แนวคิดเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
สมดุลอินโด-แปซิฟิกจะเปลี่ยนไปถ้าเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ และหากคิดจะใช้นิวเคลียร์ของสหรัฐต้องถามว่าหากวันหนึ่งสหรัฐห้ามติดต่อค้าขายกับจีน เกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่
นับจากเกาหลีเหนือทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์เมื่อปี
2006 และทำต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นจริงเป็นจังทันที
ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือสำแดงฤทธิ์อีกครั้ง รัฐบาลเกาหลีใต้หารือเรื่องนี้กับสหรัฐเสมอ
ทั้งคู่แสดงท่าทีตรงกันต่างกันเพียงขั้นตอนรายละเอียด
เกาหลีเหนือยืนยันต้องมีอาวุธนิวเคลียร์
:
รัฐบาลเกาหลีเหนือยึดความคิดว่าสหรัฐจะโจมตีตนด้วยระเบิดนิวเคลียร์
จึงต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ตามแนวคิดป้องปรามสงครามนิวเคลียร์ “กองกำลังนิวเคลียร์เกาหลีเหนือมีเพื่อต้านภัยคุกคามจากนิวเคลียร์สหรัฐ”
ในยุคสงครามเย็น สหรัฐประจำการอาวุธนิวเคลียร์หลายชนิดในเกาหลีใต้
เคยคิดใช้อย่างจริงจังในสงครามเกาหลี
สื่อเกาหลีเหนือ KCNA ให้ข้อมูลว่าสหรัฐมีนโยบายโจมตีเกาหลีเหนือด้วยอาวุธนิวเคลียร์มานานหลายทศวรรษแล้ว
“สหรัฐกำหนดให้เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่จะชิงโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน”
“จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเกาหลีเหนือที่จะป้องกันตนเองด้วยการเสริมขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ตราบเท่าที่สหรัฐยังใช้นโยบายข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์”
ในมุมมองของเกาหลีเหนืออาวุธนิวเคลียร์คือเครื่องมือป้องกันการคงอยู่ของระบอบ
จะไม่ยอมแลกสิ่งนี้กับสิ่งใดๆ
ไม่ว่าจะใช้มุมมองของฝ่ายใดคาบสมุทรเกาหลีเป็นอีกแห่งที่ภัยสงครามนิวเคลียร์คุกรุ่นเรื่อยมา
รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์
แนวคิดสหรัฐอยากติดตั้งนิวเคลียร์ที่เกาหลีใต้
:
รายงาน Ground-Based Intermediate-Range
Missiles in the Indo-Pacific ของ RAND เมื่อปี
2022 ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐคิดติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางใน 5
ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น
แผนติดตั้งนิวเคลียร์อินโด-แปซิฟิกน่าจะเทียบเคียงกับ
“Nuclear sharing” ความร่วมมือด้านอาวุธนิวเคลียร์ของนาโต ข้อมูลปี 2019 ระบุว่าสหรัฐมีระเบิดนิวเคลียร์ B61 จำนวน 150
ลูกที่อยู่ในยุโรปภายใต้ Nuclear sharing การตัดสินใจใช้อาวุธเป็นระบบตัดสินใจร่วม
สหรัฐจะเป็นผู้เตรียมอาวุธให้พร้อมใช้งาน ส่วนชาติยุโรปทำหน้าที่ปล่อยอาวุธ ส่งเครื่องบินขึ้นปฏิบัติการ
ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนแล้วว่า
เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสหรัฐตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี
ปัจจุบันมีทหารอเมริกันในเกาหลีใต้กว่า 26,000 นาย แต่การคงอยู่มีปัญหาบางประการ
ที่เอ่ยถึงมากคือการแบ่งเบาภาระงบประมาณจากเกาหลีใต้ ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้จึงต้องระมัดระวังหากทำเรื่องที่จีนกังวลใจ
สมัยประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon
Jae-in) รัฐบาลเกาหลีใต้แสดงท่าทีว่ายังไม่ต้องการนิวเคลียร์
จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันและอนาคต
ที่ผ่านมาการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันมุ่งชี้ว่าเพื่อป้องกันเกาหลีเหนือ
แต่การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางไม่อาจอ้างเหตุผลนั้นอีก เกาหลีใต้ต้องใคร่ครวญว่าหวังร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐหรือจะเป็นประเทศที่มีอิสระด้านการป้องกันประเทศ
เพราะจะสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ทั้งหมด หากวันหนึ่งสหรัฐประกาศคว่ำบาตรห้ามติดต่อค้าขายกับจีน
รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่ จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี
2003 แล้ว
แนวคิดมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง
:
ในขณะที่มีแนวคิดว่ารัฐบาลสหรัฐอยากติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่นี่
ความคิดอีกกระแสดังขึ้นนั่นคือเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
ผลโพลของ Chicago
Council on Foreign Relations เมื่อกุมภาพันธ์ 2022
พบว่าคนเกาหลีใต้ 71%
เห็นด้วยที่ประเทศจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ
พฤษภาคมปีเดียวกันโพลของ Asan Institute for Policy Studies
ให้ผลตรงกัน คนเกาหลีใต้ 70.2%
อยากให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ 63.6%
อยากให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองแม้จะโดนคว่ำบาตรเพราะการสร้างอาวุธนี้ก็ตาม
จากฐานคิดว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง
รัฐบาลสหรัฐคงไม่เสี่ยงร่วมสงครามนี้ ไม่ต้องการให้ประเทศตัวเองเป็นพื้นที่หัวรบนิวเคลียร์หล่นใส่
แม้เกาหลีใต้กับสหรัฐมีสนธิสัญญาป้องกันประเทศต่อกัน
แนวคิดนี้น่าสนใจเพราะนับวันคนเกาหลีใต้ที่เห็นด้วยเพิ่มขึ้น
ในแง่เทคโนโลยี
นักวิชาการบางคนมั่นใจว่าเกาหลีใต้สามารถสร้างทั้งตัวหัวรบกับระบบปล่อยนิวเคลียร์
(เกาหลีใต้สร้างขีปนาวุธพิสัยกว่าพันกิโลเมตรของตัวเองได้แล้ว)
Lee Jung-hoon จาก Yonsei
University ให้ความเห็นว่าแม้จะใช้นโยบายคาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์มาหลายปีแต่ไม่อาจห้ามการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่
7 (ครั้งต่อไป) ที่เกาหลีเหนือกำลังจะทำและคงไม่หยุดเท่านี้ เป็นหลักฐานว่านโยบายดังกล่าวล้มเหลว
วิธีการเดิมๆ ที่ใช้มา 2 ทศวรรษล้มเหลว ควรหาแนวทางใหม่
บางคนถึงกับพูดว่าถ้าเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่
7 เกาหลีใต้ควรถอนตัวออกจาก NPT
ทันที ข้อนี้จะเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนที่จะต้องกดดันเกาหลีเหนือระงับโครงการอาวุธนิวเคลียร์แทนที่จะสุ่มเสี่ยงให้ตึงเครียดกว่าเดิม
อีกทั้งเป็นไปได้ว่าหากเกาหลีใต้ถอนตัวออกจาก NPT ญี่ปุ่นจะทำตามด้วย
บรรทัดสุดท้ายของแนวคิดนี้คือถ้าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์
เกาหลีใต้จะขอมีด้วย เรื่องที่จะพึ่งหวังการปกป้องจากสหรัฐไม่น่าเชื่อถือ
Cheong Seong-chang จาก
Sejong Institute ชี้ว่าในยามนี้สหรัฐต้องหวังความร่วมมือจากพันธมิตรที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์
เกาหลีใต้มีศักยภาพดังกล่าวสามารถสร้างนิวเคลียร์ 4,000 หัวรบ
และสามารถผลิตลูกแรกภายใน 2-3 ปี คำถามคือจะเริ่มผลิตเมื่อไหร่
นักวิชาการบางคนคิดว่าเกาหลีใต้มีแผนสร้างเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
กันยายน 2021 เกาหลีใต้ทดสอบยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำที่สร้างเอง
เป็นไปได้ว่าเป้าหมายในระยะแรกคือขีปนาวุธที่มีพิสัยไม่เกิน 800 กิโลเมตร
เกาหลีใต้จะมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่เป็นประเด็นที่วิพากษ์ได้อีกมาก
ที่สุดแล้วนักวิชาการบางคนคิดว่าถ้าจำเป็นจริงๆ
ย่อมต้องมีไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรก็ตาม
มุมมองจากสหรัฐ รัสเซีย จีน :
ถ้าข้อสรุปคือต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ คำถามตามมาคือรัฐบาลสหรัฐจะเห็นชอบหรือไม่
ถ้าสหรัฐตั้งเป้าว่าต้องเป็นระบบคล้าย Nuclear sharing ที่ทำกับยุโรป เอื้อให้สหรัฐมีอิทธิพลในเกาหลีใต้ต่อไป
รักษาความเป็นมหาอำนาจผู้ครองความเป็นเจ้า
ในอดีตรัฐบาลสหรัฐเกลี้ยกล่อมห้ามอินเดียสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
เสนอให้อินเดียเข้าร่วม Nuclear
sharing และจะป้องกันอินเดียหากโดนโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์
แต่รัฐบาลอินเดียปฏิเสธ ทุกวันนี้อินเดียจึงมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง
รัฐบาลเกาหลีใต้จะตอบคำถามนี้อย่างไร บรรดานักการเมืองมีอิสระมากพอที่จะตัดสินใจบนผลประโยชน์แห่งชาติของตนแค่ไหน
เป็นประเด็นที่น่าติดตาม
ไม่ว่าเกาหลีใต้จะมีขีปนาวุธพิสัยกลางหรือ
Tactical ballistic missile พิสัย 150 - 300 กิโลเมตร ล้วนตีความได้ว่ากระทบความมั่นคงของจีนกับรัสเซีย
ลำพังกระทบเกาหลีเหนือก็กระทบต่อจีนแล้ว
จีนกับรัสเซียคงไม่เห็นด้วยแน่นอน
ที่ผ่านมาการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันมุ่งชี้ว่าเพื่อป้องกันเกาหลีเหนือ
แต่การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางยากจะอ้างว่ามีไว้เพื่อยิงเกาหลีเหนือ
ประเด็นสุดท้ายที่เกาหลีใต้ต้องใคร่ครวญคือต้องการร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐ
หรือจะเป็นประเทศที่มีอิสระด้านการป้องกันประเทศ เพราะจะสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ
ทั้งหมด หากวันหนึ่งสหรัฐประกาศคว่ำบาตรห้ามติดต่อค้าขายกับจีน
รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
1. Asan
Institute for Policy Study. (2022, May 22). Asan Institute Releases the Asan Report “South
Korean Public Opinion on ROK-U.S. Bilateral Ties”. Retrieved from
http://en.asaninst.org/contents/asan-institute-releases-the-asan-report-south-korean-public-opinion-on-rok-u-s-bilateral-ties/
2.
Blinken reaffirms U.S. commitment to NPT, citing threats posed by N. Korea,
Iran. (2022, August 2). Yonhap. Retrieved from
https://en.yna.co.kr/view/AEN20220802000253325?section=nk/nk
3.
Chicago Council on Global Affairs. (2022, February 21). Thinking Nuclear: South Korean
Attitudes on Nuclear Weapons. Retrieved from
https://www.thechicagocouncil.org/research/public-opinion-survey/thinking-nuclear-south-korean-attitudes-nuclear-weapons
4. Denuclearization of Korean
Peninsula Is Invariable Will of Army and People of DPRK: Rodong Sinmun. (2014,
January 22). KCNA. Retrieved from
http://www.kcna.co.jp/item/2014/201401/news22/20140122-06ee.html
5.
DOUBLE ASYMMETRY: THE INEVITABILITY OF AN ARMS RACE ON THE KOREAN PENINSULA.
(2022, June 22). warontherocksdotcom.
Retrieved from
https://warontherocks.com/2022/06/double-asymmetry-the-inevitability-of-an-arms-race-on-the-korean-peninsula/
6. KCNA Commentary Slams U.S. for
Systematically Increasing Nuclear Threats to DPRK, KCNA. (2013, March 6). KCNA. Retrieved from
http://www.kcna.co.jp/item/2014/201401/news22/20140122-06ee.html
7. Maddock, Shane J. (2010). Nuclear Apartheid: The Quest for
American Atomic Supremacy from World War II to the Present. USA: The University of North
Carolina Press.
8. RAND. (2022). Ground-Based
Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific. Retrieved from
https://www.rand.org/pubs/research_reports/RRA393-3.html
9. South
Korea’s home-grown rocket deploys satellite. (2022, June 21). Asia Times.
Retrieved from
https://asiatimes.com/2022/06/south-koreas-home-grown-rocket-deploys-satellite/
10. S.
Korea's exports to China rise over 160 times in 30 years. (2022, August 20). Yonhap.
Retrieved from
https://en.yna.co.kr/view/AEN20220823000800320?section=business/industry
11. The
pros and cons of a nuclear South Korea. (2022, July 25). Asia Times. Retrieved
from https://asiatimes.com/2022/07/the-pros-and-cons-of-a-nuclear-south-korea/
12. U.S., S. Korea see 'eye-to-eye'
on need to denuclearize Korean Peninsula: State Dept. (2021, November 9). Yonhap. Retrieved from
https://en.yna.co.kr/view/AEN20211109000200325?section=national/diplomacy
-----------------------