หนทางสู่สันติภาพของอัฟกานิสถาน ความเห็นจากประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ

ทันทีที่เครื่องบินพาณิชย์พุ่งชนตึกแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก กับที่ทำการกระทรวงกลาโหมหรือที่เรียกกันว่าตึกเพนตากอนในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 นายจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นก็สรุปว่า กลุ่มอัลกออิดะห์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี ต่อมาวันที่ 14 กันยายน หรือเพียง 3 วันหลังเกิดเหตุ รัฐสภาสหรัฐเห็นชอบให้รัฐบาลใช้กำลังทหารต่ออัฟกานิสถาน กองทัพสหรัฐกับพันธมิตรร่วมกันโจมตีอัฟกานิสถาน โค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน (Taliban) ที่ปกครองประเทศอัฟกานิสถานในขณะนั้น ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลตอลีบัน ให้การสนับสนุนและให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์
            เดือนธันวาคม 2001 รัฐบาลชั่วคราวถูกจัดตั้งขึ้น ที่ประชุมนานาชาติแต่งตั้งนายฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) เป็นผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล และได้รับความเห็นชอบจากสภาหัวหน้าเผ่าและผู้มีบารมี หรือที่เรียกว่าสภา Loya Jirga ในเวลาต่อมานายการ์ไซชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 สมัยคือในปี 2004 กับ 2009 ท่านจึงเป็นผู้นำประเทศอัฟกานิสถานตั้งแต่โค่นล้มระบอบตอลีบันจนถึงบัดนี้
            ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในระยะแรกชาวอเมริกันให้การสนับสนุนอย่างท่วมท้น แต่ในเวลาต่อมาเสียงสนับสนุนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ชาวอเมริกันเริ่มเห็นว่าการทำสงครามในอัฟกานิสถานไม่ช่วยทำให้ประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ทหารอเมริกันบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงระดับ 2,000 นาย นอกจากนี้เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องแบกรับจากการทำสงคราม มีผู้ประเมินว่าตลอด 12 ปีที่ทำสงครามในอัฟกานิสถาน รัฐใช้งบประมาณกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 19.8 ล้านล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1.65 ล้านล้านบาท)
            เมื่อนายบารัก โอบามาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2008 จึงดำเนินนโยบายถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถาน ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ขณะหาเสียง

Mission Accomplished? :
            ไม่ว่าการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ในระยะหลังประเทศพันธมิตรล้วนแสดงความจำนงว่าต้องการถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 หรือให้เหลือจำนวนน้อยที่สุด ประธานาธิบดีโอบามาก็มีนโยบายเช่นนี้
            12 ปีนับจากเริ่มสงคราม สหรัฐกับพันธมิตรประสบความสำเร็จพอสมควร เช่น รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่ายังมีพวกอัลกออิดะห์หลงเหลืออยู่ในอัฟกานิสถานไม่เกิน 100 คน ในขณะที่หน่วยงานอัฟกานิสถานชี้ว่ามีเพียง 35-45 คนเท่านั้น ด้วยจำนวนดังกล่าวประเทศอัฟกานิสถานไม่น่าจะเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ
            ปัญหาหนึ่งที่ยังแก้ไม่จบคือ แม้สามารถโค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน ขับไล่ให้หนีไปอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกับปากีสถาน แต่พวกตอลีบันยังคงมีอิทธิพลในบางพื้นที่ และยังมีอีกมากที่อาศัยอยู่ในประเทศปากีสถาน ในมุมมองของสหรัฐถือว่าพวกเหล่านี้เป็นภัยคุกคาม
            ด้วยเหตุนี้ สหรัฐกับพันธมิตรจึงเห็นว่าการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานยังต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่ปรับลดขนาดกองทัพให้เล็กลง มีผู้ประเมินว่าหลังปี 2014 ควรมีกองกำลังนานาชาติประจำอัฟกานิสถานราว 15,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐ 10,000 นาย เป็นที่มาของร่างสนธิสัญญาความมั่นคงทวิภาคี (Bilateral Security Agreement) หรือ BSA ระหว่างสหรัฐกับอัฟกานิสถาน เพื่ออนุญาตให้มีกองกำลังนานาชาติประจำการต่อไป ด้วยเหตุผลว่าเพื่อช่วยฝึกฝนและให้คำปรึกษาแก่ทหารตำรวจอัฟกัน อีกทั้งเอื้อให้สหรัฐสามารถปฏิบัติภารกิจพิเศษโดยอาศัยฐานที่มั่นในอัฟกานิสถาน

ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ยอมลงนาม BSA :
            แต่เมื่อเตรียมร่าง BSA แล้วเสร็จ ประธานาธิบดีการ์ไซกลับแสดงท่าทีปฏิเสธ ไม่ยอมลงนาม ทั้งๆ ที่สภา Loya Jirga ขอให้ท่านลงนามภายในปี 2013
            นอกจากต้องเผชิญแรงกดดันภายในประเทศ ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐ นายพลมาร์ติน เดมซีย์ (Martin Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา กล่าวว่ารัฐบาลการ์ไซต้องลงนามสนธิสัญญาโดยทันที ขู่ว่ารัฐบาลโอบามาอาจเลือกใช้แนวทาง zero option ซึ่งหมายถึงสหรัฐจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน ภายใต้มุมมองที่ว่าหากไม่มีทหารสหรัฐคอยสนับสนุนแล้ว กองทัพอัฟกันไม่น่าจะสามารถรับมือพวกตอลีบัน พวกสุดโต่งกลุ่มต่างๆ เสถียรภาพของรัฐบาลถูกสั่นคลอนทันที
            แต่ด้วยการยืนหยัดในจุดยืนอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ประธานาธิบดีการ์ไซสามารถต้านทานแรงกดดันทั้งจากภายในภายนอก ในที่สุดรัฐบาลโอบามาเห็นว่าจะให้ประธานาธิบดีคนต่อไปเป็นผู้ลงนามแทน การลงนามร่างสนธิสัญญาดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของประธานาธิบดีคนต่อไป

ทำไมประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนาม :
            ในมุมมองของรัฐบาลโอบามา ข้อตกลง BSA เป็นเรื่องสำคัญมาก มีผลต่อบทบาทกองกำลังนานาชาติ กองทัพสหรัฐที่จะประจำการในอัฟกานิสถานหลังปี 2014 พยายามชี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการต่อต้านการก่อการร้าย ส่งผลดีต่อความมั่นคงของประเทศอัฟกานิสถาน แต่ที่ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนาม มีเหตุผลสำคัญดังนี้

            ประการแรก การเสียชีวิตของพลเรือน
            ประธานาธิบดีการ์ไซมักกล่าวเสมอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลของท่านเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2007 เนื่องจากกองทัพสหรัฐไม่สนใจเรื่องที่พลเรือนชาวอัฟกันเสียชีวิตจำนวนมากอันเนื่องจากทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย พลเรือนที่เสียชีวิตเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ที่ถูกลูกหลง หรือความผิดพลาดจากการโจมตี
            U.N. Assistance Mission in Afghanistan นำเสนอรายงานว่า ในช่วงปี 2013 พลเรือนอัฟกัน 2,959 รายถูกสังหาร และอีก 5,656 คนบาดเจ็บจากความขัดแย้ง ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2012 แต่น้อยกว่าปี 2011 ที่สูงเป็นประวัติการถึง 3,021 ราย และราว 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กกับสตรี
            รายงานดังกล่าวชี้ว่าร้อยละ 59 ของผู้เสียชีวิต มาจากกองกำลังรัฐบาลอัฟกันที่ใช้อาวุธแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ยอมรับรายงานดังกล่าว กล่าวหาว่ากองกำลังสหรัฐเป็นต้นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งจากการโจมตีทางอากาศด้วยอากาศยานไร้พลขับ ในขณะที่กองกำลังพันธมิตรกล่าวปฏิเสธ

