สี จิ้นผิงประกาศไต้หวันคือเส้นต้องห้ามแรก

กองทัพสหรัฐเหนือกว่าแต่พร้อมที่จะสูญเสียเพื่อไต้หวันหรือไม่ หาก 2 มหาอำนาจรบกันจริงย่อมส่งผลต่อระเบียบโลกใหม่ที่จะตามมา หมากไต้หวันเพียงตัวเดียวอาจเปลี่ยนระบบโลก

            เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนประธานาธิบดีโจ ไบเดนกับสี จิ้นผิงได้หารือตัวต่อตัวกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งความร่วมมือและข้อห่วงใยของแต่ละฝ่าย เอ่ยถึงเส้นต้องห้ามของกันและกัน ประเด็นไต้หวันคือเรื่องที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุด

            ประธานาธิบดีสีย้ำว่าประเด็นไต้หวันเป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งของจีน ผูกกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอย่างล้ำลึก เป็นเส้นต้องห้ามแนวแรก (first red line) ต้องไม่ล่วงล้ำ ไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีน คนจีนหวังรวมชาติเป็นหนึ่ง พิทักษ์บูรณภาพแห่งดินแดน จะไม่ยอมเรื่องนี้ให้ใครเด็ดขาด

            จีนหวัง 2 ฝั่งช่องแคบไต้หวันมีสันติและเสถียรภาพ แนวคิดไต้หวันเป็นไทเป็นเหมือนน้ำกับไฟที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ หวังว่าคำพูดและการกระทำของสหรัฐจะตรงกันดังที่ยึดมั่นนโยบายจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ ไม่ใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือ

สหรัฐผู้สนับสนุนจีนเดียวและการแยกตัว :

            ความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-สหรัฐเสื่อมทรามอย่างรวดเร็วเมื่อแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวัน เข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม เพโลซีกล่าวรัฐบาลสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงที่ทำกับไต้หวัน อันหมายถึงสนธิสัญญาความมั่นคง สหรัฐจะปกป้องไต้หวัน เป็นจุดยืนดั้งเดิม ชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ผู้รักเสรีภาพ

            กองทัพจีนประกาศว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือการแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของจีน กองทัพจีนจะตอบโต้แน่นอน เป็นที่มาของการซ้อมรบหลายวันรอบไต้หวันด้วยกระสุนจริงและทดสอบยิงขีปนาวุธหลายชนิด กลายเป็นว่าทุกวันนี้เครื่องบินรบจีนบินรอบเกาะไต้หวันเป็นประจำ

            หวัง อี้ (Wang Yi) มนตรีเเห่งรัฐเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ว่า ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐประกาศยึดมั่นหลักจีนเดียวแต่กลับสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องไต้หวันแยกตัวจากจีน ที่นำโดยพรรค Democratic Progressive Party ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินในขณะนี้ เท่ากับเป็นการสนับสนุน จีนที่แยกเป็น 2

            การเยือนของแนนซี เพโลซีกับคณะเมื่อ 4 เดือนก่อนทำให้ความสัมพันธ์ 2 ประเทศเลวร้ายลงมาก การพบปะตัวต่อตัวของ 2 ผู้นำครั้งนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระดับปกติอีกครั้ง

            ผลการหารือผู้นำทำเนียบขาวประกาศจุดยืนยึดมั่นนโยบายจีนเดียว (one China policy) ไม่คิดให้สถานการณ์ไต้หวันเปลี่ยนจากที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อโลกหากช่องแคบไต้หวันมีสันติและเสถียรภาพ ไม่เห็นด้วยที่จีนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อไต้หวัน

            จุดยืนของไบเดนไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนๆ นั่นคือยึดมั่นนโยบายจีนเดียว แต่หากพิจารณาลงรายละเอียดรัฐบาลสหรัฐจะพูดต่อว่าไต้หวันมีสิทธิตัดสินอนาคตของตนเอง เป็นประเด็นว่าหากวันใดไต้หวันประกาศเอกราช สหรัฐต้องเข้าปกป้องตามคำมั่นที่ให้ไว้ เท่ากับไต้หวันเป็นผู้ตัดสินอนาคตของสหรัฐด้วย เรื่องเช่นนี้คนอเมริกันยอมรับได้หรือ อาจคิดต่อว่าเรื่องที่ว่าคงไม่เกิดเพราะรัฐบาลไต้หวันจะต้องปรึกษาสหรัฐก่อน ต้องรอ “ไฟเขียว” ก่อน หากยึดแนวทางหลังเท่ากับว่ารัฐบาลไต้หวันเป็นหมากของอเมริกาที่ใช้เล่นงานจีนใช่หรือไม่

คาดการณ์สงครามในอนาคต :

