แผนติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ

สหรัฐหวังติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไทย เป้าหมายหลักคือต่อต้านจีน อเมริกาครองความเป็นเจ้าในอินโด-แปซิฟิก

        สิงหาคม 2019 รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์กับรัสเซียต่างถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ทันทีที่ถอนตัวมาร์ก เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่าสหรัฐอาจเริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางที่ติดตั้งภาคพื้นดินอีกครั้ง หวังจะติดตั้งที่ใดที่หนึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นเรื่องน่าคิดว่า INF เป็นสนธิสัญญาที่จะไม่ติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางในยุโรป แต่เมื่อสหรัฐยกเลิกข้อตกลงกลับเอ่ยถึงการติดตั้งขีปนาวุธนี้ที่เอเชียทันที อ้างเหตุผลจีนมีขีปนาวุธดังกล่าว (เช่น DF-26) และไม่ได้ลงนามใน INF

        รายงาน Ground-Based Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific ของ RAND เป็นรายงานล่าสุด (2022) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ช่วยให้เข้าใจความคืบหน้าและวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ มีสาระสำคัญพร้อมการวิเคราะห์ดังนี้

สหรัฐหวังติดขีปนาวุธใน 5 ประเทศ :

        แผนคือติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางใน 5 ประเทศที่เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคง ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น

        1) กรณีไทย งานวิจัยของ RAND ชี้ว่ายากจะร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แม้ในเวลาต่อมากลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สหรัฐคาดหวังความร่วมมือจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตมากกว่า

        2) กรณีฟิลิปปินส์ เคยเป็นพันธมิตรสำคัญในยุคสงครามเย็น แต่เนื่องจากหลังสงครามเย็นคนฟิลิปปินส์บางส่วนไม่เห็นด้วยกับกองทัพอเมริกันที่ประจำการที่นั่น สหรัฐต้องถอนตัวออกจากฐานทัพเรืออ่าวซูบิก (Subic Bay) นับจากนั้นบทบาทกองทัพอเมริกันในประเทศนี้จึงลดลงมาก

        รัฐบาลโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) เป็นอุปสรรคสำคัญ สัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากขึ้น ร่วมมือกับจีนสำรวจทรัพยากรน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอ่อนแอลง

        วิเคราะห์ : ฟิลิปปินส์พิพาทกับจีนเรื่องสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ การรุกคืบแสดงความเป็นเจ้าของจากจีนจะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ การได้รัฐบาลชุดใหม่เป็นอีกปัจจัยที่จะชี้ว่าฟิลิปปินส์จะสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างไร ในสมัยเบนิกโน อากีโนที่ 3 (Benigno Aquino III) มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอย่างชัดเจน แต่จะยอมให้ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางหรือไม่ต้องรอดูรัฐบาลชุดหน้า

        3) กรณีเกาหลีใต้ เป็นพันธมิตรสหรัฐตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี ปัจจุบันมีทหารอเมริกันในเกาหลีใต้กว่า 26,000 นาย แต่การคงอยู่มีปัญหาบางประการ ที่เอ่ยถึงมากคือการแบ่งเบาภาระงบประมาณจากเกาหลีใต้ ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้จึงต้องระมัดระวังหากจะทำเรื่องที่จีนกังวลใจ สมัยประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) รัฐบาลเกาหลีใต้แสดงท่าทีว่ายังไม่ต้องการ จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันและอนาคต

        วิเคราะห์ : ที่ผ่านมาการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันมุ่งชี้ว่าเพื่อป้องกันเกาหลีเหนือ แต่การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางยากจะอ้างว่ามีไว้เพื่อยิงเกาหลีเหนือ ประเด็นต้องช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายเป็นอีกส่วนที่ต้องคิดหนักว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าในอดีตสหรัฐเคยประจำการอาวุธนิวเคลียร์ที่นี่ทั้งแบบเปิดเผยกับปิดลับ

        ประเด็นสุดท้ายที่เกาหลีใต้ต้องใคร่ครวญคือหวังล่มหัวจมท้ายกับสหรัฐหรือจะเป็นประเทศที่มีอิสระด้านการป้องกันประเทศ เพราะจะสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ทั้งหมด หากวันหนึ่งสหรัฐประกาศคว่ำบาตรห้ามติดต่อค้าขายกับจีน รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่

