สงครามการค้าสหรัฐ-จีนสมัยไบเดนกำลังก่อตัว

คาดว่ารัฐบาลไบเดนจะยึดนโยบายขึ้นภาษีสินค้าจีน รอบนี้จะหนักกว่าเดิมหากกดดันให้นานาชาติ ลงลึกถึงบริษัทเอกชนทั่วโลกร่วมกันกดดันจีน นี่คือการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลอเมริกัน

        เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาไมรอน บริลเลียนท์ (Myron Brilliant) จากหอการค้าสหรัฐเผยรัฐบาลไบเดนกำลังพิจารณาขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ด้วยเหตุผลจีนไม่ซื้อสินค้าสหรัฐมากพอตามสัญญาที่ทำไว้ และรอบนี้จะไม่ขึ้นภาษีสินค้าจีนเพียงลำพังแต่จะร่วมมือกับชาติพันธมิตรช่วยกันกดดันจีน ความร่วมมือนี้จะลงลึกถึงระดับบริษัทเอกชน

ย้อนรอยสมัยทรัมป์ :

        สมัยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวเสมอว่าสินค้าจีนเป็นเหตุอเมริกันตกงาน หลายบริษัทปิดกิจการ จึงทำสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายระลอก บางรายการขึ้นถึง 25% ในที่สุดปี 2020 จีนกับสหรัฐบรรลุข้อตกลง Phase One จีนสัญญาว่าจะนำเข้าสินค้าอเมริกามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร พลังงาน แต่จนบัดนี้จีนซื้อเพียง 60% ของจำนวนที่ตกลงกันไว้ รัฐบาลไบเดนจึงชี้ว่าตนมีความชอบธรรมที่จะคงอัตราภาษีเท่าเดิมและกำลังคิดหามาตรการเล่นงานจีนเพิ่มอีก

        ไมรอน บริลเลียนท์ย้ำว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรียนรู้ว่าหากหวังกดดันจีนต้องทำร่วมกับประเทศอื่น บริษัทนานาชาติโดยเฉพาะยุโรปกับเอเชียจึงจะมีประสิทธิภาพ

        การที่นโยบายลงลึกถึงระดับเอกชนบริษัทต่างชาติเป็นแนวทางที่รัฐบาลไบเดนมุ่งเน้น ถ้าวิเคราะห์ด้วยหลักการแบ่งขั้วสามารถตีความว่า รัฐบาลสหรัฐพยายามสร้างขั้วแบ่งขั้วลงลึกถึงระดับเอกชนของทุกประเทศ

        สงครามการค้านี้กระทบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยตรง เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบเศรษฐกิจภายใต้กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) คาดว่าสหรัฐจะมุ่งติดต่อซื้อขาย มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพันธมิตร มิตรประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แบ่งขั้ว

ปัญหาขาดดุล :

        กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่าปีที่แล้ว (2021) ประเทศขาดดุลการค้าถึง 859,100 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 27% เนื่องจากนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมหาศาลถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอัดฉีดเงินช่วยเหลือเยียวยา 6 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาล ประชาชนนำไปจับจ่ายซื้อสินค้า แม้การส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยแต่ยอดรวมขาดดุล คาดว่าจะเป็นเช่นนี้อีกระยะจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคืนสู่ปกติ

        กรณีจีน สหรัฐขาดดุลจีน 355,300 ล้านดอลลาร์ (41% ของยอดขาดดุลการค้า) เพิ่มจาก 310,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2020 เป็นหลักฐานว่าคนอเมริกันยังนิยมซื้อสินค้า MADE IN CHINA การเลี่ยงไปซื้อชิ้นส่วนวัตถุดิบประเทศอื่นๆ ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี

        ปัญหาขาดดุลการค้าเป็นส่วนหนึ่งทำให้ยอดหนี้สาธารณะอเมริกาสูงเกิน 30 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว เพียง 2 ปีเศษนับจากปลายปี 2019 ที่โควิด-19 เริ่มระบาดรัฐบาลอเมริกันกู้เงินถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ นับวันสหรัฐมีลักษณะเป็น “รัฐสวัสดิการ” มากขึ้น โควิด-19 เร่งให้เร็วขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากรีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างกู้เงินมหาศาลเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือเยียวยา

หลัก free and fair :

        ปลายเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลทรัมป์กับอียูสร้างข้อตกลงการค้าใหม่ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “เป็นวันสำคัญของการค้าเสรีและเป็นธรรม” (free and fair trade) เป็นหลักการใหม่แตกต่างจากแนวทางในอดีต

