ความล้มเหลวของประชาธิปไตยอัฟกานิสถาน

ความเป็นไปของอัฟกานิสถานชี้ชัดว่ารัฐบาลประชาธิปไตยอยู่ได้เพราะกองทัพกับเงินดอลลาร์ของอเมริกัน เป็นอีกครั้งที่ประชาธิปไตยอเมริกันพ่ายแพ้แก่ระบอบการปกครองอื่น

สูตรสำเร็จของรัฐบาลสหรัฐ :

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐระบุว่าอเมริกาส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ต่อต้านก่อการร้ายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) รัฐบาลสหรัฐเพิ่มความสำคัญเรื่องส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี เป้าหมายคือเปลี่ยนรัฐบาลที่สนับสนุนก่อการร้ายมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย การโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน (Taliban) ในอัฟกานิสถานเป็นตัวอย่างที่สหรัฐส่งเสริมให้เป็นประชาธิปไตย ด้วยความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นภูมิคุ้มกันระบอบสุดโต่ง (extremist regimes) กับการก่อการร้าย

            จากบุชสู่โอบามา รัฐบาลโอบามาประกาศชัดว่าสหรัฐยังคงนโยบายสนับสนุนให้อัฟกานิสถานเป็น “ประเทศอธิปไตย มีเสถียรภาพ มีเอกภาพและเป็นประชาธิปไตย” ดำเนินความสัมพันธ์บนหลักเคารพต่อกันและกันและตรวจสอบได้ สนับสนุนกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อัฟกันเพื่อสร้างเสถียรภาพ การอยู่ดีกินดีแก่คนอัฟกัน

            เป็นสูตรสำเร็จที่เมื่อสหรัฐล้มรัฐบาลประเทศอื่นจะให้รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

ประเทศเป็นมากกว่าเมืองหลวง :

            ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่มีข้อดีหลายอย่าง แต่ข้อดีจะปรากฏเมื่อมีปัจจัยรองรับ เช่น สำนึกความเป็นพลเมืองสูง ประชาชนรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ ยึดมั่นการเป็นคนชาติเดียวกันแม้แตกต่างหลากหลาย ซึ่งจำต้องอาศัยเวลาพัฒนาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปีขึ้นกับแต่ละสังคม พัฒนาการของอังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างที่ดี

            ประเด็นคือในระหว่างที่สังคมกำลังเรียนรู้เสรีนิยมประชาธิปไตย มีอุปสรรคขัดขวางหรือไม่ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อธิบายยกตัวอย่างอัฟกานิสถานได้ว่าอุปสรรคภายใน เช่น การรวมหรือประสานอำนาจของชนชั้นนำทำได้ดีเพียงไร การยึดมั่นชาติพันธุ์มากกว่าเป็นพลเมืองประเทศเดียวกัน อัฟกานิสถานมีกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญอย่างน้อย 16 กลุ่ม แยกกันอยู่ในแต่ละภูมิภาค ความแตกต่างระหว่างนิกายซุนนีกับชีอะห์เป็นอีกส่วนเหตุทำให้เข้ากันไม่ได้

            ย้อนหลังเมื่อรัฐบาลอัฟกันที่โซเวียตสนับสนุนล่มสลายในปี 1992 มีการตั้งรัฐบาลใหม่จากตัวแทนหลายชนเผ่า แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเหมือนแยกจากกันออกเป็นเสี่ยงๆ ขึ้นกับผู้นำท้องถิ่นหรือหัวหน้ากองกำลังที่ต่างเป็นอิสระต่อกัน ชนบทห่างไกลหลายแห่งยังเป็นสังคมชนเผ่าเข้มแข็ง วิถีชีวิตที่ขึ้นกับเผ่าอย่างเข้มข้นยังคงอยู่ในหลายพื้นที่ บางครั้งกลุ่มต่างๆ ต่อสู้กันเอง นักรบหรือกองกำลังติดอาวุธส่วนใหญ่คือประชาชนธรรมดา น้อยคนที่เป็นทหารอาชีพ รัฐบาลกลางปกครองได้เฉพาะกรุงคาบูลกับบางเมืองเท่านั้น คนส่วนใหญ่ขาดสำนึกความเป็นคนชาติเดียวกัน

            ความที่ผู้นำชนเผ่า หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นไม่ยอมรับอำนาจประธานาธิบดีจึงมีผู้ตั้งฉายาผู้นำประเทศว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคาบูลมากกว่าเป็นผู้ปกครองประเทศ