            ถ้ามองจากมุมจีน ฝ่ายจีนไม่ต้องการสงครามเพราะต้องการรักษาบรรยากาศสงบสันติ มุ่งทำมาค้าขายกับทุกประเทศ ให้ประชากรกว่า 1,400 ล้านคนเป็นปกติสุข หากเกิดสงครามย่อมทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุนและไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกจะใช้สงครามเป็นความชอบธรรมให้นานาชาติร่วมคว่ำบาตรจีน วิธีง่ายๆ คือไม่ทำธุรกิจด้วย หรือลดการทำมาค้าขาย หากเกิดขึ้นจริงจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้อีกนาน

            Yang Jin จาก Chinese Academy of Social Sciences อธิบายว่าจีนหวังค้าขายกับชาติตะวันตก ร่วมมือทางวัฒนธรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ ส่วนความคิดต่างเป็นเรื่องปกติพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

            หลายปีที่ผ่านมามีนักการทหารนักวิชาการหลายท่านคาดการณ์สงครามที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปีที่แล้ว (2021) พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการ Indo­-Pacific Command กล่าวต่อวุฒิสภากังวลว่าจีนจะโจมตีไต้หวันภายในปี 2027

            สงครามคงไม่เกิดในสมัยไบเดนแต่อนาคตไม่แน่ การเอ่ยถึงสงครามในอนาคตเป็นอีกข้อที่ทำให้สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันตึงเครียดมากขึ้นทุกที

            ประเด็นที่ต้องเอ่ยถึงเสมอคือหากไต้หวันประกาศเอกราชกองทัพจีนจะบุกไต้หวันหรือไม่ และคำถามสำคัญที่ตามมาคือรัฐบาลสหรัฐจะจัดการอย่างไร เพราะรัฐบาลสหรัฐให้คำมั่นเรื่อยมาว่าจะปกป้องเกาะแห่งนี้ที่มีประชากร 24 ล้านคน เป็นประเด็นที่ถกอยู่เสมอเหมือนเรื่องที่คุยไม่รู้จบ

            ความจริงที่ทุกคนประจักษ์คือกองทัพจีนในวันนี้ไม่เหมือนกองทัพจีนสมัยเหมาเจ๋อตงอีกแล้ว เครื่องบินรบที่บินวนเวียนรอบเกาะไต้หวันในยามนี้บ่งชี้ว่าจีนพร้อมที่จะทำตามแผนที่เตรียมไว้ กองทัพสหรัฐเหนือกว่าแต่พร้อมจะสูญเสียเพื่อไต้หวันหรือไม่ ประเด็นร้ายแรงคือหาก 2 มหาอำนาจรบกันจริงย่อมส่งผลต่อระเบียบโลกใหม่ที่จะตามมา

            ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ระบุว่าจีนเป็นคู่แข่งประเทศเดียวที่ต้องการเปลี่ยนระเบียบโลกและมีพลังมากขึ้นที่จะทำเช่นนั้น มีพลังทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต การทหารและเทคโนโลยี หวังมีอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและเป็นผู้นำโลก (the world’s leading power) มีอิทธิพลในสถาบันระหว่างประเทศที่เกื้อหนุนระบอบอำนาจนิยมของตน มักใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจบีบบังคับประเทศอื่นๆ จีนฉวยประโยชน์การเปิดเศรษฐกิจของนานาชาติในขณะที่จำกัดต่างชาติที่ต้องการเข้าถึงตลาดของตน พยายามสร้างโลกที่พึ่งพาจีนในขณะที่จีนลดการพึ่งพาโลก พัฒนากองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว กองทัพมีขีดความสามารถเข้าถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและขยายสู่จุดต่างๆ ทั่วโลก บั่นทอนพันธมิตรของสหรัฐในทุกภูมิภาค

            ก่อนหน้านี้สหรัฐมียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่ขัดแย้งกับจีน ขัดแย้งกับเส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) ของจีนที่ไม่สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ หลายชาติไม่ยอมรับ เกิดปมขัดแย้งและน่าจะเป็นเช่นนี้อีกนาน เป็นอีกเวทีความขัดแย้งสำคัญระหว่างมหาอำนาจที่สัมพันธ์กับประเทศรอบข้างทั้งหมดไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม

            ในภาพกว้าง ไม่ว่าจะมีไต้หวันหรือไม่ 2 มหาอำนาจขัดแย้งกันและน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป จุดสำคัญคือจะกำหนดกรอบความขัดแย้งนี้ให้อยู่ตรงไหน จำต้องเกิดสงครามจริงๆ หรือไม่

อนาคตไต้หวันของคนไต้หวัน :

            ความจริงที่น่าเศร้าของสงครามยูเครนในขณะนี้คือกว่า 2 แสนรายบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้ว เป็นทหารฝ่ายยูเครน 60,000 คน พลเรือน 40,000 คน (ตามการประเมินของ Mark Milley หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐ) ส่วนทหารรัสเซียบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 1 แสนราย