            ประการที่สอง ทำไมสหรัฐไม่โจมตีฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายในปากีสถาน
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลอัฟกานิสถานมักกล่าวหาว่ารัฐบาลปากีสถานให้การสนับสนุนพวกอัลกออิดะห์กับพวกตอลีบัน ประธานาธิบดีการ์ไซแสดงความเห็นว่า การเอาชนะพวกอัลกออิดะห์ พวกตอลีบันและพวกสุดโต่งอื่นๆ จะต้องทำลายฐานที่มั่นในปากีสถาน จัดการมูลเหตุจูงใจ ผู้สนับสนุนการเงินแก่คนเหล่านี้ ครั้งหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “สหรัฐกับปากีสถานคือสองประเทศที่มีผลโดยตรงต่อสันติภาพของอัฟกานิสถาน อัฟกานิสถานจะมีสันติภาพอีกครั้งถ้าสหรัฐกับปากีสถานร่วมมือกันด้วยความสัตย์ซื่อ” 
            ในมุมมองของประธานาธิบดีการ์ไซเห็นว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐไม่สนใจทำลายฐานที่มั่นผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในปากีสถาน แต่ใช้หมู่บ้านของชาวบ้านอัฟกันเป็นสมรภูมิ ซึ่งไม่ใช่ยุทธศาสตร์การรบที่ถูกต้อง ไม่สามารถกำจัดภัยผู้ก่อการร้ายได้หมดสิ้น กลายเป็นสงครามที่ไม่รู้จบ

            คุณ Carlotta Gall ผู้ติดตามศึกษาสงครามในอัฟกานิสถานให้ข้อสรุปตรงกัน ชี้ว่า ทุกวันนี้สหรัฐกำลังทำสงครามผิดที่ แท้จริงแล้วปากีสถานต่างหากที่เป็นฐานที่มั่นของพวกตอลีบัน เป็นที่ตั้งของค่ายฝึกผู้ก่อการร้าย รัฐบาลปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ เพื่อกลับไปก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน
            เรื่องนี้พอจะอธิบายได้ว่า ประธานาธิบดีการ์ไซพูดถูกต้องว่าปากีสถานในปัจจุบันเป็นแหล่งซ่องสุมกบดานของผู้ก่อการร้าย แต่ข้อเสนอที่ให้โจมตีฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายในปากีสถานยังเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลปากีสถานไม่เห็นชอบ และอาจบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลโอบามาคงไม่ยินดีที่จะทำสงครามกับปากีสถานในขณะนี้

            ข้อเสนอดังกล่าวให้แง่คิดว่า การทำสงครามกับอัลกออิดะห์ ตอลีบัน เป็นสงครามที่ยากจะจบสิ้น เท่ากับว่าอัฟกานิสถานถูกลากเข้าไปอยู่ในสงครามที่ไม่จบสิ้นด้วย ประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม ไม่อาจสงบสุข ไม่สามารถพัฒนา ประเทศอยู่ภาวะแตกแยก มีกองกำลังติดอาวุธหลายฝักหลายฝ่าย มีแต่ความสูญเสีย ความเจ็บปวดทุกข์ยาก ประเทศไม่สามารถทำสงครามไปเรื่อยๆ การอยู่อย่างสันติเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิต
            ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีการ์ไซกล่าวว่า อัฟกานิสถานกำลังทำสงครามที่ไม่ใช่ของตนเอง ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาพูดมาตลอดว่า สหรัฐทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายเพื่อความมั่นคงของประเทศอเมริกา เป้าหมายหลักคือเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ ของชาติตะวันตก

ข้อเสนอทางออก:
            ประการแรก ยุติสงคราม
            ประธานาธิบดีการ์ไซเห็นว่าทหารตำรวจอัฟกันที่มีราว 350,000 นาย มีขีดความสามารถเพียงพอในการป้องกันประเทศ แต่เรื่องที่ท่านไม่เอ่ยถึงคืองบประมาณกลาโหมที่ใช้จ่ายต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากสหรัฐ แต่หากคิดให้ลึกซึ้งกว่านี้ สิ่งที่ประธานาธิบดีการ์ไซต้องการจริงๆ คือ ต้องการให้ประเทศปลอดจากทหารต่างชาติ
            ประธานาธิบดีการ์ไซเห็นว่าแนวทางนำประเทศกลับสู่ความสงบคือ ต้องพาประเทศออกจากสงคราม แต่ตราบใดที่มีกองกำลังต่างชาติในประเทศย่อมเป็นเหตุให้สงครามดำเนินต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด ทางออกที่ดีกว่าน่าจะให้ประเทศปลอดจากกองกำลังต่างชาติ แล้วเจรจากับพวกอัลกออิดะห์ ตอลีบัน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

