ความเข้าใจผิดเรื่องการก้าวขึ้นมาของจีน

จีนยุคสังคมนิยมต่างจากอาณาจักรจีนโบราณและไม่อาจเหมือนได้เพราะบริบทโลกต่างกันมาก อีกทั้งจีนสังคมนิยมปัจจุบันต่างจากสมัยเหมา รัฐบาลจีนจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่เป็นเรื่องคาดเดายาก

            แม้รัฐบาลจีนจะเอ่ยการฟื้นฟูชาติ ระลึกประวัติศาสตร์ที่เคยยิ่งใหญ่และช่วงเวลาอันขมขื่นถูกต่างชาติรุกราน ประกาศว่าต้องการฟื้นฟูเป็นชาติมหาอำนาจ (Great Power) แต่เป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าจีนในอนาคตจะคล้ายจีนในสมัยราชวงศ์ เหตุเพราะทั้งปัจจัยภายนอกกับภายนอกประเทศที่แตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายร้อยหรือหลายพันปีก่อน

            บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดพอสังเขปดังนี้

เหตุปัจจัยภายใน :

          ประการแรก ผู้ปกครองจีนคำนึงภาพรวมมากกว่าอดีต

            การปกครองปัจจุบันซับซ้อนกว่าอดีตกาลมาก คณะผู้ปกครองปัจจุบันไม่ใช่ฮ่องเต้โอรสแห่งสวรรค์อีกแล้ว ทุกวันนี้ประชาชนจีนมีประชาธิปไตยแสดงความคิดเห็นได้ระดับหนึ่ง ในอนาคตผู้ปกครองจีนจะเปิดให้พลเมืองมีส่วนร่วมมากขึ้นภายใต้กรอบที่กำหนด ฮ่องกงเป็นตัวอย่างเปิดโอกาสให้ใช้ 1 ประเทศ 2 ระบบซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างยอมรับสภาพตามจริงแต่ทั้งนี้ต้องไม่ล้ำเส้น เช่น ขอแยกประเทศ ขอบริหารจัดการตัวเอง

            การบริหารจัดการจีนเปรียบเหมือนปิรามิด ฐานล่างคือประชาชน ขยับสูงขึ้นมาทีละขั้นคือผู้ปกครองจากล่างขึ้นบน ชั้นล่างสุดมีเสรีภาพทางความคิดมากสุด ผู้ที่สามารถขยับขึ้นข้างบนนอกจากมีความรู้ความสามารถจะต้องยึดมั่นระบอบการปกครองจีน (ยิ่งอยู่ชั้นบนกรอบความคิดยิ่งเข้มงวด) คณะผู้ปกครองชั้นบนสุดคือกลุ่มที่ยึดมั่นสังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน (socialism with Chinese characteristics)

          ประการที่ 2 พลเมืองจีนเป็นพวกวัตถุนิยม

            ในยุคประธานเหมาชายและหญิงใส่ชุดสีเทาหรือน้ำเงินเข้ม การแต่งหน้าตาทาสวมเครื่องประดับล้วนเป็นเรื่องต้องห้าม เหตุเพราะเป้าหมายคอมมิวนิสต์คือสังคมไร้ชนชั้น แต่จีนยุคนี้ผู้ชายฝันอยากหาเงินมากๆ ขับรถคันโก้ มีภรรยาสวยๆ ผู้หญิงหลายคนหาเงินเพื่อให้ตัวเองสวยขึ้นเผื่อจะได้สามีรวยๆ ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบาย เป็นสังคมวัตถุนิยม เศรษฐีพันล้านเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด

            กุมภาพันธ์ 2014 ประธานาธิบดีสีย้ำยึดมั่นแก่นหลักสังคมนิยม ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกนายใช้ทุกโอกาสส่งเสริมค่านิยมสังคมนิยม หลายปีที่ผ่านมามีข้อวิพากษ์ค่านิยมเสื่อมถอย คำถามคืออย่างไรที่เรียกว่า สังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีนคืออย่างที่เป็นอยู่ใช่หรือไม่ เป็นสังคมนิยมที่หันเข้าหาทุนนิยมเสรีใช่หรือไม่

          ประการที่ 3 ความเหลื่อมล้ำ

            มีข้อมูลว่าตั้งแต่เศรษฐกิจจีนพัฒนาเติบโตก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ชาวชนบทหลายร้อยล้านคนยังยากจนแบบชนบท พวกที่อยู่ในเมืองมีรายได้สูงกว่า พวกที่อยู่ในเมืองยังแบ่งเป็นพวกที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกับกรรมกรรายได้ต่ำ สมัยประธานาธิบดีหู จินเทา (Hu Jintao) พยายามลดช่องว่างรายได้ ช่วยเหลือชาวนาผู้ยากไร้ ทุ่มเทให้กับพื้นที่ชั้นในของประเทศ

            ในสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีโครงการพัฒนามณฑลห่างไกลมากมาย ก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทุ่มงบประมาณพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญแบบเมือง BRI คืออีกยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาพื้นที่ทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำ

            สังคมนิยมต่อต้านชนชั้นกับความเหลื่อมล้ำแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ น่าติดตามว่ารัฐบาลจีนจะจัดการได้ดีเพียงไร

          ประการที่ 4 สิ่งที่คนจีนต้องการ

            สิ่งที่คนจีนต้องการไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ คือชีวิตที่มีความสุขปลอดภัย มีกินมีใช้ มีโอกาสเจริญก้าวหน้า ต้องยอมรับว่าคนจีนยุคนี้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สุขสบายจากวัตถุกว่าอดีต ทั้งหมดเป็นผลจากระบอบการปกครองปัจจุบันที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยตะวันตก

            เป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าสังคมนิยมจีนปัจจุบันคือคนจีนไร้เสรีภาพ ถูกชนชั้นปกครองกดขี่ข่มเหง (แม้มีเป็นบางกรณี) อดยากปากแห้ง ล้าหลังด้อยพัฒนา

เหตุปัจจัยภายนอก :

            ในขณะที่ปัจจัยภายในบ่งชี้จีนต้องการก้าวขึ้นมาโดยสันติ ความคาดหวังพื้นฐานของคนจีนไม่ต่างจากคนชาติอื่น ปัจจัยภายนอกให้มุมมองที่หลากหลายกว่าดังนี้

          ประการแรก บริบทโลกปัจจุบันไม่ใช่แบบโบราณกาล

            เป็นความคิดที่ผิดถ้าคิดว่าจีนกำลังหวนสู่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นอดีตกาล เหตุเพราะบริบทโลกปัจจุบันต่างจากหลายร้อยหลายพันปีก่อน กลุ่มผู้ปกครองจีนไม่สามารถครอบงำโลกหรือแม้กระทั่งคนจีนตามแบบฉบับเดิมอีกแล้ว ประเทศใหญ่น้อยพยายามดิ้นรนเป็นตัวของตัวเอง ระบบโลกเป็นพหุภาคี ในยุคนี้การทำสงครามใหญ่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศใด

            น่าแปลกใจที่นักวิชาการหลายคนยังคิดว่าจีนมองโลกแบบอดีตกาลที่ยึดว่าตนเป็นศูนย์กลางของประเทศทั้งปวง (พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคิดแบบนั้นหรือ) ความจริงคือจีนรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตน ยอมรับรูปแบบการปกครองที่หลากหลาย ยอมรับอธิปไตยของทุกประเทศ

            อย่างไรก็ตามจอห์น เมียสไฮเมอร์ (John Mearsheimer) ใช้แนวคิด Offensive Realism ฟันธงว่าในที่สุดจีนจะใช้ความรุนแรงเพื่อให้ตนเป็นเจ้าภูมิภาคเอเชียเหมือนสหรัฐในปลายศตวรรษที่ 18 เพื่อครองความเป็นเจ้าในแถบทวีปอเมริกา การที่จีนย้ำอยู่เสมอว่าต้องการก้าวขึ้นมาอย่างสันติจะเป็นหลักฐานในตัวเอง นานาชาติจะตัดสินว่าจีนเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

            จีนที่มีสติปัญญาคือจีนที่วางตัวเป็นมิตรกับนานาชาติ ไม่ข่มขู่คุกคามด้วยกำลังทหารหรือเข้าล้มล้างรัฐบาลประเทศอื่นๆ ประเทศที่เจริญคือทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุขตามอัตภาพ มีความสงบสุขไม่ต้องหวาดผวาเป็นที่รังเกียจ

          ประการที่ 2 ก้าวขึ้นอย่างสันติ ครอบงำโดยสันติ

            ต้องยอมรับว่าประเทศที่มีพลังเศรษฐกิจสูงย่อมมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ เมื่อจีนก้าวขึ้นมาอิทธิพลของตนจะเพิ่มมากขึ้นด้วย

            มองในแง่บวกคือการค้าการลงทุนส่งเสริมการพัฒนา ให้โอกาสคนอยู่ดีกินดี (แต่จะเป็นเช่นนั้นแค่ไหนขึ้นกับอีกหลายปัจจัย) มองในแง่ลบคือทุนจีนแผ่กว้างเหมือนที่ทุนตะวันตกแผ่กว้าง รวมความแล้วคือทุนต่างชาตินั่นเอง (ไม่ว่าจะทุนจีนหรือประเทศใด)

