รัฐบาลสหรัฐกลับมาให้ความสนใจเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
คราวนี้มองมาที่จีนด้วยตามกรอบอินโด-แปซิฟิก อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง พัวพันกับการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจในย่านนี้อีกครั้ง
อะไรคือ Intermediate-Range Nuclear
Forces Treaty :
บทความที่เกี่ยวข้อง :
บรรณานุกรม :
สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางหรือ
Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty (1987) เป็นสนธิสัญญาทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต
(ในขณะนั้น) เมื่อ 8 ธันวาคม 1987 ทั้ง 2 ประเทศตกลงที่จะกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเภท
ทั้งขีปนาวุธ จรวดร่อนที่ติดตั้งกับยานพาหนะทางบก (mobile ground-launched
cruise missiles: GLCM) มีพิสัยระหว่าง 500 – 5,500 กิโลเมตร
(300-3,000 ไมล์) (มาตรา 1) รวมทั้งระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบปล่อยอาวุธ
ระบบสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพบรรจุตัวขีปนาวุธหรือไม่
ขีปนาวุธพิสัยใกล้ (Short-range ballistic missile: SRBM) มีพิสัย 500 - 1,000 กม. (620 ไมล์) ระดับที่เหนือจากพิสัยใกล้เรียกว่าพิสัยกลาง
เช่น Medium-range ballistic missile (MRBM) อยู่ในช่วงระยะ
1,000 – 3,000 กม. กับ Intermediate-range ballistic missile (IRBM) อยู่ในช่วง 3,000-5,500 กม. ถ้าเกินกว่า 5,500 กม.
เรียกว่าขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile: ICBM) อีกประเภทที่สั้นกว่าพิสัยใกล้คือ Tactical ballistic missile มีระยะ 150 - 300 กม.
ดังนั้น สนธิสัญญาดังกล่าวครอบคลุมทั้งอาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้ถึงกลางที่ติดตั้งบนสถานีหรือระบบปล่อยภาคพื้นดิน
ขีปนาวุธข้ามทวีปปัจจุบันใช้เวลาประมาณ
30 นาทีจึงจะถึงเป้าหมาย ส่วนพิสัยกลางใช้เวลาสั้นกว่า 15 นาที
โอกาสป้องกันมีน้อยกว่า
ย้อนประวัติศาสตร์ช่วงกลางทศวรรษ 1970 สหภาพโซเวียตเริ่มประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
(IRBMs) รุ่นใหม่ SS-20 ที่ติดตั้งบนยานยนต์
ขีปนาวุธมีความแม่นยำสูง แต่ละลูกสามารถบรรจุ 3 หัวรบที่กำหนดเป้าหมายต่างกัน
เป็นรุ่นที่มีขีดความสามารถเหนือกว่ารุ่นก่อนมาก ด้วยพิสัย 5,500 กิโลเมตรสามารถโจมตียุโรปตะวันตก แอฟริกาเหนือ
ตะวันออกกลางและเอเชียเกือบทั้งหมด ไกลไปถึงอลาสก้า จากฐานยิงในเขตแดนโซเวียต
นาโตโต้กลับด้วยการเจรจาลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลาง
พร้อมกับประจำการจรวดร่อนกว่า 400 ลูก จรวดร่อน BGM-109G
Tomahawk ติดหัวรบนิวเคลียร์ W80 พิสัย 2,500 กม. ขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง Pershing II จำนวน
108 ลูกในยุโรปตะวันตก รวมทั้งสิ้น 572 หัวรบ นิวเคลียร์เหล่านี้ติดตั้งในสหราชอาณาจักร
อิตาลี เยอรมนี เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
โซเวียตเห็นด้วยกับการเจรจาลดอาวุธ ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามข้อตกลงเป็นที่มาของ Intermediate-Range
Nuclear Forces Treaty: INF (1987) สนธิสัญญานี้เป็นเครื่องหมายสำคัญของการลดความตึงเครียดสงครามเย็นในยุคนั้น
แต่แล้วมหาอำนาจทั้ง