        4) กรณีออสเตรเลีย เป็นอีกพันธมิตรเก่าแก่ ปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการราว 1 พันนาย ไม่รวมนาวิกโยธินอีก 2,500 นายพร้อมอาวุธหนักที่ประจำการในออสเตรเลียปีละ 6 เดือน นอกจากนี้ออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของระบบสอดแนมที่สำคัญสุดของสหรัฐ (Five Eyes)

        คำถามคือออสเตรเลียพร้อมแตกหักกับจีนหรือไม่ พร้อมสละความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนหรือไม่

        วิเคราะห์ : พันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย (AUKUS) ที่เพิ่งประกาศเมื่อกันยายน 2021 กับการช่วยให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์เป็นหลักฐานว่ารัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจใกล้ชิดอเมริกามากขึ้น

        ที่น่าคิดคือออสเตรเลียอยู่ห่างจีนมาก ไม่เหมาะเป็นจุดติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ที่กำลังสร้างอาจสามารถจะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้ AUKUS จะเป็นพันธมิตรที่ล้วนมีเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์แล่นไปแล่นมาในอินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียชุดถัดๆ ไป คนออสเตรเลียเห็นดีเห็นงามด้วย

        5) กรณีญี่ปุ่น ปัจจุบันมีทหารอเมริกันอยู่ราว 54,000 นาย ทั้งจากกองทัพเรือ นาวิกโยธินและกองทัพอากาศ ญี่ปุ่นมองจีนเป็นภัยคุกคามเรื่อยมาและกังวลมากขึ้น มีประเด็นพิพาทหมู่เกาะเซนกากุที่พร้อมจะปะทุขึ้นอีก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยที่สหรัฐถอนตัวจาก INF

        วิเคราะห์ : รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินนโยบายต้านจีนสอดคล้องกับรัฐบาลสหรัฐแม้จีนเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ญี่ปุ่นต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองหรือไม่ ที่ผ่านมามีการเอ่ยถึงเรื่องนี้เป็นระยะแต่ติดขัดที่ชาวญี่ปุ่นบางส่วนต่อต้านอย่างรุนแรง หากเข้าร่วมโครงการขีปนาวุธพิสัยกลางจะเป็นอีกก้าวช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ถ้าคิดว่าที่สุดแล้วกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะร่วมหัวจมท้ายกับกองทัพอเมริกัน การสู้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ย่อมอยู่ในพิสัยที่ควรเตรียมพร้อม

        นอกจากนี้ญี่ปุ่นอยู่ในตำแหน่งที่ดีสามารถโจมตีได้ทั้งจีน เกาหลีเหนือและเป้าหมายทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลกว้างใหญ่ ท้ายที่สุดจึงขึ้นกับยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของญี่ปุ่นและโลกจะได้คำตอบในที่สุด

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

       ประการแรก มุ่งต่อต้านจีนทุกด้าน

        โครงการนี้จะสัมพันธ์ทุกด้านไม่เฉพาะเรื่องการทหาร ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจติดตั้งระบบอาวุธนี้ต้องคิดให้รอบคอบว่าจะถือจีนเป็นศัตรูหรือมิตร กรณีอียูกับรัสเซียอันเนื่องจากสงครามยูเครนเป็นตัวอย่างที่ดี
        ในอีกมุมจะหมายถึงการร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐ จะมีทหารอเมริกันประจำการถาวรอยู่ในประเทศนั้น มีฐานทัพอเมริกันที่นั่น ความเข้าใจนี้ปรากฏชัดในงานวิจัยของ
RAND ฝ่ายสหรัฐคาดหวังว่าจะมีรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งที่รับข้อเสนอและดำเนินนโยบายต้านจีนตลอดไป

       ประการที่ 2 นิวเคลียร์หรือไม่นิวเคลียร์

        ประเด็นที่ควรตั้งคำถามคือเป้าหมายสุดท้ายจะเป็นแค่หัวรบธรรมดาหรือหัวรบนิวเคลียร์ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะสับสนเพราะสหรัฐถอนตัวออกจาก INF ซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์ แต่พอพูดถึงการติดตั้งขีปนาวุธประเภทนี้ในอินโด-แปซิฟิกบางครั้งใช้คำว่าเป็นหัวรบธรรมดา

