นโยบายกดดันสุดขีดคือจัดระเบียบโลกน้ำมัน

การห้ามนานาประเทศซื้อน้ำมันอิหร่านไม่ใช่เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่านเท่านั้น ยังมีผลโดยตรงต่อระเบียบการซื้อขายน้ำมันโลก หลายประเทศต้องมุ่งนำเข้าน้ำมันจากผู้ส่งออกที่เป็นมิตรกับสหรัฐเท่านั้น
             รัฐบาลทรัมป์ตีตราอิหร่านเป็นภัยร้ายแรงต่อสหรัฐและนานาชาติ ประกาศคว่ำบาตรกดดันอิหร่านอย่างถึงที่สุดตามนโยบายที่เรียกว่านโยบายกดดันสุดขีด (maximum pressure) เรียกร้องให้อิหร่านเลิกพฤติกรรมเป็นภัยต่อนานาชาติ หนึ่งในความพยายามคือลดการส่งออกน้ำมันอิหร่านให้เป็นศูนย์ (หรือต่ำที่สุด) ประกาศว่านับจาก 2 พฤษภาเป็นต้นไปประเทศใดที่ยังซื้อน้ำมันอิหร่านจะโดนสหรัฐเล่นงานด้วย แม้กระทั่งประเทศที่เป็นพันธมิตร เคยได้รับการผ่อนผันมาก่อนและจะเล่นงานถึงระดับบริษัท
การคว่ำบาตรน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของการปิดล้อมอิหร่านตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามหรือปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 1979 รัฐบาลสหรัฐบางชุดใช้มาตรการรุนแรง บางรัฐบาลผ่อนคลายการปิดล้อม คว่ำบาตรด้วยหลายเหตุผลทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ก่อการร้าย แพร่กระจายอาวุธ การพัฒนาขีปนาวุธ ฯลฯ เป็นนโยบายที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
8 ประเทศผู้เคยได้รับการผ่อนผัน :
            ก่อนหน้านโยบายกดดันสุดขีดเหลือเพียง 8 ประเทศที่คงซื้อน้ำมันอิหร่านเพราะได้รับการผ่อนผันหรือไม่อ่อนข้อให้สหรัฐ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี อิตาลี กรีซ และไต้หวัน
            ประเทศที่ประกาศแล้วว่าจะระงับหรือลดนำเข้าน้ำมันอิหร่าน ได้แก่ กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
            ประเทศที่สหรัฐคุมไม่ได้คือ จีน อินเดีย ตุรกี
            ทางการจีนประกาศชัดว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐซึ่งรังแต่ขยายความตึงเครียดในตะวันออกกลางกับตลาดน้ำมันโลก
ปัจจุบันจีนนำเข้าน้ำมันอิหร่านกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด
เช่นเดียวกับจีน รัฐบาลอินเดียประกาศจะนำเข้าน้ำมันอิหร่านตามปกติต่อไป ชี้ว่าการซื้อจากแหล่งอื่นเป็นไปไม่ได้ อินเดียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของอิหร่าน ปี 2019 นำเข้าวันละ 300,000 บาร์เรล ลดจากปีก่อนที่ 450,000 บาร์เรล
            ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าจีนกับอินเดียอาจลดการนำเข้าชั่วระยะหนึ่งแต่จะไม่ถึงกับยุตินำเข้าทั้งหมด เพราะหวังผลเจรจาการค้ากับสหรัฐหรือผลประโยชน์อื่นที่สำคัญกว่า
ด้านตุรกีปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องสหรัฐเช่นกัน เมฟเลิต ชาวูโชลู (Mevlut Cavusoglu) รมต.ต่างประเทศวิพากษ์ว่าการที่รัฐบาลสหรัฐจะคว่ำบาตรทุกประเทศที่ซื้อน้ำมันอิหร่านผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทำไมประเทศต่างๆ ต้องยอมนบนอบเชื่อฟังคำสั่งจากรัฐบาลสหรัฐ ต่อมาให้คำอธิบายว่าหากซื้อน้ำมันประเทศอื่นจะต้องปรับปรุงโรงกลั่นซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณ
อุปทานไม่ขาด แต่ผู้ส่งออกเปลี่ยนไป :
          ประการแรก สหรัฐเพิ่มกำลังการผลิต
