ทรัมป์ทำสงครามการค้าเพื่อแก้ปัญหาชาติ?

ปัญหาขาดดุลเป็นเรื่องใหญ่ ทรัมป์หาเสียงแก้ไขปัญหาดังกล่าวและกำลังทำหน้าที่รัฐบาลที่ดี คำถามคือนโยบายที่ใช้มุ่งหวังแก้ปัญหาจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ ให้ได้ทำเท่านั้น
ในช่วงหาเสียงโดนัลด์ ทรัมป์เห็นว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ทำกับเกาหลีใต้ทำให้ตำแหน่งงานในประเทศหดหาย ประกาศว่าหากชนะเลือกตั้งจะเจรจาใหม่ โจมตีฮิลลารี คลินตันที่สนับสนุน NAFTA TPP ให้จีนเข้าองค์การค้าโลก ข้อตกลงเหล่านี้ “ทำร้ายแรงงานของเรา บั่นทอนเสรีภาพและอิสรภาพ เราจะไม่ลงนามข้อตกลงการค้าที่เสียเปรียบ ประเทศอเมริกาต้องมาก่อน” ไม่ให้จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาอีก ข้อตกลงการค้ากับจีนต้องทบทวนทั้งหมดเช่นกัน
            พูดในประเด็นยุโรปว่าสหรัฐเสียเงินมากมายแก่ยุโรป “อย่าลืมว่า เป้าหมายหลักที่ยุโรปรวมตัวกันคืออะไร เพื่อเอาชนะสหรัฐอเมริกาในการทำเงินหรือก็คือเรื่องการค้า”

มองแง่ดี ทรัมป์กำลังแก้ปัญหาชาติ :
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าปีที่ผ่านมา (2017) ส่งออก 2.3 ล้านล้าน นำเข้า 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศขาดดุลการค้าถึง 566,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 12 เป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2008
            ขาดดุลจีนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 375,200 ล้านดอลลาร์ รองมาคือเม็กซิโก 71,100 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 68,850 ล้านดอลลาร์
            ข้อเท็จจริงคือสหรัฐนำเข้าสินค้าต่างชาติมากขึ้นทุกปี ปัญหาไม่ได้เริ่มจากรัฐบาลทรัมป์แต่เป็นมาตั้งแต่ปี 1975 แล้ว ทุกรัฐบาลพยายามแก้แต่ไม่สำเร็จ
ประเด็นแก้ปัญหาขาดดุลการค้าสัมพันธ์กับยอดหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทุกพรรคทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทรัมป์หาเสียงชูแก้ปัญหาอย่างจริงจังดังที่นำเสนอข้างต้น
น่าชื่นชมว่าประธานาธิบดีทรัมป์ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ไม่ว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะชอบหรือไม่ก็ตาม
ควรเข้าใจว่า ก่อนที่รัฐบาลทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าดังที่เป็นข่าว สหรัฐได้เจรจากับรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งจีนให้ช่วยแก้ไขปัญหาสหรัฐขาดดุลหลายรอบ มีข่าวว่าจีนจะช่วยซื้อสินค้าบางตัว เช่น จำพวกสินค้าเกษตรกับพลังงาน แต่ที่สุดการเจรจาไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายกว่านั้นจีนขู่ถอนการเจรจาการค้าทุกเรื่องหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน
            เค้าลางการขึ้นภาษีจากรัฐบาลทรัมป์เริ่มตรงนี้

            อีกประเด็นที่ควรทำเข้าใจนั่นคือบางคนยึดติดกับคำว่า “การค้าเสรี” “ระบบเศรษฐกิจเสรี” จึงพลอยตีความว่าคือเสรีเต็มร้อย เป็นไปตามกลไกตลาด
            ความจริงแล้วถ้าเอ่ยถึงการค้าระหว่างประเทศหมายถึงการค้าที่ผ่านการตกลงระหว่างรัฐหรือประเทศ เช่น ถ้าบอกว่า 2 ประเทศจะค้าขายโดยเสรีจะหมายถึงว่าการค้าเสรีระหว่าง 2 ประเทศคู่เจรจา ถ้าพูดถึงการค้าเสรีระดับภูมิภาค เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียนจะหมายถึงการค้าเสรีในหมู่สมาชิกอาเซียน
            ไม่เพียงเท่านั้น คำว่าเสรีเป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไป แท้จริงแล้วมีข้อตกลง มีรายละเอียดมากมาย เช่น พูดว่าเสรีแต่หมายถึงเสรีแค่สินค้าบางตัวเท่านั้น พูดว่าเสรีแต่ยังมีภาษีอยู่บ้าง มีกฎระเบียบอื่นๆ เช่น มาตรฐานสินค้าต้องได้เกณฑ์ ห้ามใช้ยาปราบศัตรูพืชบางตัว ไม่กดขี่แรงงาน ยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ฯลฯ
            และเมื่อเป็นข้อตกลงจึงย่อมปรับแก้ได้หรือแม้กระทั่งฉีกสัญญาทิ้ง ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำกับหลายประเทศ แม้กระทั่งละเมิดกติกาองค์การค้าโลก

