สัมพันธ์จีน-ซาอุฯ หน้าใหม่สู่โลกพหุภาคี

จีนไม่ใช่ผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่แต่กำลังเข้าไปมีส่วนร่วมกิจการด้านพลังงานของซาอุฯ โดยที่รัฐบาลซาอุฯ เปิดทางให้ อุตสาหกรรมพลังงานซาอุฯ จึงร่วมมือกับชาติตะวันตกและจีนพร้อมกัน

            ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเมื่อ 7-9 ธันวาคม นอกจากยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี ความสัมพันธ์กับกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Cooperation Council for the Arab States of the Gulf : GCC) เกิดการประชุมสุดยอดจีน-อาหรับ (China-Arab States Summit) และการประชุมสุดยอด China-GCC Summit ยังตีได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องการแนวทางโลกพหุภาคี

ประเด็นวิเคราะห์ :

          ประการแรก ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ไตร่ตรองอย่างดี

            ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ว่า รัฐบาลซาอุฯ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่าต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับจีน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม (comprehensive strategic partnership) เป็นความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างจีนกับรัฐอาหรับทั้งปวง วางเป้าหมายกับบรรทัดฐานความสัมพันธ์ทุกด้านรวมทั้งประเด็นสำคัญๆ

            มีข้อมูลว่าปัจจุบันน้ำมัน 50% ที่จีนนำเข้ามาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซาอุฯ เป็นผู้ขายรายใหญ่สุด ซาอุฯ ได้จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่แทนสหรัฐเนื่องจากระยะหลังสหรัฐผลิตพลังงานฟอสซิสมากขึ้น เร่งส่งออกก๊าซธรรมชาติและคาดว่าอนาคตจะส่งเป็นผู้ส่งน้ำมันรายใหญ่ด้วย จีนผู้เป็นลูกค้ารายใหญ่จึงมีอิทธิพลต่อนโยบายกลุ่มประเทศอาหรับโดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน ไม่แปลกที่ทั้งคู่เอ่ยถึงตลาดน้ำมันที่มีเสถียรภาพ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ซื้อผู้ขาย หวังให้ราคาอยู่ในระดับที่ทั้งคู่รับได้และไม่ขาดแคลน เรื่องนี้สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ควบคุมโลกด้วยน้ำมันก๊าซธรรมชาติ

          ประการที่ 2 มุ่งสู่การพัฒนาและการค้า

            ซาอุฯ มีเงินและต้องการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ส่วนจีนมีเทคโนโลยี มีความตั้งใจอยากทำการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซาอุฯ กับจีนต่างสร้างโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเทคโนโลยีให้กับตัวเอง ความร่วมมือเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขย่อมสมควรและไม่ควรถูกใครกีดกัน

            เป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลซาอุฯ ที่เปิดรับการค้าการลงทุนจากทุกชาติ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน สัมพันธ์กับจีนที่ไม่คิดทำให้ซาอุฯ เป็นประชาธิปไตย ยอมรับการปกครองแบบซาอุฯ

          ประการที่ 3 ก้าวสู่ยุคที่ไม่ง้ออเมริกา

            ไม่กี่เดือนก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กษัตริย์ซาอุฯ Abdul-Aziz bin Saud ได้พบกับประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) สองฝ่ายตกลงกันว่าสหรัฐจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ แลกกับการที่สหรัฐจะปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ จากภัยคุกคามความมั่นคง

            นับจากรัฐบาลสหรัฐกับพวกคว่ำบาตรไม่ซื้อพลังงานรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นกะทันหัน รัฐบาลไบเดนพยายามเรียกร้องให้เพิ่มอุปทานน้ำมันซึ่งความจริงคือ “การเปลี่ยนผู้ซื้อผู้ขาย” จริงๆ แล้วพลังงานฟอสซิลไม่ขาดแคลน โลกมีน้ำมันก๊าซธรรมชาติและถ่านหินใช้อย่างเพียงพอ เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานหลายสิบปี แต่ที่เกิดปัญหาในระยะนี้เพราะยุโรปต้องหันไปซื้อประเทศอื่นแทนรัสเซียกะทันหัน

            ถ้าหากซาอุฯ กับพวกทำตามที่รัฐบาลไบเดนร้องขอและทำสำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นคืออียูจะซื้อน้ำมันก๊าซธรรมชาติจากกลุ่มโอเปกแทนรัสเซีย ส่วนรัสเซียต้องไปหาผู้ซื้อรายใหม่หรือลูกค้าเก่าแต่ซื้อมากกว่าเดิม

