สหรัฐชอบธรรมที่จะยกเลิกนโยบายจีนเดียว

ในช่วงหาเสียงจีนเป็นเป้าใหญ่ที่ทรัมป์ไม่คิดจะญาติดีด้วย เมื่อต้นเดือนธันวาคมว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำไต้หวัน กลายเป็นประเด็นวิวาทะระหว่างทรัมป์กับจีน หลายฝ่ายวิพากษ์ว่าทรัมป์ละเมิดนโยบายจีนเดียว (one-China policy) เรื่องจึงขยับมาสู่ประเด็นนโยบายจีนเดียว
ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าตนเข้าใจเรื่องนโยบายจีนเดียวอย่างดี จีนกับไต้หวันเป็นประเทศจีนเพียงหนึ่งเดียว พูดเป็นนัยว่าจะขอเจรจากับจีนเรื่องนี้ หากจะให้รักษาหลักนโยบายนี้ต่อไปจีนต้องยอมบางเรื่อง เช่นเรื่องการค้า
            ย้ำว่าสหรัฐเสียหายร้ายแรงจากการลดค่าเงินหยวน ตั้งกำแพงภาษีสินค้าอเมริกา สร้างป้อมปราการในทะเลจีนใต้ ไม่ช่วยจัดการเกาหลีเหนือ
            การเอ่ยถึงนโยบายจีนเดียวทำให้ฝ่ายจีนออกมาตอบโต้ Cui Tiankai เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐเตือนว่าจีนจะไม่ยอมทน หากสหรัฐคิดทบทวนแก้ไขรากฐานความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ ย้ำว่าทุกประเทศจะต้องยึดมั่นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่นำมาเป็นเครื่องต่อรอง โดยเฉพาะอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนเป็นเรื่องต่อรองไม่ได้
จีนถือว่าหลักจีนเดียวเป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ และเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ต้องรักษาอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ดังนั้น หากนโยบายของสหรัฐละเมิดอธิปไตยจีน เท่ากับก้าวข้ามเส้นต้องห้าม (อ่านเพิ่มเติมในบทความ นโยบายจีนเดียว (one-China policy) อดีต ปัจจุบันและอนาคต)”
            บทบรรณาธิการของสื่อจีน Global Times ถึงกับระบุว่าหากสหรัฐยกเลิกนโยบายจีนเดียว จีนก็ไม่มีเหตุผลที่จะยึดแนวทางสันติวิธีกับไต้หวันอีกต่อไป อาจยึดไต้หวันด้วยกำลัง

ที่ผ่านมาสหรัฐท้าทายอธิปไตยจีนอยู่แล้ว :
เรื่องนโยบายจีนเดียวต้องย้อนหลังเมื่อกุมภาพันธ์ 1972 รัฐบาลนิกสันกับรัฐบาลจีนลงนามในแถลงการณ์ร่วมสหรัฐ-จีน (U.S.–China joint communiqué) สาระสำคัญคือ สหรัฐยอมรับว่า “จีนทั้ง 2 ฝั่งช่องแคบไต้หวันเป็นจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐออกกฎหมายฉบับใหม่ระบุว่าจะปกป้องไต้หวัน ขายอาวุธให้ไต้หวันเพียงพอที่จะป้องกันประเทศ หลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐขายให้อาวุธแก่ไต้หวันเป็นระยะๆ
ทุกวันนี้ สหรัฐยังคงยึดมั่นปกป้องไต้หวัน กองเรือที่ 7 ยังปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

ถ้ามองในกรอบกว้าง ไม่เฉพาะประเด็นไต้หวันที่รัฐบาลสหรัฐท้าทายอธิปไตยจีน ประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญกว่าคือเรื่องทะเลจีนใต้ ประเด็นที่เคยร้อนแรงคือเรื่องหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเรื่องอื่นๆ เช่น ทิเบต การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จีนเห็นว่าเป็นเรื่องภายใน
รัฐบาลโอบามาแม้ด้านหนึ่งประกาศมีสัมพันธ์ดีกับจีน ร่วมมือกับจีนในหลายด้าน ในอีกด้านหนึ่งดำเนินยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียหรือปรับสมดุลเอเชียแปซิกฟิก ที่ใครๆ เห็นว่าคือยุทธศาสตร์ต่อต้านจีน
ข้อสรุปคือ แม้สิ้นสงครามเย็น ในด้านเศรษฐกิจสังคม 2 ประเทศมีความสัมพันธ์แนบแน่นลึกมากขึ้น แต่ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ด้านการทหาร 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากัน ยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐยังคงเป้าหมายบ่อนทำลายจีนเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรครีพับริกันหรือเดโมแครทต่างดำเนินยุทธศาสตร์แม่บทดังกล่าวทั้งสิ้น
บัดนี้ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเดินตามเส้นทางนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่มาด้วยยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงใหม่เท่านั้นเอง

