ความมั่นคงไต้หวัน กลเกมของมหาอำนาจ

การชี้ว่าจีนจะบุกไต้หวันและสหรัฐอาจเป็นฝ่ายปราชัย เป็นคำถามที่น่าคิดว่าทำไมผู้นำกองทัพสหรัฐพูดเช่นนั้น กำลังปลุกเร้าสถานการณ์ให้ตึงเครียดใช่หรือไม่ กำลังพาไต้หวันเข้าสู่สงครามหรือเปล่า

            พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการ Indo­Pacific Command กล่าวต่อวุฒิสภาเป็นกังวลว่าจีนจะโจมตีไต้หวันภายในปี 2027 บทความ The Most Dangerous Place on Earth บรรยายว่าเหตุผลหนึ่งที่จีนจะโจมตีคือเพื่อทดสอบประสิทธิภาพกองทัพอเมริกัน หากชนะจะเป็นผู้ครองภูมิภาคในชั่วข้ามคืน พันธมิตรสหรัฐเห็นว่าพึ่งสหรัฐไม่ได้อีกแล้ว Pax Americana ล่มสลาย

            จีนพัฒนาอาวุธและประจำการอาวุธตามชายฝั่งช่องแคบไต้หวัน ในช่วง 5 ปีกองทัพเรือจีนมีเรือรบผิวน้ำกับเรือดำน้ำใหม่ถึง 90 ลำ ผลิตเครื่องบินรบปีละ 100 ลำ มีขีปนาวุธที่ทำลายเป้าหมายอย่างแม่นยำ
            ผลจำลองสถานการณ์ (simulate) จีนโจมตีไต้หวันพบว่ากองทัพสหรัฐที่ประจำการในญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเกาะกวมสู้ไม่ได้ นักวิเคราะห์อเมริกันหลายคนสรุปว่าด้วยพลังทางทหารจีนที่เหนือกว่าจีนจะรุกรานไต้หวันแน่นอน ไม่รอให้ไต้หวันล้ำเส้นอีกแล้ว (ประกาศเอกราช) บางคนคิดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะยึดไต้หวันเพื่อสร้างชื่อเสียง

            บทความนี้วิพากษ์ความมั่นคงไต้หวันโดยอิงข้อมูลจากบทความ The Most Dangerous Place on Earth ดังนี้

การต่อสู้ของ 2 มหาอำนาจ :

            ในช่วงสงครามเย็น เดิมนั้นจีนกับสหรัฐเป็นศัตรูจากความขัดแย้งอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เมื่อสหรัฐกับจีนร่วมมือต้านสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1970 รัฐบาลนิกสันเปลี่ยนนโยบายยอมรับว่า “ไม่ว่าจะฝั่งใดของช่องแคบไต้หวันเป็นจีนหนึ่งเดียว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน” เป็นการยอมรับนโยบายจีนเดียว (one China policy) ของจีนและทรยศไต้หวัน ในช่วงนั้นสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยสหรัฐกับคอมมิวนิสต์จีนเป็นไปอย่างชื่นมื่น

เข้าสู่ทศวรรษ 1990 รัฐบาลสหรัฐเริ่มเปลี่ยนอีก เมื่อฝ่ายยุทธศาสตร์เห็นว่าจีนเป็นความท้าทายใหม่ เศรษฐกิจจีนเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับพลังอำนาจทางทหาร นับจากนั้นเป็นต้นมารัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างตีตราว่าจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขึ้นทุกทีดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

            ต้นเหตุสงครามมีที่มาที่ไป ความตึงเครียดช่องแคบไต้หวันดำเนินมา 80-90 ปีแล้ว เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายเข้าใจอย่างดีว่าสงครามจะไม่เกิดหากไม่มีใครล้ำเส้น คือไต้หวันไม่ประกาศเอกราชกับจีนไม่ส่งทหารบุกยึดไต้หวัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่มีใครล้ำเส้น

ความเสี่ยงและผลเสียหากโจมตีไต้หวัน :

            ประเด็นแรกที่ควรพิจารณาคือจีนจะบุกไต้หวันหรือไม่ ดังที่บางคนคิดว่าผู้นำจีนอาจทำเพื่อสร้างตำนานให้แก่ตัวเองและด้วยเหตุผลอื่นๆ มีมุมมองที่ควรพิจารณาเพิ่มดังนี้

            ที่ทุกฝ่ายกังวลมากสุดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกหากสหรัฐยิงนิวเคลียร์ใส่หลายสิบหลายร้อยจุดของจีน รวมทั้งเมืองใหญ่เขตเศรษฐกิจ คนจีนอาจเสียชีวิตหลายสิบล้านหรือนับร้อยล้านคน หรือจีนทำเช่นนี้เหมือนกัน กรณีนี้เป็นไปได้ยากมาก

            สงครามนิวเคลียร์อีกแบบคือใช้ขีปนาวุธโจมตีติดหัวรบนิวเคลียร์เพื่อทำลายเป้าหมายเฉพาะจุด เป้าหมายทางทหาร ฐานทัพ กองเรือ ให้อีกฝ่ายอัมพาตต้องยอมแพ้ ใครเสี่ยงเปิดศึกก่อนเป็นคำถามน่าคิด