            บ้านเมืองพังไปทั่ว บัดนี้ยูเครนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากแม้นได้ข้อตกลงสันติภาพไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะคืนดินแดนให้ (หรือคืนให้ทั้งหมด) ที่แน่นอนคือคนที่เสียชีวิตไม่อาจฟื้นคืนอีก อนาคตของชาวยูเครนหลายสิบล้านคนเปลี่ยนไป

            เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์แก่ทุกประเทศโดยเฉพาะไต้หวันที่มักมีข่าวจีนจะบุกไต้หวัน นักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ชี้ว่าจะเกิดสงครามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

            แต่หากพิจารณาให้ดี ถ้าไต้หวันไม่ประกาศเอกราช ไม่ขอแบ่งแยกดินแดนก็ไม่มีเหตุผลที่กองทัพจีนจะบุกไต้หวัน ประเด็นอยู่ที่จะมีรัฐบาลแปลกๆ เหมือนเซเลนสกีหรือไม่ คนไต้หวันจะสามารถควบคุมรัฐบาลของเขาได้แค่ไหน คนไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการประกาศเอกราชหรือไม่ เพราะในระยะหลัง (สมัยรัฐบาลไช่ในขณะนี้) เสียงส่วนใหญ่ส่อชี้ไปทางนั้น

            ย้อนหลังเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นถ้ารัฐบาลเซเลนสกียอมระงับการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโต ยูเครนจะยังสงบสุข แต่ตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐกับนาโตชี้ว่ายูเครนมีสิทธิตัดสินอนาคตของตนเอง สังเกตว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้คำพูดเดียวกันนี้กับไต้หวัน เป็นสิทธิของไต้หวันที่จะตัดสินอนาคตด้วยตัวเอง ชื่นชมไต้หวันเป็นผู้รักเสรีภาพ ประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการแปลความตรงๆ

20 พฤศจิกายน 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9503 วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565)

-----------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เขตที่แข่งขันดุเดือดมากที่สุดคืออินโด-แปซิฟิกและกำลังขยายเป็นทั้งโลก แข่งขันวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ใน 10 ปีนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดห้วงเวลาชี้อนาคต
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคือยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่รัฐบาลสหรัฐใช้ขวางเส้นประ 9 เส้นของจีน เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจโดยตรง และกำลังทวีความรุนแรง
การ “ปั่น” คนไต้หวันให้เป็นศัตรูกับจีนนั้นมีจริง เป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนความสงบสุขการอยู่ดีกินดีในยามนี้และในอนาคต สุดท้ายจึงอยู่ที่คนไต้หวันจะรู้ทันนักการเมืองหรือไม่
บรรณานุกรม :

1. Biden and Xi Take Biggest Step in Years to Prevent US-China Clash. (2022, November 14). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-11-14/biden-and-xi-reduce-tensions-even-though-it-s-no-kumbaya-moment

2. Chen Weiss, Jessica. (2022, November 11).  Biden’s Chance With China. Foreign Affair. Retrieved from https://www.foreignaffairs.com/china/bidens-chance-china

3. China unveils measures to counter visit. (2022, August 4). China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/a/202208/04/WS62eab040a310fd2b29e701f7.html

4. Nancy Pelosi meets with Taiwan President Tsai Ing-wen. (2022, August 3). Taiwan News. Retrieved from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4614996

5. PLA not to sit idly by if Pelosi visits Taiwan: Chinese spokesperson. (2022, August 1). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20220801/673af4aac5b4490db61bd6c0f276ccc1/c.html

6. Something wicked this way come. (2021, May 1-7). The Economist. pp.14-17

7. The Most Dangerous Place on Earth. (2021, May 1-7). The Economist. P.7

8. The White House. (2022, October 11). National Security Strategy 2022. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/10/Biden-Harris-Administrations-National-Security-Strategy-10.2022.pdf

9. The White House. (2022, November 14). Readout of President Joe Biden’s Meeting with President Xi Jinping of the People’s Republic of China. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/11/14/readout-of-president-joe-bidens-meeting-with-president-xi-jinping-of-the-peoples-republic-of-china/

10. Ukraine war: US estimates 200,000 military casualties on all sides. (2022, November 10). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-63580372

11. Undeterred Pelosi recommits support for Taiwan as Beijing lashes out. (2022, August 3). The Age. Retrieved from https://www.theage.com.au/world/asia/undeterred-pelosi-recommits-support-for-taiwan-as-beijing-lashes-out-20220803-p5b6x1.html

12. US mistaken on Taiwan question in 3 aspects: Chinese FM. (2022, August 8). China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/a/202208/08/WS62f04e57a310fd2b29e70c7d.html

13. Xinhua Headlines: Xi, Biden hold candid, in-depth exchange of views on bilateral ties, major global issues. (2022, November 14). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20221115/72c2d122221e4c9e94cc483654981aea/c.html

14. Xi, Putin meet at SCO summit, forging closer ties amid US-caused world turbulence. (2022, September 15). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202209/1275348.shtml

-----------------------