            ข้อดีอีกข้อคือไม่เกิดสงครามใหญ่หรือสงครามล้างโลกเพราะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้คนทั้งโลกทุกข์ยาก (แค่โควิด-19 ก็สร้างปัญหาใหญ่แล้ว) แต่อาจเกิดสงครามกลางเมือง สงครามตัวแทน (proxy war) เหล่ามหาอำนาจจะควบคุมไม่ให้บานปลาย

          คำถามที่น่าสนใจคือหากเกิดสงครามดังกล่าวใครเป็นผู้ริเริ่ม ใครเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิด เรื่องนี้พิสูจน์ได้ว่าจีนก้าวขึ้นมาอย่างสันติหรือไม่ และใครที่ไม่ต้องการสันติภาพ ที่แน่ๆ คือจีนไม่ได้ทำสงครามกับชาติใดเลยนับจากสิ้นสงครามเย็นเป็นต้นมา ส่วนในระยะยาวอีก 30 ปี 50 ปีจีนจะใช้กำลังทหารรุกรานหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

            จีนจะสันติหรือไม่ดูได้จากขีดความสามารถกองทัพจีนว่าทัดเทียมกองทัพสหรัฐมากน้อยเพียงไร

          ประการที่ 3 สหรัฐกับการก้าวขึ้นมาของจีน

            ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท ไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำที่ดุดันแบบทรัมป์หรือนิ่มนวลแบบโอบามา นับจากสิ้นสงครามเย็นเป็นต้นมารัฐบาลสหรัฐใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน จะต่างกันเพียงวิธีการ เช่น โอบามาเล่นงานประเด็นสิทธิมนุษยชน ส่วนทรัมป์ชูประเด็นการค้าและการครอบงำทางเทคโนโลยี

            ความคิดต่อต้านจีนจากสหรัฐวัดได้จากกระแสสงครามเย็นรอบใหม่ ความคิดเห็นของคนอเมริกัน การระดมทหาร 3 เหล่าทัพเข้ามาประจำการในอินโด-แปซิฟิก นโยบายต่อต้านจีนต่างๆ สนับสนุนให้พลเมืองจีนต่อต้านรัฐบาล เช่น ฮ่องกง ซินเจียงอุยกูร์

            รัฐบาลจีนพยายามก้าวขึ้นมาโดยสันติแต่จะทำได้แค่ไหนต้องถามมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย

          ประการที่ 4 อนาคตคือความไม่แน่นอน

            เป็นเรื่องดีและจำเป็นที่จะคาดการณ์อนาคตโลก เพราะคือการวางแผนเตรียมตัวและต้องยอมรับว่าอนาคตคือความไม่แน่นอน โควิด-19 คือตัวอย่างสิ่งไม่คาดฝัน แม้รัฐบาลจีนจะจัดการได้ดีแต่โลกเปลี่ยนเร็วขึ้นด้วยแรงผลักดันของโรคระบาด และไม่ว่าโควิด-19 จะจบช้าหรือเร็วองค์การสหประชาชาติเผยยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่าคือการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก

            การที่ผู้นำประเทศประกาศวิสัยทัศน์ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่อีกครั้งเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีเยี่ยมและน่าชื่นชม การตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจเป็นแนวทางที่ดีกว่า อย่างน้อยดีกว่าที่ประเทศอ่อนแอถูกข่มเหง แต่จะบรรลุความฝันได้หรือไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ มากมาย เป็นเรื่องท้าทายที่รัฐบาลสมควรรวมพลังคนในชาติ ส่งเสริมให้ทุกคนมีความฝันที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตด้วยกัน

            ให้คนมีวิสัยทัศน์ของตัวเองและให้ทุกวิสัยทัศน์เหล่านี้คือพลังของวิสัยทัศน์ชาติ

21 มีนาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8895 วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564)

----------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ความฝันหรือความใฝ่ฝันมักสู่เป้าหมายที่สวยงามดีงาม เป็นเรื่องดีที่ควรมี แต่ในขณะเดียวกันจำต้องมองโลกตามสภาพที่เป็นจริง เรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกที่เป็นอยู่เพราะคือความฝันที่เป็นจริงอยู่ในขณะนี้
จีนในศตวรรษที่ 21 กับความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันครบรอบ 70 ปีแตกต่างจากเมื่อก่อตั้งประเทศในทุกมิติ และกำลังเปลี่ยนแปลงต่อไปทุกด้านพร้อมกับอีกหลายประเทศตามแนว “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

บรรณานุกรม :

1. China's stability, development benefit world: Xi. (2014, November 11). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/12/c_133782594.htm

2. Jones, Handel. (2010). CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World. USA: McGraw-Hill.

3. Mladenov, Nikolai. (2021). Chinas Grand Strategy and Power Transition in the 21st Century. Switzerland: Palgrave Macmillan.

4. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.

5. Xi stresses core socialist values. (2014, February 15). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-02/25/c_126190257.htm

--------------------------