จีนละเมิดนโยบายจีนเดียว :
นโยบายจีนเดียวตั้งอยู่บนฐานคิดว่า จีนจับมือกับสหรัฐเพื่อต้านสหภาพโซเวียต แต่บริบทโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ปัจจุบันไม่มีสหภาพโซเวียต กลายเป็นรัสเซียที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ไม่มีศัตรู “สหภาพโซเวียต” อีกแล้ว
ที่สำคัญกว่านั้นคือ ปัจจุบันจีนกับรัสเซีย (ถ้ายึดว่าสหภาพโซเวียตคือรัสเซียในปัจจุบัน) เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ร่วมมือกันแนบแน่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ การทหาร ความสัมพันธ์ทั้งระดับทวิภาคี และผ่านองค์กรความร่วมมือต่างๆ
ดังนั้น ทำไมจะตีความไม่ได้ว่าจีนได้ละเมิดฐานคิดนโยบายจีนเดียวมานานแล้ว

ผลรูปธรรมหากสหรัฐยกเลิกนโยบายจีนเดียว :
มากกว่าการวิเคราะห์วิพากษ์ทรัมป์ ควรคิดต่อว่าหากสหรัฐประกาศยกเลิกนโยบายจีนเดียว ผลรูปธรรมจะมีอะไรบ้าง
ส่วนที่ตรงมากที่สุดคือ ไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสหรัฐสามารถปฏิบัติต่อไต้หวันในฐานะ “รัฐชาติ” (nation-state) ทั่วไป สามารถขายอาวุธแก่ไต้หวันมากเท่าที่ต้องการ สามารถเปิดความสัมพันธ์กับไต้หวันทุกด้านเท่าที่ต้องการ
แต่แม้จะเป็นเช่นนั้นอาจไม่เป็นเหตุให้ไต้หวันประกาศเอกราช ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา ดังจะพิจารณาจากปัจจัยไต้หวัน ดังนี้

            ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนแล้วว่า เรื่องการประกาศเอกราชเป็นเรื่องอนาคตอีกห่างไกล สิ่งที่ชาวไต้หวันต้องการคือเรื่องปากท้อง การค้าการลงทุนกับจีน ซึ่งจะได้มาก็ต่อเมื่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นปกติ จีนต้องการเช่นนี้เหมือนกัน
            ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลสหรัฐประกาศยกเลิกนโยบายจีนเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไต้หวันจะประกาศเอกราช
            ล่าสุดทางการไต้หวันแสดงท่าทีว่า การยึดหลักนโยบายจีนเดียวไม่เพียงเป็นรากฐานความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่ยังหมายถึงสันติภาพ เสถียรภาพของช่องแคบไต้หวันด้วย มีผลต่อความมั่นคงไต้หวัน “ไต้หวันย้ำชัดซ้ำหลายครั้งแล้วว่าการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง ระหว่าง 2 ฝั่งช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคให้ประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย” ไต้หวันให้น้ำหนักความสัมพันธ์ไต้หวัน-สหรัฐเท่ากับความสัมพันธ์ระหว่าง2 ฝั่งช่องแคบ (ไต้หวัน-จีน)
นั่นหมายความว่า รัฐบาลไต้หวันจะไม่ยอมให้สหรัฐใช้เป็น “เบี้ย” ต่อรองจีน เพราะการต่อรองนั้นเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ ไม่ใช่ของไต้หวัน
เป็นที่มาว่าฝ่ายจีนแสดงท่าทีว่าจะทำสงครามยึดไต้หวันคืน เพื่อกดดันให้รัฐบาลไต้หวันช่วยกดดันสหรัฐอีกแรง

