ใครทำธุรกิจกับอิหร่าน สหรัฐจะไม่ทำธุรกิจกับผู้นั้น

ทรัมป์เตือนว่า ใครทำธุรกิจกับอิหร่าน สหรัฐจะไม่ทำธุรกิจกับผู้นั้นเป็นการเจาะจงเล่นงานบริษัทเอกชน เป็นแนวทางของจักรวรรดินิยมปัจจุบัน

เป็นคำเตือนล่าสุดจากประธานาธิบดีทรัมป์ หลังประกาศจะคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอย่างรุนแรงที่สุด และที่ทำเช่นนี้ “ก็เพื่อสันติภาพโลก”
มีผลต่อทุกบริษัทในโลก :
            ประเด็นสำคัญที่ต้องตีความคือ รัฐบาลทรัมป์หมายถึงทุกบริษัทในโลกจริงๆ ใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจะเป็นมาตรการที่รัฐบาลสหรัฐข่มขู่เล่นงานบริษัทเอกชนทั่วโลก  โดยไม่สนใจว่าเป็นบริษัทสัญชาติใด และที่น่ากังวลคือห้ามทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารของสหรัฐซึ่งบริษัทใหญ่เล็กทั่วโลกต่างใช้บริการด้วยกันทั้งสิ้น
กรณี บริษัทยุโรปที่ลงทุนในอิหร่าน
            ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ มาตรการล่าสุดมีผลต่อบริษัทยุโรปที่ไปลงทุนในอิหร่านจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้มักมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลตนเอง (แม้กระทั่งกับรัฐบาลสหรัฐ) หลายบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลก กองทุนต่างๆ มีส่วนถือหุ้น ถ้าพูดถึงความเสียหายที่เป็นรูปธรรม ความเสียหายเกิดกับบริษัทของอียูนั่นเอง
            แต่ทันทีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนโยบายดังกล่าว สหภาพยุโรปแสดงจุดยืนทำธุรกิจกับอิหร่านต่อ ทั้งยังจะรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับอิหร่านด้วย
            ถ้าตีความในแง่บวก อียูและบริษัทของอียูเท่านั้นที่สามารถทำธุรกิจกับอิหร่านต่อไป เพราะเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนอียูกับรัฐบาลทรัมป์มีข้อตกลงว่าจะไม่ขึ้นภาษีสินค้าต่อกันอีก จนกว่าจะแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วเสร็จ
            แต่ถ้าตีความในแง่ลบ รัฐบาลของอียูไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยืนยันให้ทำธุรกิจต่อ เพราะหากกลับลำเท่ากับยอมรับว่านโยบายที่ส่งเสริมให้ติดต่อกับอิหร่านนั้นผิดพลาดครั้งใหญ่ บริษัทเสียหายมากมายเกินว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบไหว
            ที่น่าสนใจคือรัฐบาลสหรัฐจะเล่นงานอียูตามคำขู่หรือไม่ จะสั่งเลิกทำธุรกิจกับบริษัทยุโรปจริงหรือไม่ หรือว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงคำขู่ หรือเลือกปฏิบัติต่อบางบริษัทเท่านั้น

