ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 2023 ซ่อนเร้น เฉพาะกาล?

 ความบาดหมางฝังลึกที่เกาหลีใต้มีต่อญี่ปุ่น ความไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทำให้การปรับความสัมพันธ์ยุ่งยาก น่าสงสัย อาจมีผลช่วงสั้นๆ ตามอายุรัฐบาล

ประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อ 16 มีนาคมมีข้อมูลที่เปิดเผย พอจะวิเคราะห์ได้ดังนี้

สรุปภาพรวมเจรจา :

หนึ่งในไม่กี่เรื่องที่โดดเด่นชัดเจนคือ 2 ประเทศปรับความสัมพันธ์ GSOMIA สู่ระดับปกติ (completely normalize) GSOMIA (General Security of Military Information Agreement) คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทหารเช่น นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เป็นความร่วมมือตั้งแต่ 2016 และระงับไปเมื่อ 2019 จากเหตุญี่ปุ่นระงับส่งวัตถุดิบ สินค้าสำคัญบางตัวจากญี่ปุ่น ผสมกับความบาดหมางเมื่อเกาหลีเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น 1910-45

ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ก่อประโยชน์ด้านความมั่นคงแก่ทั้ง 2 ประเทศ แยกเรื่องนี้จากการเรียกร้องค่าชดเชยการใช้แรงงานสมัยเป็นอาณานิคมที่คาดว่ามีถึง 780,000 คน เรื่องหญิงบำเรอ (comfort women) มุมองจุดยืนเกาหลีใต้ต่ออดีตญี่ปุ่นยังคงเดิม

ประธานาธิบดียุนอธิบายว่าเป็นนโยบายที่มุ่งมองอนาคต (future-oriented) ร่วมกัน

ข้อตกลงอีกข้อคือผู้นำ 2 ประเทศจะไปมาหาสู่กันและกันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีช่วยขึ้นไป หลังระงับแล้ว 12 ปี เป็นเครื่องชี้วัดว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้น โอกาสร่วมมือกันมากขึ้น

ลดข้อขัดแย้งทางการค้า เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนประชุมสุดยอดทั้งคู่บรรลุแก้ข้อพิพาทการค้าที่มีอยู่ในระดับหนึ่ง ญี่ปุ่นคลายส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งๆ ที่เคยพยายามกันแล้ว ชี้ว่าทั้งคู่ยอมถอยคนละก้าว ข้อนี้ก่อประโยชน์แก่เกาหลีใต้อย่างเป็นรูปธรรม

สหรัฐได้ประโยชน์ด้วย สหรัฐขอให้เกาหลีใต้เพิ่มผลิตชิ้นส่วนชิปคอมพิวเตอร์เพื่อป้อนตลาดของตนในยามนี้ที่ขาดแคลน น่าจะเป็นอีกปัจจัยช่วยลดข้อพิพาทเรื่องนี้

โอกาสกับความท้าทาย : 

แม้การกดขี่ในสมัยเป็นอาณานิคมจะผ่านมานานแล้ว ญี่ปุ่นเคยจ่ายชดเชยไปบ้าง ขอโทษบ้าง แต่คนเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งยังโกรธเคือง เรียกร้องไม่จบสิ้น เป็นประเด็นการเมือง นักการเมืองเกาหลีใต้ใช้หาเสียง เรียกคะแนนนิยม จะเห็นว่ารัฐบาลยุนกังวลเหมือนกัน จึงบอกว่าจุดยืนเกาหลีใต้ต่ออดีตญี่ปุ่นยังคงเดิม เรื่องอ่อนไหวยังเก็บไว้ ย้ำว่าการปรับสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง ยกกรณีเกาหลีเหนือ

อันที่จริงตั้งแต่หาเสียงประธานาธิบดียุนมีจุดยืนปรับสัมพันธ์ ต่างจากพรรคที่แข็งกร้าวต่อญี่ปุ่น ถ้าอธิบายตามแนวนี้การปรับสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องแปลกชีย

ข้อมูลปรากฏผ่านสื่อมีไม่มาก น่าเชื่อว่ามีข้อตกลงลับกับประเด็นหารือหลายข้อ ที่ปรากฏเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่แน่นอนคือประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 2023 เป็นจุดเริ่มของการสานสัมพันธ์ใหม่ น่าจะมีความร่วมมืออื่นๆ ตามมาอีก เป็นเรื่องน่าติดตาม

มองไกลกว่าเกาหลีเหนือ :

