โลกแห่งการแก่งแย่งและทางออก

สิ่งหนึ่งที่โลกไม่เปลี่ยนแปลงคือ โลกแก่งแย่งแข่งขันเรื่อยมา ทางออกสำหรับประเทศไทยคือ ต้องไม่ตกเป้าทำลายของมหาอำนาจ มีสัมพันธ์รอบทิศ สร้างมิตร และสร้างชาติเหมือนสร้างครอบครัว

การแก่งแย่งแข่งขันระดับโลก :
            ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มนุษย์อยู่ด้วยกันโดยไม่มีกฎ ใครจะทำอะไรอย่างไรก็ได้ ความไม่มีกฎนี้นักวิชาการเรียกว่าเป็น “กฎแห่งป่า” สัตว์ที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่าคือตัวที่อยู่รอด ส่วนที่อ่อนแอ ฉลาดน้อยกว่าจะกลายเป็นเหยื่อ
            มนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อหวังช่วยเหลือกันและป้องกันภัยจากภายนอก กลายเป็นชนเผ่า เมือง อาณาจักร การต่อสู้การแย่งชิงดำเนินต่อไป เป็นสงครามระหว่างเมือง ระหว่างอาณาจักร คนจีนฮั่นโจมตีมองโกล คนมองโกลรุกรานฮั่น ไทยรบกับพม่า พม่าตีไทย ไทยตีพม่า ไม่มีกติกาว่าห้ามฆ่าคนอีกฝ่าย ห้ามยึดทอง จับเชลยไปเป็นทาส
            ในสมัยล่าอาณานิคม พวกยุโรปล่าคนแอฟริกานับล้านคนเพื่อเป็นทาส นำทาสกลับประเทศไปใช้ประโยชน์
            ตลอดประวัติศาสตร์โลกเต็มด้วยต่อสู้แย่งชิง จนถึงทุกวันนี้ อิหร่านกับเกาหลีเหนือเป็นกรณีตัวอย่างในปัจจุบัน

กรณีอิหร่าน :
            ก่อน 1979 รัฐบาลของกษัตริย์ชาห์แห่งอิหร่านเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัฐบาลสหรัฐ การที่สหรัฐเป็นมิตรเพราะมั่นใจว่าสามารถควบคุมรัฐบาลกษัตริย์ชาห์ (มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี - Shah Mohammad Reza Pahlavi)
            ภายใต้รัฐบาลชาห์ บรรษัทน้ำมันตะวันตกสามารถตักตวงผลประโยชน์ ทรัพยากรน้ำมันจากประเทศนี้อย่างเต็มที่ ถึงขนาดบริษัทน้ำมันเป็นผู้กำหนดราคาและกำหนดว่าจะผลิตมากน้อยเพียงไร
แม้ประเทศส่งออกน้ำจำนวนมาก แต่รายได้จากน้ำมันกระจุกตัวในชนชั้นปกครอง พลเมืองส่วนใหญ่อยู่อย่างยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง อัตราว่างงานสูง รัฐควบคุมสถาบันศาสนา ด้านผู้นำศาสนาเห็นว่าสังคมเต็มด้วยความโลภ ประพฤติผิดทางเพศ มุ่งแสวงหาแต่วัตถุ เจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชัน
            หลังทนอยู่นานเป็นสิบปี ในที่สุดชาวอิหร่านลุกฮือล้มรัฐบาลชาห์ ปี 1979 อยาตุลเลาะห์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ขึ้นครองอำนาจ ด้วยการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น
            โคมัยนีปฏิวัติประเทศ บริหารประเทศโดยยึดหลักศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ กระจายความมั่งคั่งจากสู่ประชาชนทุกคน ชีวิตความเป็นอยู่จึงดีขึ้นมาก
            นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐทุกชุด ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างมองว่าอิหร่านคือศัตรู พยายามหาเรื่องด้วยวิธีต่างๆ นานา เป้าหมายคือล้มระบอบอิหร่าน
            ล่าสุดคือ โจมตีว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นภัยต่อสหรัฐกับโลก ทั้งๆ ที่โครงการนิวเคลียร์อิหร่านในขณะนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของหน่วยงานสหประชาชาติ (ที่เรียกว่า IAEA) หน่วยงานดังกล่าวกับประเทศสำคัญๆ (เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและจีน) ยอมรับว่าโครงการโปร่งใส อิหร่านใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น เหมือนหลายสิบประเทศทั่วโลกที่ใช้นิวเคลียร์ในทางสันติ
            แต่รัฐบาลสหรัฐยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าอิหร่านต้องการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