            ถ้ามีการเล่นงานบริษัท คำประกาศจุดยืนของอียูที่ให้ทำธุรกิจกับอิหร่านต่อไปเท่ากับ “พูดไปอย่างนั้นเอง” เพราะรัฐบาลสหรัฐตอนนี้มีสิทธิ์คว่ำบาตรทุกบริษัท
            นี่คือหมายความหมายที่ซ่อนอยู่ของจุดยืนทำธุรกิจกับอิหร่านต่อ
หากทรัมป์คว่ำบาตรบริษัทเหล่านั้น อียูจะช่วยเอกชนของตนได้แค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ สุดท้ายการตัดสินใจอยู่ที่บริษัทเอกชนนั้นเอง
            ไม่ว่าความเข้าใจเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร หลายบริษัทระงับการดำเนินกิจการในอิหร่านแล้ว ตัวอย่างบริษัทใหญ่ๆ เช่น บรรษัทน้ำมันเทเทล (Total) เครือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ PSA และเรโน (Renault) ของฝรั่งเศส แม้กระทั่งบริษัทรถยนต์เดมเลอร์ เอจี (Daimler AG - รถเบนซ์) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าควรทำอย่างไร
            ถ้าหากไม่กลัว ทำไมต้องระงับธุรกิจกับอิหร่าน
อธิบายด้วยแนวคิดจักรวรรดินิยม :
บทความ Trump Goes From Threatening Iran to Threatening the World ของ คริสนาเดฟ กามามูร์ (Krishnadev Calamur) นำเสนออย่างน่าสนใจว่านโยบายต่ออิหร่านในขณะนี้ไม่ได้มุ่งเล่นงานอิหร่านเท่านั้น มีผลต่อทุกประเทศทั่วโลก มุ่งภาคเอกชนโดยไม่เลือกว่าเป็นบริษัทใด จากประเทศไหน
ไม่ได้มุ่งประเด็นการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้น ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านในขณะนี้มีเพื่อสันติเท่านั้น เหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ (เช่น ผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ใช้รังสีนิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง) การใช้นิวเคลียร์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด
ที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวหาอิหร่านเรื่องอื่นๆ คือ เรื่องสนับสนุนก่อการร้าย บ่อนทำลายคุกคามเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพวกซาอุฯ กับอิสราเอล เหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องอธิบายรายละเอียดซับซ้อน แต่ถ้ารัฐบาลอิหร่านยอมรับเท่ากับต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทั้งหมด แม้กระทั่งเปลี่ยนผู้ปกครองประเทศ
เท่ากับว่ากำลังข่มขู่บังคับให้อิหร่านสูญเสียอธิปไตย อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลสหรัฐนั่นเอง นี่คือการสำแดงความเป็นจักรวรรดินิยมของอเมริกาในยุคนี้
ทรัมป์ที่เอ่ยว่า “เพื่อสันติภาพโลก” น่าจะตีความได้ว่าคือสันติภาพที่สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว เป็นเจ้าโลก ประเทศอื่นๆ เอกชนทุกรายทุกคนต้องอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐ
            ในกรณีอิหร่าน อียูเป็นตัวอย่างที่ดี ความขัดแย้งเรื่องถอนตัวจากโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน คว่ำบาตรอิหร่าน เป็นประเด็นล่าสุดที่สมาชิกบางประเทศของอียูเห็นว่าอียูควรมีนโยบายต่างประเทศที่ถอยห่างจากอเมริกามากขึ้น มีอิสระมากขึ้น

ล่าสุด ไฮโค มาส (Heiko Maas) รมต.ต่างประเทศเยอรมันกล่าวว่าเยอรมันกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านต่อไป สหรัฐกำลังโดดเดี่ยวตัวเอง ความมั่นคงของตะวันออกกลางเป็นประโยชน์ต่อเยอรมัน หากระบอบอิหร่านล้มจะยิ่งก่อปัญหาหนักกว่าเดิม เยอรมันมีผลประโยชน์ของตัวเองที่ต้องรักษา
            การยืนยันจุดยืนที่แตกต่างของอียูเป็นการประกาศว่าอียูไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของอเมริกา (หรือลดน้อยลง)
ด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่าเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐละเมิดข้อมติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงประชาชาติ (เรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน) ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
            การอยู่เหนือกติกา เหนือกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอีกลักษณะเด่นของจักรวรรดินิยมอเมริกาที่มุ่งเขียนกติกาโลกเพื่อตัวเอง และฉีกกติกานั้นเมื่อเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์มากพอ โดยพูดว่าขอเจรจาใหม่ ดังที่ทรัมป์ขอเจรจากับอิหร่านใหม่อีกรอบ ซึ่งหมายถึงอิหร่านต้องสูญเสียอธิปไตย สหรัฐมีนิวเคลียร์ป้องกันประเทศได้ อิสราเอลมีได้ แต่อิหร่านห้ามมี อิสราเอลสามารถไล่รื้อที่ปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมาย แต่อิหร่านไม่สามารถทำสิ่งใดๆ แม้กระทั่งพูดจาต่อต้านต่อประเทศที่คุกคามตน มีแต่ทรัมป์ที่จะพูดอะไรอย่างไรก็ได้

แสดงพลังอำนาจของจักรวรรดินิยม :
            เรื่องราวที่เกิดกับอิหร่านสามารถอธิบายผ่านลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ที่ความเป็นจักรวรรดินิยมเน้นการมีอำนาจอิทธิพลหรือรัฐหรือประเทศอื่นๆ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศนั้นเข้าตัวเองให้มากที่สุด
            สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐทำต่ออิหร่านไม่ได้มุ่งหวังต่ออิหร่านเท่านั้น แต่เป็นการแสดงพลังอำนาจของจักรวรรดิ เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ยอมสยบ โดยใช้ยุทธศาสตร์สร้างศัตรู (เช่น ให้อิหร่านเป็นศัตรู)
หลักยุทธศาสตร์สร้างศัตรู คือ ทำให้เป้าหมายกลายเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัด จัดการ
ด้วยการยกหลักการหรือเหตุผลบางอย่างที่ร้ายแรงมากและมักเกินจริง เพื่อชี้ว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่ต้องจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเผชิญหน้าและแตกหัก
หลักการกับเหตุผลที่หยิบยกไม่จำต้องถูกต้อง เพราะเป้าหมายไม่ใช่เพื่อความถูกต้องสมเหตุผล เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งเพื่อสร้างศัตรูขึ้นมา

