'นาโตล้าสมัย' หรือ 'ไม่ตามใจสหรัฐ'?

ทรัมป์ระบุว่าปัญหานาโตมี 2 ข้อ ข้อแรกคือล้าสมัยเพราะสถาปนาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น บริบทปัจจุบันแตกต่างไปมาก ข้อ 2 นาโตยังให้ความสำคัญกับก่อการร้ายน้อยเกินไป ในขณะที่สหรัฐต้องเสียงบประมาณสนับสนุนมากเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ ไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้ ดังนั้นหากชาติสมาชิกนาโตไม่ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จะขอพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต และถ้าการทำเช่นนี้เป็นเหตุให้นาโตแตกก็ให้แตกไปเลย

นาโตปรับตัวอยู่เสมอ :
            องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่านาโตเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ต่อต้านสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อสิ้นสงครามเย็น ไม่มีสหภาพโซเวียต สหรัฐกับยุโรปตะวันตกต่างตั้งคำถามว่านาโตควรอยู่ต่อไปหรือไม่ ควรปรับตัวอย่างไร
ข้อสรุปคือนาโตควรอยู่ต่อไป เพราะวัตถุประสงค์นาโตไม่ใช่ต่อต้านสังคมนิยมเท่านั้น นับจากปี 1967 ก็ให้ความสำคัญกับการดูแลความมั่นคงของสมาชิกอย่างครอบคลุม
เมื่อสิ้นสงครามเย็น นาโต้เริ่มปรับบทบาทครั้งใหญ่ ปี 1992 ประกาศทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ (peacekeeping) มีแนวคิดจัดตั้งหน่วยรบเคลื่อนที่เร็วร่วม (Combined Joint Task Forces: CJTFs) พร้อมจะส่งกองทัพจำนวนหนึ่งไปยังจุดต่างๆ นอกภูมิภาค มีการเอ่ยถึงกลุ่มก่อการร้าย รัฐอันธพาล และเชื่อมโยงพวกเหล่านี้กับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMD)
            ดังนั้น นาโตจึงปรับตัวเรื่อยมา พยายามปรับตัวให้กับเข้าบริบทใหม่ วัตถุประสงค์ใหม่ ไม่ได้ล้าสมัยดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์เอ่ยถึง จุดที่เป็นประเด็นขัดแย้งคือต้องร่วมกับสหรัฐเข้าพัวพันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอย่างเข้มข้นหรือไม่
            กรณีสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 เมื่อปี 2003 เป็นตัวอย่างที่นาโตฝั่งยุโรปไม่สนใจเข้าร่วมรบ มีเฉพาะอังกฤษเท่านั้นที่สนับสนุนรัฐบาลบุช ผลคือสหรัฐต้องเข้าทำสงครามโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซนโดยมีไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนอย่างจริงจัง
            ล่าสุดคือกรณีทำสงครามกับ IS ในซีเรียกับอิรักที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดเรื่อยมาว่ายุโรปให้ความร่วมมือน้อยเกินไป

การกดดันรอบใหม่ :
            ในภารกิจต่างๆ ที่ใช้กองทัพนาโตยุโรปไม่ว่าปฏิบัติการนั้นจะอยู่ในยุโรปหรือนอกยุโรป ภายใต้ข้อมติสหประชาชาติหรือไม่ ที่ผ่านมาฝั่งยุโรปเห็นว่าตนแบกรับภาระมากเกินไป และไม่คิดจะรับผิดชอบมาก เป็นอีกประเด็นว่าใครจะเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ก่อตั้งนาโต รัฐบาลสหรัฐพยายามเรียกร้องให้ฝั่งยุโรปแบกรับภาระเพิ่มเติม เป็นความจริงว่างบประมาณกลาโหมฝั่งยุโรปเมื่อเทียบต่อจีดีพีค่อยๆ ลดน้อยลง หลายประเทศไม่ยอมเพิ่มงบประมาณ
สมัยโอบามาไม่ต่างจากรัฐบาลทรัมป์ที่เรียกร้องให้ชาติยุโรปรับภาระเพิ่ม มิถุนายน 2013 Ivo Daalder เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำนาโต พูดย้ำตรงไปตรงมาว่าสัดส่วนที่ชาติยุโรปรับภาระนั้นน้อยเกินไปจนถึงระดับที่อยู่ต่อไม่ได้แล้ว (unsustainable level)
ดังนั้น ประเด็นขอให้ฝั่งยุโรปช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณเพิ่มจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายทศวรรษ

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และกำลังกดดันหนักเพื่อให้ชาติสมาชิกฝั่งยุโรปทั้งหมดยอมรับแนวทางที่สหรัฐต้องการ
ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือ หลายนโยบายที่รัฐบาลทรัมป์คิดดำเนินการอยู่ในขณะนี้ สอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์แม่บท ประเด็นนาโตที่กำลังเอ่ยถึงเป็นอีกประเด็นตัวอย่าง