            หากจีนเป็นฝ่ายเริ่มก่อน สิ่งที่จีนสูญเสียแน่นอนคือจุดยืนที่ว่าจีนก้าวขึ้นอย่างสันติ ไม่คิดเป็นมหาอำนาจผู้ครองความเป็นเจ้า เรื่องนี้มีผลต่อชื่อเสียงจีนชนิดยากจะฟื้นคืนกลับมาอีก

            คำถามคือคุ้มหรือไม่ เฉพาะกรอบไต้หวันมีคำถามว่าจีนจะปกครองไต้หวันได้หรือไม่ จะเป็นภาระแก่จีนอีกกี่สิบปี จะดีกว่าไหมหากรักษาสภาพที่เป็นอยู่ ไต้หวันไม่ประกาศเอกราช จีนไม่โจมตีไต้หวัน ชาวไต้หวันหลายหมื่นหลายแสนคนยังคงทำมาค้าขายกับจีน ทั้งจีนกับไต้หวันต่างมีส่วนให้เศรษฐกิจโลกเดินหน้าต่อไป ประชากร 1,400 ล้านของจีนกับ 24 ล้านของไต้หวันทำมาหากิน มีความสุขตามอัตภาพต่อไป

            ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นชัดคือรัฐบาลจีนเร่งพัฒนาประเทศทุกด้าน ส่งเสริมการค้าการลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ พลเมืองจีนใช้ชีวิตสะดวกสบายทันสมัยตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว จีนจะแลกสิ่งนี้กับเกาะไต้หวันไหม

            ในแง่พลังอำนาจทางทหาร สิ่งที่รัฐบาลจีนทำในช่วงนี้คือมีกองทัพเข้มแข็งมากพอจนศัตรูไม่กล้าลงมือ

สำหรับคนไต้หวัน :

            คนไต้หวันเข้าใจการแข่งขันช่วงชิงระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นอย่างดี นับจากพวกก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ของ เจียง ไคเช็ค (Chiang Kai-shek) พ่ายศึกในแผ่นดินใหญ่ ถอยร่นมาตั้งหลักที่ไต้หวัน นับจากนั้นเป็นต้นมาคนไต้หวันมีภารกิจพิเศษ ต้องเตรียมตัวกู้ชาติ นักเรียนชั้นประถมที่นี่แตกต่างจากเด็กทั่วไปเพราะต้องเรียนรู้และเตรียมตัวกอบกู้เอาแผ่นดินคืนจากคอมมิวนิสต์ ประเทศอยู่ในบรรยากาศกึ่งเตรียมพร้อมทำสงคราม กองทัพเป็นผู้ปกครองไต้หวัน เกิดพรรคชาตินิยม (Kuomintang: KMT) เป็นรัฐบาลบริหารประเทศอยู่นาน KMT ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

            สถานการณ์คลี่คลายเมื่อรัฐบาลสหรัฐจับมือกับจีนคอมมิวนิสต์ต้านโซเวียตรัสเซีย พร้อมกับที่จีนเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เป็นสมาชิกองค์การค้าโลก คนไต้หวันนับหมื่นนับแสนไปทำงานทำธุรกิจที่จีน คน 2 ฝั่งช่องแคบแต่งงานมีครอบครัวออกลูกออกหลาน

            บัดนี้พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน กำลังชี้ว่าจีนจะบุกไต้หวันและสหรัฐอาจเป็นฝ่ายปราชัย เป็นคำถามที่น่าคิดว่า ทำไมผู้นำกองทัพสหรัฐพูดเช่นนั้น กำลังปลุกเร้าสถานการณ์ให้ตึงเครียดใช่หรือไม่ กำลังพาไต้หวันเข้าสู่สงครามหรือเปล่า อนาคตของชาวไต้หวัน 24 ล้านคนจะเป็นอย่างไร ควรทำสงครามหรืออยู่อย่างสงบสุขกับจีนต่อไป นี่คือคำถามที่คนไต้หวันควรเป็นผู้ตอบเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบางประเทศ ของนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม

            แม้ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) จากพรรค Democratic Progressive Party’s (DPP)  ชูนโยบายประกาศเอกราชแต่เป็นแนวคิดเท่านั้น เช่นเดียวกับพรรคชาตินิยม (KMT) ที่ระยะหลังปรับนโยบายเข้าหาจีนก็ใช่ว่าต้องการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจีน แม้จีนจะเสนอแนวทาง 1 ประเทศ 2 ระบบคนไต้หวันยังกังวลว่าจะสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้หรือไม่ ความเป็นไปของฮ่องกงเป็นตัวอย่าง

          สงครามจีนกับไต้หวันจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ำเส้น หากจีนกับไต้หวันไม่ล้ำเส้น ย่อมไม่มีเหตุเกิดสงครามตามที่ผู้นำกองทัพสหรัฐกล่าวอ้าง