แม้ข้อมูลที่เปิดเผยจะเอ่ยถึงภัยเกาหลีเหนือ รัฐบาลยุนมักอธิบายอย่างนั้นสอดคล้องกับที่รัฐบาลเกาหลีเหนือแสดงท่าทีแข็งกร้าว ทดสอบขีปนาวุธบ่อยครั้ง นักวิเคราะห์บางคนคิดว่าเป้าหมายหลักเป็นจีนมากกว่า Kim Gi-hyeon จาก People Power Party กล่าวว่าการสานสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอินโด-แปซิฟิกที่เผชิญภัยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือและจีนที่ก้าวขึ้นมา

หากสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้แข็งแกร่งจะเสริมให้ฝ่ายสหรัฐเข้มแข็งขึ้นมาก เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรทางทหารสำคัญของสหรัฐในแถบนี้ รัฐบาลสหรัฐหวังพึ่งกำลังของทั้ง 2 ประเทศ แต่ทั้งคู่มีข้อบาดหมางตั้งแต่เก่าก่อน ซ้ำร้ายกว่านั้นเกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นอีก ในสมัยโอบามาพยายามเชื่อมสัมพันธ์แต่ไม่ได้ผลเท่าไรนัก ดังนั้นจะเข้มแข็งขึ้นเพียงไรอย่างไรน่าติดตาม รวมทั้งปฏิกิริยาจากจีน ผลต่อนาโตเอเชีย สงครามเย็นใหม่

เนื้อหายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชี้ว่าจีนเป็น ”คู่แข่งสำคัญ” ต่างจากรัสเซียที่ระบุว่าเป็นภัยคุกคาม เป็นศัตรูต่อโลกเสรีประชาธิปไตย แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาโทนเสียงแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ขู่จีนห้ามช่วยเหลือรัสเซีย ในขณะที่จีนซื้อพลังงานรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก

กุมภาพันธ์ 2023 Jens Stoltenberg เลขาธิการนาโตกล่าวว่าศึกยูเครนมีผลต่อความคิดของจีน ส่งผลต่อนโยบายจีน อะไรที่เกิดกับยุโรปจะมีผลต่อเอเชีย และอะไรที่เกิดขึ้นกับเอเชียจะมีผลต่อยุโรปเช่นกัน ตอนนี้ นาโตกำลังยกระดับความร่วมมือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ “การก้าวขึ้นมาของจีนมีผลต่อความมั่นคง ผลประโยชน์ของเราและคุณค่าที่เรายึดถือ”

จึงเป็นไปได้ว่าอนาคตหนีไม่พ้นที่รัฐบาลสหรัฐจะรวมพันธมิตรเอเชียเข้ากับยุโรป หรือพูดอีกอย่างคือรวมพันธมิตรทางทหารทั้งโลก ไม่ว่าจะทำเป็นนาโต-2 นาโตเอเชีย หรือนาโตเดียวที่รวมทั้งหมด รวมความแล้วรัฐบาลสหรัฐตั้งเป้ากระชับพันธมิตรทางทหารที่ตนเป็นแกนนำให้ร่วมมือใกล้ชิดขึ้นอีก โดยอ้างภัยคุกคามจากทั้งรัสเซียกับจีน ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้คือเป้าหมายสำคัญที่ต้องร่วมมือกันให้ได้

สงครามเย็นใหม่เป็นอีกหัวข้อที่พูดกันมาก ถูกวิเคราะห์หลากหลาย สงครามเย็นใหม่หรือสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง แม้ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐกับพวกพยายามชี้ว่าจีนปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ รัสเซียไม่เป็นประชาธิปไตย มาถึงสมัยรัฐบาลไบเดนคำที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้คือ การต่อสู้ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับทรราชย์ (tyranny) หรือพวกอำนาจนิยม

สงครามยูเครนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลไบเดนออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียใหม่หลายชุด (เดิมรัสเซียถูกคว่ำบาตรในระดับหนึ่งอยู่แล้ว) ยุโรปเป็นจุดร้อนแรงที่ทั่วโลกจับตา

สังเกตว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้ คือ รัฐบาลสหรัฐกับพวกที่เล่นงานจีนในอินโด-แปซิฟิกและที่เล่นงานรัสเซียในยุโรป

ประเด็นสำคัญคือเป็นความขัดแย้งอันเนื่องจากเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้น ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจ หากตีความว่า “สงครามเย็น” คือ การช่วงชิงอำนาจ ช่วงชิงผลประโยชน์ของ 2 อภิมหาอำนาจดังสมัยสงครามเย็นเมื่อศตวรรษก่อน สามารถอธิบายว่าของเดิมไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน ต่างกันเพียงจะนำเสนอเรื่องราวอย่างไร จะให้ประชาชนรับรู้อย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ในอนาคตภาพนี้น่าจะชัดเขนยิ่งขึ้น

แค่ฟื้นฟูเฉพาะรัฐบาลนี้หรือไม่ :