            ประการที่สอง ปรองดอง
            ควบคู่กับการยุติสงคราม คือ ให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายอยู่ด้วยความปรองดอง ประธานาธิบดีการ์ไซกล่าวอย่างชัดเจนว่า พวกตอลีบันคือชาวอัฟกันเช่นกัน ทุกฝ่ายสามารถดำเนินชีวิตตามวิถีทางของตนเอง ไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง สิ่งที่อัฟกานิสถานต้องการคือสันติภาพและเสถียรภาพ ไม่ใช่สงคราม ประชาชนต้องการชีวิตที่มีสันติสุข ไม่ต้องกังวลว่าวันนี้ระเบิดจะตกใส่บ้านหรือไม่ เป็นความปรารถนาที่ไม่แตกต่างจากคนอเมริกันแต่อย่างไร

            โดยสรุปแล้ว ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนามร่างสนธิสัญญาความมั่นคงเนื่องจากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ช่วยนำสันติภาพสู่ประเทศอย่างแท้จริง ท่านพร้อมที่จะลงนามในร่างสนธิสัญญา ถ้าข้อตกลงดังกล่าวมุ่งสร้างสันติภาพแก่ประเทศ เจรจากับพวกสุดโต่งทุกกลุ่ม เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ยุติการทำสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น พร้อมกับกล่าวเตือนประธานาธิบดีคนต่อไปว่า จะต้องพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ประเทศสงบสุขและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ
13 เมษายน 2014ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6368 วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2557)
--------------------------
บรรณานุกรม:
1. Afghan President Karzai reiterates preconditions for inking BSA with U.S. (2014, January 25). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-01/25/c_133073336.htm
2.  Afghanistan vote raises hope. (2014, April 6). Oman Observer. Retrieved from http://main.omanobserver.om/?p=70759
3. Afghanistan-US deal 'hinges on Taliban peace talks'. (2014, January 25). BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-25893296
4. Civilian casualties are up in Afghanistan, a new U.N. report says. (2014, February 9). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/civilian-casualties-are-up-in-afghanistan-a-new-un-report-says/2014/02/08/de7389f0-90e5-11e3-878e-d76656564a01_story.html
5. Full Transcript of President Karzai's Interview with Washington Post. (2014, March 3). Office Of The President: Islamic Republic of Afghanistan. Retrieved from http://president.gov.af/en/documents
6. Full Transcript of President Karzai’s Interview with Xinhua News Agency. (2014, March 26). Office Of The President: Islamic Republic of Afghanistan. Retrieved from http://president.gov.af/en/documents
7. Interview: Karzai says 12-year Afghanistan war has left him angry at U.S. government. (2014, March 3). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/interview-karzai-says-12-year-afghanistan-war-has-left-him-angry-at-us-government/2014/03/02/b831671c-a21a-11e3-b865-38b254d92063_story.html
8. Karzai says Afghanistan doesn't need US troops. (2014, March 15). AP. Retrieved from http://news.yahoo.com/karzai-says-afghanistan-doesnt-us-troops-110618616.html
9. Karzai says US troops can leave Afghanistan. (2014, March 15). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/03/karzai-says-us-troops-can-leave-afghanistan-2014315133323437829.html
10. Obama Warns Karzai of a Pullout, But Keeps U.S. Options Open. (2014, February 25). The Wall Street Journal. Retrieved from http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702304834704579405112343045736?mg=reno64-wsj&url=http%3A%2F%2Fonline.wsj.com%2Farticle%2FSB10001424052702304834704579405112343045736.html&fpid=2,7,121,122,201,401,641,1009
11. U.S. Sees Further Delay in Afghan Pact. (2013, December 5). The Wall Street Journal. Retrieved from http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702303722104579240593609581258
---------------