วิพากษ์จากมุมของสหรัฐ :

            เป็นเรื่องจริงที่กองทัพจีนเข้มแข็งขึ้นมาก มีอาวุธทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มงบกลาโหมทุกปี ยิ่งเศรษฐกิจเติบใหญ่ยิ่งเพิ่มได้มาก แต่เป็นมุมมองที่ผิดพลาดถ้าคิดว่าจีนพัฒนากองทัพเพื่อยึดไต้หวัน

            ถ้อยคำของพลเรือเอกฟิล เดวิดสัน พูดในบริบทไต้หวัน แต่หากตีความว่า “ไต้หวัน” คือ “อเมริกา” หรือเขตอิทธิพลอเมริกาย่อมสะท้อนว่ากองทัพสหรัฐกังวลการก้าวขึ้นมาของกองทัพจีน ข้อมูลจากบทความถึงกับพูดว่าสหรัฐแพ้สงคราม

            “จีนกำลังก้าวขึ้นมาในขณะที่อเมริกากำลังถดถอย” นี่คือข้อสรุปที่สหรัฐกังวล ทางออกคือประการใด ต้องขอให้รัฐสภาเพิ่มงบกลาโหม พัฒนาอาวุธใหม่ๆ กระชับพันธมิตรอินโด-แปซิกฟิกใช่หรือไม่ บางทีนี่อาจคือสิ่งที่ฝ่ายกองทัพต้องการ กองทัพชี้แจงรัฐสภา รัฐบาลไบเดนดำเนินการ เรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ของแปลกใหม่ เกิดขึ้นเสมอเมื่อได้รัฐบาลใหม่ สหรัฐต้องมีศัตรูให้ได้แข่งขันช่วงชิงตลอดไป พลเมืองอเมริกันสังคมอเมริกันอยู่ในภาวะที่ถูกครอบงำด้วยภัยคุกคามร้ายแรงอยู่เสมอ ต้องทำศึกหรือเตรียมทำศึกอย่างเข้มข้นตลอดเวลา ภัยสงครามเป็นข่าวใหญ่ของประเทศอยู่เรื่อยเพราะผู้นำประเทศชี้นำไปทางนั้น

            ต้องยอมรับว่าหากสหรัฐพ่ายแพ้ในอินโด-แปซิฟิกเท่ากับสูญเสียฐานะเจ้าผู้ครองโลก แต่เป็นไปได้ว่าโลกอาจได้คำตอบโดยไม่ต้องทำสงครามด้วยเครื่องบินรถถัง

9 พฤษภาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8944 วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564)

----------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
โอริตะ คูนิโอะ แสดงความคิดเห็นว่าภายในปี 2025 จีนจะก่อสงครามใหญ่ เพื่อยึดครองไต้หวัน ควบคุมทะเลจีนใต้ ข้อวิพากษ์คืออย่างไรเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าระหว่างสงครามกับสันติภาพ
ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอให้ทบทวนนโยบายจีนเดียว หวังใช้เป็นเครื่องมือเจรจาแก้ปัญหาการค้าจีน  ฝ่ายจีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวชี้ว่าเกี่ยวข้องกับอธิปไตยไต้หวัน เป็นเรื่องที่ยอมให้ไม่ได้ ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้รัฐบาลจีนได้ละเมิดนโยบายจีนเดียวมานานแล้ว ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐมีความชอบธรรมที่จะละเมิดหรือยกเลิก แต่จะได้ผลดีหรือผลเสียมากกว่า เพราะต้องคำนึงปัจจัยไต้หวันและอื่นๆ
นโยบายจีนเดียว (one-China policy) ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในรากฐานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย้อนหลังถึงปี 1972 เมื่อ 2 รัฐบาลจับมือกันต้านสหภาพโซเวียต เป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งใหญ่ในยุคนั้น ผู้นำโลกเสรีสามารถจับมือกับคอมมิวนิสต์จีน แต่บริบทโลกเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันไม่มีสหภาพโซเวียตอีกแล้ว รัสเซียในปัจจุบันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดจีน ส่วนสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อจีนมากขึ้น ชัดเจนขึ้น อะไรคือคุณค่าแท้ของนโยบายจีนเดียวในปัจจุบันและอนาคต

บรรณานุกรม :

1. Jiu-Hwa Lo Upshur. (2008). Taiwan (Republic of China). In Encyclopedia of World History. (Vol. 6., pp. 411-412). New York: Infobase Publishing.

2. Sandier, Todd., Hartley, Keith. (1999). The Political Economy of NATO: Past, Present and into the 21st Century. New York: Cambridge University Press.

3. Something wicked this way come. (2021, May 1-7). The Economist. pp.14-17.

4. The Most Dangerous Place on Earth. (2021, May 1-7). The Economist. p.7.

5. Wang, Jenn-hwan (2006). Sovereignty, survival, and the transformation of the Taiwan state. In State Making in Asia. (pp.94-112). Oxon: Routledge.

6. Zhang, Qingmin. (2011). China’s Diplomacy. Singapore: Cengage Learning Asia.

--------------------------