หลักคิดสำคัญคือ ตราบใดที่ไต้หวันไม่ประกาศเอกราช จีนไม่ใช้กำลังยึดไต้หวัน ไต้หวันก็ไม่จำต้องพึ่งพาทหารอเมริกันแม้แต่นายเดียว ไม่ต้องเป็นฐานปล่อยขีปนาวุธนิวเคลียร์อเมริกาที่สุ่มเสี่ยงถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์เหมือนกัน
ไม่ว่าจีนหรือสหรัฐไม่อาจใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือดังสมัยสงครามเย็นได้อีกต่อไป เพราะชาวไต้หวันยึดมั่นผลประโยชน์ตนเองเช่นกัน นั่นคือต้องการสันติภาพ ไม่ตกเป็นสมรภูมิระหว่างมหาอำนาจ
ถ้ารัฐบาลไต้หวันไม่ยอมให้สหรัฐใช้เป็นเครื่องมือ แผนของทรัมป์ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ หากทรัมป์จะต่อรองจีนให้ได้จริง ต้องต่อรองกับไต้หวันให้ได้ก่อน
ดังนั้น แม้สหรัฐมีความชอบธรรมที่จะยกเลิกนโยบายจีนเดียว แต่ประโยชน์ที่ได้อาจน้อยกว่าสิ่งที่ต้องสูญเสีย บั่นทอนความสัมพันธ์ทวิภาคี และน่าจะกระทบจิตวิทยาการค้าระหว่างประเทศไม่มากก็น้อย
หากทรัมป์เลือกที่จะเดินหน้าต่อ อาจเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองมากกว่า

ทรัมป์พูดสนุกปากหรือไม่ :
ประเด็นสำคัญมากต่อการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์สหรัฐ คือคำถามที่ว่า การที่ทรัมป์หยิบยกนโยบายจีนเดียว เป็นเพียงการพูดสนุกปาก หรือผ่านการคิดเชิงยุทธศาสตร์ เป็นยุทธศาสตร์ต่อจีนชุดใหม่หรือไม่
เมื่อพิจารณาประเด็นจีนตั้งแต่ที่ทรัมป์พูดในช่วงหาเสียง ว่าจะต้องเจรจากับจีนเรื่องการค้าใหม่ การพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำไต้หวัน และหยิบยกประเด็นนโยบายจีนเดียว เรื่องทั้งหมดมีความต่อเนื่อง ราวเป็นเป็นแผนที่ไตร่ตรองมาอย่างดี
ในอีกมุม อาจเป็นเพียงการ “โหมโรง” ของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ชอบยกคำพูดที่ฟังดู “หวือหวา” สามารถกลายเป็นข่าวดัง ถ้าเป็นเพียงการพูดสนุกปาก เรื่องนี้จะยุติในไม่ช้า

ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียของรัฐบาลโอบามาไม่ประสบความสำเร็จ เกาหลีใต้ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) แสดงท่าทีถอยห่างจากสหรัฐชัดเจน เป็นไปได้ว่ายุทธศาสตร์ต่อจีนกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง นักยุทธศาสตร์สหรัฐอาจเลือกที่จะเดินหน้าต่อกรจีนด้วยตัวเอง ไม่แสดงบทญาติดีกับจีนดังสมัยรัฐบาลโอบามาอีกต่อไป

เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณมีเพียงถ้อยคำไม่กี่คำจากทรัมป์ ทั้งยังไม่ประกาศยุทธศาสตร์ต่อจีนชุดใหม่ จึงไม่อาจสรุปว่าเป็นการพูดสนุกปาก หรือเป็นเรื่องจริงจัง กาลเวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ และจะเห็นชัดเจนมากขึ้นๆ ตามลำดับ
18 ธันวาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7346 วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2559)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นโยบายจีนเดียว (one-China policy) ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในรากฐานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย้อนหลังถึงปี 1972 เมื่อ 2 รัฐบาลจับมือกันต้านสหภาพโซเวียต เป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งใหญ่ในยุคนั้น ผู้นำโลกเสรีสามารถจับมือกับคอมมิวนิสต์จีน แต่บริบทโลกเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันไม่มีสหภาพโซเวียตอีกแล้ว รัสเซียในปัจจุบันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดจีน ส่วนสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อจีนมากขึ้น ชัดเจนขึ้น อะไรคือคุณค่าแท้ของนโยบายจีนเดียวในปัจจุบันและอนาคต
บรรณานุกรม:
1. Blanchard, Ben., Hung, Faith. (2016, December 14). China warns Donald Trump's Taiwan policy a threat to regional ‘peace and stability’. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/asia/china-donald-trump-taiwan-policy-threatens-peace-stability-a7473341.html
2. Kondapalli, Srikanth. (2008). China, People’s Republic of. In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia. (pp.401-408). USA: ABC-CLIO.
3. ‘Not a bargaining chip’: China warns US against questioning sovereignty & territorial integrity. (2016, December 15). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/370342-china-us-policy-integrity-ambassador/
4. Rauhala, Emily. (2016, December 12). Trump draws rebukes after saying U.S. isn’t bound by One China policy. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/chinese-paper-calls-trump-as-ignorant-as-a-childafter-taiwan-comment/2016/12/12/d91fbaea-c02c-11e6-b20d-3075b273feeb_story.html
-----------------------------