โครงการนิวเคลียร์ เครื่องมือบริหารประเทศอิหร่าน
เมื่อพูดถึงประเทศอิหร่านในบริบทความสัมพันธ์ระหว่าง
ประเด็นแรกๆ ที่เอ่ยถึงคือโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน เนื่องจากชาติมหาอำนาจให้ความสำคัญ
เป็นประเด็นสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง สื่อมวลชนระหว่างประเทศนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง
ย้อนอดีตเมื่อปลายทศวรรษ
1970 เกิดปฏิวัติอิสลามในประเทศอิหร่าน ในช่วงแรกรัฐบาลใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์
แต่อาจด้วยเหตุสงครามอิรัก-อิหร่านทำให้อยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah
Khomeini) ผู้นำสูงสุดมีจดหมายถึงนักการเมืองและผู้นำทหารทุกคนว่า “อิหร่านจำต้องมีอาวุธที่ทันสมัย
รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์” ประธานาธิบดีอยาตุลเลาะห์ อาลี อัคบาร์ ฮาชิมี่
ราฟซานจานี่ (Ali-Akbar Hashemi Rafsanjani) เป็นรัฐบาลชุดแรกที่รื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์หลังจากหยุดไปหลายปี
พร้อมกับประกาศต่อสาธารณชนเรื่อยมาว่าไม่ใช่โครงการเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์
นโยบายอันหลากหลายของประธานาธิบดีอิหร่าน
โครงการนิวเคลียร์สร้างความกังวลต่อชาติตะวันตกอย่างมากเมื่อนายมาห์มุด
อาห์มาดิเนจาดได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2005 อาห์มาดิเนจาดมาพร้อมกับนโยบายแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตก
ต่อประเทศอิสราเอล สั่งเดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์เต็มกำลัง ประกาศว่าความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ถือเป็นเกียรติภูมิของชาติ
เชื่อว่าโครงการเป็นตัวเชื่อมประสานใจของคนทั้งชาติ นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นความตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นว่าอิหร่านเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่พอที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐ
ไม่หวั่นเกรงความเป็นมหาอำนาจแต่อย่างไร ในระยะแรกนั้นประชาชนจำนวนมากพากันชื่นชมประธานาธิบดีของตน
หากมุ่งมองเพียงบทบาท
8 ปีของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดจะเห็นแต่ภาพนโยบายแข็งกร้าวของอิหร่าน แท้ที่จริงแล้วน่าประหลาดใจว่าก่อนหน้าอาห์มาดิเนจาด
ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากสายปฏิรูปถึง 2 ท่านที่ไม่มุ่งดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตก
ทั้งสองท่านดำรงตำแหน่งคนละ 2 วาระหรือรวมแล้วเท่ากับ 16 ปี ท่านแรกคืออยาตุลเลาะห์
อาลี อัคบาร์ ฮาชิมี่ ราฟซานจานี่ ดำรงตำแหน่งช่วงปี 1989 ถึง
1997 กับประธานาธิบดีมูฮัมหมัด คาตามี (Mohammad Khatami) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1997 ถึง 2005
ปัจจุบันผู้นำทั้งสองยังมีบทบาทสำคัญทางการเมือง
ราฟซานจานี่เป็นผู้นำสายปฏิรูป ดังนั้น การเมืองอิหร่านจึงไม่อยู่ใต้อิทธิพลของพวกอนุรักษ์นิยมทางศาสนา (principlist) หรือพวกปฏิรูปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
แต่เป็นเหมือนระบบสองฝ่ายสองพรรคใหญ่ที่ผลัดกันเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร
ปัญหาเฉพาะหน้าคือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
8
ปีหลังเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ทำให้โครงการมีความก้าวหน้าอย่างมาก
อิหร่านได้เป็นประเทศที่ชาติตะวันตกจับตา แต่ผลพวงจากนโยบายดังกล่าวทำให้สหรัฐกับมิตรประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
อิหร่านในยุคอาห์มาดิเนจาดประสบปัญหาคนว่างงานกว่า 3 ล้าน อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 30 ค่าครองชีพเพิ่มสูงลิบลิ่ว
ประชาชนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
หลักฐานอันชัดเจนที่แสดงความล้มเหลวในการจัดการระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลอาห์มาดิเนจาด
คือคำปราศรัยของผู้สมัครประธานาธิบดีในปี 2013 ผู้สมัครทั้ง 8
ท่านที่มาจากทั้งสายอนุรักษ์นิยมทางศาสนา สายปฏิรูป สายกลาง รวมทั้งผู้สมัครอิสระ ทุกคนไม่ได้ต่อต้านนโยบายนิวเคลียร์
แต่มุ่งโจมตีปัญหาเศรษฐกิจ ชูประเด็นแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ผู้สมัครบางคนชี้ว่ารัฐบาลละเลยผลการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก
ชาวอิหร่านไม่ควรทนยากลำบากต่อไปเพราะการคว่ำบาตรอีก บางคนเห็นว่าต้องแก้นโยบายต่างประเทศเสียใหม่
แต่ยังรักษาโครงการนิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางสันติ
สภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญเพราะความยากจนของประชาชนเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ
