ประธานาธิบดีโรฮานีหวังเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตรจากสหรัฐ

ตั้งแต่เริ่มหาเสียงจนถึงวันเลือกตั้งเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนนายฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านคนปัจจุบันและเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ประเด็นระหว่างประเทศที่ประธานาธิบดีโรฮานีให้ความสำคัญมากที่สุดคือการขอเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตร
ทำไมต้องรีบเปิดการเจรจา:
            เหตุผลหลักที่ประธานาธิบดีโรฮานีกล่าวซ้ำหลายครั้งคือชาวอิหร่านจะต้องรู้สึกสงบปลอดภัยทั้งชีวิตทางด้านวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจ แก้ปัญหาคนว่างงานที่มีมากกว่า 3 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อกว่าร้อยละ 30 ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นมาก คนรุ่นใหม่กำลังผิดหวังต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนของตน ทั้งหมดนี้เกิดจากนโยบายแข็งกร้าวของประธานาธิบดีคนก่อน เร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์โดยไม่สนใจการคว่ำบาตรจากต่างชาติ
            ประธานาธิบดีโรฮานีสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายสายกลางไม่สุดโต่ง ปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติอย่างสร้างสรรค์ กล่าวว่า “วันนี้ เราควรร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในโลก” อิหร่านจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกับรักษาศีลธรรมอันดี
            แท้ที่จริงแล้วหากวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เป้าหมายของอิหร่านในปัจจุบันคือต้องการกลับมาติดต่อกับประชาคมโลก เพราะการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรไม่เพียงกระทบเรื่องการส่งออกน้ำมันอันเป็นรายได้หลักของประเทศ ที่สำคัญกว่าคือหลายประเทศไม่ยอมติดต่อค้าขายกับอิหร่าน ปฏิเสธความสัมพันธ์ในทุกด้าน อิหร่านกลายเป็นประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ การเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ไม่ช่วยให้ประเทศมั่นคงขึ้นแต่อย่างไร ในทางตรงข้ามอิหร่านมีมิตรน้อยลง มีศัตรูมากขึ้น ประชาชนประสบความยากลำบากอย่างเห็นได้ชัด

หลักการและเทคนิคการเจรจาของอิหร่าน:
            เพื่อให้การเจรจาบรรลุผลและอิหร่านได้ประโยชน์มากที่สุด รัฐบาลโรฮานีประกาศล่วงหน้าถึงแนวทางการเจรจาว่าจะต้องตั้งอยู่บนความเท่าเทียมกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างเสมอภาค ยกเรื่องผลประโยชน์ร่วม ห้ามใช้อำนาจทางทหารเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรอง อ้างว่าหลักการเหล่านี้คือหลักการเจรจาที่ถูกต้อง กระบวนการเจรจาจะอยู่ในรูปพหุภาคี อาศัยกลไกเดิมคือ กลุ่ม P5+1 ได้แก่สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงถาวรทั้งห้าชาติกับเยอรมนี (หรือบางคนเรียกว่า E3+3 ได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป กับสหรัฐ รัสเซีย จีน) อิหร่านจะได้ประโยชน์จากการเจรจารูปแบบนี้มากกว่าทวิภาคี เพราะจะมีการถ่วงดุลภายในกลุ่ม P5+1 ไม่ขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
            ในด้านจุดยืนเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีโรฮานีกล่าวซ้ำหลายครั้งว่า “ประเทศอิหร่านไม่มีและไม่แสวงหาอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง อันที่จริงอิหร่านเคยตกเป็นเหยื่อของอาวุธเหล่านี้” จากสงครามอิรัก-อิหร่านในทศวรรษ 1980 ที่อิรักใช้อาวุธเคมีต่ออิหร่าน ในขณะที่อิหร่านจะไม่หยุดโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางสันติเพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรม เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ การใช้งานในทางการแพทย์ คำประกาศจุดยืนเหล่านี้ไม่แตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) และก่อนหน้านั้น
            จุดยืนที่แตกต่างคือประธานาธิบดีอาห์มาดีเนจาดแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อต้านสหรัฐกับอิสราเอล เคยกล่าวว่า “ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ระบอบไซออนนิสต์จะต้องถูกทำลายราบในที่สุด” เห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ ประกาศว่าการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรจะช่วยให้อิหร่านเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง ท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดในสมัยนั้นทำให้เขาได้รับความนิยมจากคนในประเทศอย่างมาก
            ในขณะที่ประธานาธิบดีโรฮานีแสดงท่าทียอมรับผลกระทบที่ถูกคว่ำบาตร เรียกร้องต่างชาติให้ยกเลิกการคว่ำบาตรดังกล่าว เชื่อว่าการยอมโอนอ่อนต่อคณะมนตรีความมั่นคงจะไม่กระทบต่อความนิยมภายในประเทศ