            ความร่วมมือการค้าการลงทุนระหว่างประเทศยังสัมพันธ์กับมิติอื่นๆ เช่น ในยุคสงครามเย็นรัฐบาลสหรัฐห้ามประเทศที่อยู่ฝ่ายเดียวกับตนค้าขายกับฝ่ายสังคมนิยม ปัจจุบันหลายประเทศใช้มาตรการกีดกันการค้าคว่ำบาตรอีกประเทศด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เป็นปรปักษ์ สนับสนุนก่อการร้าย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจึงอยู่ใต้เหตุผลการเมืองระหว่างประเทศอยู่มาก
การขึ้นภาษี มาตรการตอบโต้ของรัฐบาลทรัมป์ยังมีจุดเด่นอีกข้อคือไม่เลือกปฏิบัติ มีผลต่อหลายประเทศที่ทรัมป์เห็นว่าประเทศเหล่านี้ “เอาเปรียบ” เช่น แคนาดา เม็กซิโก อียู ญี่ปุ่น ไม่เฉพาะต่อจีนเท่านั้น และต้องรับรู้ด้วยว่าการเพิ่มมาตรการกีดกันการค้าการลงทุนจากจีนนั้น ทั้ง ส.ส.พรรครีพับลิกันกับเดโมแครทต่างสนับสนุนด้วยเสียงท่วมท้น จึงไม่ใช่ตัวรัฐบาลทรัมป์เท่านั้น ทั้ง 2 พรรคสนับสนุน
            โดยรวมแล้วสิ่งที่ทรัมป์ทำขณะนี้คือสิ่งที่พูดไว้ตอนหาเสียง น่าชื่นชมว่าทรัมป์ “พูดจริงทำจริง” เล่นงานทุกประเทศที่เกินดุลสหรัฐ เม็กซิโก แคนาดา อียู ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมิตรที่ดีจึงโดนเล่นงานด้วย

มองแง่ร้าย แก้ปัญหาชาติได้จริงหรือ :
            ถ้ามองในแง่ร้าย มีประเด็นและคำถาม เช่น นโยบายที่ประกาศแก้ปัญหาได้จริงหรือ
            ณ วันนี้ การขึ้นภาษีสินค้าบางตัว มาตรการต่อบางประเทศ ยังจำกัดอยู่ในกรอบแคบ อาจตีความว่าเป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้น แต่หากดำเนินเพียงเท่านี้ไม่อาจลดการขาดดุลได้มากพอ อย่างเก่งได้แค่ชะลอปัญหาแต่ไม่แก้ปัญหาจริง

            คำถามต่อมาเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหาเสียง นั่นคือแนวทางของทรัมป์ถูกต้องแล้วหรือ
โทมัส เดอโนฮวย (Thomas Donohue) ประธาน U.S. Chamber of Commerce ให้ความเห็นว่า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งเสริมการแข่งขัน สหรัฐต้องการการค้าเสรี ไม่ใช่ลดการค้าเสรี
กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนรัฐบาลทรัมป์ที่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจะทำลายระบบการค้าโลก หากตอบโต้ไปมาระบบการค้าโลกจะถอยห่างจากการค้าที่เปิดกว้าง ยุติธรรม อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ สุดท้ายทุกประเทศเสียหาย เศรษฐกิจอเมริกาจะเสียหายด้วย
            มีผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทรัมป์อีกมาก แต่ทรัมป์ยืนยันเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายรายการ ไมว่าฝ่ายใดถูกหรือผิดที่สุดจะปรากฏผล

ถ้าจะแก้จริงต้องแก้ที่รากปัญหา :
อีกแนวคิดพูดถึงรากปัญหาและการแก้ไขที่รัฐบาลสหรัฐไม่ค่อยเอ่ยถึง บางกลุ่มอธิบายว่าสาเหตุหลักประการแรกคือ ชาวอเมริกันใช้จ่ายเกินตัว ประชาชนจำนวนมากเป็นหนี้ท่วมตัว ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง
ชาวอเมริกันซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก ราวร้อยละ 40 ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าเป็นสินค้า MADE IN CHINA งานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปตรงกันว่าคนอเมริกันนิยมสินค้าจีน (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องราคา คุณภาพที่ต้องการ) ในยุคโอบามาใช้นโยบายให้คนอเมริกายกระดับฝีมือการทำงาน ผลิตสินค้าไฮเทค เพื่อเพิ่มค่าแรงตัวเอง ส่วนสินค้าพื้นๆ อย่างตุ๊กตา เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เป็นสินค้านำเข้า เป็นนโยบายยกระดับค่าจ้างเพิ่มรายได้ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและลดการขาดดุล แต่นโยบายนี้ไม่สำเร็จเท่าที่ควร
เหตุผลหลักที่ 2 คือ ชาวอเมริกันแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เอิร์น แฟรนเคิล (Ernst Frankel) ชี้ว่าแท้จริงแล้วปัญหาใหญ่เกิดจากการที่คน 4 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ บุคลากรสาธารณสุข การศึกษาและด้านกฎหมาย ใช้ความรู้ตำแหน่งของตนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวม
            ในภาพรวม นับวันชาวอเมริกันทุกกลุ่มชนยึดถือแต่ประโยชน์ส่วนตัว เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงส่วนรวม จนถึงขั้นฉ้อสังคม (corrupt society)

