เกาะติดประเด็นร้อน “การตอบโต้ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และพันธมิตร”

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 4 เม.ษ. 8:00 น.) การยั่วยุและการตอบโต้ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรยังไม่สิ้นสุดและเป็นจริงเป็นจังเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์โดยรวมตึงเครียดกว่าเดิม โดยเฉพาะการแสดงออกจากสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ 
            นับจากที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนถึงการทดสอบนิวเคลียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นำสู่ข้อมติความมั่นคงสหประชาชาติที่  2094 (7 มีนาคม 2013) เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเหนือยังคงอ่อนไหว เกาหลีเหนือดำเนินการเตรียมพร้อมทางการทหาร ตัดโทรศัพท์สายตรงกับเกาหลีใต้ ประกาศว่าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม อาจชิงโจมตีสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน และประกาศพร้อมรับมือสงครามนิวเคลียร์
            ตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อเกาหลีเหนือกับสำนักข่าวระหว่างประเทศหลายแห่งเสนอข่าวการเตรียมพร้อมรบของเกาหลีเหนือ ผู้นำคิม จอง-อึนเดินสายตรวจเยี่ยมหน่วยทหารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐฯ ทนไม่ได้ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ B-52, B-2 มาบินเหนือน่านฟ้าเกาหลีใต้ และส่งเครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุด F-22 ไปประจำการที่ฐานทัพในเกาหลีใต้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมรบ Foal Eagle และทำหน้าที่ปกป้องเกาหลีใต้ตามพันธะสัญญาที่มีต่อกัน 
          เกาหลีเหนือประกาศว่ากำลังพิจารณาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดอีกครั้ง เป็นการแสดงการยั่วยุครั้งใหม่ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าหากเกาหลีเหนือเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอายุกว่า 2 ทศวรรษจะสามารถผลิตพลูโตเนียมได้ปีละ 7 กิโลกรัมหรือเท่ากับสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ปีละลูก

            แม้ว่าทางการจีนขอให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาพิสูจน์ว่า คำขอของจีนไม่ได้ผล
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 4 เม.ษ. 8:00 น.)
            สื่อเกาหลีเหนือเสนอข่าวว่า ณ วันนี้เป็นวันที่คาบสมุทรเกาหลีกำลังเผชิญกับภัยจาสงครามนิวเคลียร์มากที่สุด ทหารและประชาชนเกาหลีเหนือ “ทุกคนจะออกไป” ปกป้องอธิปไตย ร่วมต่อสู้ป้องกันใน “สงครามด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ” (แหล่งข่าว Xinhua, http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-04/04/c_132283336.htm)
            ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชัค เฮเกล พบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ยืนยันว่าสหรัฐฯ ยึดมั่นในพันธะสัญญาพันธมิตรกับเกาหลีใต้ และเห็นชอบการเสนอขายเครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุด F-35 หรือ F-15 แก่เกาหลีใต้ตามแผนซื้อเครื่องบินรบใหม่ 60 จำนวนลำ “เพื่อต้านความก้าวร้าวในภูมิภาค” (แหล่งข่าว Reuters, http://uk.news.yahoo.com/pentagon-approves-sale-lockheed-boeing-fighters-south-korea-190210553--finance.html)
            ในส่วนของสหรัฐฯ ทางการสหรัฐฯ ประกาศว่าจะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธที่เกาะกวม ภายหลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศหลายครั้งแล้วว่าจะโจมตีเกาะดังกล่าว รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชัค เฮเกล กล่าวว่า หลายอย่างที่เกาหลีเหนือดำเนินการตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น “เป็นภัยที่ชัดเจนและเป็นจริง” (แหล่งข่าว Reuters, http://uk.news.yahoo.com/u-sends-missile-defences-guam-over-north-korea-183552264.html)
            นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะนำสู่สงครามเต็มรูปแบบ และเห็นว่าผู้นำคิม จ็อง-อึน ต้องการกระชับอำนาจของตนและสร้างข้อต่อรองกับสหรัฐฯและเกาหลีใต้สำหรับการเจรจาในอนาคต
วิเคราะห์: (อัพเดท 4 เม.ษ. 8:00 น.)
            การที่สื่อสำนักหลักๆ ของโลกนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องประกอบกับมีการตอบโต้ด้วยท่าที นโยบาย การเตรียมพร้อมทางทหาร ทำให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีเป็นที่จับตาอยู่ตลอดเวลา และทำให้เห็นภาพของความตึงเครียดที่ก่อตัวมากขึ้นๆ
            ในขณะเดียวกัน ไม่อาจปฏิเสธว่าการยั่วยุกับการโต้ตอบไปมาทั้งด้วยวาจาและด้วยการแสดงออกหลายอย่างเป็นความจริง เป็นข้อสรุปเบื้องต้นว่าสถานการณ์ในคาบสมุทครเกาหลีตึงเครียดมากขึ้น
            การพิจารณาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งเป็นพฤติกรรมยั่วยุครั้งสำคัญ เพราะจะได้แร่พลูโตเนียมที่เกาหลีเหนือใช้ผลิตระเบิดนิวเคลียร์ แต่การจะผลิตตัวระเบิดที่ใช้การได้จริงยังเป็นเรื่องห่างไกล ต้องทดลองวิจัยอีกนาน
            แม้ว่านักวิเคราะห์หลายค่ายหลายสำนักจะคิดเห็นตรงกันว่า โอกาสเกิดสงครามเต็มรูปแบบเป็นไปได้น้อยมาก แต่การปะทะมีโอกาสเป็นไปได้ และเคยเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่ถล่มเกาะแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ที่อยู่ใกล้เกาหลีเหนือ หรือโจมตีเรือรบของเกาหลีใต้ ทั้งสองกรณีฝ่ายเกาหลีใต้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเสมอ เหตุการณ์เหล่านี้แม้เป็นการปะทะในกรอบจำกัด แต่จะทำให้สถานการณ์ครุกรุ่นกลายเป็นสถานการณ์ร้อนได้ในทันที
            น่าติดตามว่าอะไรคือเป้าหมายของเกาหลีเหนือ และเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
4 เมษายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------------------