            ปลายปี 2019 ฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานกล่าวว่าทุกวันนี้พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศยังอยู่ใต้การปกครองของพวกตาลีบัน ถ้ายึดตามขนาดพื้นที่ ตาลีบันในวันนี้เป็นผู้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ข้อมูลนี้สะท้อนอำนาจของรัฐบาลกรุงคาบูลกับตาลีบัน

            ด้านอุปสรรคภายนอก กองกำลังสหรัฐกับนาโตเป็นปัญหาในตัวเอง คนอัฟกันบางคนอาจเห็นว่าพวกเขานำประชาธิปไตยมาให้ แต่อีกส่วนเห็นว่าคือต่างชาติต่างศาสนาผู้รุกราน ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดของตน ตาลีบันผู้ปกครองเดิมจึงปฏิเสธอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตย ยังคงต่อสู้ขับไล่ทหารต่างชาติให้พ้นประเทศ พวกเขาอยากดำเนินชีวิตตามวิถีอิสลามของตน

            การที่รัฐบาลสหรัฐหวังสร้างประชาธิปไตยแก่ประเทศนี้คืออุปสรรคในตัวเอง ในมุมของคนอัฟกันคือการที่ต่างชาติยัดเยียดให้ ไม่ได้มาจากเจตจำนงของพวกเขาเอง

            การล้มระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นอีกเหตุผลที่สมควรต่อสู้

อีกครั้งที่สูตรสำเร็จอเมริกาล้มเหลว :

            ข้อมูลกรกฎาคม 2015 จาก The World Factbook ระบุว่าคนอัฟกัน 85% เป็นซุนนี 10-15% เป็นชีอะห์ รวมความแล้วเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิมและเป็นเช่นนี้หลายร้อยปีแล้ว

            ช่วงแรกที่อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้ตาลีบัน (1996-2001) เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Islamic Emirate of Afghanistan นาย Mullah Omar ครูสอนศาสนาและผู้นำตาลีบันขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ปกครองตามหลักอิสลามอย่างเคร่งครัดตามแบบฉบับของตน เช่น ไม่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ แม้กระทั่งการศึกษาภายในบ้าน ห้ามผู้หญิงเดินทางออกจากบ้านโดยไม่มีสามีหรือญาติที่เป็นชายร่วมเดินทางไปด้วย และอีกหลายข้อที่แตกต่างจากมุสลิมสายหลักทั่วไป

            การมีรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การค้ำจุนของสหรัฐกับพวกใน 20 ปีที่ผ่านมาช่วยปรับเปลี่ยนค่านิยมได้บ้างในบางพื้นที่ แต่โดยรวมแล้วศาสนายังคงสัมพันธ์กับคนอัฟกันอย่างลึกซึ้ง ศาสนาอิสลามไม่ใช่เพียงการปฏิบัติศาสนกิจแต่สัมพันธ์ทุกด้าน รวมการเมือง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิถีชีวิต ซึ่งคนอัฟกันมีลักษณะเช่นนี้ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว

            ในบริบทปัจจุบัน แม้คนอัฟกันเป็นมุสลิมเกือบทั้งหมดแต่แยกออกได้หลายสาย เช่น สายประชาธิปไตย สายตาลีบัน และสายชนเผ่าต่างๆ (ยังแยกย่อยได้อีก) เป็นประเด็นน่าสนใจว่ามุสลิมเหล่านี้จะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ อยู่ร่วมอย่างไรหลังนาโตถอนทหารกลับประเทศ เรื่องนี้เกี่ยวพันกันหมดไม่ว่าจะระบอบการปกครอง การแบ่งสรรอำนาจ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี ทั้งนี้กลุ่มตาลีบันแสดงท่าทีว่าตาลีบันในปีนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าแตกต่างมากน้อยเพียงไร

            ถ้าวิพากษ์สหรัฐอาจตีความว่ารัฐบาลสหรัฐปรารถนาดีหวังให้อัฟกานิสถานเป็นประชาธิปไตย แต่ต้องมองอีกด้านว่าประเทศนี้มีวัฒนธรรมค่านิยมของตัวเองที่ฝังลึก การพัฒนาเสรีประชาธิปไตยต้องกินเวลาหลายสิบปีหรือนับร้อยปี เกิดคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐจริงจังกับการสร้างประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไรหรือทำเพราะมีวาระซ่อนเร้น