2 ต่างถอนตัวออกจาก INF เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ในเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารสหรัฐ :
ถ้ามองจากมุมสหรัฐ
ผลดีของการติดตั้งนิวเคลียร์พิสัยกลางกับใกล้ในประเทศอื่นมีข้อดีเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารชัดเจน
เพราะหมายถึงได้วางอาวุธในตำแหน่งที่คุกคามปรปักษ์หนักข้อกว่าเดิม
ได้พันธมิตรทางทหารที่ใกล้ชิดอย่างถึงที่สุด ประเทศนั้นตีตัวออกห่างจากปรปักษ์
และหากเกิดสงครามนิวเคลียร์จะช่วยแบ่งเบาเป้าโจมตีด้วยนิวเคลียร์จากปรปักษ์
จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวออกจาก
INF พยายามติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ
รายล้อมประเทศปรปักษ์นิวเคลียร์ซึ่งหมายถึงรัสเซียกับจีน
เป็นไปได้ว่าในอนาคตจำนวนหัวรบจะลดลงแต่เพิ่มความหลากหลาย
ทั้งพิสัยใกล้-กลาง-ไกล หัวรบแบบใหม่ที่มีความรุนแรงไม่มาก เป็นอีกหลักฐานชี้ว่า จากนี้อีกหลายทศวรรษ
รัฐบาลสหรัฐยังเห็นว่าอาวุธนิวเคลียร์จำเป็นต่อความมั่นคงประเทศ ตอกย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ยอมรับแนวคิดปลอดนิวเคลียร์
จะประจำการชนิดและจำนวนตามที่เห็นควร รักษาความเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารโลก
แนวคิดนี้อธิบายว่าการเอ่ยว่ารัสเซียละเมิด
INF เป็นเพียงข้ออ้างที่หยิบขึ้นมาใช้ ไม่ว่ารัสเซียละเมิดจริงหรือไม่
รัฐบาลสหรัฐจะหาทางยกเลิก INF ให้จงได้ (เหมือนที่เคยใช้วิธีนี้กับหลายเรื่อง)
เพื่อยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ของตน เป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ต่ออีกหลายทศวรรษ
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review) ล่าสุดฉบับปี 2018
ส่วนเรื่องการเจรจาเป้าหมายรอง
ถึงมีการเจรจาใช่ว่าสหรัฐจะไม่ประจำการนิวเคลียร์พิสัยกลางกับใกล้ การเจรจาเพียงเป็นผลพลอยได้ขึ้นกับว่ารัฐบาลในขณะนั้นจะบริหารจัดการอย่างไร
รวมความแล้วนโยบายของสหรัฐเป็นเหตุให้โลกตกอยู่ภายความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มากขึ้นกว่าเดิม
(จากทุกประเทศที่มีนิวเคลียร์) ทั้งๆ ที่พ้นสงครามเย็นนานแล้ว
นิวเคลียร์สหรัฐกับออสเตรเลีย :
ทันทีหลังสหรัฐถอนตัวออกจาก
INF มาร์ก เอสเปอร์ (Mark Esper) รมต.กลาโหมกล่าวว่าสหรัฐอาจเริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางที่ติดตั้งภาคพื้นดินอีกครั้ง
หวังจะติดตั้งที่ใดที่หนึ่งในเอเชีย
ท่ามกลางกระแสรัฐบาลสหรัฐอยากติดตั้งนิวเคลียร์ในเอเชียเพื่อปิดล้อมจีน
ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกๆ ที่ตกเป็นข่าวเรื่องนี้ แต่ทันทีที่มีข่าวสกอตต์
มอร์ริสัน (Scott Morrison) นายกฯ ออสเตรเลียกล่าวปฏิเสธแนวคิดติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางไว้ที่ประเทศตนทันที
ถ้าจะวิเคราะห์ให้ชัดสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์เอ่ยถึงในช่วงนี้คือการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางภาคพื้นดิน
มีพิสัยไม่เกิน 5,500 กิโลเมตร แต่ออสเตรเลียอยู่ห่างจากแผ่นดินจีนมากกว่านั้น
ได้แค่เป้าหมายในทะเลจีนใต้ อาจมองว่าเพื่อต้านกองเรือจีน
ฐานทัพที่จีนใช้ในย่านนี้ จึงเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวหากจะติดตั้งนิวเคลียร์พิสัยกลางภาคพื้นดินในออสเตรเลียเพื่อต้านจีน
นำสู่คำถามว่า 1.
