ทำไมยุโรปจำต้องมีระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนเอง

ภายใต้แนวคิดชาติยุโรปจำต้องติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนแฝงด้วยผลประโยชน์ของประเทศหลัก ยังถูกครอบงำด้วยอิทธิพลสหรัฐไม่มากก็น้อย

มิถุนายน 2023 ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) กล่าวว่าชาติยุโรปจำต้องติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศของตน เลี่ยงการพึ่งพาสหรัฐ ต้องรู้ว่าถูกคุกคามด้วยอะไร จากนั้นชาวยุโรปจะผลิตสิ่งนั้นและรู้ว่าจะต้องซื้ออะไร ดีกว่าให้ซื้อสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้

แนวคิดยุโรปพึ่งตัวเอง :

พฤศจิกายน 2018 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า ยุโรปต้องมีกองทัพที่เป็นของยุโรปจริงๆ เพื่อปกป้องภัยจากรัสเซีย จีนและแม้กระทั่งสหรัฐ ผู้นำฝรั่งเศสเสนอให้จัดตั้งกองทัพยุโรปลดพึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐเป็น “กองทัพยุโรปจริงๆ”

ประธานาธิบดีมาครงกล่าวชัดถ้อยชัดคำว่า “ยุโรปจำต้องปกป้องตัวเองได้ดีด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกา” เราต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองและประกันความมั่นคงด้วยตัวเอง ปกป้องอธิปไตยยุโรป ด้วยเหตุนี้จำต้องทบทวนโครงสร้างความมั่นคงและระบบป้องกันประเทศของยุโรปจากอาวุธทุกรูปแบบ

สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรในประวัติศาสตร์ (historic ally) และยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน ... แต่การเป็นพันธมิตรไม่ได้หมายความว่าเป็นเมืองขึ้น (vassal state)” 

พฤศจิกายน 2018 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเอ่ยถึงการรวมทัพสหภาพยุโรปเช่นกัน ชี้ว่าไม่ใช่เพื่อบั่นทอนแต่เพื่อสนับสนุนนาโต หมดสมัยแล้วที่จะพึ่งพาคนอื่น คนยุโรปต้องดูแลอนาคตด้วยมือของตัวเอง “มีวิสัยทัศน์ว่าวันหนึ่งต้องสร้างกองทัพของยุโรปแท้ๆ”

โพลจาก YouGov เมื่อธันวาคม 2019 คนเยอรมันร้อยละ 55 เห็นว่ายุโรปควรปกป้องตนเองมากกว่าพึ่งกองทัพสหรัฐ ร้อยละ 54 เห็นว่านาโตควรร่วมมือกับรัสเซียมากกว่านี้ ร้อยละ 44 เห็นว่าควรเพิ่มงบกลาโหม 

บางแนวคิดชี้ว่านับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยุโรปตะวันตกอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสหรัฐมาโดยตลอดแม้สิ้นสงครามเย็นจวบจนปัจจุบัน ในช่วงสงครามเย็นอธิบายได้ว่ายุโรปกำลังฟื้นตัวหลังเสียหายยับเยินจากสงครามโลก ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองที่รุนแรงกับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นำสู่การเผชิญหน้าด้วยกองทัพมหาศาล อาวุธนิวเคลียร์

หลังสิ้นสหภาพโซเวียตภัยคุกคามจากค่ายคอมมิวนิสต์หมดไป ยุโปรตะวันตกไม่คิดว่าตัวเองมีภัยคุกคามทางทหารที่ร้ายแรงอีกแล้ว อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของสนธิสัญญานาโตที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ เท่านี้เพียงพอต่อการปกป้องกันประเทศ

นักวิชาการอย่าง John Laughland ถึงกับใช้คำว่ายุโรปเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของอเมริกา (an American protectorate) ยุโรปพึ่งพาสหรัฐไม่เพียงด้านความมั่นคงทางทหารเท่านั้น นโยบายระหว่างประเทศหลายเรื่องยังแอบอิงสหรัฐด้วย

พฤศจิกายน 2019 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า “สมองนาโตกำลังตาย” เพราะการตัดสินใจร่วมระหว่างยุโรปกับสหรัฐลดน้อยลง รัฐบาลสหรัฐมักกระทำการตามอำเภอใจ มีผลต่ออนาคตขององค์การนาโต 

อันที่จริงแล้วความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเรื่องปกติ การพึ่งพามหาอำนาจอย่างสหรัฐต้องมีบ้างเป็นของธรรมดา แต่หากถึงกับเป็นรัฐในความอารักขาแล้ว เช่านี้ควรเรียกว่าสูญเสียอธิปไตยแล้วหรือไม่ หรือสูญเสียบางส่วนไปแล้ว คำถามคือความสูญเสียดังกล่าวให้คุณให้โทษอย่างไร