ในอดีตมีความเข้าใจว่าถ้าราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำอาจทำให้น้ำมันขาดตลาดในระยะยาว เพราะนักลงทุนขาดแรงจูงใจลงทุนขุดหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ เพราะแหล่งน้ำมันใหม่มักมีต้นทุนสูง แต่ความคิดเช่นนั้นไม่เป็นจริงในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่สามารถสกัดน้ำมันชั้นหินดินดาน (shale oil) ด้วยต้นทุนต่ำ ยังมีกำไรแม้ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สหรัฐจากเดิมที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกกลายเป็นประเทศที่มีกำลังผลิตมากเป็นอันดับ 1 ของโลก (แซงซาอุฯ หรือใกล้เคียงกัน) แต่ยังคงนโยบายผลิตเพื่อมุ่งบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ถึงกระนั้นเมื่อสหรัฐลดการนำเข้าคลายแรงกดดันต่ออุปสงค์ของตลาดโลก เป็นอีกปัจจัยผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว (นอกจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจโลกโตช้า) รัฐบาลสหรัฐไม่กังวลราคาน้ำมันดิบโลกจะสูงเกินไปอีกแล้ว
          ประการที่ 2 ผู้ผลิตบางประเทศลดการส่งออก
            อีกประเด็นที่น่าสนใจคือประเทศผู้ผลิตบางประเทศลดการส่งออก โดยเฉพาะ ลิเบีย เวเนซุเอลา และอิหร่าน ด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ ความวุ่นวายภายในประเทศกับถูกสหรัฐคว่ำบาตร
            ทันทีที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศจะไม่ผ่อนผันอีกแล้ว รัฐบาลซาอุฯ กับสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ออกมาขานรับทันทีว่าจะดูแลให้ตลาดโลกมีอุปทานน้ำมันอย่างเพียงพอ
            ฝ่ายซาอุฯ ยืนยันว่าจะร่วมกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันไม่ปล่อยให้น้ำมันขาดตลาด Khalid Al-Falih รมต.พลังงานประกาศพร้อมขายน้ำมันแก่ทุกประเทศที่เคยซื้อน้ำมันจากอิหร่าน พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตป้อนตลาดโลก
มีผู้ประเมินว่าความพยายามล่าสุดของรัฐบาลทรัมป์จะลดการส่งออกน้ำมันอิหร่านได้อีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นเม็ดเงิน 60 ล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือ 21,600 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นเม็ดเงินที่อิหร่านต้องสูญไปหรือพูดอีกอย่างคือมีบางประเทศที่รับเงินก้อนนี้แทน
            ข้อสังเกตคือประเทศที่เกิดความวุ่นวายภายในหรือถูกคว่ำบาตร รัฐบาลสหรัฐล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีทีว่าในระยะเวลาอันใกล้ประเทศเหล่านั้นจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้ตามปกติ
            ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ นโยบายของรัฐบาลสหรัฐ (ทั้งรัฐบาลจากพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกัน) เป็นผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่เหลือ จะเรียกว่านโยบายกดดันสุดขีด คือนโยบายเพิ่มยอดขายให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่เป็นมิตรกับรัฐบาลทรัมป์ก็ได้ ช่วยให้ประเทศเหล่านี้มีเงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น สามารถซื้ออาวุธ MADE IN USA ได้มากขึ้น ทดแทนราคาน้ำมันที่เคยอยู่เกือบ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่แถว 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในขณะนี้
            หากต้องการทราบจริงๆ ว่าประเทศใดได้รับอานิสงค์นี้ สามารถติดตามยอดการส่งออกของแต่ละประเทศ
            ข้อสรุปคือ การล้มระบอบอิหร่านเป็นเรื่องอีกไกลแต่ช่วยรักษาภาวะถูกกดดันคว่ำบาตร เช่นเดียวกับความไม่สงบในลิเบีย เวเนซุเอลา สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือปริมาณการส่งออกที่เปลี่ยนไป บางประเทศส่งออกมากขึ้น โควตาน้ำมันที่เคยมีต้องเปลี่ยนไปโดยปริยาย
          ประการที่ 3 การจัดระเบียบซื้อขายน้ำมันโลก
            ถ้ามองในกรอบแคบ นโยบายสหรัฐคือกีดกันการส่งออกน้ำมันอิหร่าน ให้ประเทศที่เคยนำเข้าน้ำมันอิหร่านหันไปซื้อน้ำมันจากผู้ส่งออกอื่นๆ คาดหวังว่าในที่สุดประเทศผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านจะลดลง (เหลือเพียงประเทศที่ควบคุมไม่ได้ เช่น จีน อินเดีย) ผลอีกอย่างคือยอดขายของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่เป็นมิตรกับสหรัฐจะเพิ่มขึ้น นับเป็นผลสำเร็จของนโยบายกดดันสุดขีดของรัฐบาลทรัมป์
