ญี่ปุ่นกับร่างข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทหญิงบำเรอ

ปลายเดือนธันวาคมรัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลปาร์คบรรลุร่างข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทเรื่อง “หญิงบำเรอ” (comfort women) ส่วนหนึ่งของข้อตกลงคือ ญี่ปุ่นจะมอบเงิน 1 พันล้านเยน (8.3 ล้านดอลลาร์) แก่สมาคมช่วยเหลือที่จะจัดตั้งขึ้น นายกฯ อาเบะจะ “แสดงความรู้สึกขอโทษ” (express feelings of apology) ที่สำคัญคือจะเป็นการแก้ไขครั้งสุดท้าย เป็นท่าทีสุดท้ายที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดอีกในอนาคต
The Korea Herald รายงานว่าเป็นผลจากการเจรจาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงถึง 12 ครั้งกว่าจะบรรลุร่างข้อตกลง

ย้อนอดีตปัญหาหญิงบำเรอ ท่าทีรัฐบาลอาเบะ :
            ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีปัญหาระหองระแหงจากเรื่องหญิงบำเรอมานานนับสิบปีแล้ว และรุนแรงขึ้นเมื่อญี่ปุ่นได้รัฐบาลฝ่ายขวาอาเบะ และส่วนอีกฝั่งคือประธานาธิบดีหญิงปาร์ค กึน-เฮ
            ที่ผ่านมาประธานาธิบดีปาร์คเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ อันจะเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะโดดเดี่ยวตัวเอง เพื่อที่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นจะสามารถร่วมมือกัน อยู่ด้วยกันอย่างสันติ
            รัฐบาลเกาหลีใต้กล่าวโจมตีฝ่ายญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นนอกจากไม่แยแสยังโต้กลับสารพัด พยายามอธิบายว่ารัฐบาลกับกองทัพในสมัยนั้นไม่มีส่วนรู้เห็น กองทัพไม่เกี่ยวข้องการจัดหาหญิงบำเรอโดยตรง เป็นการกระทำของเอกชน แต่แล้วเมื่อจนมุมด้วยหลักฐานจึงยอมรับว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง
            จากนั้นมีการถกเถียงเรื่องจำนวน นักวิชาการญี่ปุ่นบางคนอ้างว่ามีไม่เกิน 20,000 คน และเป็นชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานเป็นหญิงบำเรอด้วยความสมัครใจ มีรายได้งาม
            ในขณะที่ข้อมูลอีกด้านชี้ว่าหญิงบำเรอส่วนใหญ่คือสาวเกาหลี ถูกเรียกตัวขณะมีอายุระหว่าง 14-18 ปี บางคนได้รับการทาบทามแต่แรกว่าให้เป็นโสเภณี แต่ส่วนใหญ่ถูกล่อลวง ข่มขู่และบังคับด้วยกำลัง หลายคนได้รับการชี้ชวนว่าไปทำงานในภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงงาน แต่สุดท้ายเมื่อทราบว่าต้องเป็นหญิงบำเรอก็ไม่สามารถกลับบ้านแล้ว บางรายเป็นการแลกตัวเพื่อผู้ชายในครอบครัวไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน
            หญิงเหล่านี้จะถูกเฆี่ยนตี ข่มขืน จนกว่าจะยอมปรนนิบัติปรนเปรอผู้ชายวันละ 30-40 คน หลายคนถูกบังคับให้ทำแท้งเมื่อตั้งครรภ์ บางคนตัดสินใจหนีชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

            ในสมัยรัฐบาลอาเบะปัจจุบัน เมษายน 2014 นายกฯ อาเบะกล่าวไม่ยอมรับแถลงการณ์ขอโทษของนายกฯ โทมิอิชิ มุรายะมะ (Tomiichi Murayama) ที่ประกาศเมื่อปี 1995 และโต้ว่าคำว่า “การรุกราน” (aggression) มีมุมมองที่แตกต่างกันขึ้นกับว่าฝ่ายใดเป็นผู้ตีความ หลังเกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนักทั้งจากภายในและนอกประเทศ นายกฯ อาเบะจึงกลับคำยอมรับแถลงการณ์ของนายกฯ มุรายะมะทั้งหมดและเลิกเอ่ยถึงมุมมองต่อการรุกราน