            สถานการณ์ล่าสุดให้ข้อสรุปชัดว่าเมื่อกองทัพสหรัฐกับพวกถอนออกไป รัฐบาลประชาธิปไตยล่มสลายทันที ตาลันบันกลับเข้ามาแทนที่ น่าสังเกตว่าคนอัฟกันผู้รักประชาธิปไตย (ถ้ามี) ไม่ออกมาปกป้องประชาธิปไตยของตน คงไม่เกินไปถ้าจะสรุปว่ารัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกานิสถานอยู่ได้เพราะกองทัพกับเงินดอลลาร์ของอเมริกัน เป็นอีกครั้งที่ประชาธิปไตยอเมริกันพ่ายแพ้แก่ระบอบการปกครองอื่น ลองทบทวนว่านโยบายของรัฐบาลบุชกับโอบามาต่อประเทศนี้คืออะไร สำเร็จหรือไม่ บัดนี้นโยบายของไบเดนคืออนาคตของอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่คนอัฟกันต้องตัดสินใจกันเอง

            เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าสูตรสำเร็จของรัฐบาลสหรัฐใช้ไม่ได้ผลและอาจไม่ควรใช้ตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็ต้องอธิบายด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เป็นเครื่องมือสร้างรัฐบาลหุ่นเชิดของตน เพราะรัฐบาลสหรัฐรู้ดีเช่นกันว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยใช่ว่าจะสำเร็จทุกราย

            ในทางวิชาการมีข้อสรุปชัดเจนว่า ระบอบประชาธิปไตยแท้จะดำรงอยู่ได้หรือไม่ขึ้นกับเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ว่าเขาต้องการประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับความดีงามของประชาธิปไตย เพราะความดีงามของประชาธิปไตยอาจถูกตีความเป็นแง่ลบจากแนวคิดอื่น

            ความเป็นไปของอัฟกานิสถานเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แผนสร้างประชาธิปไตยต่างแดนของสหรัฐล้มเหลวหลังพยามยาม 20 ปี เป็นอีกครั้งที่สหรัฐถอนการปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตยที่ตนวางรากฐานไว้ และอาจอธิบายได้ว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐไม่คิดสร้างประชาธิปไตยจริงๆ ที่ทำมา 20 ปีเป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อประโยชน์บางอย่าง เป็นเหตุผลให้ฟังดูดีเท่านั้น

            ถ้ามองภาพกว้างอาจตีความว่ารัฐบาลสหรัฐนี่แหละทำให้ระบอบประชาธิปไตยเสื่อมเสีย

29 สิงหาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9056 วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564)

---------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :

หลักนโยบายตาลีบันผู้ครองอัฟกานิสถาน 2021
รัฐอิสลามของตาลีบันจะเป็นที่จับตาของนานาชาติอีกนาน ทั้งเรื่องการเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้าย สิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหายาเสพติด แนวทางระบอบการปกครองอิสลามอีกรูปแบบหนึ่ง
เป็นไปได้ว่าอาจสงบสุขขึ้นบ้างในระยะหนึ่ง แต่สันติภาพถาวรเป็นของหายาก ไม่มีตั้งแต่เมื่อกองทัพสหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 เพราะที่รัฐบาลสหรัฐต้องการมีมากกว่าการถอนหรือลดจำนวนทหาร
ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนามร่างสนธิสัญญาความมั่นคงเนื่องจากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ช่วยนำสันติภาพสู่ประเทศอย่างแท้จริง เพราะประเทศได้ผ่านหลังจากการทำสงครามอย่างยาวนานกว่า 10 ปี นับจากเหตุ 9/11 เมื่อปี 2001 ท่านพร้อมที่จะลงนามในร่างสนธิสัญญา ถ้าข้อตกลงดังกล่าวมุ่งสร้างสันติภาพแก่ประเทศ เจรจากับพวกสุดโต่งทุกกลุ่ม เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ยุติการทำสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น
บรรณานุกรม :

1. Afghanistan’s Karzai tells AP that US cash fed corruption. (2019, December 11). AP. Retrieved from https://apnews.com/1419420df4e2e7186222c38db3be707d

2. Bouris, Erica. (2006). National Security Strategy of the United States. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.502-505). California: Sage Publications.

3. Carlisle, Rodney P. (2010). Afghanistan War. New York: Chelsea House Publications.

4. Central Intelligence Agency. (2015, July). Afghanistan .In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/af.html

5. Cleveland, William L. Bunton, Martin. (2013). A History of the Modern Middle East (Fifth Edition). USA: Westview Press.

6. Readout of President Obama’s Call with President Karzai. (2014, February 25). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/02/25/readout-president-obama-s-call-president-karzai

7. Wahab, Shaista., Youngerman, Barry. (2007). A Brief History Of Afghanistan. New York: Infobase Publishing.

--------------------------