แนวคิดญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

การมีอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นเครื่องมือป้องปรามสงครามใหญ่ได้ดี ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่คิดเช่นนี้ นี่ยังไม่รวมแนวคิดญี่ปุ่นอยากกลับมาเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง 

            ไม่ว่าเป้าหมายลึกๆ ของญี่ปุ่นคืออะไร ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นมักจะอ้างว่าอยากมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือและเอ่ยถึงภัยจากจีนมากขึ้น ยึดเป้าหมายที่มีมาแต่เนิ่นนานคือคาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ ตีความตรงๆ ว่าทั้งเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ต้องไม่มีนิวเคลียร์

            ทุกวันนี้ทางการเกาหลีเหนือประกาศว่าตนมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐยอมรับเช่นนั้น ไม่กี่วันก่อนออกข่าวทดสอบระบบปล่อยนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (tactical nuclear) หากวันใดที่เกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ยิ่งไม่มีเหตุผลที่เกาหลีเหนือจะปลดอาวุธของตน โอกาสที่คาบสมุทรจะปลอดนิวเคลียร์แทบจะกลายเป็นแค่ความฝัน

แนวคิดญี่ปุ่นมีนิวเคลียร์ :

            ถ้าเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง รัฐบาลญี่ปุ่นคงไม่นิ่งเฉย จะขอมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองบ้าง โดยอ้างหลักการเดียวกันคือไม่หวังพึ่งพาการป้องกันจากสหรัฐ จะมั่นคงกว่าถ้ามีนิวเคลียร์ของตัวเอง

            แม้ทั้งคู่เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ต่างเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐ มีภัยคุกคามร่วมหลายอย่าง 2 ประเทศมีความขัดแย้งคู่ความร่วมมือ มีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อตั้งแต่สมัยญี่ปุ่นยึดเกาหลีเป็นอาณานิคม แม้เรื่องราวจะผ่านมาเนิ่นนานกว่าศตวรรษยังเป็นประเด็นร้อนจนบัดนี้ ทุกวันนี้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่วางใจกันและกัน มองอีกฝ่ายในเชิงลบ ลามไปถึงการค้าการลงทุน ความขัดแย้งเล็กๆ อาจบานปลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที ข้อนี้จะเป็นอีกเหตุผลที่หากประเทศหนึ่งมีนิวเคลียร์อีกประเทศจะขอมีด้วย

            ถ้าไปถึงจุดนั้นจะกลายเป็นว่าทั้งภูมิภาคจะเต็มด้วยนิวเคลียร์ ทำนองอินเดียกับปากีสถานที่ต่างพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ๆ เป็นประเด็นที่น่าคิดว่าเมื่อประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง น่าคิดว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นอย่างไร โลกจะเป็นอย่างไร

            ย้อนหลังเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐตั้งใจลดขีดความสามารถกองทัพญี่ปุ่น จึงตีกรอบรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นให้มีกองทัพเพื่อ “defense-only defense” แต่นับวันแนวคิดปรับแก้รัฐธรรมนูญแรงขึ้น ให้ประเทศอยู่ในสภาพเฉกเช่นประเทศปกติทั่วไป อันหมายถึงมีกองทัพเหมือนประเทศอื่นๆ และหากพิจารณาตามบริบทจะต้องมีกองทัพที่เข้มแข็งสามารถต่อต้านภัยคุกคามอย่างจีน ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่นเอ่ยถึงข้อนี้เป็นประจำ เพิ่มงบกลาโหมเพื่อจีนโดยเฉพาะ พัฒนาอาวุธใหม่ๆ เช่น สิงหาคม 2022 ญี่ปุ่นประกาศพัฒนาขีปนาวุธจรวดร่อน Type 12 รุ่นใหม่ที่มีพิสัย 1,000 กิโลเมตร สำหรับยิงเรือรบและเป้าหมายตามแนวชายฝั่งจีน

            การมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อต้านจีนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

            สิงหาคม 2022 ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกฯ ญี่ปุ่นประกาศเตรียมเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกเครื่องอีกครั้ง พร้อมแผนสร้างเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ มุ่งหน้าใช้พลังงานนิวเคลียร์เต็มที่ แม้จะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมจากเตาปฏิกรณ์ Fukushima Daiichi เมื่อปี 2011

            ญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงานจำนวนมาก เป็นเหตุขาดดุลมหาศาลเมื่อราคาพลังงานฟอสซิลถีบตัวสูง การใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกหนึ่ง (แม้เสี่ยงอันตราย) อีกเหตุผลที่เป็นไปได้คือลึกๆ แล้วญี่ปุ่นหวังสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

            ที่สุดแล้วความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นคือองค์ประกอบสำคัญที่สุด ชาวญี่ปุ่นจะต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองซึ่งจนล่าสุดเสียงสนับสนุนยังมีไม่มากพอ ในระหว่างนี้เทคนิคที่ฝ่ายขวาทำคือ ส่งเสริมปลูกฝังลัทธิชาตินิยม แก้ไขตำราเรียน (ลดทอนประวัติศาสตร์ที่พ่ายแพ้ มุ่งสร้างความภาคภูมิใจ) เพื่อคนญี่ปุ่นจะสนับสนุนแนวทางฝ่ายขวา ยกภัยคุกคามจากจีนเกาหลีเหนือซึ่งสมเหตุผลไม่น้อย