กรณีเกาหลีเหนือ :
            แต่เดิมเกาหลีเหนือเป็นประเทศ 1 เดียว แต่ด้วยความขัดแย้งระหว่างลัทธิสังคมนิยมกับประชาธิปไตยในสมัยสงครามเย็น มหาอำนาจจึงแบ่งเกาหลีเป็น 2 ประเทศ ต่างฝ่ายต่างมีลูกพี่ใหญ่คอยสนับสนุน สหภาพโซเวียตสนับสนุนเกาหลีเหนือ สหรัฐสนับสนุนเกาหลีใต้ เกิดสงครามเกาหลี ลงเอยด้วยไม่มีฝ่ายใดชนะ ทิ้งไว้คือศพผู้เสียชีวิต 3 ล้านคน
            แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุด 24 ปีแล้ว สหรัฐยังถือเกาหลีเหนือเป็นศัตรู ด้วยเหตุผลที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เหตุผลปัจจุบันคือ ต้องการปิดล้อมจีน มีอิทธิพลในภูมิภาค คงฐานทัพขนาดใหญ่ของตนในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น จึงต้องสร้างเกาหลีเหนือให้เป็นศัตรู

            ในขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลเกาหลีเหนือแสดงท่าทีแข็งกร้าว พยายามพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล ระเบิดนิวเคลียร์ เป็นอีกเหตุผลให้รัฐบาลสหรัฐมีข้ออ้างเล่นงานเกาหลีเหนือ
            เหตุผลอีกข้อมาจากสถานการณ์การเมืองภายใน ชนชั้นปกครองหวังอาศัยความขัดแย้งกับสหรัฐเป็นเครื่องมือปกครองประเทศอย่างเข้มงวด
            แม้ระบอบเกาหลีเหนือยังคงอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ แต่ถูกคว่ำบาตร กดดันสารพัด ผนวกกับนโยบายควบคุมภายใน ส่งผลให้ประเทศขาดการพัฒนา พลเมืองนับล้านอดอยาก ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ที่รัฐบาลเป็นมิตรกับนานาชาติ ติดต่อค้าขาย ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างที่เห็น

แนวทางที่เหมาะสม :
            ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีขนาดปานกลางทั้งพื้นที่กับประชากร การกำหนดหลักนโยบายตั้งอยู่บนบริบททั้งหมด แนวทางที่เหมาะสม ดังนี้
          ประการแรก ไม่ตกเป็นเป้าของมหาอำนาจ
อิหร่านกับเกาหลีเหนือเป็นกรณีตัวอย่างชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐหาเรื่องเรื่อยมา ตามยุทธศาสตร์แม่บทที่ผ่านการวางแผนและดำเนินการต่อเนื่องหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะได้ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท สิ่งที่เกิดขึ้นต่ออิหร่านกับเกาหลีเหนือไม่ต่างจากบางประเทศ เช่น อิรักในสมัยซัดดัม ที่ถูกหมายหัวว่าเป็นศัตรู
            ซัดดัม ฮุสเซน เลือกที่จะไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลสหรัฐ จึงถูกหาเรื่องจนในที่สุดถูกโค่นล้ม โดยข้อกล่าวหาเท็จ ปัจจุบันกลายเป็นรัฐล้มเหลว ประเทศถูกแยกออกเป็นหลายส่วน ต่างชาติเข้าแทรกแซง เกิดความขัดแย้งภายในไม่จบสิ้นดังที่เป็นข่าวทุกวันนี้
            ดังนั้น วิธีที่ประเทศเล็กกว่าจะอยู่รอดปลอดภัย ข้อแรกคือ ต้องระวังไม่ให้ตกเป็นเป้าที่ถูกจ้องจะทำลาย
อิหร่านตกเป็นเป้ามาแล้ว 37 ปี เกาหลีเหนือตกเป็นเป้ามาแล้วเกือบ 7 ทศวรรษ ทุกวันนี้รัฐบาลสหรัฐยังจ้องเล่นงานไม่เลิก หวังโค่นล้มระบอบการปกครอง
            ความรักชาติเป็นเรื่องดี จำต้องมีให้มาก แต่ไม่เป็นเหตุเสมอไปว่าประเทศเล็กกว่าจะไม่สิ้นชาติแม้พลเมืองรักชาติ

          ประการที่ 2 สัมพันธ์รอบทิศ มิตรอาเซียน
            ประเทศไม่สามารถเจริญก้าวหน้า อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย ถ้าอยู่ลำพังประเทศเดียว ไม่ยุ่งกับใคร
            ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี มีสัมพันธ์รอบทิศกับมหาอำนาจทุกประเทศ ร่วมมือกับเพื่อนบ้านกลายเป็นประชาคมอาเซียน แม้เพื่อนบ้านแตกต่างแต่ไม่เป็นเหตุให้ร่วมมือกันไม่ได้ เป็นตัวอย่างเอกภาพในความหลากหลาย
ชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ แตกต่างทั้งด้านการเมืองการปกครอง ความเติบโตทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่หลากหลาย บางประเทศมีความพร้อมมาก (ASEAN-6) บางประเทศมีความพร้อมน้อยกว่า (CLMV) 6 ประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าจึงต้องช่วยเหลือ 4 ประเทศที่มีความพร้อมน้อยกว่า มีแผนความช่วยเหลือที่ชัดเจน
ผลการรวมตัวเป็นอาเซียน เป็นประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน ทำให้เกิดความร่วมมือในทุกมิติ ต่างได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ประเทศไทยในนามอาเซียนมีพลังต่อรองมากกว่าเดิม เช่น ไทยมีประชากร 65 ล้านคน แต่ในนามอาเซียนจะกลายเป็น 628 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.7 ของประชากรโลก (ข้อมูล 2015) อาเซียนมีพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร จีดีพีคิดตามมูลค่าตลาดเท่ากับ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับร้อยละ 3.3 ของจีดีพีโลก
นโยบายสัมพันธ์รอบทิศ ความร่วมมือของประชาคมอาเซียน เป็นเสาหลักนโยบายต่างประเทศไทย

