวหาว่าคณะมนตรีประพฤติสองมาตรฐาน เรียกร้องการปฏิรูป จากนั้นหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างออกมาชื่นชมสนับสนุนท่าทีดังกล่าวพร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสหรัฐต่อภูมิภาคหลายเรื่อง จับใจความได้ว่าทั้งหมดนี้รัฐบาลซาอุฯ กำลังไม่พอใจรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา
ดูเหมือนว่ามีการเตรียมการล่วงหน้า:
            เมื่อลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ข้อสังเกตประการแรกคือการแสดงออกของซาอุฯ การแสดงท่าทีสนับสนุนของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต ตุรกี ปาเลสไตน์ และองค์กรระหว่างประเทศสำคัญๆ ของโลกอาหรับอย่าง คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ต่างส่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ แต่ละประเทศพูดบางประเด็นที่สัมพันธ์กันเป็นดังจิ๊กซอว์ของเรื่องราวทั้งหมด
            สหรัฐเป็นผู้ที่แสดงอาการเดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุด นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศต้องบินด่วนไปเจรจา พยายามลดโทสะของซาอุดิอาระเบีย ชักจูงให้ยอมรับเก้าอี้ดังกล่าว แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าชายบันดาร์ บินซุลต่าน (Prince Bandar bin Sultan) หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลซาอุฯ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐถึงคราวต้อง “เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”
            การแสดงออกของซาอุฯ กับประเทศอื่นๆ จึงน่าจะเป็นผลจากการปรึกษาหารือ ร่วมกันวางแผนตั้งแต่ต้น ต่างแสดงออกอย่างมีจังหวะจะโคน มีเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ใช่การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงตามที่กล่าวอ้าง

ประเด็นความไม่พอใจของซาอุฯ:
            จิ๊กซอว์ทั้งหมดพูดอยู่หลายประเด็น  เมื่อพิจารณาแล้วมี 3 ประเด็นหลักคือ เรื่องซีเรีย อิหร่านและปาเลสไตน์
            กว่าสองปีแล้วที่ซีเรียเกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง รัฐบาลโอบามามักลังเลใจที่จะช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด กรณีล่าสุดคือเลื่อนการพิจารณาโจมตีกองทัพซีเรีย
            การแสดงออกของซาอุฯ กับพันธมิตรอาหรับเป็นหลักฐานชี้ว่าพวกเขาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คอยกดดันรัฐบาลโอบามาให้โจมตีซีเรีย แต่เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลข้อสรุปของรัฐบาลที่สรุปเอาเองว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่เชื่อว่าการโจมตีจะช่วยให้สหรัฐมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น
            เมื่อรัฐบาลรัสเซียเสนอให้ซีเรียยอมรับการตรวจสอบและทำลายอาวุธเคมีทั้งหมด รัฐบาลอัสซาดตอบรับข้อเสนอทันที ความคิดที่จะโจมตีซีเรียจึงหดหายไปและยากจะอ้างเหตุผลเรื่องอาวุธเคมีอีก เพราะเจ้าหน้าที่สหประชาชาติอยู่ระหว่างตรวจสอบและทำลาย นานาชาติพอใจกับความคืบหน้า การล้ำ “เส้นต้องห้าม” ของรัฐบาลโอบามาจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก หรือหากมีการใช้อาวุธเคมีอีกก็จะยิ่งน่าสงสัยว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้กันแน่

            ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐกับรัสเซียกำลังผลักดันให้เกิดการเจรจาที่เรียกว่า เจนีวา 2 มีกระแสข่าวว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในซีเรียด้วยการจัดตั้งองค์กรบริหารประเทศชั่วคราวที่มีอำนาจบริหารเต็ม ล่าสุด 11 ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria (สมาชิกส่วนใหญ่คือพวกชาติตะวันตกกับอาหรับ) ผู้ให้การสนับสนุนแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรียแสดงจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนในองค์กรบริหารประเทศดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงวิเคราะห์ต่อได้ว่าการประชุมเจนีวา 2 ไม่น่าจะเกิดขึ้นหรือหากมีการเจรจาก็คงไม่เกิดผลอะไรเพราะฝ่ายรัฐบาลอัสซาดไม่ยอมหลุดจากอำนาจแน่นอน
            นักวิเคราะห์บางคนให้ความสำคัญว่าหากปราศจากรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียแล้ว จะเป็นการโดดเดี่ยวอิหร่านในตะวันออกกลาง แต่หากวิเคราะห์แบบง่ายๆ ทุกวันนี้รัฐบาลซาอุฯ กับพันธมิตรมองหน้ารัฐบาลอัสซาดไม่ติดเนื่องจากสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเต็มที่ ให้ทั้งเงินกับอาวุธ สนับสนุนจัดตั้งฝ่ายต่อต้านที่พวกตนมีอิทธิพล ขับไล่รัฐบาลอัสซาดออกจากสมาชิกสันนิบาตอาหรับแล้วให้ตัวแทนฝ่ายต่อต้านเข้าสวมแทน
            รัฐบาลอัสซาดจึงเป็นหนามตำใจรัฐบาลซาอุฯ กับพันธมิตรอาหรับ ประวัติศาสตร์ภูมิภาคตะวันออกลางจะบรรยายเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร

            ประเด็นต่อมาคือกรณีอิหร่าน แต่ไหนแต่ไรซาอุฯ กับพันธมิตรมองอิหร่านเป็นภัยคุกคาม ไม่ต่างจากที่อิหร่านมองซาอุฯ เป็นภัยคุกคาม (แม้ในระยะนี้ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานีแห่งอิหร่านจะแสดงท่าทีเป็นมิตรมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว)
            หลายปีที่ผ่านมาสหรัฐกับพันธมิตรดำเนินนโยบายคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้อิหร่านประสบปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างหนักจนต้องเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ หันมาสมานไมตรีกับสหรัฐและนานาประเทศ ล่าสุดอิหร่านอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม P-5+1 เพื่อแก้ปัญหาโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน และมีแนวโน้มว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงเพราะประธานาธิบดีโรฮานีประกาศเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะต้องทำให้สหรัฐกับพันธมิตรยุติการคว่ำบาตรให้จงได้

            รัฐบาลซาอุฯ อาจกังวลว่าหากยุติการคว่ำบาตรจะเป็นเหตุให้อิหร่านสามารถฟื้นฟูประเทศ เป็นภัยคุกคามในอนาคต แต่หากวิเคราะห์ด้วยตรรกะแบบง่ายๆ ทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency หรือ IEA) ได้รายงานว่าการคว่ำบาตรทำให้อิหร่านลดการส่งออกน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากอิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันตามปกติเท่ากับว่าจะเพิ่มอุปทานในตลาดน้ำมันโลกถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรล ถ้าคิดว่า 1 บาร์เรลมีราคาตามตลาดที่ 100 ดอลลาร์ เท่ากับว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะต้องสูญเสียรายได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือราว 36,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และหากคิดว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาน้ำมันในตลาดลดลง ซาอุฯ กับพันธมิตรผู้ส่งออกน้ำมันจะสูญเสียรายได้รวมกันมากกว่า 36,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีแน่นอน
            ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ การคว่ำบาตรช่วยพยุงราคาน้ำมัน ช่วยเพิ่มกำไรให้กับซาอุฯ กับพันธมิตรผู้ส่งออกน้ำมัน ทั้งยังบั่นทอนเศรษฐกิจสังคมและการเมืองอิหร่านไปในตัว แต่รัฐบาลโอบามายากจะปฏิเสธสิทธิ์การใช้นิวเคลียร์ในทางสันติของอิหร่าน เพราะไม่ใช่การเจรจาทวิภาคีมีชาติมหาอำนาจอื่นๆ เป็นคู่เจรจาด้วย

