จุดอ่อนของฮันติงตันใน The Clash of Civilizations (3)

The Clash of Civilizations ระบุว่าโลกในอนาคตจะไม่แบ่งแยกด้วยอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจ แต่จะแบ่งแยกด้วยวัฒนธรรม (culture) ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญความเชื่อศาสนา (วัฒนธรรมประกอบด้วยหลายอย่างแต่ศาสนาเท่านั้นที่มีอิทธิพลสูงสุด ศาสนาเป็นตัวแบ่งแยกอารยธรรม) ความความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
            อย่างไรก็ตาม ประเทศที่นับถือศาสนาเดียวกันกับประเทศต่างศาสนาแต่มีผลประโยชน์ร่วมจะจับขั้วต่อต้านขั้วตรงข้าม ตัวอย่างที่พูดถึงคือขั้วจีน-อิสลาม (Sino-Islamic) กับขั้วยิว-คริสเตียนตะวันตก (Judeo-Christian West)
            ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับศาสนามีอยู่จริง บางคนอาจสรุปว่าชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่สัมพันธ์กับนิกายคาทอลิก ชาวอเมริกันสัมพันธ์กับโปรเตสแตนท์ อาหรับเป็นซุนนี อิหร่านเป็นชีอะห์ แม้กระทั่งมุสลิมยุโรปจำนวนมากยังมองว่าตัวเองเป็นมุสลิมมากกว่าพลเมืองสัญชาติยุโรป
ความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดของฮันติงตันคือความคิดที่ว่าความแตกต่างทางความเชื่อศาสนา/อารยธรรมจะนำสู่การเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นทำสงคราม สงครามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะอุบัติด้วยสาเหตุนี้
            ถ้าจะตอบแบบสรุปง่ายๆ ตามแวดวงวิชาการกระแสหลัก Kenneth Schultz สำรวจงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าความแตกต่างทางอารยธรรม ก่อให้เกิดการแยกระหว่าง “พวกเขา” กับ “พวกเรา” แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลกับปัจเจกจะตัดสินใจร่วมมือหรือไม่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม
            ไม่มีกฎบังคับว่าถ้าต่างอารยธรรมต้องต่อสู้กัน ฮันติงตันก็ยอมรับว่าบางศาสนาจะร่วมมือกัน แนวคิดเช่นนี้เป็นพวกสวนกระแส

ชาวตะวันตกยึดมั่นศาสนาหรือ :
หลักคิดของฮันติงตันคืออารยธรรมจะขัดแย้งด้วยความแตกต่างทางศาสนา คำถามที่ควรนึกถึงอีกข้อคือ ชาวตะวันตกชาวอเมริกันปัจจุบันยึดถือศาสนาคริสต์จริงจังเพียงไร  
            ถ้ามองประวัติศาสตร์อเมริกานับจากก่อตั้งประเทศเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน มีคำถามว่าคนอเมริกันจะออกไปทำสงครามเพื่อปกป้องหรือขยายศาสนาหรือ ข้อมูลที่ปรากฏคือตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลจากความเชื่อศาสนานับวันจะลดน้อยลง (โดยเฉพาะศาสนาคริสต์) สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทำนองเดียวกับยุโรปโดยเฉพาะยุโรปตะวันตก
            ถ้าศาสนาคริสต์ไม่เป็นตัวแทนของสหรัฐๆ ก็ไม่น่าจะออกไปทำสงครามใหญ่ด้วยเหตุผลความขัดแย้งทางศาสนา 

            ฮันติงตันพยายามดึงศาสนาให้กลับมามีความสำคัญสูงสุดเหนืออุดมการณ์การเมือง ระบอบเศรษฐกิจ อำนาจชนชั้นปกครอง ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าโลกตะวันตกพัฒนาฝ่ายวัตถุเป็นหลัก ความเชื่อเรื่องศาสนาสำหรับหลายคนเป็นเรื่องล้าสมัย 