            ระบบการป้องกันประเทศญี่ปุ่นผูกติดกับกองทัพสหรัฐมานานแล้ว รวมถึงการถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ แต่สถานการณ์บางครั้งน่าสงสัยว่าไว้ใจรัฐบาลสหรัฐได้แค่ไหน

            ผลโพลกุมภาพันธ์ 2019 คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นว่าสหรัฐคือภัยคุกคามที่น่ากลัวสุด รองมาคือภาวะโลกร้อน การโจมตีทางไซเบอร์ รัฐบาลทรัมป์เป็นเหตุให้คนญี่ปุ่นคิดเช่นนั้นเพราะดูเหมือนทรัมป์จะไม่ยึดมั่นข้อตกลงที่มีอยู่ ทรัมป์เป็นปรากฏการณ์ในบางห้วงเวลาที่แสดงความไม่แน่นอน อาจตีความว่าเป็นเฉพาะรัฐบาลเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐในอนาคตจะไม่เป็นเช่นนี้อีก

            ลึกๆ แล้วสมาชิกพรรค LDP บางคนมีจุดยืนต่อต้านทั้งจีนกับสหรัฐคิดว่าญี่ปุ่นต้องพึ่งพาตนเองในการป้องกันประเทศ พันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐไม่มั่นคงอย่างที่เห็น ญี่ปุ่นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง

ญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจอีกครั้ง :

            ต้นทศวรรษ 1900 รัสเซียต้องการขยายอิทธิพลลงมาทางใต้เพื่อหาเมืองท่าและทางออกทะเลในเขตน่านน้ำอบอุ่น 1904-05 ญี่ปุ่นทำสงครามกับรัสเซียและเป็นฝ่ายชนะ เป็นชัยชนะครั้งแรกที่กองทัพของชนชาติเอเชียเอาชนะยุโรป เกียรติภูมิกองทัพญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ชาติมหาอำนาจอื่นๆ ยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นอีกชาติมหาอำนาจหนึ่งของโลก

            ชัยชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นครั้งนี้ สร้างขวัญกำลังใจแก่คนญี่ปุ่นอย่างมาก เกิดความฮึกเหิมอยากจะยึดครองจีน หวังเป็นชาติมหาอำนาจของเอเชียในต้นศตวรรษที่ 20

            ณ ปัจจุบันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลภัยคุกคามจากจีน รัฐบาลสหรัฐที่วางใจไม่ได้ ญี่ปุ่นมีศักยภาพเป็นมหาอำนาจ ที่ยังขาดอยู่คือขาดกองทัพที่ยิ่งใหญ่มากพอ การที่รัฐบาลสหรัฐเปิดทางให้ญี่ปุ่นร่วมต้านจีนเป็นโอกาสสำคัญที่ญี่ปุ่นจะมีกองทัพแบบชาติมหาอำนาจ ในการนี้จำต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

            ปี 2012 นายกฯ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe, 200607, 201220) เห็นควรปรับรัฐธรรมนูญที่จำกัดกองทัพ หวังให้กองทัพกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พยายามผลักดันเรื่องนี้ เป็นยุทธศาสตร์แม่บท (grand strategy) ฉบับใหม่

            หรืออาจตีความว่ากองทัพญี่ปุ่นกับพันธมิตรต้องมีพลังอำนาจมากพอจนจีนไม่กล้าประกาศปิดเส้นทางเดินเรือเดินอากาศในทะเลจีนใต้ เป็นเรื่องความอยู่รอดของชาติโดยแท้

            ในขณะที่สังคมญี่ปุ่นสนใจเรื่องการฟื้นฟูชาติให้อยู่ในฐานะเหมือนประเทศทั่วไป นักการทหารเอ่ยถึงอาวุธนิวเคลียร์ รายงาน Ground-Based Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific ของ RAND เมื่อปี 2022 ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐคิดติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น เป็นเวลานานแล้วที่นโยบายการทหารญี่ปุ่นผูกกับนโยบายของสหรัฐ ปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการในญี่ปุ่นราว 54,000 นายทั้งจากกองทัพเรือ นาวิกโยธินและกองทัพอากาศ ถ้าคิดว่าที่สุดแล้วกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะร่วมหัวจมท้ายกับกองทัพอเมริกัน การสู้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ย่อมอยู่ในวิสัยที่ควรเตรียมพร้อม นอกจากนี้ญี่ปุ่นอยู่ในตำแหน่งที่ดีสามารถโจมตีได้ทั้งจีน เกาหลีเหนือและเป้าหมายทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลกว้างใหญ่

            แนวคิดติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางที่ว่าเป็นอาวุธของสหรัฐ แต่หากญี่ปุ่นจะสร้างของตัวเองย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งเช่นกัน (เหมือนกับเกาหลีใต้)

