กลุ่มนอกโอเปก (non-OPEC)

แม้กลุ่มนอกโอเปกเป็นที่รู้จักน้อยกว่ากลุ่มโอเปก กลุ่มนอกโอเปกมีส่วนช่วยเพิ่มอุปทานน้ำมัน ลดการผูกขาด กำลังก้าวขึ้นมาเทียบเคียงโอเปกและมีความซับซ้อนภายในกลุ่มนี้
คำว่า “กลุ่มนอกโอเปก” (non-OPEC) ใช้ใน 2 ความหมาย ความหมายแรกคือประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกโอเปก
“โอเปก” มีชื่อเต็มว่า “องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก” (Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) เป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 1960 โดยอิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดิอาระเบีย และเวเนซุเอลา จากนั้นมีสมาชิกใหม่เข้ามาและออกไปบ้าง ล่าสุดมีสมาชิกรวม 14 ประเทศ รัฐบาลซาอุฯ เป็นแกนนำ
            ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ ที่ไม่เข้าร่วมโอเปกจึงมักเรียกรวมๆ ว่า “กลุ่มนอกโอเปก” คำนี้ถูกเรียกขานควบคู่กับการมีกลุ่มโอเปกตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่าง บรูไน มาเลเซีย รัสเซีย จีน
            ความหมายที่ 2 คือ ประเทศกลุ่มนอกโอเปกที่ร่วมมือกัน ความหมายนี้เน้นว่าประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกโอเปกบางส่วนพยายามร่วมมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของตนเอง ทั้งต่อรองกับโอเปก บรรษัทน้ำมัน ฯลฯ อย่างไรก็ตามกลุ่มยังไม่ประกาศจัดตั้งเป็นทางการ ไม่มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ
            ถ้ายึดตาม  “Declaration of Cooperation” อันเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างโอเปกกับกลุ่มนอกโอเปก 10 ประเทศ กลุ่มนอกโอเปกจะประกอบด้วยอาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บรูไน คาซัคสถาน มาเลเซีย เม็กซิโก โอมาน รัสเซีย สาธารณรัฐซูดาน สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (เดิมสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินีอยู่ในกลุ่มนี้แต่ได้ย้ายไปอยู่โอเปก) ปัจจุบันรัสเซียได้รับการยอมรับว่าเป็นแกนนำกลุ่ม
            มีบางประเทศที่ส่งออกน้ำมันแต่ไม่แน่ใจว่าควรถูกจัดอยู่ในกลุ่มนอกโอเปกหรือไม่ เช่น สหรัฐ
สหรัฐเป็นกลุ่มนอกโอเปกหรือไม่ :
            สหรัฐถูกจัดว่าอยู่กลุ่มนอกโอเปกในแง่ไม่เป็นสมาชิกโอเปก เอกสารรายงานหลายฉบับจะรวมสถิติของสหรัฐในฐานะกลุ่มนอกโอเปก แต่สหรัฐมักดำเนินนโยบายเป็นอิสระไม่เข้าพวกกับกลุ่มนอกโอเปก ดังนั้นจึงไม่เข้าพวกในฐานะกลุ่มความร่วมมือ
            ในอดีตสหรัฐคือผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก เมื่อรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายลดการนำเข้า ขยายกำลังผลิตของตัวเอง จึงเริ่มเป็นประเทศที่มีบทบาทต่อราคาน้ำมันดิบโลกในฐานะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดในปัจจุบัน สำนักงานบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (U.S. Energy Information Administration: EIA) รายงานว่าเมื่อเดือนสิงหาคมสหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกด้วยกำลังผลิต 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลกและมีแนวโน้มเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นอีกด้วย
            ถ้าหากรวมสถิติสหรัฐเข้าไปในกลุ่มนอกโอเปก ในระยะหลังกำลังการผลิตของกลุ่มนอกโอเปกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสหรัฐ
กลุ่มนอกโอเปกมีผลต่อราคาน้ำมัน :
            วิกฤตน้ำมันในทศวรรษ 1970 ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งพรวด จุดประกายให้ทุกประเทศสำรวจขุดเจาะน้ำมันของตัวเอง ราคาที่ถีบตัวสูงลิบทำให้คุ้มค่าการลงทุน ผู้ผลิตเดิมเพิ่มกำลังการผลิต เกิดผู้ผลิตรายใหม่ที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปก
            ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความต้องการน้ำมันจากเอเชียและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นอีกปัจจัยส่งเสริมให้กลุ่มนอกโอเปกค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิต (มีบางประเทศที่กำลังการผลิตลดลง)
ข้อมูล EIA ระบุว่าปี 2018 ประเทศที่มีกำลังการผลิตสูงสุด (รวมน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ) เรียงตามลำดับได้แก่ สหรัฐ ซาอุฯ รัสเซีย แคนาดา จีน อิรัก อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล คูเวต
