หลักนโยบายตาลีบันผู้ครองอัฟกานิสถาน 2021

รัฐอิสลามของตาลีบันจะเป็นที่จับตาของนานาชาติอีกนาน ทั้งเรื่องการเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้าย สิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหายาเสพติด แนวทางระบอบการปกครองอิสลามอีกรูปแบบหนึ่ง

            ไม่กี่วันหลังยึดกรุงคาบูลกลุ่มตาลีบันประกาศหลักนโยบายของตน มีสาระสำคัญ ดังนี้

          ประการแรก ประกาศชัยชนะขับไล่พวกต่างชาติ

            ชี้ว่าเป็นความภูมิใจของคนทั้งชาติ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ทุกชาติจะแสวงหาเสรีภาพและอิสรภาพ คนอัฟกันต่อสู้เพื่อสิ่งนี้มาแล้ว 20 ปีเพื่อปลดปล่อยการยึดครอง อย่างไรก็ตามรัฐบาลใหม่ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ

            สถาปนารัฐอิสลามในนาม Islamic Emirate of Afghanistan เป็นไทจากมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม

            วิเคราะห์ : ตาลีบันเริ่มต้นด้วยการประกาศชัยชนะดังกล่าว เป็นเป้าหมายข้อแรกของตนที่ยึดว่าอัฟกานิสถานเป็นดินแดนของมุสลิมอัฟกัน ห้ามชนชาติอื่นโดยเฉพาะคนต่างศาสนามาตั้งมั่นในประเทศเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับศาสนาโดยตรง

            มองย้อนหลัง 50 ปีเมื่อกองทัพสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานจัดตั้งรัฐบาลหุ่น เป็นที่มาของมูจาฮิดีนที่ประกอบด้วยคนอัฟกันกับมุสลิมอีกหลายประเทศที่ร่วมกันทำสงครามขับไล่กองทัพโซเวียต แต่หลังจากตาลีบันตั้งรัฐบาลได้ 5 ปี (1996-2001) ก็เผชิญสงครามต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐกับพวกอีก รัฐบาลสหรัฐตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกัน ต่อสู้กันเรื่อยมาหนักบ้างเบาบ้างถึง 20 ปี จนวันนี้ตาลีบันกลับมาครองอำนาจอีกครั้งหลังประชาชนเสียชีวิตนับแสน หลายล้านคนอพยพหนีออกนอกประเทศ

(ชมคลิป Youtube ของบทความนี้)

          ประการที่ 2 จะไม่แก้แค้นใครทั้งสิ้น

            ตาลีบันประกาศชัดว่าประเทศจะต้องไม่เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ไม่เป็นเขตสงครามของใครอีกต่อไป ตาลีบันไม่เป็นปรปักษ์กับใครไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ ไม่อยากให้ใครอพยพออกนอกประเทศ เพราะอัฟกานิสถานเป็นบ้านของชาวอัฟกันทุกคนๆ ได้รับอภัยโทษ

            ในความขัดแย้งที่แล้วมาระหว่างนักรบตาลีบันกับฝ่ายต่างๆ นั้น ตาลีบันทำเพื่อประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ การทำสงครามจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับการบาดเจ็บเสียชีวิต

            ทุกคนในกรุงคาบูลจะปลอดภัยได้รับความคุ้มครองดูแล รวมทั้งคนที่เคยเป็นทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ทำงานให้กับต่างชาติ ขอประกันความปลอดภัยของสถานทูต ชาวต่างชาติ องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานความช่วยเหลือต่างๆ

            ตาลีบันจะไม่ปล่อยให้เกิดอาชญากรรม พวกฉวยประโยชน์ จะไม่ยอมให้ใครใช้แผ่นดินอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านใครหรือประเทศใด ขอให้ประชาคมโลกมั่นใจเรื่องนี้

            วิเคราะห์ : นโยบายของตาลีบันชัดเจนว่าจะไม่ยอมเป็นฐานที่มั่นของนักรบต่างชาติหรือผู้ก่อการร้ายใดๆ อีก ซึ่งเป็นต้นเหตุให้สหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถานเพื่อกวาดล้างอัลกออิดะห์ อย่างไรก็ตามมีผู้วิเคราะห์ว่าอัฟกานิสถานมีภูมิประเทศซับซ้อนและอำนาจตาลีบันอาจครอบคลุมไม่ทั่วถึง อาจเป็นฐานหรือที่หลบซ่อนของผู้ก่อการร้ายอีก นาโตเตือนแล้วว่าหากเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้ายนาโตพร้อมโจมตีแม้อยู่ห่างไกล