อะไรคือสิ่งที่สหรัฐต้องการ :
            ประเด็นน่าคิดคือถ้าเรื่องงบประมาณเป็นปัญหาใหญ่ สหรัฐควรยื่นคำขาดให้นาโตไปนานแล้ว แต่จนแล้วจนรอดสหรัฐยังอยู่กับนาโต เป็นไปได้ไหมว่าความหมายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจริงๆ คือกำลังพูดว่าชาติสมาชิกนาโตหลายประเทศไม่ได้ดำเนินนโยบายตามที่สหรัฐต้องการ
            ยกตัวอย่างเหตุการณ์ปัจจุบัน หลายประเทศให้ความร่วมมือต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS น้อยเกินไป การใช้กำลังทางอากาศโจมตี IS มีเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศสที่เข้ารบจริงๆ ยุโรปไม่ค่อยเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซีย ออกมาตรการเพียงเล็กน้อย และอาจเกี่ยวข้องกับนโยบายโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านที่ทรัมป์แสดงท่าทีต้องการยกเลิกข้อตกลงเดิม ขณะที่ฝั่งยุโรปเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่ดีแล้ว

ในระยะหลังชาตินาโตฝั่งยุโรปมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เยอรมันกลายเป็นแกนนำยุโรปตะวันตก อียู ไม่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับสหรัฐหรืออย่างที่สหรัฐต้องการเสมอไป
            เงื่อนไขคือ หากยุโรปยังหวังรับการปกป้องทางทหารจากสหรัฐ จะต้องตามใจสหรัฐมากกว่าเดิม
            ประเด็นนาโตล้าสมัยของทรัมป์จึงล้ำลึกไม่น้อย

            ถ้ามองว่านโยบายนี้ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เท่ากับว่าฝ่ายสหรัฐกำลังเปิดฉากเริ่มเจรจาต่อรองใหม่ เพิ่มแรงกดดันเป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม คือขู่ว่าจะแยกตัวออกไป หรือจัดนาโตใหม่
            เป็นโจทย์ที่ฝ่ายยุโรปจะต้องให้คำตอบ
            ก่อนจะไปต่อรองกับสหรัฐ ต้องได้ข้อตกลงภายในกลุ่มก่อน แต่เนื่องจากกลุ่มประกอบหลายประเทศ ที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน เช่น ประเทศอย่างโปแลนด์หวังอิงสหรัฐมากกว่าเยอรมัน การหาข้อสรุปภายในยุโรปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
            ในขั้นการเจรจากับสหรัฐ แม้ทรัมป์ขู่จะอาจถอนตัวจากนาโตหรือปล่อยให้นาโตล้ม ก็ใช่ว่ากลุ่มประเทศยุโรปจะหวั่นเกรง ขอเพียงยุโรปสามารถกำหนดจุดยืนของตนที่ชัดเจน ก็จะทนทานต่อแรงกดดันจากสหรัฐ

            สถานการณ์ในยามนี้ฝั่งยุโรปกำลังพิจารณาโจทย์เชิงยุทธศาสตร์อีกรอบ จากที่พึ่งพาความมั่นคงสหรัฐมานาน บัดนี้ต้องตอบว่าจะคงยุทธศาสตร์นี้ต่อหรือไม่ ถ้าจะรักษายุทธศาสตร์นี้ต่อไป ยุโรปพร้อมจะจ่ายอะไรบ้าง ถ้ายุโรปจะหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น ยุโรปจะเสียมากว่าได้หรือไม่
            ไม่ใช่คำถามที่ตอบได้ง่ายๆ เพราะสมาชิกหลากหลาย บริบทแตกต่าง ความต้องการต่างกัน

ด้านนายกฯ แมร์เคิลกล่าวกว่า “อนาคตของพวกเราคนยุโรปอยู่ในมือของพวกเราเอง” พูดเป็นนัยว่าพวกยุโรปต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่ถูกใครชี้นำ ไม่ว่าแต่ละประเทศคิดตัดสินใจอย่างไร

ที่สุดแล้วอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ :
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Timo Soini รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฟินแลนด์แสดงความเห็นว่า ที่สุดแล้วชาติสมาชิกนาโตจะเพิ่มงบกลาโหมให้ได้ถึงร้อยละ 2 ของจีดีพีตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งยังกล่าวว่ารัฐบาลทรัมป์จะไม่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ เมื่อการเจรจาเข้มข้น นาโตจะไม่แตกออก (ฟินแลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต)
            คำกล่าวของรัฐมนตรีฟินแลนด์มาจากแนวคิดยุโรปต้องการสหรัฐ เช่นเดียวกับที่สหรัฐต้องการยุโรป