ที่รัฐบาลสหรัฐต้องการจริงๆ คือหวังใช้ออสเตรเลียเป็นฐานเครื่องบินรบหรือฐานทัพเรือเพื่อปล่อยนิวเคลียร์พิสัยกลางหรือไม่
2. มีความคิดต้องการติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีปในออสเตรเลีย ใช่หรือไม่ 3.ถ้าติดตั้งนิวเคลียร์พิสัยกลางในออสเตรเลียจะมีเพื่อต้านประเทศกลุ่มอาเซียน
อินเดีย ไม่ใช่ต้านจีนเท่านั้น
เป็นปริศนาที่น่าสนใจ
เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
:
ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่ถูกเอ่ยถึงแต่โรดริโก
ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์โต้ทันทีว่าจะไม่ยอมให้สหรัฐนำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในประเทศเพื่อต้านจีนเด็ดขาด
หากเกิดสงครามนิวเคลียร์การเป็นพันธมิตรนิวเคลียร์ไม่ช่วยอะไร
จะพังพินาศไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วรัฐบาลสหรัฐจะเสาะหาประเทศในเอเชียที่ยอมให้ติดตั้งนิวเคลียร์สหรัฐ
ความจริงคืออาเซียนมีข้อตกลงเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone: SEANWFZ) หรือสนธิสัญญากรุงเทพ
(Bangkok Treaty) มีผลบังคับใช้ถาวรตั้งแต่ 28 มีนาคม 1997 สาระสำคัญคือ รัฐภาคีสมาชิกจะต้องไม่พัฒนา
ผลิต ครอบครอง หรือควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ มีสถานีอาวุธนิวเคลียร์
ทดสอบหรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ใดภายในหรือนอกเขตสนธิสัญญา
และไม่แสวงหาความช่วยเหลือใด ๆ ในเรื่องนี้ อีกทั้งไม่จัดหาแหล่งหรือวัสดุหรือเครื่องมือให้แก่ประเทศใด
ๆ เว้นเสียแต่อยู่ภายใต้ข้อตกลงด้านการป้องกันของ IAEA และไม่ทำการทิ้งสารพิษกัมมันตรังสีภายในเขตฯ
ดังนั้น
สมาชิกอาเซียนไม่สามารถติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์จากประเทศใดๆ เว้นแต่ประเทศนั้นถอนตัวออกจากประชาคมอาเซียน
ยกเลิกสนธิสัญญา SEANWFZ
นับเป็นความชาญฉลาดของอาเซียนในบริบทการแข่งขันนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจ
สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
(INF) 1987 เป็นผลจากการแข่งขันนิวเคลียร์ในอดีตและมุ่งเป้าแถบยุโรป
มาบัดนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปรัฐบาลสหรัฐมองมาที่จีนด้วยตามกรอบอินโด-แปซิฟิก
(ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียถึงเอเชียแปซิฟิก) อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง พัวพันกับการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจในย่านนี้อีกครั้ง
สุ่มเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ เป็นอีกประเด็นที่ควรติดตามใกล้ชิด
11
สิงหาคม 2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8309 วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2562)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
แม้ไม่เหมือนองค์กรนาโต
เครือข่ายความมั่นของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกมีอยู่จริง อยู่ร่วมกับประเทศต่างๆ
ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี แต่หลายประเทศร่วมมือมหาอำนาจอื่นด้วยเป็นโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคที่ซับซ้อน
นับจากโลกมีอาวุธนิวเคลียร์
รัฐบาลสหรัฐไม่คิดที่จะปลดอาวุธนี้เพราะเห็นว่าคือเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประเด็นขีปนาวุธพิสัยกลางคืออีกภาพสะท้อน
1. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์.
(2015, กันยายน 14). ประโยชน์และความไม่สมบูรณ์แบบของเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์.
Retrieved from http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=4582&filename=index
2. Australia
rules out hosting US missiles. (2019, August 5). Arab News. Retrieved
from http://www.arabnews.com/node/1535676/world
3. Council on Foreign Relations (CFR). (2018, February 21). The
Uncertain Future of the INF Treaty. Retrieved from https://www.cfr.org/backgrounder/uncertain-future-inf-treaty
4. Martin, Jerome V. (2008). Intermediate-Range Nuclear
Forces Treaty. In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia.
(pp.1364-1366). USA: ABC-CLIO.
5. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). INF TREATY. In Encyclopedia
Of United States National Security. (pp.355-356). California: Sage
Publications.
6. ‘The
end of us all!’ Duterte will NEVER let US deploy nukes & mid-range missiles
in the Philippines. (2019, August 7). Al Arabiya. Retrieved from
https://www.rt.com/news/465940-manila-no-us-nukes-inf/
7. The INF issue. (2018, November 18). Pravda.
Retrieved from http://www.pravdareport.com/opinion/columnists/18-11-2018/142006-inf_issue-0/
8. Tucker, Spencer C. (2008). Intermediate-Range Nuclear
Forces Treaty, 8 December 1987. In The Encyclopedia of the Cold War: A
Student Encyclopedia. (pp.2753-2755). USA: ABC-CLIO.
9. US
Defence Secretary says he favours placing intermediate-range missiles in Asia.
(2019, August 3). Gulf Times. Retrieved from
https://www.gulf-times.com/story/638168/US-Defence-Secretary-says-he-favours-placing-inter
-----------------------------
ที่มาของภาพ : https://airandspace.si.edu/collection-objects/ss-20-missile-saber-russia-photograph