            ย้อนกลับไปสมัยปี 1995 แถลงการณ์ของนายกฯ มุรายะมะความตอนหนึ่งว่า “บัดนี้ญี่ปุ่นได้อยู่อย่างเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ เราจะจับจ้องพรต่างๆ ที่ได้จากสันติภาพอันประเมินค่ามิได้ งานของเราคือการส่งทอดความโหดร้ายของสงครามแก่ชนรุ่นหลัง เพื่อที่จะไม่ทำผิดซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีก ... เดินหน้าสู่หนทางแห่งสงคราม นำชาวญี่ปุ่นสู่หลุมแห่งวิกฤติ เป็นต้นเหตุความเสียหายและทุกข์ยากสุดแสนต่อประชาชนหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติเอเชียต่างๆ จากการปกครองอาณานิคมและการรุกราน ด้วยความหวังว่าจะไม่ทำผิดเช่นนี้อีกในอนาคต ข้าพเจ้า ... ขอแสดงความรู้สึกสำนึกผิดอย่างยิ่ง (deep remorse) อีกครั้ง และขอโทษอย่างสุดซึ้ง (heartfelt apology) ... ต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทุกคนทั้งในและต่างประเทศ” “ญี่ปุ่นจะต้องกำจัดลัทธิชาตินิยมที่อ้างความชอบธรรมฝ่ายเดียว (self-righteous nationalism) สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศดังเช่นสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ” ยึดมั่นหลักสันติภาพและประชาธิปไตย
แถลงการณ์ชัดเจนตรงไปตรงมา หลายฝ่ายเรียกร้องให้นายกฯ อาเบะใช้ถ้อยคำเหล่านี้ เป็นการยืนยันท่าทีอดีตรัฐบาล แต่นายกฯ อาเบะพยายามหลีกเลี่ยง เห็นว่าไม่จำต้องใช้คำซ้ำ เกิดกระแสวิพากษ์อีกรอบ

รัฐบาลอาเบะใช้วิธีขอให้ทุกฝ่ายลืมอดีต เห็นแก่ความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต แนวทางนี้เป็นวิธีที่ดี แต่ขาดองค์ประกอบสำคัญ เพราะอาจถูกตีความว่าเมื่อทำผิดแล้วก็ขอให้ลืมๆ กันไป เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถทำผิดซ้ำอีกในอนาคต เป็นเหตุผลว่ารัฐบาลจีน เกาหลีใต้พยายามโจมตีว่ารัฐบาลอาเบะกำลังฟื้นฟูลัทธิทหารใหม่อีกรอบ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นรุกรานประเทศเพื่อนบ้านกำลังจะเกิดซ้ำอีกครั้งใช่หรือไม่
            เรื่องราวหญิงบำเรอเป็นเพียงผลพวงอย่างหนึ่งจากสงครามในครั้งอดีตนั้น

            ถ้าจะพูดให้ครบ ตั้งแต่โบราณกาล “ผู้หญิง” เป็นเหยื่อของสงครามเรื่อยมา ผู้รุกรานอาจเลือกไม่สังหารผู้หญิง แต่ให้อยู่ในฐานะเชลย บำรุงบำเรอกาม ทหารนอกแถวอาจข่มขืนผู้หญิงทุกคนที่ก้าวผ่าน เหตุการณ์เช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นแม้กระทั่งทุกวันนี้