หลายพื้นที่กันดารแห้งแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ผลดี คนหนุ่มสาวพยายามเข้าเมืองเพื่อหางานทำหรือเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
เรื่องสำคัญของ 4 ปีข้างหน้าคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมจาก 8 ปีที่ผ่านมา ประเด็นความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์กลายเป็นเรื่องรอง
บรรทัดสุดท้ายของคำปราศรัยหาเสียง
ผู้สมัครประธานาธิบดีทั้ง 8 ท่าน (ล่าสุดถอนตัว 2 คน) มีแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หลากหลาย
บ้างให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับนโยบายต่างประเทศ บ้างให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ
บ้างให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายงบประมาณ ฯลฯ แต่ทุกคนล้วนมีคำพูดหนึ่งเสมอคือยึดมั่นคำแนะนำของผู้นำสูงสุด
ฮัสซัน
โรฮานี (Hassan Rohani) ผู้สมัครคนสำคัญของสายปฏิรูปกล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า
‘จะบริหารประเทศโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง’ แก้ปัญหาคนว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ... และ’จะยึดมั่นในคำชี้แนะของผู้นำสูงสุดเพื่อบริหารประเทศบนแนวทางสายกลาง’
ดังนั้น
ไม่ว่าจะหาเสียงด้วยแนวทางสายปฏิรูปหรือสายอนุรักษ์นิยม
บรรทัดสุดท้ายของคำปราศรัยคือยึดมั่นคำแนะนำของผู้นำสูงสุด เป็นหลักการที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เพราะตั้งแต่ปฏิวัติอิสลาม อยาตุลเลาะห์ โคไมนีได้วางหลักเกณฑ์ว่าผู้นำสูงสุด (Supreme
Leader) คือผู้นำสูงสุดทั้งด้านศาสนากับการเมือง มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญในบางเรื่อง ดังนั้นฝ่ายบริหารต้องดำเนินนโยบายที่สอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับความเห็นของผู้นำสูงสุด
ยึดมั่นเส้นทางปฏิวัติอิสลาม
บรรดานโยบายของผู้สมัครทั้งหลายจึงต้องมาจบลงที่ตรงนี้
วิเคราะห์องค์รวม
นับตั้งแต่ปฏิวัติอิสลามเป็นต้นมา แม้ผู้นำสูงสุดมีนโยบายชัดเจนประกาศว่าชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐเป็นศัตรู
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเสมอไป เฉกเช่นเดียวกับความเป็นศัตรูไม่ได้หมายความว่าอิหร่านจะต้องเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปกับอเมริกาทันที
รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศบางครั้งมาจากสายอนุรักษ์นิยมทางศาสนา บางครั้งเป็นรัฐบาลจากสายปฏิรูป
ทำให้ประเทศมีการบริหารอย่างยืดหยุ่น แข็งบ้างอ่อนบ้างตามแต่บริบท เป็นกลยุทธ์ในการบริหารประเทศ
ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ในแง่ของโครงการพัฒนานิวเคลียร์
หากยึดมั่นตามที่ทางการอิหร่านประกาศว่ามีเพื่อใช้ในทางสันติก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งพัฒนา
เพราะประเทศไม่ได้ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์แต่อย่างไร
หรือหากคิดตามข้อกล่าวหาของชาติตะวันตกที่เห็นว่ากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
อิหร่านไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน เพราะแม้มีนโยบายลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลกแต่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จเมื่อใด
อีกทั้งยังต้องสร้างความแข็งแกร่งแก่ประเทศในทุกมิติ ยังต้องเตรียมพร้อมอีกมาก
เพื่อรองรับผลกระทบที่ตามมาหากทำสงคราม
นอกจากนี้รัฐบาลอิหร่านชุดใหม่ไม่จำต้องหยุดโครงการพัฒนานิวเคลียร์
เพียงแต่ดำเนินในกรอบที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยอมรับได้ สหรัฐกับมิตรพันธมิตรก็ไม่มีเหตุคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอีกต่อไป
ดังนั้นไม่ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะมาจากสายปฏิรูปหรือสายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาล้วนสามารถดำเนินโครงการนิวเคลียร์ต่อไปพร้อมกับแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ประเทศที่เข้มแข็งจำต้องมีเศรษฐกิจที่แข็งแรงเป็นรากฐาน
ตลอด 8 ปีภายใต้ประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดสภาพเศรษฐกิจอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
สะท้อนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และถูกซ้ำเติมจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
ดังนั้น หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำต้องให้ยาที่ถูกกับโรค
ยาขนานเอกจึงหมายถึงการปรับเปลี่ยนท่าที นโยบายที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่ส่งผลต่อค่าเงินอิหร่าน ก่อปัญหาคนว่างงานและค่าครองชีพ
ที่สำคัญกว่านั้นคือ
ในระยะยาวอิหร่านไม่ควรพึ่งการส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศ เหตุผลประการแรกคือได้พิสูจน์แล้วว่าหากประเทศลูกค้าไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อประเทศ