มุมมองที่กว้างขึ้นคือการจัดระเบียบการซื้อขายน้ำมันโลก นานาประเทศทั่วโลกจะต้องซื้อน้ำมันจากประเทศผู้ส่งออกที่เป็นมิตรสหรัฐเท่านั้น
รัฐบาลสหรัฐร่วมกับประเทศเหล่านี้จะเป็นผู้ควบคุมราคา ปริมาณการส่งออก-นำเข้า น้ำมันซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในมุมยุทธปัจจัย ความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การใช้ในชีวิตประจำวัน และเกี่ยวข้องกับการใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลหลักของโลก
            ข้อสรุปคือ เมื่ออิหร่านต้องการขายน้ำมันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐจึงใช้ข้อนี้เป็นเครื่องมือจัดการอิหร่านพร้อมกับควบคุมราคาน้ำมันโลก หรือพูดอีกอย่างคือตั้งใจเล่นงานอิหร่านเพื่อใช้ประเด็นนี้ควบคุมราคาน้ำมันโลก
            ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่านโยบายกดดันสุดขีด (maximum pressure) จึงไม่ได้มีไว้เพื่อเล่นงานอิหร่านเท่านั้น มีผลต่อการจัดระเบียบการผลิต การส่งออกน้ำมันทั่วโลกและอื่นๆ
21 กรกฎาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8288 วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2562)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
อิหร่านต่อกรกับสหรัฐเรื่อยมา ไม่เพียงเพราะการปฏิวัติอิสลาม การมองย้อนหลังไกลกว่า 40 ปีช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น ชาติมหาอำนาจต้องการครอบงำอิหร่าน เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ค้นพบน้ำมัน
ทรัมป์เตือนว่า ใครทำธุรกิจกับอิหร่าน สหรัฐจะไม่ทำธุรกิจกับผู้นั้นเป็นการเจาะจงเล่นงานบริษัทเอกชน เป็นแนวทางของจักรวรรดินิยมปัจจุบัน
บรรณานุกรม :
1. Here’s why China and India will remain defiant amid threat of US sanctions for Iranian oil imports. (2019, April 23). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2019/04/23/iran-oil-sanctions-china-and-india-will-remain-defiant-against-us.html
2. India insisting on oil imports from Iran. (2019, April 30). Tehran Times.  Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/435297/India-insisting-on-oil-imports-from-Iran
3. Iran Oil Buyers Craving Obama's Waivers Get Trump Shock Instead. (2019, February 3). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-03/iran-oil-buyers-craving-obama-s-waivers-get-trump-shock-instead
4. Saudi Arabia ready to replace Iranian oil after waivers end. (2019, April 30). Arab News.  Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1490236/world
5. Trump aims to drive Iran’s oil exports to zero by ending sanctions waivers. (2019, April 22). CNBC.  Retrieved from https://www.cnbc.com/2019/04/22/trump-expected-to-end-iran-oil-waivers-try-to-drive-exports-to-zero.html
6. Turkey says cannot quickly abandon Iranian oil as U.S. waivers end. (2019, May 2). Reuters.  Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-iran-oil-turkey/turkey-says-cannot-quickly-abandon-iranian-oil-as-us-waivers-end-idUSKCN1S80WT
7. Turkey slams US move to end waivers on Iran oil imports. (2019, April 23). Hurriyet Daily News.  Retrieved from http://www.hurriyetdailynews.com/turkey-slams-us-move-to-end-waivers-on-iran-oil-imports-142854
8. US sanctions over Iran oil will 'intensify Mideast turmoil': China. (2019, April 23). Rudaw.  Retrieved from http://www.rudaw.net/english/middleeast/iran/23042019
-----------------------------
Zbynek Burival