            หากมองว่าประธานาธิบดีอิหร่านคือตัวแทนความคิดเห็นของคนทั้งประเทศ เท่ากับว่าชาวอิหร่านในวันนี้เห็นว่าเรื่องปากท้องต้องมาก่อน ไม่ว่าจะชอบอเมริกากับอิสราเอลหรือไม่ก็ตาม
            นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโรฮานียังได้ใช้เวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติอธิบายให้ทั่วโลกเข้าใจว่าอิหร่าน “ต่อต้านการใช้ความรุนแรงและลัทธิสุดโต่งทุกชนิดทุกประเภท” เรื่องการต่อต้านลัทธิสุดโต่งเป็นแนวทางใหม่ที่อิหร่านเพิ่งประกาศ เป็นเวลา 3 ทศวรรษแล้วที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) เป็นตัวแทนอิหร่านเพื่อสู้กับอิสราเอล คำประกาศนี้เป็นนโยบายที่กำลังชี้ว่าต้องการอยู่อย่างสันติกับอิสราเอล (โดยเฉพาะในระยะนี้) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจและควรติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ผลการเจรจารอบแรก:
            ผลการเจรจารอบแรกเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คุณแคเทอรีน แอชตัน (Catherine Ashton) ตัวแทนจากสหภาพยุโรปและเป็นผู้นำเจรจาของฝ่าย P5+1 (E3+3) กล่าวว่าผลการประชุมดำเนินไปด้วยดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาแต่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด เช่นเดียวกับนายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวพอใจต่อผลการประชุมว่า “เกิดผล” ทั้งสองฝ่ายยังกล่าวตรงกันด้วยว่าการประชุมในครั้งหน้าเดือนพฤศจิกายนจะประกอบด้วยตัวแทนจาก “E3+3 ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์อิหร่าน นักวิทยาศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร” จะเป็นการเจรจาลงรายละเอียด หากพิจารณาจากผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งหน้าคงจะพูดเรื่องการเข้าตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน การควบคุมโครงการเพื่อให้มั่นใจว่าอิหร่านจะดำเนินโครงการในทางสันติเท่านั้น และมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับควบคุม เช่น การควบคุมการส่งผ่านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อโครงการนิวเคลียร์ หากการประชุมครั้งหน้าบรรลุข้อตกลงร่วมเชื่อว่าสหรัฐกับพันธมิตรจะคลายการคว่ำบาตรในไม่ช้า โดยเฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโครงการนิวเคลียร์โดยตรง
            ถ้ามองในแง่ดีคือการเจรจามีความคืบหน้า และน่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกฝ่ายบรรลุเป้าหมายตามต้องการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
            ถ้ามองในแง่ลบคือผลสำเร็จของการเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการเจรจารอบใหม่ เป็นเรื่องของการแสดงออกถึงมิตรภาพความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้ประกันว่าการเจรจาในขั้นต่อจากนี้ซึ่งจะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ จะประสบผลสำเร็จ
            การที่คุณแอชตันไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดการเจรจา เป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างพูดข้อเสนอข้อเรียกร้องของตน และทุกฝ่ายต้องกลับไปทำการบ้านเพราะเป็นข้อเรียกร้องที่เกินว่าจะยอมรับ ไม่สามารถตอบตกลงทันที
            ถ้าจะมองเป้าหมายการเจรจา สองฝ่ายต่างได้แสดงเป้าหมายปลายทางของตนมานานแล้ว แม้ว่าเป้าหมายเหล่านี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลง จุดยืนหลักของรัฐบาลโรฮานีคืออิหร่านจะไม่ยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตน รวมถึงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม จะยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อใช้ในทางสันติอันเป็นจุดยืนที่พูดซ้ำมาแล้วหลายรัฐบาลหลายทศวรรษ
            ปัญหาอยู่ที่ท่าทีของฝ่าย P5+1 หรือ E3+3 ใน 6 ประเทศเหล่านี้มีจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกันเพียงข้อเดียวคือไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ปราศจากรายละเอียดที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีเพียงสหรัฐประเทศเดียวมีรายละเอียดเงื่อนไขว่าโครงการนิวเคลียร์จะต้องเปิดเผยโปร่งใส ได้รับการตรวจสอบติดตาม การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมจะต้องอยู่ในระดับต่ำสุดทั้งเชิงคุณภาพกับปริมาณ ไม่มีโอกาสนำไปผลิตเป็นอาวุธ
            ประเด็นปัญหาที่หลายคนพูดถึงจึงอยู่ที่การต่อรองในรายละเอียด เช่น จะยอมให้อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่ระดับเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ จำนวนแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่ครอบครองได้คือเท่าไหร่ หรืออิหร่านจะต้องระงับโครงการส่วนใหญ่ไว้ก่อน รวมทั้งที่ฟอร์โดว์ (Fordow) อิหร่านจะยอมรับข้อเรียกร้องเหล่านี้หรือไม่
            อีกประเด็นที่น่าจับตาคือการตกลงในระดับทางเทคนิค เช่นจะตรวจสอบจุดไหนอย่างไร เป็นประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ตกลงกันไม่ได้ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