        ซิกมาร์ กาเบรียล (Sigmar Gabriel) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเยอรมันกล่าวว่านับจากปี 1945 (หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐพร่ำบอกให้สร้าง “ระเบียบเสรีนิยม” (liberal order) เพื่อใช้หลักนี้แทนกฎแห่งป่า (law of the jungle-ใครดีใครอยู่) ผลคือได้ระเบียบโลกใหม่ที่มีสหรัฐ เป็นแกนนำ ในการนี้สหรัฐช่วยฟื้นฟูยุโรปที่เสียหายหนักจากสงครามแต่ทั้งนี้เพราะสหรัฐเห็นว่าความมั่นคงของยุโรปเป็นผลประโยชน์แก่ตน

        บัดนี้สหรัฐถอยห่างจาก ระเบียบเสรีนิยมที่สร้างขึ้นมาเองกับมือ พยายามกีดกันการค้าเสรีด้วยเหตุผลทำให้ตนขาดดุลมหาศาล

        โทมัส เดอโนฮวย (Thomas Donohue) ประธานหอการค้าสหรัฐเมื่อปี 2016 ให้ความเห็นว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศช่วยเพิ่มการจ้างงาน ขยายกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งเสริมการแข่งขัน สหรัฐต้องการการค้าเสรี ไม่ใช่ลดการค้าเสรี

        มิถุนายน 2018 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนรัฐบาลทรัมป์ว่าการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจะทำลายระบบการค้าโลก หากตอบโต้ไปมาระบบการค้าโลกจะถอยห่างจากการค้าที่เปิดกว้าง ยุติธรรม อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ สุดท้ายทุกประเทศเสียหาย เศรษฐกิจอเมริกาจะเสียหายด้วย

        มีผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลทรัมป์อีกมากแต่ทรัมป์ยืนยันเดินหน้านโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายประเทศหลายรายการโดยเฉพาะสินค้าจากจีน

        ล่าสุดมีข้อมูลว่าสินค้าจีนมูลค่า 350,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลไบเดนคงอัตราภาษีเท่าสมัยทรัมป์

ใครเสียประโยชน์ คนอเมริกันคือผู้จ่าย :

        ดังที่เคยอธิบายว่าผู้บริโภคอเมริกันเป็นผู้จ่ายค่าภาษีเหล่านี้ ต้องซื้อในราคาสูงขึ้น และหากสินค้าที่ว่าคือชิ้นส่วนวัตถุดิบที่บริษัทเอกชนอเมริกันนำเข้าย่อมทำให้ต้นทุนสินค้าที่ผลิตสูงขึ้นด้วย ดังนั้นผลเสียจากการขึ้นภาษีสินค้าจีนจึงตกแก่คนอเมริกัน ผู้ประกอบการในอเมริกาโดยตรง

        ในสมัยทรัมป์รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีนเตือนสหรัฐว่าสงครามการค้าจะทำให้กรรมกรและชาวนาอเมริกันเจ็บปวด เป็นการทำร้ายตัวเอง

        ทางเลี่ยงที่น่าจะเป็นไปได้คือคนอเมริกันหันไปซื้อกินซื้อใช้สินค้าประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาจากจีน แต่สถิติล่าสุดชี้ว่าสหรัฐยังคงนำเข้าสินค้าจีนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะซื้อเพราะราคา คุณภาพ รสนิยมหรืออะไรก็แล้ว ได้พิสูจน์แล้วคนชาวอเมริกันนิยมสินค้าที่ผลิตจากจีน

        ต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคเอกชนเป็นข้อจำกัดการขึ้นภาษีสินค้าจีน สตีฟ ลามาร์ (Steve Lamar) ประธานสมาคม American Apparel and Footwear Association เป็นอีกคนที่กล่าวว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ที่อ่อนแอ ผลจากโรคระบาดโควิด-19 ปัญหา supply chain อัตราเงินเฟ้อพุ่ง ฯลฯ ไม่เหมาะขึ้นภาษีสินค้าจีน

        ล่าสุดหลังรายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ประธานาธิบดีไบเดนแถลงว่าการลดราคาสินค้าที่เกิดจากเงินเฟ้ออันเนื่องจากโรคระบาดเป็น 1 ใน 2 นโยบายสำคัญของรัฐบาล เห็นชัดว่ามีข้อจำกัดหากรัฐบาลจะเพิ่มราคาสินค้าด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน

        นานาชาติพยายามลดภาษีต่อกันตามหลักการค้าเสรี คลายข้อจำกัดต่างๆ แต่รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทกำลังทำตรงข้าม ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าหลายประเทศตามหลักการใหม่ที่เรียกว่า “free and fair” แต่หลักการนี้มีจุดอ่อนในตัวเอง รัฐบาลสหรัฐควรเอ่ยปากยอมรับว่าการขึ้นภาษีสินค้าจีนเท่ากับทำร้ายประชาชน เป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