ภัยคุกคามแท้คือไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จริง :

ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของผู้นำฝรั่งเศสหรือเยอรมนีล้วนสะท้อนเรื่องอธิปไตย ความเป็นเอกเทศ ไม่อยากพึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐดังเช่นอดีต เคยมีผู้ตั้งคำถามว่าถ้ายุโรปถูกโจมตี สหรัฐจะเข้าช่วยเหลือจริงไหม ประเด็นที่สำคัญกว่าคือยุโรปต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น มากว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อนาคตไม่แน่นอนบริบทโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังที่ ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่าต้องมีกองทัพเพื่อปกป้องอันตรายจากรัสเซีย จีน แม้กระทั่งสหรัฐ

การสร้างกองทัพยุโรปจึงเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว

นักวิเคราะห์เชื่อการที่เยอรมนีกับฝรั่งเศสคิดตั้งกองทัพยุโรปเพราะหวังพ้นอำนาจควบคุมจากสหรัฐแม้จะบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของนาโตแต่การบังคับบัญชาจะขึ้นตรงต่อยุโรป

พึ่งตัวเองคือพึ่งพี่ใหญ่ยุโรป :

ถ้าเอ่ยถึงการผลิตอาวุธด้วยตัวเองของยุโรป อาวุธชิ้นใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเครื่องบิน รถถัง เรือรบ ขีปนาวุธจะกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และสวีเดน ที่ผ่านมามีโครงการร่วมมือบางเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เช่น เครื่องบินรบพานาเวีย ทอร์นาโด (Panavia Tornado) โดยความร่วมมือของเยอรมนี อังกฤษและอิตาลี เครื่องบินรบยูโรไฟท์เตอร์ ไต้ฝุ่น (The EURO FIGHTER 2000 (Typhoon)) โดยความร่วมมือของเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลีและสเปน

หากมีโครงการอื่นน่าจะกระจุกตัวในไม่กี่ประเทศนี้ ดังนั้นหากใช้แนวคิดหลีกเลี่ยงสหรัฐเท่ากับกลับมาอยู่ใต้ยุโรปไม่กี่ประเทศ ต้องยอมรับว่าการผลิตอาวุธหลักชิ้นสำคัญๆ มักอยู่ในประเทศหลักที่มีพลังเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและพลังกองทัพระดับสูงเท่านั้น ในกรณียุโรปหลายประเทศผลิตขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศของตนอยู่แล้ว ตามความหมายของผู้นำฝรั่งเศสน่าจะหมายถึงระบบป้องกันไฮเทคขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนมหาศาล ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดเท่าที่พวกยุโรปมี (ไม่พึ่งชาติอื่น) 

ประโยคสำคัญที่ผู้นำฝรั่งเศสพูด หากใช้ระบบอาวุธสหรัฐทำให้ยุโรปต้องพึ่งพาประเทศนั้น ทางออกคือยุโรปต้องมีระบบของตนเอง ในทางทหารเป็นที่รู้กันว่าอาวุธหลักชิ้นใหญ่อย่างเครื่องบิน รถถัง ขีปนาวุธเป็นเทคโนโลยีซับซ้อน อะไหล่ต่างๆ มักผลิตเลียนแบบยากหรือทำไม่ได้เลย การซื้อใช้อาวุธประเทศใดเท่ากับต้องซื้ออะไหล่ประเทศผู้ผลิตตลอดไป หาไม่แล้วอาจกลายเป็นเศษเหล็กที่ซื้อมาด้วยราคาสูงลิบแล้วใช้ไม่ได้ รบก็แพ้ บางชิ้นมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการทำงานที่บริษัทแม่เท่านั้นสามารถควบคุมแก้ไข เป็นการ “บังคับ” ไปในตัวว่าจะต้องใช้อย่างไร ขอบเขตอยู่ที่ไหน 

ประธานาธิบดีมาครงจึงกล่าวว่า “ความจริงคือยุโรปต้องปกป้องยุโรป”

ถ้าลงรายละเอียดมากขึ้น ฝรั่งเศสในยามนี้มีความสามารถพอสมควร ผลิตระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนชื่อ Mamba system และหวังให้นาโตยุโรปใช้ระบบนี้เป็นมาตรฐาน บางประเทศใช้แล้วเช่นโรมาเนีย เป็นระบบเดียวของยุโรปที่สามารถต้านขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) สามารถยิงเครื่องบินจากระยะไกล 120 กิโลเมตรและขีปนาวุธทิ้งตัวที่ 30 กิโลเมตร