พอจะอธิบายได้ว่าเมื่อตะวันตกเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 หรือเข้าสู่ยุค Enlightenment (ยุคเรืองปัญญา/ยุคแห่งภูมิธรรม/ยุคแห่งการรู้แจ้ง) มนุษย์ให้ความสำคัญกับการถกกันด้วยเหตุผล เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเชิงวัตถุ ความคิด นักวิชาการบางคนเรียกยุคนี้ว่า “Age of Reason” น่าจะเป็นเพราะต้องการแยกตัวออกจากศาสนาที่ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เห็นว่าด้วยการใช้เหตุผลมนุษย์สามารถบรรลุชีวิตที่เปี่ยมสุขด้วยไม่ต้องอาศัยศาสนา
เกิดการแยกอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายศาสนากับสิ่งที่เป็นฝ่ายโลก (secularism)
            ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่าง อดัม สมิทธ (Adam Smith) นำเสนอเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เกิดการปฏิวัติในสหรัฐและฝรั่งเศส ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่จะเป็นกรอบกฎหมาย มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียม

ที่ไม่ควรละเลยคือ ในยุคนี้ยังพูดถึงลักษณะของมนุษย์ที่เป็นผู้ไม่ยึดเหตุผล แต่ยึดความใคร่รัก (passions) ความปรารถนา (desires) สัมผัสรู้สึกต่างๆ (sensations) ยอมรับว่ามนุษย์มีความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล แต่ในอีกมุมหนึ่งมนุษย์ไม่ได้ดำเนินชีวิตด้วยเหตุผลตลอดเวลา แต่อยู่กับอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการเชิงอารมณ์ บ่อยครั้งมนุษย์จึงกระทำสิ่งที่ไร้เหตุผล ขัดกับเหตุผล สะท้อนออกมาผ่านศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม บ่งบอกอารมณ์ของปัจเจก
            อธิบายได้ว่าการละเลยศาสนาทำให้มนุษย์สนใจตัวเอง หรือในทางกลับกันคือมนุษย์สนใจตัวเองจึงละเลยศาสนา สิ่งนี้เอื้อให้ปัจเจกปลดปล่อยตัณหา ประพฤติตามอารมณ์ความรู้สึก ไม่ยึดเหตุผล กฎเกณฑ์ศาสนา สิ่งที่เรียกกว่ายุค Enlightenment จึงไม่ได้หมายถึงความเป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ ผู้มีปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงยุคที่มนุษย์ปล่อยตัวตามความต้องการของตัณหา ไม่ยอมอยู่ใต้การบังคับของความเชื่อศาสนา ถือศาสนาเพียงบางส่วนตามที่ใจชอบ
             แนวคิดทุนนิยม ปัจเจกนิยมลดทอนความสำคัญของศาสนา พูดให้ชัดคือเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับทุกศาสนา

ถ้าพิจารณาเฉพาะในกรอบชาติตะวันตก ลองคิดว่าดูปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยึดถือศาสนาอย่างจริงจังมากเพียงใด แท้จริงแล้วคนจำนวนมากเป็นพวกไม่มีศาสนาหรือนับถือแต่ผิวเผิน ฮันติงตันยังยอมรับว่าศีลธรรมสหรัฐเสื่อมโทรม (moral decline) มีปัญหายาเสพติด อาชญากรรม นิยมความรุนแรง ครอบครัวแตกแยก คู่แต่งงานหย่าร้างมากขึ้น ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน

            Catherine L Albanese ชี้ว่านับตั้งแต่การกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ความเชื่อศาสนาคริสต์ของสหรัฐปะปนกับค่านิยมทางโลกมาขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ยังระบุว่านับถือคริสต์ แต่ยิ่งนับวันวิถีชีวิตจะห่างไกลจากความเชื่อ เมื่อเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 21 บางส่วนพยายามหันกลับไปแสวงหาหลักความเชื่อศาสนาดั้งเดิม บางส่วนหันไปนับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ
ดังนั้น พลังศาสนาจึงยากจะขับเคลื่อนสังคมทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบถวายหัว เป็นเรื่องแปลกและขัดแย้งกันเองเมื่อฮันติงตันยังอ้างสังคมอเมริกันกับตะวันตกว่าเป็นสังคมที่จะขับเคลื่อนจากอิทธิพลของศาสนา นักวิชาการจำนวนมากไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้