แม้โอเปกยังอยู่ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบโลก มีผลต่อราคาน้ำมันโลก กลุ่มนอกโอเปกกำลังก้าวขึ้นมา ปริมาณการส่งออกจากกลุ่มนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น
            ในอดีตมีหลายครั้งที่กลุ่มโอเปกกับนอกโอเปกขัดแย้งเรื่องโควตาผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาตลาดอ่อนตัว ท้ายที่สุดพยายามร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาให้ได้ตามต้องการ เป็นผลประโยชน์ร่วม
น้ำมันจะหมดโลกหรือไม่ :
            ทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่โลกวิตกว่าน้ำมันกำลังจะหมดโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่นับจากกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาได้ค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีสำรวจดีขึ้น สามารถขุดเจาะน้ำมันในแหล่งที่ทำไม่ได้ในอดีต รวมทั้งหลุมเก่าที่คิดว่าหมดแล้วเพราะไม่สามารถนำน้ำมันขึ้นมาได้อีก แต่ด้วยเทคโนโลยีการขุดเจาะสมัยใหม่ช่วยนำน้ำมันขึ้นมาเพิ่ม หรือหลุมที่ยังไม่ขุดเพราะคิดว่าจะได้น้ำมันน้อย แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้สามารถประมาณการจำนวนน้ำมันที่จะขุดได้มากขึ้น คุ้มค่าการลงทุน
การค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ การผลิตน้ำมันชั้นหินดินดาน (shale oil) การใช้พลังงานทางเลือก น่าจะเป็นเหตุให้โลกมีน้ำมันใช้อีกกว่า 50 ปี
            ข้อมูลอีกแนวหนึ่งชี้ว่าน้ำมันสำรองในโลกมีอีกมาก ซาอุฯ เป็นกรณีตัวอย่างว่านับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาก็ไม่ค่อยสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่ม เชื่อว่ายังมีอีกมาก ส่วนประเทศกลุ่มนอกโอเปกที่ค้นพบน้ำมันทีหลังเชื่อว่ามีอีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่อาศัยบรรษัทน้ำมันข้ามชาติในการสำรวจ บรรษัทน้ำมันมักจะขุดสำรวจบางพื้นที่ๆ คิดว่ามีโอกาสสูง ไม่พยายามสำรวจให้ครบ และขึ้นกับข้อตกลงกับประเทศเจ้าของน้ำมันด้วย
ราคาตลาดคือปัจจัยสำคัญว่าผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถผลิตออกมาขายได้หรือไม่ ดังนั้น น้ำมันไม่มีวันหมดจากโลกจริงๆ (ที่ยังอยู่ใต้ดิน) อยู่ที่ว่าคุ้มค่าที่จะขุดมาขายหรือไม่ 
ซื้อขายด้วยเหตุผลอื่นนอกจากราคา :
            แม้ว่าราคาคือปัจจัยสำคัญที่สุด ผู้ส่งออกต้องการกำไรมากที่สุด ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการขายน้ำมัน เช่น ผูกการขายน้ำมันกับนโยบายเศรษฐกิจการค้า ผลประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
            ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนเป็นกรณีตัวอย่าง รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ด้านเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตและคาดว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือตลาดใหญ่ที่หิวกระหายพลังงาน  2 ประเทศได้ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างกันเป็นเวลา 30 ปี (2018-2047) คิดเป็นมูลค่ารวม 400,000 ล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า แรงจูงใจของข้อตกลงดังกล่าวมาจากการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ เป็นการแก้ปัญหาของรัสเซียในยามที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร และตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานของจีน
            ผู้นำจีนเยือนแอฟริกากับลาตินอเมริกาติดต่อซื้อขายพลังงาน ทางการจีนมักใช้วิธีลงทุนในแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ มากกว่าที่จะซื้อจากตลาดโลก ลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมันในหลายประเทศที่ชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงหรือคว่ำบาตร เช่น ซูดาน เวเนซูเอลา อิหร่าน เมียนมา เป็นวิธีป้องกันไม่ให้สหรัฐหรือประเทศใดๆ ปิดกั้นน้ำมันเหล่านี้ หรือต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของโอเปกผู้มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลุ่มนอกโอเปกกับผู้ซื้อจึงมีมากกว่าเพียงราคาน้ำมัน มีผลต่อความเป็นไปของกลุ่มนอกโอเปกไม่มากก็น้อย