          ประการที่ 3 ให้การสร้างชาติเหมือนสร้างครอบครัว
ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยม กษัตริย์ ฯลฯ ถ้าผู้มีอำนาจคือผู้กอบโกยและเสวยสุข บนการกดขี่ขูดรีดประชาชน เช่นนี้ระบอบเหล่านั้นไม่แตกต่าง
การเลือกตั้งในหลายประเทศ ผู้สมัครทุกคนพูดว่าทำเพื่อประชาชน เสนอนโยบายเพื่อประชาชน จากนั้นพูดแต่นโยบาย ถกเถียงตอบโต้แต่เรื่องนโยบาย คำว่า “เพื่อประชาชน” เริ่มถูกบดบังและหายไป ท้ายที่สุดได้นโยบายที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริง
บางประเทศเป็นแข่งระหว่าง 2 พรรคหรือมากกว่า ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายอีกพรรคหนึ่ง สุดท้ายไม่ว่าพรรคใดชนะเลือกตั้ง ผู้เข้าถึงอำนาจกอบโกยและเสวยสุข ประชาชนทุกข์ยากต่อไป
หากเป็นเช่นนี้ จะมีการเลือกตั้งกี่ครั้งก็เหมือนเดิม จะมีผู้ปกครองหน้าใหม่หรือเก่าก็ไม่แตกต่าง

และหากชาติใดแตกแยกกันเอง กดขี่ข่มเหงกันเอง ไม่สามารถสร้างความเข้มแข็ง ย่อมเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาฉกฉวยประโยชน์ ลองทบทวนว่ากี่อาณาจักร กี่ประเทศที่สิ้นชาติไปแล้ว หรือกลายเป็นรัฐล้มเหลว ฯลฯ นี่คือบทเรียนเก่าๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดประวัติศาสตร์โลก

            เกิดคำถามตามมาว่าควรจะยอมให้คนในประเทศกดขี่หรือให้ต่างชาติข่มเหง คำตอบคือไม่ใช่ทั้งคู่ ต้องปลดแอกตนเองจากอำนาจอิทธิพลมิชอบ ใช้อำนาจในทางที่ผิด

การสร้างชาติให้เข้มแข็งต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน ครอบคลุมทุกด้านทุกมิติ ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของพลเมืองทุกคน ทุกคนในชาติต้องมีบทบาทหน้าที่ของตนเอง
“ให้การสร้างชาติเหมือนสร้างครอบครัว ประเทศเปรียบเหมือนครอบครัว หากคนหนึ่งตกงาน เศรษฐกิจครอบครัว การอยู่ดีกินดีย่อมเสียหาย หากคนหนึ่งเจ็บป่วย ย่อมกระทบต่อสมาชิกทุกคน”
            ผู้นำต้องเป็นผู้เสียสละ ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งต้องเสียสละมาก มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างทุกด้าน เหมือนพ่อแม่ที่เสียสละ ปรารถนาดีต่อลูก ทำเพื่อประโยชน์ยั่งยืนของลูกหลาน
(หมายเหตุ : เนื้อหาบทความนี้นำเสนอครั้งแรกในงานครบรอบ 42 ปี สภากรรมกรแห่งชาติ 26 กันยายน 2560)

1 ตุลาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7632 วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560)
                                                    ----------------------------
บรรณานุกรม:
1. ASEAN. (2016). ASEAN Statistics Leaflet – Selected Key Indicators 2016. Retrieved from http://www.aseanstats.org/wp-content/uploads/2016/10/ASEAN_Stats_Leaflet2016_web.pdf
2. Chairman's Statement of the 24th ASEAN Summit: "Moving forward in Unity to a Peaceful and Prosperous Community". (2014, May 11). Association of Southeast Asian Nations. Retrieved from http://www.asean.org/images/documents/24thASEANSummit/24th%20ASEAN%20Summit%20Chairman's%20Statement.pdf
3. Cooper, Andrew Scott. (2011). The Oil Kings: How the U.S., Iran, and Saudi Arabia Changed the Balance of Power in the Middle East. New York: Simon & Schuster.
4. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
5. Glaser, Bonnie., Snyder, Scott., & Park, John S. (2008, January 3). Keeping an Eye on an Unruly Neighbor: Chinese Views of Economic Reform and Stability in North Korea. United States Institute of Peace. Retrieved from http://www.usip.org/files/resources/Jan2008.pdf
6. Lankov, Andrei. (2012. May). THE KEYS TO NORTH KOREAN SURVIVAL. DEFENSE DOSSIER. Retrieved from http://www.afpc.org/files/may2012.pdf
7. Michishita, Narushige. (2010). North Korea's Military-Diplomatic Campaigns, 1966-2008. Oxon: Routledge.
-----------------------------