            การถอยห่างจากศาสนาเกิดกับศาสนาอื่นเช่นกัน มุสลิมบางคนไม่แตกต่างจากศาสนิกชนศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ได้ยึดถือศาสนาอย่างเคร่งครัด บางคนอาจละหมาดครบวันละ 5 ครั้ง บางคนไม่ครบ ลำพังการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่างอาจไม่สามารถระบุตัวตนที่ถูกต้อง เป็นที่มาของการฟื้นฟูหลักการบริสุทธิ์ของอิสลามครั้งแล้วครั้งเล่า
ส่วนกรณีจีนไม่มีข้อบ่งชี้ใดเลยว่าอิทธิพลความเชื่อแบบขงจื๊อจะผลักดันให้ปะทะกับอารยธรรมตะวันตก ยิ่งกว่านั้นต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าคนจีนส่วนใหญ่นับถือความเชื่อศาสนาใด

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
บางครั้งการวิเคราะห์โดยตั้งอยู่บนศาสนาสร้างความสับสนไม่น้อย ด้วยความเคารพต่อทุกศาสนา ต่อทั้งชายกับหญิง ขอยกตัวอย่างว่า ชายพุทธคนหนึ่งข่มขืนแล้วฆ่าหญิงชาวพุทธ หลังออกจากคุกด้วยคดีข่มขืนไม่ถึงเดือน อย่างนี้เป็นประเด็นศาสนาหรือไม่ อเมริกาคือประเทศที่มีเหตุข่มขืนสตรีถี่มาก จะอธิบายว่าพวกคริสต์มักข่มขืนพวกคริสต์ด้วยกันเองหรือไม่

สมัยสงครามเย็นตอนต้น รัฐบาลคอมมิวนิสต์รัสเซียส่งกองทัพเข้าควบคุมหลายประเทศในยุโรปตะวันออก ทำลายสถาบันศาสนาทุกศาสนา จะเรียกว่าศาสนา “คอมมิวนิสต์” ทำลายศาสนาคริสต์ อิสลาม ยิว ฯลฯ หรือไม่ (รวมทั้งที่เกิดกับประเทศอื่น เช่น เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา)
จริงหรือที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชส่งกองทัพโค่นล้มซัดดัมเพราะกำลังทำสงครามครูเสด ถ้าคิดว่าเป็นเช่นนั้น การที่รัฐบาลสหรัฐปิดล้อมบ่อนทำลายโซเวียต สนับสนุนโค่นล้มรัฐบาลอื่นๆ ในหลายประเทศ เช่นนี้เป็นครูเสดหรือสงครามศาสนาไม่

นักการเมืองสหรัฐบางคนต้องการกีดกันคนตะวันออกกลางอพยพเข้าประเทศ ถูกตีความเป็นเรื่องศาสนา รัฐบาลสหรัฐได้สร้างกำแพงกั้นชายแดนประเทศกับเม็กซิโกยาวกว่าพันกิโลเมตร หวังป้องกันคนเม็กซิโก คนลาตินอเมริกันเข้าประเทศ อย่างนี้ไม่ถูกตีความว่าเป็นเรื่องศาสนา
เกิดคำถามว่าควรมองเรื่องรับคนต่างชาติเข้าเมืองอย่างไร ต้องเป็นเรื่องศาสนาเท่านั้นหรือไม่ อะไรคือเหตุผลหลักของการรับไม่รับคนต่างชาติเข้าเมือง

ดูเหมือนว่าบางคนมักตีความว่าถ้าเป็นเรื่องมุสลิมกับคนต่างศาสนา จะเป็นเรื่องศาสนา เป็นสงครามศาสนา การปะทะระหว่างอารยธรรม
กลับไปที่ตัวอย่างชายบ้ากาม ควรอธิบายอย่างนี้หรือไม่ว่า ถ้าชายบ้ากามคนนี้ข่มขืนหญิงศาสนาเดียวกันก็เพราะ “ความบ้ากาม” แต่ถ้าข่มขืนหญิงต่างศาสนาจะกลายเป็น “การปะทะระหว่างอารยธรรม”

