เมื่อวันอังคาร (12 ก.พ.)
ที่ผ่านมาทางการเกาหลีเหนือประกาศผลสำเร็จในการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ขนาดย่อส่วน
เป็นการยืนยันความสำเร็จการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่สาม ก่อนหน้านี้ประสบผลสำเร็จมาแล้วสองครั้ง
คือเมื่อปี 2006 กับ 2009
หลายคนไม่แปลกใจกับการทดลองครั้งนี้
เนื่องจากสามสัปดาห์ก่อนทางการเปียงยางประกาศว่ามีแผนทดลองนิวเคลียร์และทดสอบการปล่อยจรวดเพิ่มเติมโดยมุ่งเป้าที่สหรัฐอเมริกา
เพื่อตอบโต้สหประชาชาติขยายการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ เหตุที่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติขยายมาตรการคว่ำบาตรเป็นผลจากกรณีเกาหลีเหนือปล่อยจรวดขนส่งดาวเทียมที่ทางสหรัฐฯ
กับพันธมิตรเชื่อว่าเป็นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล
การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้นอกจากประสบผลสำเร็จยังแสดงถึงความก้าวหน้าตรงที่มีขนาดความแรงถึง
6-7 กิโลตันมากกว่าการทดลองสองครั้งก่อน
หากผนวกเรื่องนี้กับการปล่อยจรวดขนส่งดาวเทียมอุนฮา-3
(Unha-3)
เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจะได้ขีปนาวุธพิสัยไกลติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ทางการเปียงยางขู่มาโดยตลอดว่ามีไว้เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ
กับพันธมิตร ความน่าหวาดกลัวเรื่องการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ในสมัยสงครามเย็นผุดขึ้นมาทันที
และที่น่ากลัวกว่านั้นคือหากเกาหลีเหนือพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
วันหนึ่งอาจเป็นอีกประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองและอาจขายต่อให้ประเทศอื่นๆ
ที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ รวมทั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ชิงชังสหรัฐฯ
การวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าไพ่สองใบในมือของรัฐบาลเปียงยางนั้นทรงอานุภาพ
แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องการทหารมีความซับซ้อนมากกว่าที่บางคนเข้าใจ ดังนี้
ประการแรก
ขีปนาวุธพิสัยไกลที่กำลังทดลองอยู่ในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ไม่มีความแน่นอน
การทดสอบยิงในอดีตล้มเหลวหลายครั้ง
ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปีกว่าจะได้อาวุธที่เชื่อถือได้
ประการที่สอง
ขีปนาวุธรุ่นล่าสุดของเกาหลีเหนือใช้เทคโนโลยีสมัยเก่า
ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเหลว (สองท่อนแรกใช้เชื้อเพลิงเหลว
ท่อนที่สามข้อมูลไม่ชัดเจน) จึงต้องใช้เวลาเติมเชื้อเพลิง ใช้เวลาเตรียมการหลายวันกว่าจะปล่อยจรวดได้
เป็นโอกาสให้อีกฝ่ายตรวจจับ หากสหรัฐฯ
จับได้ว่าเกาหลีเหนือเตรียมยิงขีปนาวุธเหล่านี้เมื่อนั้นสหรัฐฯ
อาจใช้วิธีชิงลงมือก่อน (pre-emptive)
โจมตีทำลายขีปนาวุธเหล่านี้ก่อนถูกยิงออกไป
ประการที่สาม
ระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ
กับพันธมิตรคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่าอดีตมาก เดิมสหรัฐฯ
พัฒนาระบบป้องกันเหล่านี้เพื่อรับมือขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์หลายร้อยลูกจากอดีตสหภาพโซเวียตกับบริวารในยุคสงครามเย็น
แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านสหรัฐฯ ยังคงพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องเพราะภัยอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่สิ้นสุด
ยังมีอีกหลายประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองรวมทั้งขีปนาวุธรุ่นล่าสุดของรัสเซียในปัจจุบัน
ขีปนาวุธเหล่านี้มีขีดความสามารถสูงกว่าของเกาหลีเหนือแบบเทียบกันไม่ติด ดังนั้น
ระบบป้องกันของสหรัฐฯ จึงน่าจะทำหน้าที่ได้อย่างดี
ประการที่สี่ หากเกาหลีเหนือยิงใส่สหรัฐฯ จริง รัฐบาลสหรัฐฯ
ย่อมต้องประกาศทำสงครามกับเกาหลีเหนือทันที
มีความชอบธรรมที่จะทำการรบจนกว่าจะโค่นล้มระบอบอำนาจเปียงยาง
หรือแม้กระทั่งหากสหรัฐฯ เห็นว่าขีดความสามารถถึงขั้นเป็นภัยคุกคามแล้ว สหรัฐฯ
อาจไม่ปล่อยจนถึงวันที่เกาหลีเหนือเตรียมยิงใส่ประเทศตน
สงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีว่าอดีตประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิ้ลยู.บุชส่งกองทัพโค่นล้มระบอบซัดดัม
ฮุสเซ็นด้วยข้อหามีอาวุธนิวเคลียร์ที่จนปัจจุบันยังหาไม่พบ และข้อกล่าวหาอื่นๆ
อีกหลายข้อรวมทั้งสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
ดังนั้น
ในอีกมุมมองหนึ่งจะเห็นว่าขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้นยังไม่เป็นภัยคุกคามสักเท่าไหร่
และรัฐบาลเปียงยางจำต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบหากคิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองจริงเพราะอาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบอบ
ถ้าพิจารณาฉากทัศน์ที่ใกล้เข้ามา
มีความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้ามาห้ามปรามเกาหลีเหนือก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายถึงขั้นเกิดสงคราม
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเป้าหมายของจีนคือต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีคงสถานะปัจจุบันอย่างที่เป็นอยู่
ไม่อยากให้เกิดสงคราม ดังที่กระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องให้ “ทุกฝ่าย”
หลีกเลี่ยงการทำให้ “ปัญหารุนแรงกว่าเดิม”
มติขยายการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือล่าสุดของคณะมนตรีความมั่นด้วยคะแนนเอกฉันท์ 15-0 เป็นหลักฐานท่าทีของจีนที่ชัดเจน
พฤติกรรมยั่วยุที่รัฐบาลเปียงยางสร้างขึ้นมีแต่สร้างความชอบธรรมให้สหรัฐฯ
เข้ามายุ่มย่ามในย่านนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยวชินโซ
อาเบะมีเหตุผลเพิ่มงบประมาณกลาโหม ผลลัพธ์คือจีนถูกปิดล้อมมากขึ้น สหรัฐฯ
กับญี่ปุ่นแสดงบทบาทมากกว่าแต่ก่อน จีนเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
และแน่นอนว่ารัฐบาลเปียงยางเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี
พฤติกรรมยั่วยุของรัฐบาลเปียงยางจึงไม่เพียงเข้าทางสหรัฐฯ
กับญี่ปุ่น ยังมีผลทำให้จีนไม่พอใจ เรียกว่ายิงธนูดอกเดียวได้นกถึงสองตัว
กล่าวคือสามารถสร้างความไม่พอใจแก่ทั้งสหรัฐฯ กับจีนพร้อมๆ กัน
การวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปไม่อาจสรุปว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเกาหลีเหนือคืออะไร
การวิเคราะห์ชั้นนี้เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าเกาหลีเหนือพยายามสร้างอำนาจต่อรองของตนโดยใช้ไพ่ในมือสองใบเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา
แต่ไพ่สองใบนี้ใช้ไม่ได้ผลเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาตอบสนองโดยไม่ให้น้ำหนัก
ไม่เห็นว่าเป็นคุกคามร้ายแรง ทั้งยังเห็นว่าพันธมิตรในย่านนี้มีขีดความสามารถการรบเพียงพอในการป้องปราม
สุนทรพจน์ล่าสุดของประธานาธิบดีโอบามาในคำแถลงนโยบาย (State of the Union) ประจำปี 2013 (12
ก.พ.) ยืนยันแนวทางเดิมโดยกล่าวว่า “ขอให้ผู้ปกครองประเทศเกาหลีเหนือรู้ว่าพวกเขาจะมีความมั่นคงความมั่งคั่งก็ต่อเมื่อทำตามข้อตกลงที่ให้สัญญากับนานาประเทศ
การยั่วยุที่เราเห็น...มีแต่จะทำให้ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น สหรัฐฯ
ยืนยันที่จะยืนข้างพันธมิตรของเรา เสริมความเข้มแข็งระบบป้องกันขีปนาวุธและชี้นำโลกนี้เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือภัยคุกคามเหล่านี้”
อำนาจต่อรองของเปียงยางในยามนี้จึงร่อยหรอยลงทุกที
และคงต้องเป็นเช่นนี้อีก 4 ปีกว่าที่ประธานาธิบดีบารัก
โอบามาจะหมดวาระ หลังสี่ปีจากนี้ประธานาธิบดีคนใหม่อาจมีมุมมอง
มีทัศนคติแตกต่างจากปัจจุบัน เมื่อถึงเวลานั้นอำนาจต่อรองอาจเพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์แตกต่างจากปัจจุบัน
ขีปนาวุธพิสัยไกลกับอาวุธนิวเคลียร์เป็นไพ่สองใบของรัฐบาลเกาหลีเหนือที่สามารถเป็นทั้งโอกาสหรือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของระบอบคอมมิวนิสต์ประเทศนี้
ทั้งนี้ขึ้นกับตัวแปรอีกหลายตัว เพียงแต่ยามนี้ใช้ไม่ค่อยได้ผล
น่าติดตามว่ารัฐบาลเปียงยางจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองในอนาคตหรือไม่
14 กุมภาพันธ์ 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ปรับปรุงแก้ไข 17 กุมภาพันธ์ 2013)
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5946 วันพฤหัสที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556)
(ปรับปรุงแก้ไข 17 กุมภาพันธ์ 2013)
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5946 วันพฤหัสที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556)
-------------------------------------
1. N.Korea says plans nuclear test aimed at US, AFP,
24 January 2013, http://uk.news.yahoo.com/n-korea-says-plans-nuclear-test-aimed-us-034505175.html
2. N.K. has conducted 3rd nuke test, The Korea Herald,
12 February 2013, http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20130212000692
3. N.K. erecting last stage of rocket, The Korea Herald,
2012-12-05, http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20121204001037
4. Andrei Lankov, THE KEYS TO NORTH KOREAN SURVIVAL, DEFENSE
DOSSIER, MAY 2012, http://www.afpc.org/files/may2012.pdf
5. DPRK FM Refutes UNSC's "Resolution" Pulling up
DPRK over Its Satellite Launch, KCNA, 24 January 2013, http://www.kcna.co.jp/index-e.htm
6. John Powell, Weapons & Warfare (NY: Salem Press,
2010).
7. Benjamin C. Garrett and John Hart, The A to Z of Nuclear,
Biological and Chemical Warfare (USA: Scarecrow Press, 2007).
8. Full text: State of the Union Address, USA TODAY,
12 February 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/02/12/state-of-the-union-obama-text/1914769/