การ “ปั่น” คนไต้หวันให้เป็นศัตรูกับจีนนั้นมีจริง เป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนความสงบสุขการอยู่ดีกินดีในยามนี้และในอนาคต สุดท้ายจึงอยู่ที่คนไต้หวันจะรู้ทันนักการเมืองหรือไม่
วันที่ 2 สิงหาคมแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวัน
เข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เพโลซีกล่าวรัฐบาลสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงที่ทำกับไต้หวัน
อันหมายถึงสนธิสัญญาความมั่นคง สหรัฐจะปกป้องไต้หวัน เป็นจุดยืนดั้งเดิมของรัฐบาลสหรัฐ
ชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ผู้รักเสรีภาพ
การตอบโต้จากจีน :
ทุกครั้งที่บุคคลระดับสูงของสหรัฐเยือนไต้หวันจะถูกรัฐบาลจีนตีความว่าเป็นการรับรองไต้หวันแม้รัฐบาลสหรัฐยืนยันยึดมั่นนโยบายจีนเดียว
(one-China principle) เพราะเมื่อไปถึงมักจะมีคำพูดว่าส่งเสริมประชาธิปไตยไต้หวันซึ่งขัดแย้งกับหลักจีนเดียว
ในเมื่อมีจีนเดียวก็ต้องให้รัฐบาลจีนเป็นผู้ตัดสินว่าไต้หวันจะปกครองอย่างไร แบบ
1 ประเทศ 2 ระบบหรือไม่ (one country, two systems) แต่ฝ่ายสหรัฐมักทำเป็นไม่เข้าใจเรื่องทำนองนี้ ไม่ยอมรับว่าตนกำลังแทรกแซงกิจการภายในของจีน
การเยือนของเพโลซีครั้งนี้ถูกตีความว่าเป็นคณะบุคคลระดับสูงสุดในรอบ
25 ปี รัฐบาลจีนจึงตอบโต้ด้วยมาตรการที่แรงสมน้ำสมเนื้อและสอดคล้องบริบทดังนี้
ประการแรก เตือนล่วงหน้า
ในช่วงที่ยังสงสัยว่าเพโลซีจะเยือนไต้หวันหรือไม่
กองทัพจีนประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่อยู่เฉยแน่นอนหากเยือนไต้หวัน
พฤติกรรมดังกล่าวคือการแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน
กองทัพจีนจะตอบโต้ หวังว่านักการเมืองอเมริกันจะตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น
และส่งสัญญาณเตือนด้วยการซ้อมรบหลายพื้นที่ถึง
5 วัน (27-31 กรกฎาคม) มีการใช้กระสุนจริงด้วย
คำเตือนดังกล่าวไม่ได้ผล
ประการที่ 2 คว่ำบาตรไต้หวัน
ความตอนหนึ่งเพโลซีกล่าวขณะเยือนไต้หวันว่าสหรัฐต้องการกระชับความร่วมมืออุตสาหกรรมชิปกับไต้หวันเพื่อแข่งกับจีน
รัฐบาลจีนจึงตอบโต้ด้วยการประกาศห้ามส่งทรายขายไต้หวัน (เป็นทรายชนิดที่เหมาะสำหรับทำชิป)
นอกจากไม่ขายทรายแล้ว ในเบื้องต้นจีนประกาศระงับนำเข้าสินค้าไต้หวันหลายรายการ
เช่น พืชตระกูลส้ม (รวมส้มโอ) ปลาดาบเงินใหญ่ ปลาทูแขก (horse mackerel)
ประการที่ 3 ซ้อมรบด้วยกระสุนจริง
ไม่นานหลังเพโลซีเหยียบแผ่นดินไต้หวัน
กองทัพจีนประกาศซ้อมรบร่วม 4 วันใน 6 เขตพื้นที่รอบไต้หวัน บางส่วนใช้กระสุนจริง ทดสอบยิงขีปนาวุธหลายชนิด
รวมทั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค DF-17 ขีปนาวุธบางลูกบินข้ามเกาะไต้หวันสร้างความตื่นตะลึงแก่คนจำนวนมาก เป็นการซ้อมรบที่มุ่งกระทำต่อไต้หวันครั้งใหญ่สุด
ปรากฏต่อสื่อทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญบางคนตีความว่าเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากองทัพจีนจะทำอย่างไรหากไต้หวันประกาศอิสรภาพ
บ้างชี้ว่าจีนกำลังแสดงแสนยานุภาพครั้งใหญ่
ด้านไต้หวันชี้จีนซ้อมรบละเมิดอธิปไตยของตน Sun Li-fang รมต.กลาโหมไต้หวันประกาศจะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อปกป้องอธิปไตย ไม่ต้องการสงครามแต่พร้อมอยู่เสมอ คำถามคือกองทัพไต้หวันมีพลังที่จะขวางหรือไม่ กองทัพอเมริกันที่แห่กันมาแถวนี้จะเข้าขวางหรือไม่ นับจากนี้เป็นต้นไปจีนอาจซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเป็นระยะอันเป็นผลสืบเนื่องจากเพโลซีเยือนไต้หวัน