        ที่น่าจะเป็นไปได้คือระบบปล่อยขีปนาวุธที่ว่าสามารถติดหัวรบได้หลายแบบหรือสามารถเปลี่ยนเป็นขีปนาวุธหลายประเภท กรณีนี้จะคล้ายกับข้อกล่าวหาระบบปล่อยขีปนาวุธที่สหรัฐติดตั้งในโรมาเนียกับโปแลนด์ แม้ในเบื้องต้นจะเป็นชนิดพื้นสู่อากาศแต่สามารถเปลี่ยนเป็นขีปนาวุธพื้นสู่พื้น เช่นเปลี่ยนเป็นจรวดร่อนโทมาฮอว์คที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ เรื่องนี้กลายเป็นข้อพิพาททำให้ทั้งสหรัฐกับรัสเซียถอนตัวจาก INF และมีส่วนพัฒนาความขัดแย้งจนเกิดสงครามยูเครน เมื่อยูเครนมีแผนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตซึ่งอาจนำสู่การติดตั้งระบบขีปนาวุธแบบโรมาเนีย เป็นเส้นต้องห้าม (red line) ที่รัสเซียยอมไม่ได้จึงส่งกองทัพบุกยูเครน

        ดังนั้น ลำพังการติดตั้งระบบปล่อยอาวุธก็เป็นปัญหาแล้ว ไม่ต้องสรุปว่าเป็นนิวเคลียร์หรือไม่

       ประการที่ 3 อาจเป็นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค

        ที่ชัดเจนข้อหนึ่งคือเป็นแผนระยะยาวที่กินเวลานับสิบปี ไม่ว่าจะเป็นการรอให้รัฐบาล 5 ประเทศยินยอม เวลาที่ใช้ในการออกแบบสร้างฐานปล่อย ควรเข้าใจว่าจะไม่ใช่แค่ฐานปล่อยขีปนาวุธ แต่เป็นระบบใหญ่กว่านั้น เช่น มีระบบป้องกันภัยทางอากาศ มีฐานทัพอากาศ ศูนย์บัญชาการ ฯลฯ รวมความแล้วเป็นฐานทัพถาวรขนาดใหญ่นั่นเอง (อาจเทียบกับฐานทัพสหรัฐในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น) และจะเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานดังที่กองทัพสหรัฐยังอยู่ที่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นแม้สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะ 8 ทศวรรษแล้วก็ตาม

        ตัวขีปนาวุธที่ว่าเป็นรุ่นใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี เป็นไปได้ว่าอาจเป็นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิคที่กำลังพัฒนา

        รวมความแล้วเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐกำลังเสริมสร้างอิทธิพลของตนในระดับโลกด้วยการเล่นงานปรปักษ์สำคัญ คือการจัดระเบียบโลกที่รัฐบาลสหรัฐทำเรื่อยมา สร้างกระแสสงครามเย็นใหม่

8 พฤษภาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307 วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565)

---------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือ
รัฐบาลสหรัฐกลับมาให้ความสนใจเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ คราวนี้มองมาที่จีนด้วยตามกรอบอินโด-แปซิฟิก อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง พัวพันกับการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจในย่านนี้อีกครั้ง
บรรณานุกรม :

1. Biden announces Indo-Pacific alliance with UK, Australia. (2021, September 16). The Asahi Shimbun. Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/14441547

2. Biden seeks five-year extension of New START arms treaty with Russia. (2021, January 22). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-russia-nuclear/biden-seeks-five-year-extension-of-new-start-arms-treaty-with-russia-idUSKBN29Q2I4

3. INF Treaty: Is the world without Russia possible? (2018, October 22). Pravda. Retrieved from http://www.pravdareport.com/world/americas/22-10-2018/141834-inf_treaty-0/

4. Japan, U.K. agree on defense pact amid China's rise in Indo-Pacific. (2022, May 6). Kyodo News. Retrieved from https://english.kyodonews.net/news/2022/05/7323f9ef85f8-urgent-japan-britain-agree-on-defense-cooperation-pact.html

5. RAND. (2022). Ground-Based Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific. Retrieved from https://www.rand.org/pubs/research_reports/RRA393-3.html

6. Russia and the US nuke 32-year-old INF treaty. (2019, August 2). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/russia-and-the-us-nuke-32-year-old-inf-treaty/a-49863508

7. The Death of the INF Treaty Could Signal a U.S.-Russia Missile Race. (2017, December 6). The National Interest. Retrieved from https://nationalinterest.org/feature/the-death-the-inf-treaty-could-signal-us-russia-missile-race-23532

8. US Defence Secretary says he favours placing intermediate-range missiles in Asia. (2019, August 3). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/638168/US-Defence-Secretary-says-he-favours-placing-inter

9. U.S. Department of Defense. (2018). Nuclear Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF

-----------------------