        ในอีกมุมมองชี้ว่าคนอเมริกันจำนวนมากมีนิสัยบริโภคเกินตัว หลายคนซื้อบ้านเพราะไม่ต้องมีเงินดาวน์ ผ่อนน้อยผ่อนนาน และพวกเขาคาดหวังว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะสูงขึ้น และทันทีที่ราคาบ้านสูงขึ้นพวกเขาจะยื่นขอรีไฟแนนซ์เพื่อกู้เพิ่มเติม แต่แทนที่จะนำเงินมาเพิ่มมูลค่าของบ้าน กลับนำเงินกู้ที่ได้มาไปซื้อสินค้าต่างๆ รวมทั้งสินค้าต่างประเทศ

        ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ สหรัฐประกาศทำสงครามเศรษฐกิจกับจีน โยนความผิดเรื่องขาดดุลการค้า ขาดดุลงบประมาณแก่จีน ยึดหลัก “free and fair” ที่ห้ามประเทศใดเกินดุลสหรัฐหาไม่แล้วจะถูกคว่ำบาตร (แต่ไม่ห้ามหากสหรัฐจะเกินดุลประเทศอื่น) บัดนี้รัฐบาลไบเดนจากพรรคเดโมแครทกำลังดำเนินนโยบายแนวทางเดียวกับทรัมป์ และอาจรุนแรงหนักหน่วงกว่าเดิมหากกดดันให้บริษัทเอกชนนานาชาติต้องร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐกดดันจีน

        ณ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่านโยบายเศรษฐกิจของไบเดนต่อจีนกำลังปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไร คาดว่าจะชัดเจนยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป็นสถานการณ์ที่ควรติดตาม

13 กุมภาพันธ์ 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9223 วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565)

-----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ปัญหาขาดดุลเป็นเรื่องใหญ่ ทรัมป์หาเสียงแก้ไขปัญหาดังกล่าวและกำลังทำหน้าที่รัฐบาลที่ดี คำถามคือนโยบายที่ใช้มุ่งหวังแก้ปัญหาจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ “ให้ได้ทำ” เท่านั้น
รัฐบาลทรัมป์ชี้ว่าต้องแก้ปัญหาขาดดุลด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจีนและกำลังไปด้วยดี แต่นักวิชาการ องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งให้มุมมองตรงข้าม ท่ามกลางผู้คนจำนวนไม่น้อยยังอยู่ในวังวนภาพลวงตา
บรรณานุกรม :

1. America's national debt surpasses $30 trillion for the first time. (2022, February 1). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2022/02/01/economy/national-debt-30-trillion/index.html

2. Chinese media says US has 'delusions' as impact of trade war spreads. (2018, June 22). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/business/chinese-media-says-us-has--delusions--as-impact-of-trade-war-spreads-10459082

3. GT Voice: Rising US-China trade deficit proof of Washington’s dumb policy. (2022, February 9). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202202/1251860.shtml

4. Jones, Handel. (2010). CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World. USA: McGraw-Hill.

5. New China tariff probe among options considered by Biden -US Chamber. (2022, February 10). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/business/new-china-tariff-probe-among-options-considered-biden-us-chamber-2489066

6. News Analysis: GOP, Trump reconcile views on trade to enlarge voter base. (2016, July 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/22/c_135532558.htm

7. The White House. (2022, February 10). Statement by President Biden on January Consumer Price Index Report. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/02/10/statement-by-president-biden-on-january-consumer-price-index-report/

8. Trump and top European leader agree to work toward zero tariffs. (2018, July 25). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2018/07/25/politics/trump-juncker-tariffs-trade/index.html

9. Trump tariffs are threat to both global trade and US economy, say IMF. (2018, June 15). The Independent. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/business/news/trump-tariff-steel-aluminium-trade-war-canada-eu-imf-christine-lagarde-a8399636.html

10. US trade deficit ends 2021 at record heights against expectations. (2022, February 8). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/business/economy/us-trade-deficit-ends-2021-at-record-heights-against-expectations

11. U.S. to host APEC in 2023 in push for Indo-Pacific economic pact. (2022, February 11). Nikkei Asia. Retrieved from https://asia.nikkei.com/Economy/Trade/U.S.-to-host-APEC-in-2023-in-push-for-Indo-Pacific-economic-pact

12. What Trump Means for Germany's Future. (2018, April 18). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/trump-and-the-future-of-the-trans-atlantic-relationship-a-1203549.html

13. Why Biden is keeping Trump's China tariffs in place. (2022, January 26). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2022/01/26/politics/china-tariffs-biden-policy/index.html

--------------------------