สันตะปาปากับผู้นำชีอะห์สานสันติภาพโลกแห่งศตวรรษที่ 21

เป็นอีกครั้งที่ผู้นำศาสนาย้ำสันติภาพโลก การอยู่ร่วมกันแม้ต่างศาสนานิกาย ให้ศาสนิกชนดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง แสวงหาสันติภาพ ไม่ใช่ความเกลียดชัง

             การพบปะหารือระหว่างพระสันตะปาปาฟรานซิส (Francis) กับแกรนด์ อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี (Grand Ayatollah Ali Al-Sistani) ผู้นำทางจิตวิญญาณชีอะห์ในอิรัก ทั้งคู่เห็นตรงกันย้ำศาสนาต่อต้านสงคราม ต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และความขัดแย้งอันเนื่องจากต่างศาสนานิกาย การพบปะหารือระหว่างสันตะปาปากับผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์ในอิรักชื่นมื่น

            ต้นมีนาคมที่ผ่านมาพระสันตะปาปาฟรานซิสเยือนอิรักอย่างเป็นทางการ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น สันตะปาปาประกาศจุดยืนศาสนาหลายข้อ ย้ำให้ศาสนิกชนทุกนิกายศาสนาละความเกลียดชังต่อกัน มุ่งแสวงหาสันติภาพ ความสามัคคีแม้ต่างศาสนาความเชื่อ ย้ำว่าคำสอนแท้คือให้นับถือพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านของตน ให้ทุกคนเห็นว่าพระเจ้าทรงเมตตา ไม่ใช่เกลียดชังคนอื่น ความเป็นศัตรู ลัทธิสุดโต่ง (extremism) ความรุนแรงไม่ใช่แนวทางศาสนาแต่อย่างไร

            ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างสันติไม่ใช่ความเกลียดชัง พวกนับถือคริสต์ต้องรักคนอื่น

            และกล่าวถึงอิรักอย่างเจาะจงว่าสันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นหากชาวอิรักมองคนต่างความเชื่อว่าเป็นคนนอก (other)

            6 มีนาคม 2021 เป็นวันประวัตศาสตร์แห่งสันติภาพอีกวันเมื่อพระสันตะปาปาฟรานซิสเยือนแกรนด์ อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานีที่บ้านของท่านที่เมืองนาจาฟ (Najaf) อันเป็นศูนย์กลางศาสนาของชีอะห์อิรัก ทั้งคู่ร่วมประกาศการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

            เป็นปกติที่พระสันตะปาปาจะเสด็จเยือนประเทศต่างๆ หนึ่งในภารกิจสำคัญคือพบปะผู้นำศาสนานิกายอื่นๆ สานสัมพันธ์ ประกาศสันติภาพ การอยู่ร่วมกันโดยสันติ จะเห็นว่าในขณะที่ผู้นำประเทศบางคนสร้างพันธมิตรเพื่อทำสงครามแต่ฝ่ายศาสนาสานสัมพันธ์เพื่อสันติภาพโลก

            สันตะปาปาฟรานซิสให้สัมภาษณ์โดยยกคำพูดของอยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานีว่า “มนุษย์ล้วนเป็นพี่น้องกันทั้งจากศาสนาหรือไม่ก็การทรงสร้าง (ของพระเจ้า)” และชี้ว่าการพบปะครั้งนี้เป็นการส่งสารสากลสู่โลก (universal message) เป็นสารร่วมระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม

            แถลงการณ์ของแกรนด์ อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี ความตอนหนึ่งระบุว่าท่านได้กล่าวต่อสันตะปาปาว่าพวกนับถือคริสต์ในอิรักสมควรอยู่อย่างสันติปลอดภัยและได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญทุกประการ พร้อมปกป้องพวกนับถือคริสต์จากผู้ก่อการร้าย (ในบริบทหมายถึงไอซิส)

            อยาตุลเลาะห์ซิสตานีชี้ว่าผู้นำจิตวิญญาณคือผู้ยับยั้งโศกนาฏกรรม หลีกเลี่ยงสงคราม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผู้ปกครองประเทศ เคารพสิทธิของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่จะใช้ชีวิตอย่างเสรีและมีศักดิ์ศรี (dignity)

            สารสันติภาพของสันตะปาปากับผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์ไม่ใช่เรื่องเฉพาะ 2 ศาสนานิกายเท่านั้น เป็นการประกาศว่าทุกศาสนานิกายรักสันติ ปรารถนาอยู่ร่วมกันแม้ต่างความเชื่อ

ศาสนากับทฤษฎีสัจนิยม :

            ผู้นำจิตวิญญาณทั้ง 2 ท่านเอ่ยความแตกต่างระหว่างศาสนากับผู้ปกครองประเทศบางคน ศาสนาสอนให้อยู่ร่วมกันโดยสันติ ส่วนผู้ปกครองคิดถึงสันติเช่นกันแต่เป็นสันติในกรอบประชาชนตนเอง ผู้ปกครองหลายประเทศย้ำเน้นความมั่นคงปลอดภัยของประเทศตามแนวสัจนิยม (Realism)