            แต่ไหนแต่ไร สังคมอเมริกันให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกและสิทธิส่วนบุคคลสูงสุด แต่อีกด้านของความเป็นปัจเจกคือการที่บุคคลช่วยกันจรรโลงสังคม เพราะการมีสังคมที่ดีเป็นเหตุให้ชาวอเมริกันมีสิทธิส่วนบุคคล แต่ปัจจุบัน ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่สนใจบทบาทของตนต่อสังคม
            สหรัฐจำต้องหาแนวทางใหม่ เพื่อฟื้นฟูอุดมคติ ใส่ใจสังคม ให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่ทำลายผลประโยชน์ส่วนรวม ทุกคนต้องตระหนักว่าตัวเองจะมีชีวิตที่ดีได้ต้องมีสังคมที่ดี

ทาง 2 แพร่งกับระเบิดเวลา :
อัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Albert Edwards) จาก Societe Generale Bank เห็นว่าเหตุที่เศรษฐกิจสหรัฐยังดีอยู่เพราะกำลังซื้อจากผู้บริโภคในประเทศ ร้อยละ 70 ของจีดีพีมาจากส่วนนี้ ดังนั้นหากกำลังซื้อหดหายไปมากเศรษฐกิจจะถดถอย
คำถามคือคนอเมริกันจะรักษาระดับการบริโภคดังที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ ทุกวันนี้คนอเมริกันใช้จ่ายเกินตัวมากอยู่แล้ว หลายคนมีสารพัดหนี้และพอกพูนเพิ่มขึ้น แต่หากให้ประชาชนลดการบริโภคตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาแย่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาค ความเชื่อมั่นรัฐบาล
            เป็นทาง 2 แพร่งที่รัฐบาลต้องเลือก

            ปัญหาขาดดุลเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐมานานแล้ว ทุกรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหา แต่ตัวเลขการขาดดุลยังคงสูงขึ้นเรื่อยพร้อมกับหนี้สาธารณะ ทรัมป์หาเสียงแก้ไขปัญหาดังกล่าวและกำลังทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ดี คำถามคือนโยบายที่ใช้นั้นมุ่งหวังแก้ปัญหาจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ “ให้ได้ทำ” เท่านั้น พอจะชี้แจงต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่แล้ว
            ส่วนใครจะมีใช้โอกาสนี้หาผลประโยชน์แอบแฝง ผลประโยชน์มิชอบ คนอเมริกันคงต้องแก้ไขด้วยตัวเอง
1 กรกฎาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7904 วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2561)

-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความกังวลต่อการริเริ่มแถบและเส้นทางของจีน
แผนพัฒนาใดๆ ของจีนสามารถตีความว่ากำลังบั่นทอนผลประโยชน์ของอีกฝ่าย แต่อาจเป็นแนวทางที่ดีกว่า เพิ่มโอกาสเพิ่มทางเลือก สำคัญว่าสุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่

บรรณานุกรม :
1. China Says All Trade Progress Is Off If U.S. Imposes Tariffs. (2018, June 3). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-06-03/u-s-hints-at-china-talks-progress-as-trump-riles-trade-allies
2. Despite Trump’s tough talk, U.S. trade gap widens to nine-year high. (2018, February 7). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2018/02/07/business/despite-trumps-tough-talk-u-s-trade-gap-widens-nine-year-high/#.WnvV3iVubZ4
3. Frankel, Ernst Gabriel. (2006). Challenging American Leadership. The Netherlands: Springer.
4. News Analysis: GOP, Trump reconcile views on trade to enlarge voter base. (2016, July 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/22/c_135532558.htm
5. Ray, James Lee., Kaarbo, Juliet. (2008). Global Politics (9th Ed.). USA: Houghton Miffl in Company.
6. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
7. Trump denounces Korea-U.S. FTA as 'job-killing' deal, vows to renegotiate all 'horrible' trade pacts. (2016, July 22). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/07/22/63/0301000000AEN20160722005100315F.html
8. Trump tariffs are threat to both global trade and US economy, say IMF. (2018, June 15). The Independent. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/business/news/trump-tariff-steel-aluminium-trade-war-canada-eu-imf-christine-lagarde-a8399636.html
9. US economy clinging to life as public debt nears $20 trillion. (2016, September 2). Pravda. Retrieved from http://www.pravdareport.com/business/finance/02-09-2016/135510-us_economy_debt-0/
10. Worstall, Tim. (2016, July 25). Donald Trump's Ludicrous Idea Of Pulling The US From The World Trade Organisation. Forbes. Retrieved from http://www.forbes.com/sites/timworstall/2016/07/25/donald-trumps-ludicrous-idea-of-pulling-the-us-from-the-world-trade-organisation/#3cf8bf053470
-----------------------------