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
การที่รัฐบาลอาเบะบรรลุข้อตกลงแก้ปัญหากับรัฐบาลปาร์คจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ มีประเด็นวิเคราะห์สำคัญๆ ดังนี้
ประการแรก ความผิดพลาดของทหารพระจักรพรรดิ
เมื่อเอ่ยถึง “หญิงบำเรอ” จะหมายถึงสตรีที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารในกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น (Japan's Imperial Army) เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930-1940 ขณะญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคมหลายแห่งและช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไหนแต่ไรชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายขวาจะยกย่องเชิดชูเกียรติศักดิ์ของกองทัพจักรพรรดิ เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทหารนิยม (Militarism)
            ดูเหมือนว่าร่างข้อตกลงญี่ปุ่น-เกาหลีใต้พยายามมองข้ามเรื่องนี้ ตีกรอบว่าคือเรื่องของสตรีจำนวนหนึ่งที่เคราะห์ร้ายเท่านั้น

ประการที่ 2 รัฐบาลอาเบะยังเป็นทหารนิยมหรือไม่
ประเด็นต่อมาคือไม่อาจห้ามการกล่าวถึงลิทธิทหารนิยม ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่นำมาอ้างได้ เช่น การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ การแก้ตำราประวัติศาสตร์ เพียงแต่รัฐบาลเกาหลีใต้อาจเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงในช่วงนี้
Kang Chol Su ชี้ประเด็นอย่างเป็นรูปธรรมใน The Rodong Sinmun สื่อของเกาหลีเหนือว่าญี่ปุ่นเสริมสร้างกองทัพต่อเนื่อง กำลังร่วมพัฒนาอาวุธหลายอย่างกับสหรัฐ เช่น ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ SM-3 Block 2A เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ การพัฒนาอาวุธล้ำสมัยเหล่านี้เป็นหลักฐานชี้ว่าญี่ปุ่นหวังเป็นมหาอำนาจทางทหารอีกครั้ง เบื้องหลังของนโยบายส่งออกอาวุธคือต้องการสะสมอาวุธเครื่องกระสุนจำนวนมาก
ทุกวันนี้ในหมู่ประเทศทุนนิยม กองทัพญี่ปุ่นมีขนาดเป็นรองสหรัฐเท่านั้น สวนทางกับแถลงการณ์ว่าเป็นชาติรักสันติ
            ด้านนายกฯ อาเบะปฏิเสธว่าตนไม่ใช่พวกทหารนิยมฝ่ายขวา (right-wing militarist) ญี่ปุ่นจะเป็นชาติสนับสนุนสันติภาพโลกอย่างกระตือรือร้น (proactive contributor to peace)

ประการที่ 3 กระชับสัมพันธ์เพื่อต้านจีน
สมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นฉบับปีล่าสุด ชี้ว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินเรือทางทะเล รัฐบาลอาเบะจึงเห็นควรเพิ่มบทบาทกองทัพเพื่อรับมือภัยคุกคามดังกล่าว ส่วนภัยคุกคามอื่นๆ เช่น ขีปนาวุธกับนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ ผู้ก่อการร้าย IS
การกระชับความสัมพันธ์รอบนี้อาจมีข้อตกลงลับเรื่องความร่วมมือทางทหารต้านจีน ซึ่งจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป
            การที่รัฐบาลอาเบะประกาศยอมรับเรื่องหญิงบำเรอเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เป็นการเปลี่ยนท่าทีฝ่ายขวาอย่างชัดเจน เหตุผลน่าจะเพราะแรงกดดันจากการก้าวขึ้นมาของจีน รัฐบาลสหรัฐกับญี่ปุ่นเห็นความจำเป็นที่จะต้องดึงเกาหลีใต้มาเป็นพวก (เดิมติดขัดด้วยข้อพิพาทหญิงบำเรอ) ข้อพิสูจน์นี้ดูได้จากญี่ปุ่นจะมีข้อตกลงแก้ไขเรื่องหญิงบำเรอกับจีน ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ หรือไม่
หากไม่มีข้อตกลงเรื่องหญิงบำเรอทำนองเดียวกับที่ทำกับเกาหลีใต้ เท่ากับว่าเป็นนโยบายที่มีเฉพาะต่อเกาหลีใต้เท่านั้น เป็นหลักฐานว่ารัฐบาลอาเบะหวังเพียงกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้เพื่อเป้าหมายเฉพาะ ไม่ใช่เพราะยอมรับประวัติศาสตร์ที่ทหารญี่ปุ่นข่มเหงสตรีต่างชาติ

ประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต จะเกิดคำถามว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับผิด ยอมจ่ายค่าชดเชยเรื่องหญิงบำเรอเฉพาะกับเกาหลีใต้เท่านั้น ทำไมไม่ทำเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ รัฐบาลจีน ไต้หวันจะต้องหยิบเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นโจมตีว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกระทำสองมาตรฐาน หน้าไหว้หลังหลอก มีเป้าหมายแอบแฝง ไม่พ้นการกล่าวหาเรื่องลัทธิทหาร
กลายเป็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นสามารถปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลเกาหลีใต้ แต่ยิ่งเติมเชื้อไฟต่อประเทศอื่นๆ เกิดคำถามว่ารัฐบาลอาเบะเสียใจขอโทษต่อเรื่องหญิงบำเรอจริงแท้เพียงใด คำถามเดิมๆ ยังคงอยู่และรุนแรงกว่าเดิม

ประการที่ 4 คาดปี 2016 เผชิญหน้ากันมากขึ้น
            นายกฯ อาเบะกล่าวในวันขึ้นปีใหม่ว่าในปี 2016 นี้ญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่แสดงบทบาทนำระดับโลก เป็นเจ้าภาพจัดประชุม G7 จัดประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-จีน-เกาหลีใต้ เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นสหประชาชาติ
ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่กล้าเอ่ยว่าจะแสดงบทบาทนำระดับโลกในประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ เป็นไปได้ว่าในปี 2016 นี้ การเผชิญหน้าระหว่างขั้วจีนกับขั้วสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะรุนแรงกว่าเดิม การปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้เป็นการปูทางสู่แผนการเผชิญหน้ากับจีน ประเด็นเกาหลีเหนืออาจปะทุขึ้นอีกครั้ง