            ทฤษฏีสัจนิยม (Realism) ยึดหลักว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นผู้ที่เหตุผลความคิดไม่สมบูรณ์ นำสู่การใช้กำลังเมื่อผลประโยชน์ขัดกัน เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน เพื่อความอยู่รอดควรทำทุกอย่างแม้กระทั่งชิงลงมือบั่นทอนทำลายประเทศอื่นก่อน

            การที่สัจนิยมตีความบริบทโลกที่รัฐต่างๆ จ้องทำร้ายทำลายอีกฝ่าย เป็นแหตุรัฐทั้งหลายให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐมากที่สุด เพราะที่สุดแล้วไม่มีประเทศใดองค์กรระหว่างประเทศใดที่จะประกันความอยู่รอด มุมมองเช่นนี้สร้างความหวาดระแวงต่อกันไม่จบสิ้น

            สัจนิยมเห็นว่าไม่ควรยึดหลักศาสนาความเชื่อเต็มที่ ควรหาจุดสมดุลของผลประโยชน์และยุติความขัดแย้ง พยายามสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลในโลกพหุสังคม ไม่ยึดอุดมคติที่เลื่อนลอย ยอมรับสิ่งที่ชั่วร้ายน้อยกว่าแทนความดีสัมบูรณ์ (absolute good) แนวคิดอยู่รอดร่วมกันเป็นความคิดของคนอ่อนต่อโลก ยึดหลักว่ามนุษย์ทั่วไปใจบาปหยาบช้าคิดแต่ประโยชน์ตัวเองพร้อมเอาเปรียบผู้อื่น คิดหาสารพัดกลโกง เห็นด้วยกับใช้ความรุนแรง ถ้าหลอกไม่สำเร็จก็ต้องเข้าปล้นชิง

            โลกทัศน์ในแบบศาสนากับสัจนิยมจึงต่างกัน ต้องยอมรับว่าผู้ปกครองประเทศส่วนใหญ่ยึดแนวสัจนิยม เป็นที่มาของความขัดแย้ง สงคราม ฯลฯ ดังปรากฏในปัจจุบัน

            ตรงข้ามกับแนวคิดนี้คือการแสวงหาความร่วมมือผูกพันในมิติต่างๆ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ในทุกระดับตั้งแต่ระดับรัฐจนถึงประชาชน หากดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโอกาสที่ทำสงครามจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

ศาสนากับศาสนา :

            การสานสันติภาพร่วม 2 ผู้นำจิตวิญญาณส่งผลต่อความขัดแย้งระหว่างศาสนาด้วย ทั้งคู่ย้ำชัดให้อยู่ร่วมกันโดยสันติแม้ต่างความเชื่อ

            ความขัดแย้งระหว่างศาสนาเป็นอีกประเด็นที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลและคงอยู่จนถึงปัจจุบัน สงครามครูเสด (ค.ศ.1097-1291) เป็นหนึ่งเรื่องราวที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดซ้ำ

            ทุกวันนี้มีนักการศาสนา นักการเมือง นักวิชาการบางคนบางกลุ่มพยายามปลุกกระแสสงครามครูเสดใหม่ (neo-crusade) ซึ่งมักตีความว่าคือความขัดแย้งระหว่างพวกตะวันตกที่นับถือคริสต์กับมุสลิม

            เซมวล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) นักวิชาการเลื่องชื่อสหรัฐแต่งหนังสือ การปะทะกันระหว่างอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order) ชี้ว่าความขัดแย้งหลังยุคสงครามเย็นคือความความขัดแย้งทางศาสนาวัฒนธรรม และจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จะฆ่าฟันทำลายล้างกันด้วยเหตุนี้

            ชี้ว่าอนาคตจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลาม ทั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาจาก การนำเอาหลักการอิสลามมาปฏิบัติใช้อย่างถูกต้อง” (Islamic fundamentalism) หรือ พวกยึดมั่นในหลักอิสลามเท่านั้น แต่คือการมีปัญหากับอิสลาม (หมายถึงอิสลามในความหมายครอบคลุม) เหตุเพราะต่างเห็นว่าตนเป็นอารยธรรมที่สูงส่งกว่า

            หลักคิดของฮันติงตันสรุปรวบยอดได้ว่าโลกกำลังแบ่งแยกด้วยศาสนา ในอนาคตศาสนาจะเป็นตัวแทนประเทศ เป็นตัวแทนกลุ่มประเทศ (ที่ใช้คำว่า “อารยธรรม”) ความสัมพันธ์และความขัดแย้งทั้งสิ้นตั้งอยู่บนเหตุผลเรื่องศาสนาเป็นหลัก ถ้าเข้ากันได้จะร่วมมือกัน ถ้าเข้ากันไม่ได้จะขัดแย้งกัน ถึงขั้นทำสงครามระหว่างอายธรรม

