ความจริงกับภาพลวงตาที่มากับพฤติกรรมยั่วยุของเกาหลีเหนือ

ตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาคาบสมุทรเกาหลีโดยเฉพาะประเทศเกาหลีเหนือกลายเป็นที่จับตาของโลกอีกครั้ง เมื่อสำนักข่าวระหว่างประเทศสำคัญๆ หลายแห่งเสนอข่าวเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง ถึงการที่เกาหลีเหนือใช้ถ้อยคำก้าวร้าวอ้างว่าสหรัฐกับพันธมิตรกำลังระดมกำลังเตรียมรุกรานเกาหลีเหนือในยามที่สหรัฐกับเกาหลีใต้กำลังร่วมซ้อมรบตามปกติ พร้อมกับขู่ว่าจะชิงโจมตีสหรัฐก่อนด้วยอาวุธนิวเคลียร์หลากหลายชนิด สื่อเกาหลีเหนือนำเสนอข่าวผู้นำคิม จ็อง-อึน ตรวจเยี่ยมหน่วยทหารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
            ในช่วงแรกทางการสหรัฐไม่ค่อยตื่นเต้นกับเหตุการณ์ในขณะที่สื่อมวลชนเสนอข่าวสถานการณ์ตึงเครียดรายวัน นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงต่อสื่อมวลชนว่าในขณะที่รัฐบาลเปียงยางพยายามยั่วยุใช้วาจาก้าวร้าวแต่ “กองทัพเกาหลีเหนือไม่มีความเคลื่อนไหว” ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนพลจำนวนมากหรือการวางกำลังเตรียมรบ พร้อมกับอธิบายเรื่องการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเพิ่มเติมว่าเป็นการเตรียมเพื่อป้องกันล่วงหน้า ส่วนเรื่องการให้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 กับ B-2 บินเหนือน่านฟ้าเกาหลีใต้เป็นการแสดงออกว่าสหรัฐพร้อมจะปกป้องพันธมิตรและไม่เชื่อว่าจะเป็นการยั่วยุ อย่างไรก็ตามเกาหลีเหนือกลับใช้เหตุการณ์ดังกล่าวกระพือสถานการณ์ให้ตึงเครียดกว่าเดิม ประกาศตัดโทรศัพท์สายด่วนกับเกาหลีใต้ และประกาศว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงคราม
            สองวันต่อมา (3 เมษายน) นายคาร์นีย์กล่าวในทำนองเดิมอีกและกล่าวว่าพฤติกรรมที่เกาหลีเหนือกำลังแสดงอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นตกใจ เป็นพฤติกรรมที่เคยทำซ้ำหลายครั้งแล้ว “เราได้เห็นมาแล้วตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมา”
            หากยึดมั่นในถ้อยแถลงของนายคาร์นีย์เท่ากับชี้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามาไม่เห็นว่าเกาหลีเหนือกำลังคุกคามอย่างจริงจัง ไม่คิดว่าเกาหลีเหนือกำลังตระเตรียมทำสงครามกับประเทศใดตามคำขู่ รัฐบาลอเมริกันเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี สถานการณ์มิได้ตึงเครียดอย่างที่เห็นแต่ประการใด
            ความสับสนต่อสถานการณ์เริ่มเกิดขึ้นเมื่อในช่วงเวลาใกล้เคียงกันรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ชัค เฮเกล เห็นชอบที่จะเสนอขายเครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุด F-35 หรือ F-15 จำนวน 60 ลำตามแผนซื้อเครื่องบินรบของเกาหลีใต้ โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อต่อต้านความก้าวร้าวในภูมิภาค” ความสับสนต่อสถานการณ์เพิ่มขึ้นอีกเมื่อรัฐมนตรีเฮเกลกล่าวในอีกโอกาสหนึ่ง (3 เมษายน) ว่าหลายสิ่งที่เกาหลีเหนือดำเนินการตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา “เป็นภัยที่ชัดเจนและเป็นจริง” โดยเฉพาะต่อเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นพันธมิตรของอเมริกา และต่อฐานทัพสหรัฐที่เกาะกวม เป็นภัยคุกคามต่อรัฐฮาวาย และแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ เกาหลีเหนือในเวลานี้ “มีขีดความสามารถเรื่องนิวเคลียร์กับจรวดนำส่ง ... สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง”
            คำกล่าวของรัฐมนตรีเฮเกลเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการแถลงข่าวของโฆษกคาร์นีย์ เป็นการตีความสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีในสองทิศทางที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดความสับสนต่อสถานการณ์ว่ารัฐบาลอเมริกาเห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจริงหรือไม่
            นอกจากความสับสนในความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ยังเกิดความสับสนในความเข้าใจต่อขีดความสามารถเรื่องนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 3 ครั้ง และประสบความสำเร็จในปล่อยจรวดพิสัยไกลอุนฮา-3 (Unha-3) ที่อ้างว่าใช้เพื่อปล่อยดาวเทียมเมื่อปีที่แล้ว แต่การปล่อยจรวดดังกล่าวเป็นความสำเร็จครั้งแรกหลังประสบความล้มเหลวมาโดยตลอดในหลายปีที่ผ่านมา ไม่อาจถือว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธพิสัยไกลที่ใช้การได้จริง เช่นเดียวกับความสำเร็จในการทดลองนิวเคลียร์ 3 ครั้งนั้นยังห่างไกลกับการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แม้แต่รัฐบาลอเมริกายังไม่ถือว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
            คำกล่าวของรัฐมนตรีเฮเกลเรื่องขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์จึงขัดแย้งกับรัฐบาล ทำให้ความเข้าใจต่อสถานการณ์สับสนยิ่งขึ้น น่าเป็นห่วงมากขึ้น
            เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นว่าการร่วมผสมโรงของสหรัฐในมุมหนึ่งพยายามชี้ให้สังคมโลกเห็นว่าสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีไม่น่าจะส่อเค้ารุนแรง เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่ในอีกส่วนหนึ่งกลับเอื้อให้ตีความว่าสถานการณ์มีความเป็นจริงเป็นจัง ตึงเครียดมากขึ้น
            น่าจะกล่าวได้ว่าสหรัฐฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ อย่างน้อยได้เสนอขายเครื่องบินรบรุ่นใหม่จำนวน 60 ลำแก่เกาหลีใต้ ทำให้ประเทศเจ้าของเครื่องบินรบยูโรไฟท์เตอร์ไต้ฝุ่นกับดัซโซลท์ ราฟาล (Dassualt Rafale) เจอคู่แข่งผลิตภัณฑ์คุณภาพสัญชาติอเมริกัน ส่วนการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธที่เกาะกวมคงไม่ใช่เพื่อป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกลที่ยังอยู่ระหว่างการทดสอบของเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังเป็นที่สงสัยว่าเกาหลีเหนือจะอาจหาญพอที่จะยิงขีปนาวุธใส่อเมริกา และอาจไม่ใช่เพื่อป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์จากจีนหรือรัสเซีย การติดตั้งระบบป้องกันน่าจะเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบโต้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐมีศักยภาพในทางทหารมากน้อยเพียงไร
            ประเด็นที่สำคัญคือน่าสงสัยว่ารัฐบาลโอบามาตั้งใจช่วยทำให้สถานการณ์ดูสมจริงสมจังมากขึ้นหรือไม่ เพราะหากเกาหลีเหนือตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง คนทั่วไปจะเข้าใจในไม่ช้าว่าการยั่วยุจากเกาหลีเหนือไม่มีความสำคัญ สถานการณ์มิได้ตึงเครียดแต่ประการใด
            ย้อนอดีตกลับไปเรื่องการทดลองนิวเคลียร์ที่แล้วมา นักวิเคราะห์บางคนลงความเห็นว่าสาเหตุหลักที่เกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ไม่ใช่เพื่อคุกคามสหรัฐหรือเกาหลีใต้ แต่เพื่อกระชับอำนาจภายใน ให้ประเทศมีความเป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับพฤติกรรมยั่วยุข่มขู่โจมตีสหรัฐ ข่มขู่จะทำสงครามในรอบนี้ นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นเพราะต้องการกระชับอำนาจภายในเช่นเคย หากความเห็นของนักวิเคราะห์เหล่านี้ถูกต้อง ย่อมต้องตีความต่อว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือน่าจะบรรลุเป้าหมายอีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) จากสำนักข่าวสำคัญๆ ทั่วโลก รวมทั้งจากรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา และจะได้ผลสรุปว่าจะไม่เกิดสงครามเต็มรูปแบบ คาบสมุทรเกาหลีจะคืนสู่ความสงบ การเจรจาหกฝ่ายจะเริ่มต้นอีกครั้ง เป็นการควบวงจร “ความขัดแย้ง-ความร่วมมือ” อีกรอบ
            สถานการณ์โลกที่เห็นมีทั้ง “ความจริง” กับ “ภาพที่ดูแล้วชวนให้เห็นว่าเป็นความจริง” พฤติกรรมยั่วยุของเกาหลีเหนือ การตอบโต้จากสหรัฐมีทั้งความจริงกับภาพลวงตา และความจริงที่ซ่อนอยู่ภาพลวงตา กาลเวลาจะช่วยพิสูจน์ว่าความจริงคืออะไร
7 เมษายน 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
(คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5998 วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ.2556 
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ
http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1533)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:

บรรณานุกรม:
1. Press Briefing by Press Secretary Jay Carney, 4/1/2013”, Press Briefings, 1 April 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/04/01/press-briefing-press-secretary-jay-carney-412013
2. Press Gaggle by Press Secretary Jay Carney Aboard Air Force One en route Denver, Colorado, 4/3/2013, Press Briefings, 3 April 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/04/03/press-gaggle-press-secretary-jay-carney-aboard-air-force-one-en-route-de
3. Pentagon OKs Lockheed or Boeing fighters sale to South Korea, Reuters, 4 April 2013, http://uk.news.yahoo.com/pentagon-approves-sale-lockheed-boeing-fighters-south-korea-190210553--finance.html
4. U.S. to send missile defences to Guam over North Korea threat, Reuters, 4 April 2013,
http://uk.news.yahoo.com/u-sends-missile-defences-guam-over-north-korea-183552264.html
5. N. Korea moves missile after warning of nuclear strike, AFP, 5 April 2013, http://uk.news.yahoo.com/us-boosts-missile-defence-n-korea-warns-nuclear-005512802.html
6. “Remarks by Secretary Hagel at the National Defense University, Ft. McNair, Washington, D.C, U.S. Department of Defense, 3 April 2013, http://www.defense.gov/Transcripts/Transcript.aspx?TranscriptID=5213
7. อำนาจต่อรองของเปียงยางที่ร่อยหรอลงทุกที, ไทยโพสต์, 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556, http://www.chanchaivision.com/2013/02/northkorea130214.html
-----------------