เกาะติดประเด็นร้อน “เลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน 2013” (2)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 18 มิ.ย. 10.20 น.) เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ผู้สมัครคนสำคัญของสายปฏิรูปได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะเปลี่ยนจากประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมทางศาสนามาเป็นสายปฏิรูป
            ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ประเทศประสบปัญหาหลายอย่าง คนว่างงาน 3 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 30 ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่ชาติตะวันตกเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการพัฒนานิวเคลียร์
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 18 มิ.ย. 10.20 น.)
            นายฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวหลังชนะเลือกตั้งว่า “ประเทศที่เคารพประชาธิปไตยกับหลักเสรีภาพในการพูด...จากนี้เป็นต้นไปควรพูดกับอิหร่านในทิศทางที่จะได้การตอบสนองที่เหมาะสม พวกเขาควรสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนาของภูมิภาคและของโลกด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์บนผลประโยชน์ร่วมกัน”
(Rohani: Iranian people real winner of presidential elections. SANA)
            นาย Davood Mohammadi บรรณาธิการใหญ่ของ Sharq หนังสือพิมพ์สายปฏิรูปเห็นว่าชัยชนะอย่างเฉียดฉิวของผู้สมัครสายปฏิรูปชี้ว่าอิหร่านมีวุฒิภาวะทางการเมือง ปัญหาความตึงเครียดได้รับการแก้ไขด้วย “วิถีทางการเมืองมากกว่าจะเผชิญหน้า”
(Hope for Iran's president-elect to bring changes runs high home and abroad, Xinhua)
            คุณ Suzanne Maloney จาก Brookings Institution’s Saban Center for Middle East Policy แสดงความเห็นว่า หากประธานาธิบดีโรฮานีปรับความสัมพันธ์ตามที่หาเสียงไว้ โอกาสที่ประเทศเสี่ยงจะถูกโจมตีทางทหารจะน้อยลง
(Rohani Victory May Undermine Support for Israeli Attack on Iran, Bloomberg)
            ล่าสุด ประธานาธิบดี ฮัสซัน โรฮานี ตั้งเงื่อนไขการเจรจานิวเคลียร์ว่า “เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของอิหร่าน ยอมรับสิทธิของอิหร่านทุกอย่างรวมทั้งเรื่องนิวเคลียร์ และสหรัฐฯ ควรยกเลิกมาตรการคว่ำบาตเพียงฝ่ายเดียวที่กระทำต่ออิหร่าน"
            ส่วนเรื่องซีเรียเห็นว่าต่างชาติไม่ควรแทรกแซงกิจการของประเทศซีเรีย “ประชาชนซีเรียควรแก้ปัญหาของตนเอง ประเทศอื่นๆ ควรร่วมมือเพื่อนำสันติภาพกลับสู่ซีเรียเท่านั้น” และอิหร่านจะยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในซีเรีย
(Recognizing nuclear rights precondition for U.S. talks: Iran's president-elect, Xinhua)

วิเคราะห์: (อัพเดท 18 มิ.ย. 10.20 น.)
            ประเด็นที่ชาติตะวันตกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือนโยบายพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ประธานาธิบดีคนใหม่จะคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลง เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาโครงการพัฒนาไปมากเป็นที่หวั่นเกรงของชาติตะวันตกกับอิสราเอล นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่ามีโอกาสเสี่ยงที่อิสราเอลอาจชิงโจมตีทำลายโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน สั่นสะเทือนเสถียรภาพภูมิภาคตะวันออกกลาง ท่าทีของประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานีชัดเจนว่าต้องการเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะประเด็นปัญหาเศรษฐกิจภายในเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มีผลต่อความนิยมของประชาชนอย่างรวดเร็ว ชาวอิหร่านอาจไม่อดทนรอคอยจนครบ 4 ปี
            ประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคือ ประเด็นเรื่องความขัดแย้งในซีเรีย ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโรฮานีมีท่าทีสอดคล้องกับประธานาธิบดีอัสซาด ต้องติดตามต่อว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินนโยบายอย่างไร รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มต่างๆ เช่น ฮิซบุลลอฮ์
            ก่อนหน้าเลือกตั้ง นักวิเคราะห์บางคนกังวลว่าเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วจะเกิดเหตุวุ่นวายหรือไม่ ทั้งๆ ที่ อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดเรียกร้องให้ประชาชนออกมาเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้ง บ้างยกตัวอย่างความวุ่นวายเมื่อเลือกตั้งครั้งก่อน บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าการเลือกตั้งและการประกาศผลเป็นไปด้วยดี
            แต่การเลือกตั้งที่ผ่านไปด้วยดีไม่ใช่เครื่องประกันว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงได้อย่างเต็มที่เสมอไป เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าจะมีอิสระมากเพียงใด การต่อต้านจากสายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้พิสูจน์ได้ไม่ยากโดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ และอาจกลายเป็นอุปสรรคให้ประธานาธิบดีคนใหม่ยากจะบริหารประเทศตามทิศทางที่หวังไว้
18 มิถุนายน 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
8 ปีของการพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้สมัยประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด เป็นช่วงเวลาที่โครงการนิวเคลียร์มีความก้าวหน้ามาก ก่อทั้งผลดีผลเสียต่ออิหร่านชัดเจน แม้จะยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สำเร็จตามเป้า แต่ได้บรรลุเป้าหมายบางอย่างแล้ว
(อัพเดท 12 มิ.ย. 21.00 น.) อิหร่านกำลังจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันศุกร์นี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่แทนคนเดิมที่อยู่ครบ 8 ปีสองสมัยแล้ว อาจเป็นเหตุของการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศครั้งสำคัญ ส่งผลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใน ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก และอุปทานน้ำมันโลก ล่าสุดเป็นการขับเคี่ยวระหว่างผู้สมัครสองคนที่มีนโยบายคนละขั้ว
อิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์มาหลายทศวรรษแล้ว สมัยของอาห์มาดินาจาดเป็นช่วงที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตร ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่กระทำเช่นเดียวกันนี้ ขึ้นกับเหตุผลเบื้องหลัง บริบทแวดล้อมอื่นๆ
--------------------