NPT สั่นคลอนหนัก :

            เป้าหมายแต่แรกของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty : NPT) คือจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ให้อยู่ในมือ 5 ประเทศเท่านั้น นั่นคือสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติทั้ง 5 ประเทศ ต้นปี 2022 มีกว่า 190 ประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ ด้านอินเดีย ปากีสถานและอิสราเอล (ที่มีอาวุธนิวเคลียร์หรือที่ถูกชี้ว่ามี) ไม่ยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าว ส่วนเกาหลีเหนือถอนตัวออกไปเมื่อมกราคม 2003 หากเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นนับรวมเข้าอยู่ใน “nuclear club” จะยิ่งสั่นคลอน NPT เมื่อถึงตอนนั้นคงมีอีกหลายประเทศที่ขอแสดงความจำนงเข้าร่วม “nuclear club” นี้

            จะเห็นว่ายิ่งวิเคราะห์กว้างออกไปเพียงไร ความวุ่นวายปั่นป่วนจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

            เรื่องราวแนวคิดญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่อยากมีอาวุธนิวเคลียร์สะท้อนสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดกว่าเดิม ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นสงครามเย็นใหม่หรือไม่ ข้อเท็จจริงคือการแบ่งขั้วตามมหาอำนาจกำลังรุนแรงขึ้น อาจอธิบายว่าสถานการณ์พาไปหรือชาติมหาอำนาจกดดันให้เลือกข้าง ในแง่การป้องกันประเทศการมีอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นเครื่องมือป้องปรามสงครามใหญ่ได้ดี ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่คิดเช่นนี้ นี่ยังไม่รวมแนวคิดญี่ปุ่นอยากกลับมาเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง

16 มกราคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9468 วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565)

-------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
สมดุลอินโด-แปซิฟิกจะเปลี่ยนไปถ้าเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ และหากคิดจะใช้นิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ต้องถามว่าหากวันหนึ่งสหรัฐห้ามติดต่อค้าขายกับจีน เกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่
จีนที่ก้าวขึ้นมาทำให้สหรัฐกับญี่ปุ่นอยู่เฉยไม่ได้ มองว่าจีนกำลังเปลี่ยนแปลงอินโด-แปซิฟิกเพื่อตนเอง ญี่ปุ่นที่มีพลังอำนาจเป็นรองจำต้องแสวงหาพันธมิตรและเข้าพัวพันเข้มข้นกว่าเดิม

บรรณานุกรม :

1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม, รศ.ดร. (2554) สงครามกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสังคมโลก นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

2. Cirincione, Joseph. (2013). Nuclear Nightmares: Securing the World Before It Is Too Late. USA: Columbia University Press.

3. Green, Michael. (2014). Japan’s Role in Asia: Searching for Certainty. In David Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International Relations of Asia (2nd ed.). Maryland: Rowman & Littlefield.

4. Japan considers deploying long-range missiles. (2022, August 22). Taipei Times. Retrieved from https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2022/08/22/2003783923

5. Japan turns back to nuclear power in significant policy shift as fuel prices soar. (2022, August 24). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2022/08/24/energy/japan-nuclear-power-push-kishida-intl-hnk/index.html

6. Joint statement of nuclear powers’ leaders negotiated via diplomatic channels - Kremlin. (2022, January 4). TASS. Retrieved from https://tass.com/politics/1383695

7. Kang, David C. (2007). China Rising: Peace, Power, and Order in East Asia. New York: Columbia University Press.

8. Mitter, Rana. (2013). Forgotten Ally: China's World War II, 1937-1945. New York: Houghton Mifflin Harcourt.

9. More in Japan see U.S. as 'major threat,' while cyberattacks and climate change top concerns, survey shows. (2019, February 12). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2019/02/12/national/japan-see-u-s-major-threat-cyberattacks-climate-change-top-concerns-survey-shows/#.XGJbVFUzbZ4

10. Nathan, Andrew J., Scobell, Andrew. (2012).China's Search for Security. NY: Columbia University Press.

11. RAND. (2022). Ground-Based Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific. Retrieved from https://www.rand.org/pubs/research_reports/RRA393-3.html

12. Stop 'nuclear sabre-rattling', UN chief demands. (2022, August 23). The National News. Retrieved from https://www.thenationalnews.com/world/2022/08/23/stop-nuclear-sabre-rattling-un-chief-demands/

13. Takahashi, Kosuke. (2014, February 13). Shinzo Abe’s Nationalist Strategy. The Diplomat. Retrieved from http://thediplomat.com/2014/02/shinzo-abes-nationalist-strategy/

14. Wilkins, Thomas. (2022, July). Japan’s security strategy. Retrieved from https://ad-aspi.s3.ap-southeast-2.amazonaws.com/2022-07/SR186%20Japans%20security%20strategy.pdf?VersionId=DpkmKOvNKVqOEwvUtGfsY56HbSBgOMUY

15. Younger, Stephen M. (2008). The Bomb: A New History. USA: HarperCollins Publishers.

-----------------------