ถ้ามองแบบวิชาการกระแสหลัก แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลสหรัฐต้องการครอบงำทั้งโลก ต้องการตักตวงผลประโยชน์จากทุกประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว จึงไม่ได้กระทำเฉพาะต่อมุสลิมหรือบางศาสนาความเชื่อเท่านั้น
จะอธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลสหรัฐว่ากำลังทำสงครามศาสนากับทุกประเทศทั่วโลกหรือไม่ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในอเมริกาใต้กับลาตินอเมริกาที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือคริสต์
ในบางกรณีความแตกต่างทางศาสนามีส่วน แต่ไม่ใช่แนวทางที่จะใช้อธิบายทุกอย่าง ไม่สามารถให้คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป และอาจทำให้หลงประเด็น

สังคมตะวันตกทุกวันนี้มัวเมาด้วยกิเลสตัณหา ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ลุ่มหลงสุรานารี ลัทธิวัตถุนิยมระบาด ศาสนาคริสต์ (กับทุกศาสนา) ไม่ได้สอนให้ประพฤติเช่นนั้นแน่นอน ความเป็นไปของสังคมตะวันตกจะอธิบายว่าเพราะรัฐบาลพวกเขาพยายามชักจูงให้ประชาชนออกห่างจากศาสนา หรือเป็นเพราะเหตุผลอื่นๆ เช่น เรื่องที่คนลุ่มหลงกิเลสตัณหา เรื่องที่ธุรกิจหากินกับสิ่งเหล่านี้ หรือด้วยเหตุผลหลายอย่างรวมกัน
แน่นอนว่ารัฐบาลตะวันตกต้องการให้มุสลิมออกห่างจากศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลตะวันตกคือตัวแทนศาสนาคริสต์ที่จะทำลายอิสลาม เพราะพวกเขาทำลายการนับถือคริสต์ในประเทศของเขาอยู่แล้ว
เช่นนี้ จะเรียกว่าปัจจุบันมีสงครามครูเสดหรือไม่ หรือควรจะอธิบายอย่างไร เรื่องนี้ควรไตร่ตรองอย่างรอบด้านและรอบคอบ หาคำตอบที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ
21 สิงหาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7227 วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2559)
----------------------------
ความที่เกี่ยวข้อง
ความเชื่อศาสนาคริสต์ไม่ใช่ตัวแทนของอารยธรรมตะวันตก เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ระบบการค้าอิงหลักคุณธรรมไม่ใช่ความโลภ ความมั่งคั่งมีเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม ปัจเจกมีเสรีภาพแต่เป็นเสรีภาพภายใต้หลักศาสนา ส่วนอิสลามเน้นรักสันติ ไม่สุดโต่ง มุสลิมทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นผู้รักสันติ ไม่ใช่พวกสุดโต่งหัวรุนแรง ต่อต้าน IS อัลกออิดะห์ แต่ฮันติงตันยังพยายามชักนำให้เกิดสงครามศาสนา
บรรณานุกรม:
1. Albanese, Catherine L. (2005). CHRISTIANITY: CHRISTIANITY IN NORTH AMERICA. In Encyclopedia of Religion (2nd Ed., pp.1708-1717). USA: Thomson Gale.
2. El Fadl, Khaled Abou. (2005).The Great Theft: Wrestling Islam from the Extremists. Australia: HarperCollins Publishers.
3. Gonzalez, Juan. (2011). Harvest of Empire: A History of Latinos in America (Revised Ed.). London: Penguin Books.
4. Griffiths, Martin., Roach, Steven C., & Solomon, M. Scott., (2009). Fifty Key Thinkers in International Relations (2nd Ed.). Oxon: Routledge.
5. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.
6. Köchler, Hans. (2014). Civilization as Instrument of World Order? In Dallmayr, Fred., Kayapınar, M. Akif., & Yaylacı, Ismail. (Eds.), Civilizations and World Order: Geopolitics and Cultural Difference (pp.19-34). UK: Lexington Books.
7. Reill, Peter Hanns. (2004). Introduction. In Encyclopedia Of The Enlightenment (Revised Ed., pp.ix-xi). New York: Book Builders Incorporated.
8. Schultz, Kenneth, (2013). Domestic Politics and International Relations. In Handbook of International Relations (2nd Ed., pp.478-502). London: SAGE Publications.
9. Tyerman, Christopher. (2009). The Crusades: A Brief Insight. New York: Sterling Publishing.
10. Varon, Ari. (2013). Islamic Identity Politics and European Polity. In International Relations and Islam: Diverse Perspectives (pp.111-138). UK: Cambridge Scholars Publishing.
-----------------------------