ย้อนหลังตั้งแต่เริ่มแรกหารือก่อตั้งนาโต รัฐบาลสหรัฐคือหนึ่งในแกนนำร่วมกับประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ในมุมของสหรัฐ การก่อตั้งนาโตคือการละทิ้งหลักคิดโดดเดี่ยวตัวเอง พาตัวเองเข้าพัวพัน (engage) ในพื้นที่อื่นๆ นอกอาณาเขต เกิดกลุ่มพันธมิตร
สหรัฐไม่อาจเป็นมหาอำนาจโดยไม่มีพันธมิตร ปราศจากมิตรประเทศที่คอยสนับสนุน ดังนั้น แม้วิพากษ์ว่านาโตล้าสมัย สหรัฐยังคงต้องการอยู่ดี และต้องการมากขึ้นในยามที่อิทธิพลสหรัฐอ่อนแอลง
หากสหรัฐละทิ้งนาโตเท่ากับทำลายหลักนิยมเข้าพัวพันโลก กลับไปโดดเดี่ยวตัวเอง อิทธิพลของสหรัฐยิ่งอ่อนแอลง

คำถามสำคัญคือ ในบริบทโลกปัจจุบัน การอยู่โดดเดี่ยวกับการเข้าพัวพันโลก แบบใดที่สหรัฐได้หรือเสียประโยชน์มากกว่า และถ้าตอบได้ว่าสหรัฐจะเลือกทางใดก็จะตอบได้ว่าสหรัฐจะยังคงรักษานาโตอต่อหรือไม่

อีกความเข้าใจที่ต้องไม่มองข้ามคือ ในแง่การเมืองในประเทศ การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ขึ้นกับประธานาธิบดีเพียงฝ่ายเดียว ทรัมป์จะพูดอะไรก็ได้ แต่ใช่ว่าจะสามารถทำตรงตามที่พูดทุกอย่าง ประเด็นนาโตจะเป็นอีกเรื่องที่พิสูจน์ ตอกย้ำความจริงข้อนี้

            ไม่ว่านาโตจะล้าสมัยจริงหรือไม่ หรือไม่ช่วยสหรัฐมากพอในภารกิจต่างๆ บรรทัดสุดท้ายที่เรียกร้องคือ ขอให้ชาติสมาชิกเพิ่มงบกลาโหมเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพีตามที่ได้ตกลงกันจริงๆ เพราะจะช่วยลดภาระสหรัฐ
            ทันทีที่ได้ร้อยละ 2 นาโตจะกลับมาทันสมัยอีกครั้ง อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง จนกว่าทีมยุทธศาสตร์สหรัฐจะออกมาตรการกดดันชุดใหม่
29 มกราคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7387 วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ.2560)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ทรัมป์วิพากษ์นาโตว่าเก่าแก้ล้าสมัย ไม่ช่วยต่อต้านก่อการร้ายเท่าที่ควร สหรัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณมากแต่ประโยชน์น้อย จึงคิดพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต ความจริงคือรัฐบาลสหรัฐทุกรัฐบาลพยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และไม่คิดถอนตัวออกจากนาโต เพราะการสูญเสียพันธมิตรยุโรปเป็นโทษมากกว่า พูดอีกอย่างคือทุกวันนี้ได้ประโยชน์มากอยู่แล้ว
บรรณานุกรม:
1. Birnbaum, Michael. (2017, January 16). European leaders shocked as Trump slams NATO and E.U., raising fears of transatlantic split. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/europe-leaders-shocked-as-trump-slams-nato-eu-raising-fears-of-transatlantic-split/2017/01/16/82047072-dbe6-11e6-b2cf-b67fe3285cbc_story.html
2. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
3. Folly, Martin H. (2008). North Atlantic Treaty Organization. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 544-546). USA: The Gale Group.
4. Howorth, Jolyon. (2015). Implications of the US Rebalance toward Asia: European Security and NATO. In Origins and Evolution of the US Rebalance toward Asia: Diplomatic, Military, and Economic Dimensions. (Pp.197-222). New York: Palgrave Macmillan.
5. POP, VALENTINA. (2017, January 16). A Q&A With Finland’s Foreign Minister on Trump, Brexit and Populism. The Wall Street Journal. Retrieved from http://blogs.wsj.com/brussels/2017/01/16/a-qa-with-finlands-foreign-minister-on-trump-brexit-and-populism/
6. Sandier, Todd., Hartley, Keith. (1999). The Political Economy of NATO: Past, Present and into the 21st Century. New York: Cambridge University Press.
7. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
8. Trump predicts "very massive recession" in U.S. (2016, April 3). CNBC/Reuters. Retrieved from http://www.cnbc.com/2016/04/03/trump-predicts-very-massive-recession-in-us.html
-----------------------------