ประโยชน์ของกลุ่มนอกโอเปก :
            ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนอย่างไร ความจริงคือปริมาณการใช้น้ำมันของโลกค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ โลกต้องการแหล่งน้ำมันมากขึ้น กลุ่มนอกโอเปกช่วยเรื่องนี้ได้ระดับหนึ่ง หลายประเทศพร้อมส่งออกให้มากที่สุด ลงทุนสำรวจขุดเจาะถ้ามีตลาดรองรับ
            กลุ่มนอกโอเปกช่วยลดการผูกขาด ลดโอกาสที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงเกินขนาด (แม้กลุ่มนอกโอเปกต้องการขายในราคาสูงเช่นกัน)
            ในอนาคตเป็นไปได้ว่า “กลุ่มนอกโอเปก” จะมีบทบาทเทียบเคียงกลุ่มโอเปกมากขึ้น และภายในกลุ่มนอกโอเปกจะเต็มไปด้วยความซับซ้อน
24 พฤศจิกายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8414 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันประสบภาวะขาดดุล เศรษฐกิจชะลอตัว หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเกิดการเจรจาเพื่อผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น การเจรจารอบพฤศจิกายนคือความสำเร็จครั้งแรก แต่การจะให้ราคาน้ำมันไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์เป็นเรื่องห่างไกล หากเชื่อว่าต้นตอปัญหาอ่อนตัวยังคงอยู่ นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจต่อรองของโอเปกลดน้อยลง โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง
ความก้าวหน้าเทคโนโลยีทำให้ Shale gas กับ tight oil กลายเป็นแหล่งปิโตรเลียมใหม่ของโลก มีผลต่อวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน คาดว่าตลาดน้ำมันโลกจะมีผู้ผลิตรายใหม่เกิดขึ้น สหรัฐอาจกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก บทบาทของโอเปกลดลง
บรรณานุกรม :
1. Bordoff, Jason. (2017). Crude Volatility: The History and the Future of Boom-Bust Oil Prices. New York: Columbia University Press.
2. Claes, Dag Harald. (2018). The Politics of Oil: Controlling Resources, Governing Markets and Creating Political Conflicts. UK: Edward Elgar Publishing.
3. Homeriki, Leonid. (2014, November 13). Russia to build second gas pipeline to China after Beijing agreement. Russia Beyond the Headlines. Retrieved from http://rbth.co.uk/business/2014/11/13/russia_to_build_second_gas_pipeline_to_china_after_beijing_agreement_41393.html
4. Johnson, Toni. (2008). Non-OPEC Oil Production. Retrieved from https://www.cfr.org/backgrounder/non-opec-oil-production
5. Organization of the Petroleum Exporting Countries. (2019). Declaration of Cooperation. Retrieved from https://www.iea.org/newsroom/news/2019/november/world-energy-outlook-2019-highlights-deep-disparities-in-the-global-energy-system.html
6. Noreng, Oystein. (2007). Crude Power: Politics and the Oil Market. New York: I.B. Tauris.
7. Rattiac, Ronald A., Vespignanibc, Joaquin L. (2014). OPEC and non-OPEC oil production and the global economy. Retrieved from https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0140988314003053
8. Rutledge, Ian. (2005). Addicted to Oil: America's Relentless Drive for Energy Security. New York: Palgrave Macmillan.
9. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
10. Smith, James L. (2009). Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC). In The Princeton Encyclopedia of the World Economy. (pp. 875-879). New York: Princeton University Press.
11. U.S. Energy Information Administration. (2019). Total Petroleum and Other Liquids Production - 2018. Retrieved from https://www.eia.gov/beta/international/
12. U.S. oil production shatters monthly record at 12.4M bbl/day. (2019, October 31). Seeking Alpha. Retrieved from https://seekingalpha.com/news/3512848-u-s-oil-production-shatters-monthly-record-12_4m-bbl-day
-----------------------------
ที่มาของภาพ : https://siberiantimes.com/business/investment/news/rosneft-invests-28-billion-in-three-siberian-oil-fields-to-supply-asia/