การซ้อมรบไม่ทำให้ใครเสียชีวิตแต่สังคมไต้หวันอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจต้องคิดทบทวนอีกครั้งหากคิดจะไปเที่ยวไต้หวัน
ทำไมต้องเข้าพื้นที่เสี่ยงอันตราย มีที่เที่ยวอื่นให้เลือกอีกมาก ถ้าเป็นนักลงทุนยิ่งต้องคิดหนักหากจะเลือกลงทุนที่นี่
ด้านแอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken)
รมต.ต่างประเทศสหรัฐหวังว่ารัฐบาลจีนจะไม่สร้างสถานการณ์วิกฤตหรือหาข้ออ้างใช้ความรุนแรงทางทหาร
ประเด็นที่ต้องติดตาม :
ประการแรก แผนยั่วยุจีน
ทุกครั้งที่คนอเมริกันระดับสูงเยือนไต้หวันมักจะมีถ้อยคำยั่วยุจีน
ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ถ้อยคำของเพโลซีไม่มีอะไรใหม่ เป็นคำเดิมๆ จุดยืนเดิม
แต่เนื่องจากเพโลซีเป็นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร
รัฐบาลจีนมองว่าเป็นการยั่วยุอย่างแรง
และต้องตีความว่ารัฐบาลสหรัฐบรรลุแผนยั่วยุอีกครั้ง
สามารถขยายความตึงเครียดให้มากขึ้น กระทั่งจีนซ้อมรบรอบไต้หวัน
คว่ำบาตรสินค้าไต้หวันหลายรายการที่ส่งผลกระทบต่อจีนด้วย รัฐบาลจีนรู้ดีกว่าการทำเช่นนี้เท่ากับเล่นในเกมของสหรัฐแต่จำต้องตอบโต้ตามขั้นตอน
เทคนิคที่รัฐบาลสหรัฐใช้คือประกาศว่ายึดถือนโยบายจีนเดียว
ไม่สนับสนุนให้ไต้หวันประกาศเป็นรัฐอธิปไตย ในขณะเดียวกันสนับสนุนให้ไต้หวันมีกองทัพที่เข้มแข็ง
เต็มไปด้วยอาวุธ MADE IN
USA กล่าวย้ำส่งเสริมประชาธิปไตย ชี้เป็นนัยว่าคนไต้หวันมีอิสระตัดสินใจเลือกระบอบการปกครองของตนเอง
ประการที่ 2 ไต้หวันจะประกาศเอกราชหรือไม่
ขั้นสุดท้ายของเกมนี้คือไต้หวันประกาศเอกราชซึ่งมีความเป็นไปได้
ในระยะหลังคนไต้หวันที่เห็นด้วยกับการเป็นอิสระจากจีนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากนโยบายของนักการเมืองไต้หวันบางกลุ่มที่พยายามสร้างกระแสว่าจีนจะรวมไต้หวันด้วยกำลัง
จีนกับไต้หวันเข้ากันไม่ได้ รวมถึงการสร้างกระแสของรัฐบาลสหรัฐที่ชี้ว่าจีนจะใช้กำลังบุกยึดไต้หวันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ปีที่แล้วพลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil
Davidson) ผู้บัญชาการ IndoPacific Command กล่าวต่อวุฒิสภาเป็นกังวลว่าจีนจะโจมตีไต้หวันภายในปี
2027
ทั้งหมดคือความพยายามชักนำให้คิดว่ากองทัพจีนใกล้จะบุกไต้หวัน
เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนไต้หวันจะสูญสิ้นเสรีภาพ ทุกข์ยากแสนสาหัส
ควรเข้าใจว่ารัฐบาลจีนย้ำเสมอว่าจีนจะบุกไต้หวันด้วยเหตุผลเดียวคือไต้หวันประกาศเอกราช
ดังนั้นตราบใดที่ไต้หวันไม่ทำเช่นนั้น จีนกับไต้หวันก็ทำมาค้าขายกันต่อไป
ทุกวันนี้คนไต้หวันนับหมื่นทำธุรกิจในจีนเช่นเดียวกับที่คนจีนทำธุรกิจในไต้หวัน ยอดการค้าระหว่างไต้หวันกับจีนสูงกว่าไต้หวันกับสหรัฐ
ไม่มีเหตุผลที่จีนต้องบุกไต้หวันซึ่งจะทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุน
รัฐบาลจีนต้องการให้คนจีนอยู่ดีกินดี มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่สงคราม รัฐบาลจีนประกาศชัดต้องการเป็นมหาอำนาจอีกแบบที่ต่างออกไป
ข้อหลังนี้เป็นประโยชน์สำคัญที่จีนต้องการ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐพยายามทำลายภาพลักษณ์ดังกล่าว
ผลของการประกาศเอกราชคือจีนต้องส่งกองทัพบุกไต้หวันตามจุดยืนของตน
ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงเท่ากับบรรลุเป้าหมายใหญ่ที่รัฐบาลสหรัฐต้องการ คำถามอยู่ที่ว่านักการเมืองไต้หวันจะยินยอมปล่อยให้ไต้หวันเป็นเหยื่อที่ถูกทำลายหรือไม่
นี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม โดยก่อนจะถึงวันนั้น รัฐบาลสหรัฐจะฉีกข้อตกลงนโยบายจีนเดียวเป็นสัญญาณสำคัญ
เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่พวกนักการเมืองมีผลต่อความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างชัดเจน
ตัดสินใจถูกหรือผิดเพียงครั้งเดียวส่งผลต่ออนาคตที่หวนกลับไม่ได้อีก
การวิเคราะห์ข้างต้นอิงฉากทัศน์แบบเลวร้าย
ความจริงแล้วบรรดาผู้เชี่ยวชาญกับนักการเมืองไต้หวันเข้าใจสถานการณ์ดี มีมุมมองรอบด้าน
ระวังที่จะไม่เป็นเหยื่อของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ อีกทั้งมีกลุ่มการเมืองที่ยึดนโยบายเป็นมิตรกับจีน
แต่การ “ปั่น” คนไต้หวันให้เป็นศัตรูกับจีนนั้นมีจริง เป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนความสงบสุขการอยู่ดีกินดีในยามนี้และในอนาคต
สุดท้ายจึงอยู่ที่คนไต้หวันจะรู้ทันนักการเมืองหรือไม่
เพโลซีและคณะเยือนไต้หวันเพียง 2 วัน 1
คืนแต่ได้ยกระดับความขัดแย้งจีน-ไต้หวันที่จะดำเนินต่อไปอีกนาน แน่นอนว่าโลกจะรับรู้ผลกระทบไม่มากก็น้อย
เรื่องราวของไต้หวันยังน่าติดตามต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง :
1. China conducts ‘precision
missile strikes’ in Taiwan Strait. (2022, August 5). AP.
Retrieved from
https://apnews.com/article/taiwan-asia-navy-china-air-force-4bd08ab9ecd2a9f7d450cf61618d28af
2. China unveils measures to
counter visit. (2022, August 4). China Daily. Retrieved from
http://www.chinadaily.com.cn/a/202208/04/WS62eab040a310fd2b29e701f7.html
3. Nancy Pelosi meets with
Taiwan President Tsai Ing-wen. (2022, August 3). Taiwan News.
Retrieved from https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4614996
4. Pelosi pledges solidarity
with Taiwan as China holds military drills, vents anger. (2022, August
3). Channel News Asia. Retrieved from
https://www.channelnewsasia.com/asia/nancy-pelosi-taiwan-visit-pledges-solidarity-tsai-ing-wen-china-military-drills-2854966
5. PLA not to sit idly by if
Pelosi visits Taiwan: Chinese spokesperson. (2022, August 1). Xinhua.
Retrieved from
https://english.news.cn/20220801/673af4aac5b4490db61bd6c0f276ccc1/c.html
6. Something wicked this way come. (2021, May
1-7). The Economist. pp.14-17
7. Taiwan defence ministry
says Chinese drills seriously violated island's sovereignty. (2022,
August 3). Channel News Asia. Retrieved from
https://www.channelnewsasia.com/asia/nancy-pelosi-taiwan-visit-china-military-drills-violated-taiwan-sovereignty-defence-ministry-2854991
8. Taiwan tensions spilling
over in South China Sea. (2022, August 3). Asia Times. Retrieved from
https://asiatimes.com/2022/08/taiwan-tensions-spilling-over-in-south-china-sea/
9. The Most Dangerous Place on Earth. (2021, May
1-7). The Economist. P.7
10. Undeterred Pelosi
recommits support for Taiwan as Beijing lashes out. (2022, August 3). The
Age. Retrieved from
https://www.theage.com.au/world/asia/undeterred-pelosi-recommits-support-for-taiwan-as-beijing-lashes-out-20220803-p5b6x1.html
11. U.S. Department of State.
(2022, May 26). The Administration’s Approach to the People’s Republic of
China. Retrieved from
https://www.state.gov/the-administrations-approach-to-the-peoples-republic-of-china/
-----------------------