เส้นประ 9 เส้น VS ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคือยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่รัฐบาลสหรัฐใช้ขวางเส้นประ 9 เส้นของจีน เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจโดยตรงและกำลังทวีความรุนแรง

         การเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานำสู่การซ้อมรบรอบไต้หวัน ประเด็นนโยบายจีนเดียว (one-China principle) เป็นที่สนใจอีกครั้ง

        กระแสข่าวการระดมกำลังของสหรัฐ การซ้อมรบของกองเรือที่ 7 ประจำมหาสมุทรแปซิฟิก การประกาศซ้อมรบเพิ่มเติมของจีนกำลังย้ายกรอบจากเรื่องไต้หวันสู่ทะเลจีนใต้ การอ้างความเป็นเจ้าของผ่าน เส้นประ 9 เส้น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐที่ขวางการอ้างความเป็นเจ้าของจากจีน เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจโดยตรง

อะไรคือ เส้นประ 9 เส้น” :

        จุดเริ่มต้นของเส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) เริ่มปรากฏบนแผนที่จีนครั้งแรกเมื่อค.ศ. 1922 ในสมัยนั้นเป็นเส้นทึบ ปี 1936 ปรากฏบนแผนที่ของประเทศสาธารณรัฐจีน (Republic of China - ไต้หวัน) แสดงอาณาเขตทางทะเลที่สาธารณรัฐจีนอ้างความเป็นเจ้าของ และอีกครั้งเมื่อปี 1948 ปรากฏเป็น “เส้นประ 11 เส้น” ตามแผนที่ของสาธารณรัฐจีน

        ประเด็นสำคัญที่ต้องยึดให้มั่นคือรัฐบาลพรรคชาตินิยมหรือก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ที่สหรัฐให้การสนับสนุนเป็นผู้จัดทำแผนที่จีนที่มีเส้นประ 9 เส้น

        ดังนั้น ทุกครั้งที่พูดว่าจีนอ้างความเป็นเจ้าของต้องพูดต่อว่ารัฐบาลจีนคณะชาติ (ไต้หวันปัจจุบัน) ประกาศความเป็นเจ้าของตั้งแต่ค.ศ.1922 แล้ว ในตอนนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่เกิด (ประเทศจีนปัจจุบันสถาปนาเมื่อตุลาคม 1949)

        รัฐบาลจีนเป็นผู้มารับช่วงต่อ

มุมมองต่อต้าน “เส้นประ 9 เส้น”

       ประการแรก พื้นที่ทับซ้อนหลายประเทศ

        เส้นประ 9 เส้นกินอาณาเขตราว 90% ของทะเลจีนใต้ ทับซ้อนน่านน้ำ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) ของหลายประเทศ ประเทศคู่ขัดแย้งมักไม่ยอมรับเส้นประ 9 เส้น เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ประกาศไม่ยอมรับ เกิดข้อพิพาทเรื่อยมา

        จีนระวังไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายแต่ขึ้นกับว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลด้วย เช่น สมัยรัฐบาลเบนิกโน อากีโนที่ 3 (Benigno Aquino 3) ดำเนินนโยบายใกล้ชิดสหรัฐ ขัดแย้งจีนอย่างรุนแรง เปรียบรัฐบาลจีนเป็นฮิตเลอร์ ก่อนที่สถานการณ์ดีขึ้นในรัฐบาลโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte)

        ความตึงเครียดจึงพร้อมจะปะทุได้อีกขึ้นกับว่าต้องการทำให้เป็นประเด็นหรือไม่ ต้องการทำให้ร้อนแรงเพียงใด

       ประการที่ 2 ภัยคุกคามจากจีน

มกราคม 2019 โอริตะ คูนิโอะ (Orita Kunio) อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศญี่ปุ่น ฝ่ายสนับสนุนทางอากาศ (Air Support Commander) อาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เพราะมียุทธศาสตร์แผ่ขยายอำนาจ ต้องการเป็นเจ้าในภูมิภาคเพียงผู้เดียว คาดว่าจีนจะผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศช่วงปี 2020-2025