สหรัฐอยู่ในฐานะได้เปรียบ การคว่ำบาตรได้ผล:
            หลายปีของการคว่ำบาตรอิหร่านพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ผู้นำประเทศอิหร่านต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลใหม่ของนายโรฮานีเน้นความร่วมมือกับชาติตะวันตกมากกว่าเลือกที่จะเผชิญหน้า พร้อมกับคาดหวังอย่างผู้ที่มองโลกในแง่ดีว่าสหรัฐกับพันธมิตรจะยุติการคว่ำบาตรในไม่ช้า
            ในยามนี้ชาติตะวันตกเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเจรจาต่อรอง ย่อมสามารถตั้งข้อเรียกร้องต่างๆ แต่การบีบให้รัฐบาลโรฮานีจนมุมหรือจนตรอกน่าจะเป็นโทษมากกว่า เพราะหากรัฐบาลโรฮานีไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ภาพลักษณ์อิหร่านในสายตาประชาคมโลกเสียหาย ย่อมส่งผลทำให้ประธานาธิบดีโรฮานีเสียคะแนนนิยม เสียการสนับสนุนภายในประเทศ เมื่อวิถีทางการทูตไม่ได้ผลย่อมบีบให้อิหร่านหวนกลับไปใช้ไม้แข็งในการเจรจาต่อรอง อิหร่านอาจเปลี่ยนนโยบาย แม้กระทั่งอาจเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลที่แข็งกร้าวกว่าเดิมก็เป็นได้
            ในแง่มุมการเมืองระหว่างประเทศ หลายประเทศไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์แต่ก็ไม่ปรารถนาจะเห็นบทบาทของอเมริกาที่แข็งกร้าวเกินไป หวังเห็นการถอยคนละก้าวมากกว่าบีบให้ประเทศหนึ่งถึงกับต้องจนตรอก
            รัฐบาลโอบามาในฐานะประเทศคู่เจรจาที่สำคัญควรใช้โอกาสนี้แสดงบทบาทผู้สร้างสันติภาพโลก ที่สามารถสร้างความพอใจแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล อิหร่านหรือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ควรลืมว่าผลประโยชน์อเมริกาไม่จำกัดเฉพาะตัวประเทศอิหร่านหรืออิสราเอลเท่านั้น แต่มีผลประโยชน์จากนานาประเทศทั่วโลก เป็นภาพพจน์ของอเมริกาต่อสายตาคนทั้งโลก
20 ตุลาคม 2013
แก้ไขปรับปรุง 20 ตุลาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6194 วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2556)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
อิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์มาหลายทศวรรษแล้ว สมัยของอาห์มาดินาจาดเป็นช่วงที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตร ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่กระทำเช่นเดียวกันนี้ ขึ้นกับเหตุผลเบื้องหลัง บริบทแวดล้อมอื่นๆ
8 ปีของการพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้สมัยประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด เป็นช่วงเวลาที่โครงการนิวเคลียร์มีความก้าวหน้ามาก ก่อทั้งผลดีผลเสียต่ออิหร่านชัดเจน แม้จะยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สำเร็จตามเป้า แต่ได้บรรลุเป้าหมายบางอย่างแล้ว

บรรณานุกรม:
1. Hitchcock, Mark. 2006 Iran: The Coming Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat. CO: Multnomah Books.
2. Candidates hold debate on foreign and national policyTehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/108311-candidates-hold-debate-on-foreign-and-national-policy 7 June 2013.
3. Rohani vows to bring moderation to the country. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country- 28 May 2013.
4. Rohani says fallacy that casting ballots has no effect is ‘word of Satan’. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country- 9 June 2013.
5. “Moderates, reformists join hands to challenge divided conservatives in Iran's poll” Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-06/11/c_132448462.htm 11 June 2013.
6. Foreign minister to lead Iran’s new nuclear negotiating team: report. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/110980-foreign-minister-to-lead-irans-new-nuclear-negotiating-team-report 22 September 2013.
7. Naji, Kasra. 2008. Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
8. Rouhani Voices Iran's Opposition to WMDs. FNA. http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13920701000398 23 September 2013.
9. Khan, Saira. 2010. Iran and Nuclear Weapons: Protracted Conflict and Proliferation. New York: Routledge.
10. Remarks EU HR Ashton following meeting of the E3/EU+3 with Iran, 15/16 October. European Union. http://www.eu-un.europa.eu/articles/en/article_14093_en.htm 16 October 2013.
11. Iran’s nuclear talks called fruitful, substantive, most detailed. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/111554-irans-nuclear-talks-called-fruitful-substantive-most-detailed16 October 2013.
---------------------