            ส่วนประเด็นปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่เก่าซ้ำซาก สถานการณ์ล่าสุดคือทางการอิสราเอลยังเดินหน้าอนุมัติก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ๆ อิสราเอลยึดครองจากปาเลสไตน์เมื่อปี 1967 ทั้งๆ ที่เขตพื้นที่เหล่านี้ (เขตเวสต์แบ็งค์ ฉนวนกาซาและนครเยรูซาเล็มตะวันออก) คือพื้นที่ๆ ชาวปาเลสไตน์หวังจะก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ปัจจุบันมีชาวอิสราเอลเข้าอยู่อาศัยราวหกแสนคนและยังคงก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยๆ ชวนให้คิดว่ารัฐปาเลสไตน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตคงเหลือพื้นที่เล็กนิดเดียว
            สหรัฐกับอีกหลายประเทศแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของอิสราเอล แต่อิสราเอลไม่ยอมหยุดและยังไม่มีทีท่าจะถอนออกแต่อย่างไร
            ปัญหาปาเลสไตน์เป็นรากขมขื่นที่ฝังลึกในหมู่มุสลิมโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางมาหลายทศวรรษแล้ว รัฐบาลซาอุฯ ดำเนินนโยบายปกป้องชาวปาเลสไตน์เพื่อดึงความร่วมมือจากมุสลิมทั้งหลาย แต่มีข้อวิพากษ์ว่านับจากสงครามเมื่อปี 1973 มวลหมู่ชาติอาหรับก็ไม่คิดทำสงครามกับอิสราเอลอีก รัฐบาลหลายประเทศประกาศยอมรับอธิปไตยของอิสราเอล ดำเนินนโยบายเป็นมิตรทั้งแบบต่อหน้าและลับหลัง
            หากรัฐบาลซาอุฯ หวังกดดันรัฐบาลโอบามาเพื่อให้ไปกดดันอิสราเอลอีกทอดหนึ่ง คาดว่าเป็นความหวังที่ยากจะประสบผล รัฐบาลซาอุฯ น่าจะเข้าใจเรื่องนี้เพราะทั้งคู่ต่างเป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าฝ่ายที่ต้องรับกรรมคือชาวปาเลสไตน์

ผลลัพธ์ที่ปรากฏ:
            จากข้อเรียกร้องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นล้วนมีข้อสรุปว่าซาอุฯ ไม่น่าจะสมหวัง ผลลัพธ์ที่ได้จริงๆ คือบรรดาชาติอาหรับกับองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคได้ประกาศอีกครั้งสนับสนุนซาอุดิอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ของชาติอาหรับและชาวมุสลิมทั้งหลายโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ดังแถลงการณ์ของกลุ่มอาหรับว่า “เคารพและเข้าใจ” ท่าทีของซาอุฯ และเห็นว่าซาอุฯ คือตัวแทนของชาติอาหรับและชาวมุสลิมโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง
            ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีอิทธิพลบารมีในภูมิภาคมานานแล้ว อีกทั้งทางการซาอุฯ ก็ประกาศจุดยืนว่าตนเป็นผู้นำโลกอาหรับมานานแล้วเช่นกัน ยิ่งในระยะสองสามปีที่ผ่านมาเกิดอาหรับสปริงในหลายประเทศ ผู้นำที่ครองอำนาจอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นที่ตูนิเซีย ลิเบีย อียิปต์ต่างล้มหายตายจาก ช่วยให้บารมีของผู้นำซาอุฯ โดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิม
            ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ การแสดงออกของซาอุฯ และผลที่เกิดขึ้นมีค่าเท่ากับเป็นการแสดงความเป็นผู้นำโลกอาหรับ กำลังแสดงบทบาทผู้จัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ จึงพาลกล่าวโทษคณะมนตรีความมั่นคงที่ไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ของอาหรับโดยเฉพาะรัฐบาลโอบามา