ทันทีสิ้นสุดการประชุม คนเกาหลีที่ต่อต้านญี่ปุ่นออกมาประท้วงทันที Lim O-kyeong โฆษกพรรค DPK ชี้ว่ารัฐบาลยุนหารือเรื่องเรื่องหญิงบำเรอกับเกาะด็อกโด (Dokdo หรือเกาะทาเคชิมา (Takashima) ที่ทั้งสองประเทศอ้างว่าเป็นของตน) แต่รัฐบาลปฏิเสธ

ความบาดหมางในอดีตได้สืบเนื่องมานานแสนนาน เป็นทัศนคติที่ถ่ายทอดกันมา มีองค์กรเคลื่อนไหวเข้มแข็ง เช่น องค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องหญิงบำเรอ (comfort women - หญิงชาวบ้านที่ถูกทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องปรนเปรอทางเพศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นประเด็นที่ฝ่ายการเมืองชอบใช้หาเสียง ที่ผ่านมาบางรัฐบาลเป็นมิตรกับญี่ปุ่น พอเปลี่ยนรัฐบาลสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไป จึงเป็นคำถามว่าการฟื้นสัมพันธ์รอบนี้จะยั่งยืนแค่ไหน การเมืองภายในของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ อีกทั้งความบาดหมางเก่าแก่นั้นไม่อาจแก้ด้วยรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดเดียวและไม่อาจแก้ด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นเพียงชุดเดียว จนกว่าทัศนคติของสังคมจะเปลี่ยน

และที่บอกว่าเป็นนโยบายที่มุ่งมองอนาคตเป็นหลัก (future-oriented) เพื่อประโยชน์ความมั่นคงร่วมกันเป็นหลักการที่ฟังดูดีแต่ต้องติดตามผลบนความจริงมากกว่าหลักการ 

26 มีนาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9628 วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2566)

-----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

“หญิงบำเรอ” เรื่องที่จบแล้วแต่ยังไม่จบ

ปลายปี 2015 รัฐบาลปาร์ค กึน-เฮ บรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่น เป็นข้อตกลงสุดท้ายและแก้ไม่ได้  แต่ข้อตกลงนี้ฝ่ายหญิงบำเรอไม่เห็นด้วย จึงต่อต้านเรื่อยมา รัฐบาลเกาหลีใต้ชุดใหม่ของ มุน แจ-อิน จึงขอทบทวนและอาจเจรจาใหม่ ประเด็นหญิงบำเรอที่ผ่านมาแล้ว 70-80 ปีจึงกลายเป็นประเด็นที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต่อไป แต่จะเป็นอย่างไรนั้นจำต้องติดตามต่อไป

รัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลปาร์คบรรลุร่างข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทเรื่อง “หญิงบำเรอ” แนวโน้มความสัมพันธ์ทวิภาคีจะดีขึ้น เกิดคำถามว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะกระทำเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาหญิงบำเรอหรือไม่ นำสู่การวิเคราะห์ว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของข้อตกลง เพื่อต้านจีนใช่หรือไม่ นักการเมืองญี่ปุ่นยังเป็นพวกทหารนิยมใช่หรือไม่ คำตอบเหล่านี้จะนำสู่การคาดการณ์การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับขั้วสหรัฐในอนาคตอันใกล้นี้
บรรณานุกรม :

1. Beijing is 'watching closely' If Russia succeeds in Ukraine. NATO says flagging a growing challenge to China. (2023, February 18). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2023/02/18/natos-stoltenberg-beijing-watching-closely-russia-success-in-ukraine.html

2.Japan, South Korea agree to resume mutual visits by leaders: PM Kishida. (2023, March 16). Kyodo News. Retrieved from https://english.kyodonews.net/news/2023/03/f2eb82bce608-s-korean-president-yoon-to-visit-japan-for-talks-with-kishida.html

3. Japan, South Korea renew ties at Tokyo summit. (2023, March 16). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/japan-south-korea-summit-yoon-kishida-b325f9fcfa4261e97953d05b963fd62c

4. Yoon announces 'complete normalization' of military intel-sharing pact with Japan. (2023, March 16). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20230316005453320?section=economy-finance/economy

5. Yoon arrives in Japan for historic talks with Kishida - and beloved omurice. (2023, March 16). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2023/mar/16/yoon-arrives-in-japan-for-historic-talks-with-kishida-and-beloved-omurice

6. Yoon calls for closer cooperation with Japan against N.K. threats during summit with Kishida. (2023, March 16). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20230315007556315?section=national/diplomacy

7.Yoon faces strong political backlash after Tokyo summit. (2023, March 19). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/03/356_347383.html

8. The White House. (2022, October 11). National Security Strategy 2022. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/10/Biden-Harris-Administrations-National-Security-Strategy-10.2022.pdf

-----------------------