            ความร่วมมือของ OPEC plus ในหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นอีกหลักฐานว่าซาอุฯ ไม่อยู่ใต้การชี้นำของรัฐบาลสหรัฐ ดังที่ซาอุฯ กับจีนกล่าวถึงความสำคัญของเสถียรภาพตลาดน้ำมันโลก จีนสนับสนุนบทบาทซาอุฯ ผู้รักษาเสถียรภาพดังกล่าว พร้อมๆ กับที่จีนประกาศลงทุนภาคปิโตรเคมี พลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในซาอุฯ รวมทั้งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบซับพลายเชน การใช้พลังนิวเคลียร์ในทางสันติ จีนไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่แต่กำลังเข้าไปมีส่วนร่วมกิจการด้านพลังงานของซาอุฯ โดยที่รัฐบาลซาอุฯ เปิดทางให้ ในอนาคตบรรษัทน้ำมันของชาติตะวันตกกับจีนต่างมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมพลังงานซาอุฯ

            อย่างไรก็ตามการจัดระเบียบพลังงานโลกยังดำเนินต่อไป เป็นไปได้ว่าที่สุดแล้วโลกผลิตน้ำมันเท่าเดิม (อาจเพิ่มหรือลดเล็กน้อยตามจำนวนใช้จริง) แต่เปลี่ยนผู้ซื้อผู้ขายถาวร พวกที่เป็นฝ่ายสหรัฐจะซื้อน้ำมันจากผู้ขายที่เป็นฝ่ายสหรัฐ ส่วนผู้ซื้อน้ำมันรัสเซียจะเป็นพวกที่อยู่ตรงข้ามสหรัฐ การวิเคราะห์ด้วยฉากทัศน์นี้ยังไม่ชัดเจนนักเพราะโอเปกยังขายให้ทุกฝ่าย เพียงใช้โควตาใหม่ที่เน้นการแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย เร็วเกินไปที่จะตอบว่าที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร คำถามคือบรรดานักการเมืองของกลุ่มอียูจะยินยอม “รับสภาพ” หรือไม่ ที่ต้องซื้อใช้พลังงานแพงกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ต้นเหตุวิกฤตเงินเฟ้อ สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน ประชาชนทุกข์ยากและเป็นความทุกข์ที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

          ประการที่ 4 จับมือจีนแต่ไม่ทิ้งสหรัฐ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเยือนซาอุฯ นายอเดล อัล-จูเบียร์ (Adel al-Jubeir) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐว่า “2 ประเทศเป็นพันธมิตรกับหุ้นส่วนมานาน 8 ทศวรรษแล้ว มีผลประโยชน์ร่วมกันมหาศาล และมีความท้าทายมากมายที่ต้องร่วมเผชิญ” ความจริงแล้วสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไบเดนกับซาอุฯ เข้มแข็งมาก (very solid) ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรงเหมือนที่หลายคนพูด

            จึงไม่น่าจะถูกต้องหากตีความว่าซาอุฯ ละทิ้งสหรัฐผู้เป็นพันธมิตรเก่าแก่ ความจริงแล้วสัมพันธ์ซาอุฯ-สหรัฐยังคงอยู่เพียงแต่ซาอุฯ ขยับเข้ามาใกล้ชิดจีนด้วย พูดให้ชัดคือ ซาอุฯ ตั้งใจเป็นมหามิตรกับทั้ง 2 มหาอำนาจ สามารถใช้ไพ่มหาอำนาจต่อรองกับอีกฝ่ายซึ่งซาอุฯ มีอำนาจนี้สูงเพราะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อตลาดน้ำมันโลก ซาอุฯ วางตัวในตำแหน่งที่น่าจะมีโอกาสดีกว่าเดิม แน่ละจีนย่อมไม่ทิ้งโอกาสดีนี้ เหลือแต่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะคิดอย่างไรต่างหาก

            เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐได้แต่หวานอมขมกลืน ผลประโยชน์ยังต้องรักษาโดยเฉพาะเปโตรดอลลาร์ ในขณะที่รัฐบาลซาอุฯ ไม่อาจทำอะไรพลีพลาม ถ้าพูดเรื่องการป้องกันประเทศ ความมั่นคงทางทหารภูมิภาคสหรัฐยังยืนหนึ่งเรื่องนี้ แม้ซาอุฯ จะซื้อใช้อาวุธจีนมากขึ้นก็ตาม

          ประการที่ 5 ซาอุฯ ที่ไม่ต้องการอยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง

            รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) อธิบายว่า ณ ขณะนี้ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลง มหาอำนาจกำลังจัดระเบียบโลก ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์ว่าฝ่ายสหรัฐต้องการรักษาความเป็นเจ้า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดจะกระชับอำนาจ กระชับความเป็นขั้วเดียวเป็นระยะ

            เหตุวินาศกรรมก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นตัวอย่างที่ดี ประธานาธิบดีบุชประกาศว่าประเทศที่ให้แหล่งพักพิงมีความผิดเท่ากับผู้ก่อการร้าย สหรัฐจะถือว่าประเทศนั้นเป็นศัตรูหากไม่ร่วมมือต้านผู้ก่อการร้าย นี่คือการกระชับอำนาจโลกของอเมริกา ใครไม่สนับสนุนอเมริกาคืออยู่ฝ่ายตรงข้าม

            Michel Chossudovsky ให้มุมมองที่น่าสนใจว่ารัฐบาลโอบามากับพันธมิตรใช้ประเด็นสงครามต่อต้านก่อการร้ายเป็นเครื่องมือขยายอำนาจ อเมริกากับพันธมิตรทำสงครามก่อการร้ายทั่วโลก ชูเหตุผลเพื่อสันติภาพ ความมั่นคงของประเทศ ภูมิภาคและของโลก ประเทศใดที่ต่อต้านเท่ากับอยู่ข้างฝ่ายอธรรม

            ในยามนี้บางคนวิเคราะห์ว่าโลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นใหม่ (ระบบ 2 ขั้ว-ฝ่ายสหรัฐต้องการให้เป็นเช่นนั้น) โลกสองขั้วในอดีตหมายถึงการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างฝ่ายสังคมนิยมกับฝ่ายเสรีประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันไม่ใช่การต่อสู้เชิงอุดมการณ์เช่นนั้น เส้นแบ่งความเป็นประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมนับวันจะไม่ชัดเจน

            ปลายเดือนตุลาคมประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่ามกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยึดนโยบายสร้างสมดุลตลาดน้ำมัน รัสเซียกำลังเร่งสร้างมิตรภาพกับซาอุฯ เห็นด้วยหากซาอุฯ จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS บัดนี้การเยือนของประธานาธิบดีสีให้หลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้งว่า รัฐบาลซาอุฯ ต้องการโลกพหุภาคีสอดคล้องกับนโยบายของจีน รัสเซีย

25 ธันวาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9538 วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2565)

-------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
การห้ามนานาประเทศซื้อน้ำมันอิหร่านไม่ใช่เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่านเท่านั้น ยังมีผลโดยตรงต่อระเบียบการซื้อขายน้ำมันโลก หลายประเทศต้องมุ่งนำเข้าน้ำมันจากผู้ส่งออกที่เป็นมิตรกับสหรัฐเท่านั้น
แม้กลุ่มนอกโอเปกเป็นที่รู้จักน้อยกว่ากลุ่มโอเปก กลุ่มนอกโอเปกมีส่วนช่วยเพิ่มอุปทานน้ำมัน ลดการผูกขาด กำลังก้าวขึ้นมาเทียบเคียงโอเปกและมีความซับซ้อนภายในกลุ่มนี้

บรรณานุกรม :

1. Chossudovsky, Michel. (2014, October 13). The Globalization of War. Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/the-globalization-of-war/5407662

2. Ellis, James O. (2011). The Impact of 9/11 on U.S. Foreign Policy. In The 9/11 encyclopedia. (2nd Ed. pp.1-4). USA: ABC-CLIO, LLC.

3. Interview: Belt and Road Initiative to boost Saudi Arabia's economic, social development, says Saudi minister. (2022, December 13). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20221210/7ecae638eb6243e499c8e551530721af/c.html

4. INTERVIEW: Adel Al-Jubeir on why Biden’s Saudi visit is a success, and US commitment to Kingdom’s security. (2022, July 16). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2123271/saudi-arabia

5. Joint Statement at the Conclusion of the Saudi-Chinese Summit. (2022, December 9). SPA. Retrieved from https://www.spa.gov.sa/viewfullstory.php?lang=en&newsid=2407997#2407997

6. Putin: Saudi crown prince supports balancing oil markets. (2022, October 27). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2189241/saudi-arabia

7. Saudi Arabia in a big oily pivot to China. (2022, December 13). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/12/saudi-arabia-in-a-big-oily-pivot-to-china/

8. What historic China-Arab summits mean for the Middle East. (2022, December 9). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/567882-xi-visit-saudi-arabia/

9. Xi lands in Riyadh for China-Arab States Summit, China-GCC Summit, state visit. (2022, December 8). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20221208/6d243a9c13a746c994a7ce593a2e1f93/c.html

-----------------------