        ปีที่แล้ว (2021) พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการ Indo­Pacific Command กล่าวต่อวุฒิสภาสหรัฐว่าไม่เกินปี 2027 จีนจะโจมตีไต้หวัน

        คูนิโอะอธิบายว่าหลังจากยึดไต้หวันจีนจะเข้าควบคุมทะเลจีนใต้ให้ได้ภายในปี 2040 ถ้าจีนสามารถสกัดสหรัฐออกจากทะเลจีนใต้ ควบคุมเส้นทางเดินเรือจะสามารถตัดเส้นทางลำเลียงอาหาร พลังงานที่ญี่ปุ่นต้องการ

        ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขณะนั้นกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอาหารจากต่างชาติเป็นประโยชน์สำคัญยิ่งของญี่ปุ่น ส่งผลต่อความปลอดภัยและการดำรงอยู่ของญี่ปุ่นอย่างร้ายแรงถ้าถูกตัดขาด”

        การสร้างเกาะเทียม การตั้งฐานทัพ สนามบิน ท่าเรือบนเกาะต่างๆ ทำให้จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบเมื่อเทียบกับกองเรือของสหรัฐกับพวก

        แนวคิดการบุกยึดไต้หวันกับการแสดงความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันโดยตรง รัฐบาลจีนชี้ว่า ของจีนคือของจีน

       ประการที่ 3 รัฐบาลไบเดนเดินหน้าชน

        พฤษภาคม 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เพื่อต้านอิทธิพลเศรษฐกิจจีนในภูมิภาคนี้ กล่าวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และ "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่" ในเบื้องต้นประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินเดีย และ 7 ชาติอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งหมด 13 ประเทศ

        การจัดตั้ง IPEF เป็นแผนรูปธรรมว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังสร้างกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกที่ตนเป็นผู้นำ เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่อิงการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐจะเน้นลงทุนค้าขายกับพวกเดียวกันเท่านั้น (สวนทางหลักการค้าเสรี)

        ในกรอบที่ใหญ่ขึ้นจะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกกำลังพูดเป็นนัยว่าโลกต้องตัดสินเลือกระหว่างการเป็นพันธมิตรขั้วสหรัฐหรือจีน การต่อต้านจีนคือต่อต้านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่หรือความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) พิทักษ์เสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

        บรรทัดสุดท้ายจะพยายามชี้ว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม โลกกำลังแบ่งขั้วเป็น 2 ฝ่าย

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :  

       ประการแรก จีนผิดกฎหมายแต่สหรัฐไม่ยอมรับกฎหมาย

        อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ฉบับปี 1982 ให้สิทธิ์ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลสามารถขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ออกได้อีก 200 ไมล์ทะเล ประเทศส่วนใหญ่เป็นภาคีหรือลงนามรับกฎหมายดังกล่าว (157 ประเทศ) รวมทั้งจีน แต่ สหรัฐไม่ยอมรับ UNCLOS เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ของตนและทำให้องค์กรระหว่างประเทศสามารถควบคุม ขัดขวางผลประโยชน์สหรัฐ

        เส้นประ 9 เส้นไม่เข้ากับ UNCLOS แต่เป็นเรื่องตลกหากรัฐบาลสหรัฐเล่นงานจีนโดยอ้างกฎหมายนี้เพราะตัวเองไม่ยอมรับกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐพูดเสมอว่าต้องการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาน่าสงสัยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่

       ประการที่ 2 ผู้ควบคุมทะเลจีนใต้คือผู้เป็นเจ้าในภูมิภาค

        เป็นที่รับรู้กันว่าผู้ควบคุมทะเลจีนใต้คือผู้เป็นเจ้าในภูมิภาค การที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของมีผลควบคุมทะเลจีนใต้ แม้ยังยินดีให้เรือกับเครื่องบินทุกประเทศแล่นผ่านตามกฎกติกาที่จีนกำหนด แต่หมายความว่าจีนอาจกีดกันหรือปฏิเสธเรือบางประเทศที่เป็นปรปักษ์อย่างญี่ปุ่น สหรัฐ ฯลฯ