            ที่ควรตระหนักคือ ไม่ว่ายุคสมัยใด รัฐบาลสหรัฐจะต้องเล่นงานประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อแสดงพลังอำนาจ
            ยุคประธานาธิบดีทรัมป์แสดง “อำนาจ” ชัดเจนกว่าบางรัฐบาล ไม่ใช้วิธีปิดลับ ไม่ค่อยอ้างเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของตัวรัฐบาล อีกเหตุผลคือความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐกำลังถดถอย

            ถ้าอธิบายกรอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเล่นงานอิหร่านไม่มีผลโดยตรงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ แต่มีผลทางอ้อม เป็นการส่ง “คำเตือน” ถึงนานาชาติว่าหากไม่ยอมมอบผลประโยชน์แก่สหรัฐเท่าที่เขาต้องการ ประเทศนั้นอาจเป็น “ปรปักษ์” รายต่อไป
หนึ่งในผลประโยชน์ที่สหรัฐเป็นเจ้าโลกคือสามารถกดดันให้นานาประเทศใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นค่าเงินหลักเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
            ค่าเงินดอลลาร์ปัจจุบันเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้จ่ายเรื่อยๆ โดยกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในอนาคตหากนานาชาติยกเลิกหรือลดการใช้เงินสกุลดอลลาร์ ค่าเงินจะอ่อนค่ารุนแรง กระทบต่อเศรษฐกิจสังคมอเมริกาอย่างมหาศาล

คำถามที่ซ่อนอยู่และบวกแง่บวก :
ถ้าไม่เอ่ยเรื่องการเมืองระดับโลกที่บางคนคิดว่าไกลตัว คำขู่ล่าสุดของประธานาธิบดีทรัมป์มีคำถามที่ซ่อนอยู่คือ การที่บริษัทหนึ่งถูกห้ามทำธุรกิจกับสหรัฐจะส่งผลดีผลเสียต่อสหรัฐอย่างไร พลเมืองอเมริกันคือผู้ต้องจ่ายราคาแก่นโยบายเล่นงานอิหร่านของทรัมป์หรือไม่
            นี่คือคำถามสำคัญที่ยังรอคำตอบ
            ท้ายที่สุด ถ้ามองแง่บวกต่ออิหร่าน ในระยะยาวการคว่ำบาตรอาจไม่ส่งผลเป็นรูปธรรมมากนัก ญี่ปุ่น อินเดียและบางประเทศยังซื้อน้ำมันจากอิหร่านต่อไป บริษัทเอกชนหลายประเทศยังสามารถทำธุรกิจกับอิหร่าน เพราะอีกไม่นานทรัมป์จะอธิบายว่าการใช้มาตรการจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป หรือไม่ก็ทำเป็นหลับหูหลับตา ไม่รู้ไม่เห็น
            ประธานาธิบดีทรัมป์ก็เป็นเช่นนี้ ทั้งหมดขึ้นกับการเจรจา
12 สิงหาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7946 วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2561)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ทรัมป์ตอกย้ำอิหร่านภัยคือร้ายแรงที่สุดของอเมริกา
ทรัมป์ใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตีอิหร่านเรื่อยมา การพูดอีกรอบในช่วงนี้จึงอาจดูเหมือนไม่ใช่ของแปลกใหม่ แต่ถ้าคิดอย่างมีเหตุผล อาจเป็นการทดสอบปฏิกิริยาคนอเมริกันและอาจเล่นงานอิหร่านให้หนักกว่าเดิม
ไม่มีนิยามสากลว่าจันทร์เสี้ยวชีอะห์ครอบคลุมพื้นที่ใด คำตอบที่ถูกต้องไม่มี เพราะแท้จริงแล้วไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจน เป้าหมายที่สร้างขึ้นเพื่อจะทำลาย
แม้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะใช้เพื่อสันติเท่านั้น แต่รัฐบาลทรัมป์กลับไม่ลดระดับภัยคุกคาม ซ้ำยังยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์เพื่อคงการคว่ำบาตร แท้จริงแล้วการพูดถึงภัยคุกคามเป็นข้ออ้างมากกว่า

บรรณานุกรม :
1. EU foreign policy chief calls on firms to defy Trump over Iran. (2018, August 7). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2018/aug/07/eu-foreign-policy-chief-calls-on-firms-to-defy-trump-over-iran
2. Trump Goes From Threatening Iran to Threatening the World. (2018, August 7). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/08/trump-iran-tweet/566948/
3. Trump says anyone doing business with Iran will not be doing business with the United States. (2018, August 7). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1352391/middle-east
4. We will fight for JCPOA, German FM says. (2018, August 9). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/news/426317/We-will-fight-for-JCPOA-German-FM-says
-----------------------------
pán Vraný">unsplash-logoŠtěpán Vraný