            ข้อวิพากษ์คือทุกวันนี้ผู้นับถือคริสต์ในสหรัฐกับยุโรปนับวันจะลดน้อยลง คนที่ยึดมั่นศาสนาความเชื่อลดน้อยลง อีกทั้งมุสลิมในยุโรปเพิ่มมากขึ้นทุกที ดังนั้นจะบอกว่าประเทศสหรัฐกับชาติยุโรปเป็นตัวแทนศาสนาคริสต์ไม่น่าจะถูกต้องและไม่ถูกต้องอยู่แล้ว (สหรัฐไม่มีศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพการนับถือศาสนา พลเมืองอเมริกันนับถืออิสลามหลายล้านคน)

            การพูดถึงสงครามศาสนาเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองประเทศ นักการเมือง นักวิชาการ นักการศาสนาบางคนบางกลุ่มบิดเบือน พยายามย้อนประวัติศาสตร์สงครามครูเสดอย่างที่ต้องการ หวังปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา คนเหล่านี้หวังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายของตน เพราะรู้ดีว่าศรัทธาเป็นพลังอันแรงกล้าสามารถผลักดันคนให้ทำสิ่งต่างๆ

            ทั้งสันตะปาปากับผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์ประกาศชัดว่าทุกศาสนานิกายสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ ละความเกลียดชังต่อกัน ไม่สนับสนุนความขัดแย้งทางศาสนา ไม่มีครูเสดอีกแล้ว การปะทะทางวัฒนธรรมเป็นแนวทางบิดเบือนศาสนา

            การพบปะพูดคุยระหว่าง 2 ผู้นำศาสนาที่ประเทศอิรักรอบนี้ เป็นอีกครั้งที่ผู้นำศาสนาย้ำสันติภาพโลก การอยู่ร่วมกันแม้ต่างศาสนา และเป็นอีกครั้งที่ผู้นำศาสนาย้ำให้ศาสนิกชนดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง แสวงหาสันติภาพไม่ใช่ความเกลียดชัง

            ผู้เข้าถึงสติปัญญาจะพบว่าสันติภาพแท้เริ่มต้นในใจเรา

14 มีนาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8888 วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564)

--------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง: 
ทรัมป์กับ The Clash of Civilizations ของฮันติงตัน
บทความนี้วิเคราะห์การหาเสียงของทรัมป์ในประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” ที่เชื่อมโยงกับแนวนโยบายของพรรครีพับลิกัน เชื่อมโยงกับแนวคิดการปะทะกันระหว่างอารยธรรมของฮันติงตันที่นับวันจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น (หรือถูกชักนำให้เข้าใจ) ในความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะยอมรับหรือไม่ว่าคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แม่บท

จุดอ่อนของฮันติงตันใน The Clash of Civilizations (2)
ความเชื่อศาสนาคริสต์ไม่ใช่ตัวแทนของอารยธรรมตะวันตก เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ระบบการค้าอิงหลักคุณธรรมไม่ใช่ความโลภ ความมั่งคั่งมีเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม ปัจเจกมีเสรีภาพแต่เป็นเสรีภาพภายใต้หลักศาสนา ส่วนอิสลามเน้นรักสันติ ไม่สุดโต่ง มุสลิมทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นผู้รักสันติ ไม่ใช่พวกสุดโต่งหัวรุนแรง ต่อต้าน IS อัลกออิดะห์ แต่ฮันติงตันยังพยายามชักนำให้เกิดสงครามศาสนา
จุดอ่อนของฮันติงตันใน The Clash of Civilizations (3)
บางครั้งการวิเคราะห์โดยตั้งอยู่บนศาสนาสร้างความสับสนไม่น้อย ยกตัวอย่าง ชายพุทธคนหนึ่งข่มขืนแล้วฆ่าหญิงชาวพุทธ อย่างนี้เป็นประเด็นศาสนาหรือไม่ อเมริกาคือประเทศที่มีสถิติข่มขืนสูงมาก จะอธิบายว่าพวกคริสต์มักข่มขืนพวกคริสต์ด้วยกันเองหรือไม่ ควรอธิบายอย่างนี้หรือไม่ว่าถ้าชายบ้ากามคนนี้ข่มขืนหญิงศาสนาเดียวกันก็เพราะ “ความบ้ากาม” แต่ถ้าข่มขืนหญิงต่างศาสนาจะกลายเป็น “การปะทะระหว่างอารยธรรม”

บรรณานุกรม:

1. AS IT HAPPENED: Pope Francis meets Grand Ayatollah Ali Al-Sistani. (2021, March 6). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/1820746/middle-east

2. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.

3. Morgenthau, Hans J., Kenneth, Thompson. (1993). Politics among Nations: The Struggle for Power and Peace (6th ed.). New York: McGraw-Hill, Inc.

4. Pope Francis meets Iraq's Grand Ayatollah Al-Sistani. (2021, March 6). Vatican News. Retrieved from https://www.vaticannews.va/en/pope/news/2021-03/pope-francis-meets-grand-ayatollah-al-sistani.html

5. The Pope-Sistani riddle. (2021, March 9). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2021/03/the-pope-sistani-riddle/

6. Tyerman, Christopher. (2009). The Crusades: A Brief Insight. New York: Sterling Publishing.

--------------------------