ในขณะเดียวกันเยอรมนีมีแผนของตนให้เป็นระบบหลักของยุโรป จึงแข่งขันกันและขับเคี่ยวอย่างรุนแรงเพราะปลายปีนี้ (2023) ยุโรปจะสรุปโครงการ The European Sky Shield ตอนนี้มีผู้เข้าร่วม 17 ประเทศ ฝรั่งเศสยังไม่เข้าร่วมชี้ว่าโครงการยังไม่ดีพอ ยังต้องใช้ชิ้นส่วนของสหรัฐกับอิสราเอลมาก

แผนเยอรมันคือยุโรปจะใช้เทคโนโลยีผสมระหว่าง Arrow 3 ของอิสราเอลกับ Patriot ของสหรัฐที่ตอนนี้หลายประเทศใช้อยู่แล้ว รวมทั้งระบบขีปนาวุธของตน (ใช้ร่วม 3 เทคโนโลยีปราศจากของฝรั่งเศส)

น่าคิดว่าแผนเยอรมนียังใช้ระบบของสหรัฐซึ่งใช้กันมากอยู่แล้ว เพียงแค่ผนวกระบบของตนกับอิสราเอลเข้ามา เยอรมนียังได้ประโยชน์โดยยอมเสียส่วนหนึ่งให้สหรัฐกับอิสราเอล ซึ่งน่าจะมีข้อดีที่ชาติยุโรปที่เป็นมิตรพึ่งพาสหรัฐอยู่แล้วจะยอมรับง่ายๆ รับรู้อยู่แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด สั่งซื้อรวดเร็วไม่ต้องทุ่มทุนวิจัย แต่ยังไม่ใช่ระบบอิสระจากประเทศนอกภูมิภาค 

ภายใต้แนวคิดชาติยุโรปจำต้องติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนจึงแฝงด้วยผลประโยชน์หลักของประเทศหลัก ยังถูกครอบงำด้วยอิทธิพลสหรัฐไม่มากก็น้อย น่าติดตามว่าสุดท้ายจะลงเอยเช่นไร

25 มิถุนายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9719 วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2566)

------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :

ไม่ว่ายุโรปจริงใจหรือเล่นเกม โครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน การคว่ำบาตร การทำการค้ากับอิหร่านจะเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับยุโรปอีกนาน สะท้อนบทบาท ท่าทีของยุโรปในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คำว่านาโตล้าสมัยเป็นคำพูดที่บิดเบือน เพราะนาโตปรับปรุงเรื่อยมา แต่ที่พูดว่าล้าสมัยเป็นเพราะไม่ตรงตามความต้องการของรัฐบาลสหรัฐ เป็นโจทย์ที่ฝั่งยุโรปต้องหาคำตอบว่าควรพึ่งพาสหรัฐหรือควรเป็นอิสระมากขึ้น แต่เนื่องจากสมาชิกปัจจุบันแตกต่างหลากหลาย ไม่อาจให้คำตอบง่ายๆ และไม่ตรงความต้องการสหรัฐเต็มร้อย ที่สุดแล้วนาโตน่าจะคงอยู่ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า

บรรณานุกรม :

1. Europe needs own air defence to avoid reliance on US, urges Macron. (2023, June 20). Euro News. Retrieved from https://www.euronews.com/2023/06/20/europe-needs-own-air-defence-to-avoid-reliance-on-us-urges-macron

2. EU army: Will it be easy for Europe to get rid of American political diktat? (2018, November 17). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/444230-european-army-nato-split/

3. France a ‘historic’ ally of US, not a vassal state, says Macron. (2018, November 15). France 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20181114-france-historic-ally-america-vassal-macron-trump-defence

4. France deploys MAMBA air defense system to Romania. (2022, May 20). Aero Time. Retrieved from https://www.aerotime.aero/articles/31066-france-mamba-air-defense-system-romania

5. German-led Euro air defence plan faces pushback. (2023, June 19). The Local. Retrieved from https://www.thelocal.fr/20230619/france-pushes-back-against-german-led-euro-air-defence-plan

6. Germans in favor of 'reducing reliance' on US. (2019, December 3). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/germans-in-favor-of-reducing-reliance-on-us/a-51510739

7. Macron claims NATO is suffering 'brain death'. (2019, November 7). France 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20191107-macron-claims-nato-is-suffering-brain-death

8. Macron urges European army to defend against Russia, US. (2018, November 6). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/macron-urges-european-army-defend-against-russia-us-doc-1al8xf1

9. Merkel echoes call for an EU military. (2018, November 14). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/612883/Merkel-echoes-call-for-an-EU-military

10. US 'protectorate' rebelling? Experts doubt EU's ability to stand up to Washington. (2018, August 28). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/437005-us-eu-protectorate-rebellion/

-----------------------