ประเทศเพื่อนบ้านญี่ปุ่นหลายประเทศยังคงใช้ความทารุณโหดร้ายเมื่อญี่ปุ่นรุกรานพวกเขาเป็นข้ออ้างโจมตีหากเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเสริมสร้างกองทัพ แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะเอ่ยคำว่าแสดงความรู้สึกสำนึกผิดอย่างยิ่ง (deep remorse) และขอโทษอย่างสุดซึ้ง (heartfelt apology) มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ในแง่หนึ่งอาจมองว่าเป็นความชอบธรรมที่จะอ้างเช่นนั้น เพราะยังมีประเด็นน่าสงสัย ในอีกมุมหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการหา “ข้ออ้าง” เพื่อพูดโจมตี ถ้าจะมองให้ครบ จีนเสริมสร้างกองทัพเช่นกัน กำลังเป็นชาติมหาอำนาจที่แม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐยังหวาดวิตก ในแง่นี้จีนน่าจะเป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่นมากกว่าญี่ปุ่นเป็นคุกคามต่อจีน พฤติกรรมของญี่ปุ่นอาจเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองเท่านั้น
รวมความแล้ว ถ้าญี่ปุ่นก่อสงครามได้อีก ประเทศอื่นๆ อย่างจีนก็ก่อสงครามได้อีกเช่นกัน ประวัติศาสตร์บันทึกอย่างนั้นมิใช่หรือ
มกราคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6996 วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง: 
ท่าทีของชินโซ อาเบะตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ สมัยแรก จนถึงการหาเสียงเป็นนายกฯ สมัยปัจจุบันเมื่อปลายปี 2012 ล้วนเป็นท่าทีของฝ่ายขวา เช่น ปฏิเสธเรื่องหญิงบำเรอ การรุกรานจากญี่ปุ่น ขณะบริหารประเทศในยามนี้นายกฯ อาเบะได้ผ่อนคลายท่าที แต่เกิดข้อสงสัยว่าปากกับใจนั้นตรงกันหรือไม่ เพราะการแสดงออกยังไม่ชัดเจน ซ้ำยังขัดแย้งในบางประเด็น ทั้งหมดบ่งชี้ว่าหลักคิดของฝ่ายขวามีอิทธิพลไม่น้อย
            ให้ความเข้าใจพื้นฐาน เหตุการณ์ในอดีต เพื่อนำสู่การเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ หญิงบำเรอเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ เช่น การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ การปรับแก้ตำราเรียน การสังหารหมู่นานกิง การปรับเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลอาเบะ พัวพันถึงยุทธศาสตร์สหรัฐฯ นำเสนอท่าทีของประเทศต่างๆ กลยุทธ์ เทคนิคของแต่ละประเทศทั้งฝ่ายรุกกับตั้งรับ จนถึงการวิเคราะห์องค์รวมให้เห็นภาพทั้งหมด เกี่ยวข้องกับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกโดยตรง
            ประเด็นหญิงบำเรอสามารถมองทั้งในแง่การเมืองระหว่างประเทศ และการเคารพสิทธิมนุษยชน
สนใจอีบุ๊ค คลิก
บรรณานุกรม:
1. Abe says Japan will play leading global role in ‘challenging’ 2016. (2016, January 1). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/01/01/national/politics-diplomacy/abe-says-japan-will-play-leading-global-role-challenging-2016/#.VoYq0rZ97IV
2. Abe tries to counter militant image in U.S.(2013, September 27). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2013/09/26/national/abe-tries-to-counter-militant-image-in-u-s/#.UkTiDNJQGzk
3. Cabinet Public Relations Office. (2015, August 14). Statement by Prime Minister Shinzo Abe. Retrieved from http://japan.kantei.go.jp/97_abe/statement/201508/0814statement.html
4. ‘Comfort women’ deal reached / Japan to give ¥1 billion to new ROK foundation. (2015, December 28). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0002651144
5. Henshall, G Kenneth. (2012). A History of Japan: From Stone Age to Superpower (3rd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.
6. Japan officially apologizes, offers funds. (2015, December 28). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20151228000889
7. Kang Chol Su. (2015, December 31). Japan's Moves for Emerging Military Giant. The Rodong Sinmun. Retrieved from http://www.rodong.rep.kp/en/
8. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley & Sons Ltd.
9. Ministry of Foreign Affairs of Japan. (1995, August 15). Statement by Prime Minister Tomiichi Murayama "On the occasion of the 50th anniversary of the war's end".
Retrieved from http://www.mofa.go.jp/announce/press/pm/murayama/9508.html
10. Park urges Japan to stop denying history. (2014, March 1). The Korea Times/ Yonhap News Agency. Retrieved from http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2014/03/120_152467.html
11. Sandler, Stanley (Ed.). (2001). Comfort Women. In World War II in the Pacific: An Encyclopedia. (pp. 259-263). New York : Garland Publishing, Inc.
12. Seybolt, Peter J. (2009). Anti-Japanese War, 1937–1945. In Encyclopedia of Modern China (4 volume set, pp.36-40). USA: Charles Scribner’s Sons.
13. Yoshida, Reiji. (2015, August 6). Abe advisory panel cites wartime ‘aggression’ but fails to address recent revisionism. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/08/06/national/politics-diplomacy/abe-advisory-panel-cites-wartime-aggression-fails-address-recent-revisionism/#.VcQ8WXGqqkp
 14. Yoshida, Reiji. (2015, March 18). Japanese historians seek revision of U.S. textbook over ‘comfort women’ depiction. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/03/18/national/history/japanese-historians-seek-revision-of-u-s-textbook-over-comfort-women-depiction/#.VQlmj9KUfmA
-------------------------------