ประการที่สองคือ อิหร่านไม่อาจใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรองได้ดีเหมือนเช่นอดีต เพราะกลุ่มโอเปกในยุคนี้เป็นมิตรกับชาติตะวันตก (เรื่องการต่อต้านอิหร่าน) มีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ
ปริมาณน้ำมันของอิหร่านที่หายไปจากตลาดไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกแต่อย่างไร
กลับเป็นผลดีให้ประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ได้ส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น และประการสุดท้ายคือตลาดน้ำมันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
สหรัฐกับแคนาดาค้นพบเทคโนโลยีที่สามารถดึงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale
gas กับ shale oil) คาดการณ์ว่า shale
gas กับ shale oil จากทวีปอเมริกาเหนือจะเข้าสู่ตลาดโลก
ผลคืออุปทานจะไม่ตึงตัวเหมือนหลายปีที่ผ่านมา ในอนาคตสหรัฐอาจไม่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ
รวมความแล้วอิทธิพลน้ำมันจากตะวันออกลางต่อประชาคมโลกจะลดลง อีกทั้งทวีปอเมริกาเหนืออาจกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกในอนาคต
ดังนั้น ไม่ว่าจะมองน้ำมันเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภายใน
อิหร่านจำต้องปรับเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน มิฉะนั้นปัญหาเศรษฐกิจจะคงอยู่ต่อไป
ส่งผลกระทบต่อประเทศในทุกด้าน
นโยบายพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านไม่ใช่เรื่องใหม่ ดำเนินการมาแล้วหลายทศวรรษทั้งจากประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมทางศาสนากับสายปฏิรูป
ยามเมื่อประเทศต้องการชูนโยบายแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตกก็จะเร่งพัฒนาโครงการ
ไม่สนใจแรงกดดัน แต่ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายเช่นนั้น ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น
บริบทระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือขึ้นกับข้อแนะนำของผู้นำสูงสุด
ด้วยเหตุฉะนี้
ความสำเร็จของโครงการนิวเคลียร์จึงไม่ใช่เรื่องที่โครงการมีความก้าวหน้าหรือประเทศมีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์
แต่อยู่ที่การใช้ ‘โครงการนิวเคลียร์’ เป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายประเทศในแต่ละช่วงเวลา
นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2013 อาจใช้โครงการดังกล่าวเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นได้
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
16 มิถุนายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6068 วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6068 วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2556)
-------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
8
ปีของการพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้สมัยประธานาธิบดีอาห์มาดีเนจาด เป็นช่วงเวลาที่โครงการนิวเคลียร์มีความก้าวหน้ามาก
ก่อทั้งผลดีผลเสียต่ออิหร่านชัดเจน
แม้จะยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สำเร็จตามเป้า
แต่ได้บรรลุเป้าหมายบางอย่างแล้ว
บรรณานุกรม:
1. Kasra Naji, Ahmadinejad: The Secret History of Iran's
Radical Leader (CA: University of California Press, 2008)
2. Yonah Alexander and Milton Hoenig, The New Iranian
Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East (USA:
Greenwood Publishing Group, 2008)
3. Bruce W. Jentleson, American Foreign Policy: The Dynamics
of Choice in the 21st Century, 4th Edition (N.Y.: W. W. Norton & Company,
2010)
4. การประเมินสถานภาพความเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
และความเจริญก้าวหน้าของประชาชาติอิหร่าน, สำนักผู้นำสูงสุดซัยยิด
อาลี คาเมเนอี, 27 March 2013, http://www.leader.ir/langs/th/index.php?p=contentShow&id=10510,
accessed 13 June 2013.
5. Rohani says his government will consult experts, Tehran
Times, 12 June 2013, http://www.tehrantimes.com/politics/108479-rohani-says-his-government-will-consult-experts
6. Technically Recoverable Shale Oil and Shale Gas
Resources: An Assessment of 137 Shale Formations in 41 Countries Outside the
United States, U.S. Department of Energy, http://www.eia.gov/analysis/studies/worldshalegas/pdf/fullreport.pdf
7. Supply shock from North American oil rippling through
global markets, International Energy Agency, http://www.iea.org/newsroomandevents/pressreleases/2013/may/name,38080,en.html
--------------------