          ประการที่ 3 รัฐบาลใหม่ที่รวมทุกกลุ่ม

            เป็นช่วงเวลากำลังหารือจัดตั้งรัฐบาลอิสลามที่รวมทุกกลุ่มคนเข้าด้วยกัน เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาตาลีบันยึดมั่นอิสลามแต่ได้เติบใหญ่ผ่านประสบการณ์ จึงต่างจากตาลีบันเมื่อ 20 ปีก่อน

          ประการที่ 4 ยึดถือหลักศาสนา วัฒนธรรมของเรา

            ขอให้นานาชาติยอมรับอัฟกานิสถานเช่นเดียวกับที่อัฟกานิสถานจะยอมรับประชาคมโลก ทั้งนี้ตาลีบันจะยึดถือหลักศาสนา วัฒนธรรมของเรา เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพวกเราอัฟกัน ดังเช่นที่นานาประเทศมีกฎหมาย นโยบาย มุมมองของตน

            ยกตัวอย่างเรื่องสตรี ตาลีบันจะรักษาสิทธิสตรีตามกฎหมายชารีอะห์ (sharia) ในทุกมิติ ทั้งเรื่องการทำงาน การศึกษา สุขภาพ การดำเนินคดี เช่นเดียวกับชายที่ต้องอยู่ใต้กฎหมายดังกล่าว และตามกฎระเบียบอื่นๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ

            วิเคราะห์ : มุสลิมทั่วโลกยึดกฎหมายชารีอะห์แต่ต้องเข้าใจว่า แต่ละนิกายแต่ละกลุ่มตีความกฎหมายดังกล่าวแตกต่างกัน การปฏิบัติในแต่ละประเทศแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันด้วย กรณีตาลีบันก็เช่นเดียวกันในอดีตตีความอย่างเคร่งครัดตามแนวทางของตน เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ามุสลิมบางคนแม้ในอัฟกานิสถานเองไม่เห็นด้วยกับการตีความของตาลีบัน เป็นเรื่องน่าติดตามว่าตาลีบันในปี 2021 นี้จะตีความชารีอะห์อย่างไร

          ประการที่ 5 ส่งเสริมเศรษฐกิจ

            ทันทีที่สถานการณ์สงบจะเร่งสร้างระบบเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับนานาชาติ เพื่อเศรษฐกิจที่ประชาชนอยู่ดีกินดี คนอัฟกันต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตาลีบันจะส่งเสริมการค้าการลงทุนทั่วประเทศ

            วิเคราะห์ : การให้ความสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจดูเหมือนเป็นแนวทางที่ต่างจากอดีต และชี้ให้เห็นว่าตาลีบันตระหนักถึงสภาพเศรษฐกิจประเทศ ให้ความสำคัญกับการอยู่ดีกินดีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่หากใช้มุมมองการพัฒนาประเทศทั่วไป และจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ด้วย

          ประการที่ 6 สื่อสารมวลชน

            สื่อแขนงต่างๆ สามารถทำหน้าที่อย่างอิสระภายใต้กฎระเบียบ เช่น ห้ามต่อต้านอิสลาม เมื่อสื่อจะนำเสนอเรื่องใดๆ ต้องคำนึงว่าไม่ต่อต้านศาสนา นำเสนออย่างเป็นกลาง ส่งเสริมคุณค่าของชาติ เอกภาพ เรื่องที่เป็นฉันทามติ ไม่เน้นเรื่องความแตกแยกของชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางศาสนาหรือความเป็นปรปักษ์

            วิเคราะห์ : เรื่องสื่อแสดงให้เห็นชัดว่าแม้ตาลีบันยอมรับการมีอยู่ของความหลากหลายศาสนานิกาย หลายชาติพันธุ์ แต่ตอกย้ำส่งเสริมศาสนาในแบบของตนเท่านั้น ห้ามสื่อนำเสนอเรื่องที่สร้างความแตกแยกไม่ว่าจะศาสนาหรือชาติพันธุ์