            หากมองย้อนกลับไปที่ต้นเรื่อง เรื่องที่ซาอุดิอาระเบียไม่ยอมรับเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ต้องเข้าใจก่อนว่าสมาชิกไม่ถาวรมาจากการเลือกของสมาชิกตามกลุ่มภูมิภาค กฎมีอยู่ว่ากลุ่มชาติอาหรับมีโควตาเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้นไม่มากหรือน้อยกว่านี้  ดังนั้นในจำนวนสมาชิกไม่ถาวร 10 ตำแหน่ง 1 ตำแหน่งจะเป็นของกลุ่มชาติอาหรับเสมอ ผลที่ตามมาคือหากซาอุฯ ไม่รับเก้าอี้ ประเทศที่เข้ามาแทนย่อมเป็นประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มและอยู่ภายใต้การชี้นำของซาอุฯ ดังนั้นการที่ซาอุฯ จะรับเก้าอี้หรือไม่จึงไม่มีความแตกต่างแต่ประการใด 
            ส่วนเรื่องที่ซาอุดิอาระเบียตั้งใจจะปรับลดความสัมพันธ์กับสหรัฐ ก็น่าคิดว่าฝ่ายใดจะสูญเสียผลประโยชน์มากกว่า ที่แน่นอนคือฝ่ายตรงข้ามของซาอุฯ จะได้ประโยชน์ สิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อการจัดระเบียบตะวันออกลางของซาอุฯ หรือ
27 ตุลาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6201 วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2556)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
การคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เศรษฐกิจสังคมอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโรฮานีชนะการเลือกตั้ง และมาพร้อมกับนโยบายสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ เร่งเจรจาแก้ปัญหาการคว่ำบาตร การเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญ กำหนดอนาคตอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง
รัฐบาลโอบามาใช้หลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเพียงครั้งเดียวกับอ้างหลักการว่าทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อโจมตีซีเรีย โดยละทิ้งกระบวนการของสหประชาชาติ กฎเกณฑ์ ระบบความมั่นคงของโลก
จากที่ลังเลใจมาตลอดหนึ่งปี พยายามเลื่อนการตัดสินใจว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีในซีเรีย เหตุการณ์การใช้อาวุธเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม กลายเป็นข้ออ้าง เป็นจุดเปลี่ยนนโยบายของโอบามาต่อซีเรีย สหรัฐคิดโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาดด้วยตนเอง ด้วยไม่ฟังคำทัดทานจากหลายประเทศ เหตุผลหลักประการหนึ่งคือต้องการช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

บรรณานุกรม:
1. Arab League, OIC, Turkey, UAE join anti-UN chorus. Arab News. http://www.arabnews.com/news/468329 21 October 2013.
2. U.S. tries to calm Saudi anger over Syria, Iran. Reuters. http://www.reuters.com/article/2013/10/21/us-saudi-un-gulf-idUSBRE99K0BT20131021 21 October 2013.
3. Kuwait wants Saudis to take up U.N. Security Council seat. Reuters. http://www.reuters.com/article/2013/10/23/us-kuwait-saudi-un-idUSBRE99M0DJ20131023 23 October 2013.
4. NATO: Russia may assist in destruction of Syria's chemical weapons. Haaretz. http://www.haaretz.com/.premium-1.553979 23 October 2013.
5. Boucek, Christopher., and  Sadjadpour, Karim. Rivals - Iran vs. Saudi Arabia. 20 September 2011. http://carnegieendowment.org/2011/09/20/rivals-iran-vs.-saudi-arabia/68jg accessed 23 October 2013.
6. Israel approves nearly 1,200 new settlement homes. USA Today/AP. http://www.usatoday.com/story/news/world/2013/08/11/israel-settlement-jewish-palestinians/2639967/ 11 August 2013.
7. Fraser., T. G. 2004. The Arab-Israeli Conflict.  2nd Edition.  N.Y.: Palgrave Macmillan.
8. The Security Council. Permanent Mission of Portugal to the United Nations. http://www.missionofportugal.org/pmop/index.php?option=com_content&view=article&id=49&Itemid=54 accessed 24 October 2013.
-------------------