        ถ้าจีนทำเช่นนี้ได้จริง เป็นไปได้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคจะหันเข้าหาจีนมากขึ้นเพราะจำต้องใช้เส้นทางเหล่านั้น (เหตุผลทางเศรษฐกิจ) และยอมรับความเป็นเจ้าของจีนในย่านนี้ (เหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ) ในอีกด้านจะหมายถึงสหรัฐกับญี่ปุ่นสูญเสียพันธมิตรย่านนี้ หลายประเทศจะตีตัวออกห่าง นี่คือประเด็นที่ฝ่ายสหรัฐกังวล

       ประการที่ 3 การประลองกำลังระหว่างจีนกับขั้วสหรัฐ

        ทุกวันนี้มีการหยั่งเชิง ประลองกำลัง ระหว่างกองทัพจีนกับขั้วสหรัฐอยู่แล้ว วันใดที่สหรัฐถอนตัวออกจากพื้นที่เท่ากับยอมแพ้หรือยอมให้จีนเป็นเจ้าในภูมิภาค เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่าจีนเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาค และหมายความว่าสหรัฐสูญเสียการเป็นเจ้าผู้ครองโลก

        การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐต่อความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สามารถอธิบายว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากอดีต เมื่อกองทัพจีนเข้มแข็งขึ้น มีความพร้อมด้านต่างๆ มากขึ้นจึงแสดงความเป็นเจ้าของมากขึ้น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคือยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่รัฐบาลสหรัฐใช้เพื่อขวางจีน เส้นประ 9 เส้นที่ไม่สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ หลายชาติไม่ยอมรับทำให้ปมขัดแย้งคงอยู่และน่าจะเป็นเช่นนี้อีกนาน เป็นอีกเวทีความขัดแย้งสำคัญระหว่างมหาอำนาจที่สัมพันธ์กับประเทศรอบข้างทั้งหมดไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม

14 สิงหาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9405 วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565)

---------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
การ “ปั่น” คนไต้หวันให้เป็นศัตรูกับจีนนั้นมีจริง เป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนความสงบสุขการอยู่ดีกินดีในยามนี้และในอนาคต สุดท้ายจึงอยู่ที่คนไต้หวันจะรู้ทันนักการเมืองหรือไม่
จีนที่ก้าวขึ้นมาทำให้สหรัฐกับญี่ปุ่นอยู่เฉยไม่ได้ มองว่าจีนกำลังเปลี่ยนแปลงอินโด-แปซิฟิกเพื่อตนเอง ญี่ปุ่นที่มีพลังอำนาจเป็นรองจำต้องแสวงหาพันธมิตรและเข้าพัวพันเข้มข้นกว่าเดิม
บรรณานุกรม :

1. China plans to take Taiwan by 2025, Okinawa by 2045: Fmr Japan Air Force Commander. (2019, January 15). Taiwan News. Retrieved from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3617624

2. Critics: What defines the conditions for military force? (2014, July 1). The Japan Times.  Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/07/01/national/politics-diplomacy/critics-restraints-overly-ambiguous/#.U7PEuZSSzck

3. Cole, Bernard D. (2016). China's Quest for Great Power: Ships, Oil, and Foreign Policy. USA: Naval Institute Press.

4. Denoon, David. (2021). China’s grand strategy: a roadmap to global power? New York: New York University.

5. Jakarta rejects China's 'nine-dash line'. (2014, April 14). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/SEA-01-030414.html

6. Philippine Leader Sounds Alarm on China. (2014, February 5). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/02/05/world/asia/philippine-leader-urges-international-help-in-resisting-chinas-sea-claims.html?_r=0

7. Ponnudurai, Parameswaran. (2014, February 9). US Draws Own Line Over South China Sea Dispute. Retrieved from http://www.rfa.org/english/commentaries/east-asia-beat/claim-02092014205453.html

8. Something wicked this way come. (2021, May 1-7). The Economist. pp.14-17

9. The Most Dangerous Place on Earth. (2021, May 1-7). The Economist. P.7

-----------------------