          ประการที่ 7 ต่อต้านยาเสพติด

            ในปี 2001 ประเทศไม่ผลิตยาเสพติดเลยแต่หลังจากนั้นยาเสพติดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องแม้กระทั่งคนในรัฐบาล นับจากนี้เป็นต้นไปทุกคนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก ตาลีบันไม่อยากเห็นคนหนุ่มสาวติดยา คนที่ไม่เห็นอนาคต นับจากนี้อัฟกานิสถานจะเป็นประเทศปลอดยาเสพติด และยินดีรับความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อการนี้ ช่วยส่งเสริมปลูกพืชทดแทน แน่นอนว่าต้องใช้เวลาแต่จะสำเร็จ

            วิเคราะห์ : อัฟกานิสถานประเทศผู้ปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลกและปลูกมานานแล้ว ช่วงปี 1935-1945 ฝิ่นเป็นสินค้าออกสำคัญอย่างหนึ่ง ในอดีตคนทั่วไปสามารถซื้อหาฝิ่นตามท้องตลาด สามารถปลูกและซื้อขายโดยเสรี ในอดีตการปลูกและเสพฝิ่นเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวบ้าน

            เป็นความจริงที่ว่าการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี 2001 หลังกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน และแม้รัฐบาลประชาธิปไตยประกาศให้การปลูกการค้าฝิ่นผิดกฎหมาย แต่นโยบายต่อต้านยาเสพติดไม่ได้ผล ทุกวันนี้อัฟกานิสถานเป็นสวรรค์ของนักค้ายาเสพติด

            สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ การปลูกฝิ่นเป็นรายได้สำคัญของพวกหัวหน้าเผ่าและกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น อีกทั้งเป็นรายได้สำคัญของชาวบ้านเนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกเพียงเล็กน้อย เป็นแรงกดดันให้ปลูกพืชที่ทำเงินมากที่สุด ฝิ่นคือคำตอบเพราะมีผู้รับซื้อทั้งหมด และให้ราคาสูงว่าพืชผลชนิดอื่นๆ

            ตาลีบันมาถูกทางที่ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติช่วยแก้ปัญหาฝิ่น แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงไรเป็นเรื่องน่าติดตาม เป็นอีกประจักษ์พยานบ่งบอกความสำเร็จของแนวการปกครองแบบตาลีบัน

            รัฐอิสลาม Islamic Emirate of Afghanistan ของตาลีบันจะเป็นที่จับตาของนานาชาติอีกนาน ทั้งเรื่องการเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้าย สิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหายาเสพติด แนวทางระบอบการปกครองอิสลามอีกรูปแบบหนึ่ง

22 สิงหาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9049 วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564)

-----------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เป็นไปได้ว่าอาจสงบสุขขึ้นบ้างในระยะหนึ่ง แต่สันติภาพถาวรเป็นของหายาก ไม่มีตั้งแต่เมื่อกองทัพสหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 เพราะที่รัฐบาลสหรัฐต้องการมีมากกว่าการถอนหรือลดจำนวนทหาร
รัฐบาลบุชกับพวกส่งกองทัพบุกอัฟกานิสถานทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย รัฐบาลชุดถัดมาเจรจากับตาลีบันที่สหรัฐตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ในที่สุดรัฐบาลไบเดนประกาศถอนทหารที่เหลือเพียงไม่กี่พันกลับบ้าน
ณ วันนี้ ฝิ่น กลายเป็นเครื่องผูกพันผู้มีบารมีท้องถิ่น กำลังติดอาวุธ ผู้ก่อการร้ายอย่างตอลีบัน เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่คอร์รัปชันและชาวบ้านหลายล้านคนที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น บางคนอาจประณามว่าฝิ่นเป็นยาเสพติด ทำลายสังคม แต่สำหรับชาวอัฟกันจำนวนมากยอมรับการมีอยู่ของฝิ่น เป็นเครื่องค้ำจุนครอบครัว ชุมชน หรือเพื่ออุดมการณ์เป้าหมายที่เห็นว่ายิ่งใหญ่กว่า เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศโดยเฉพาะหลังปี 2014

บรรณานุกรม :

1. Nato: Taliban risk military strikes if they host terrorists again. (2021, August 18). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/698659/Nato-Taliban-risk-military-strikes-if-they-host-te

2. Taliban declares formation of the Islamic Emirate of Afghanistan, just days after taking over Kabul. (2021, August 19). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/532470-taliban-declares-islamic-emirate-afghanistan/

3. Transcript of Taliban’s first news conference in Kabul. (2021, August 17). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2021/8/17/transcript-of-talibans-first-press-conference-in-kabul

--------------------------