Trumpism มรดกการเมืองที่ทรัมป์ทิ้งไว้

Trumpism บ่งบอกความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลทรัมป์ สนับสนุนให้เชื่อเรื่องที่ไร้เหตุผล อ้างว่าเป็นเสรีภาพทางความคิด ปลุกกระแสความเกลียดชังแบ่งแยกสังคม เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนตนทางการเมือง

            ตลอด 4 ปีสมัยทรัมป์ชื่อเสียงความเป็นประชาธิปไตยตกต่ำลงมาก นักวิชาการ สื่อยุโรปตะวันตกชี้ว่าทรัมป์เป็นพวกอำนาจนิยม ความไม่เป็นประชาธิปไตยของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “Trumpism” บทความนี้จะขยายความบางแง่มุม ดังนี้

ลักษณะ Trumpism :

          ประการแรก มี 2 ความจริงในเรื่องเดียวกัน

            โดยทั่วไปเหตุการณ์ใดๆ จะมี “ความจริง” เพียง 1 เดียวแต่อาจถูกตีความต่างๆ นานาที่อาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความจริง

            ยุคทรัมป์สนับสนุน ความจริงอีกแบบ” (alternative facts) หมายถึงข้อมูลหรือเรื่องราวที่ทรัมป์กับผู้สนับสนุนทรัมป์เชื่อ เช่น ไวรัสโควิด-19 เป็นของจีน (ต่างจากแถลงการณ์ของ WHO) พรรคเดโมแครทต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยม

            อันที่จริงการเชื่อที่สวนทางข้อเท็จจริงมีมานานแล้ว เช่น เชื่อว่าบารัก โอบามาไม่ได้เกิดในอเมริกา (แต่แปลกที่ประธานาธิบดีโอบามาผ่านการตรวจสอบหลักฐานอย่างรัดกุมที่สุด)

            ผลที่ตามมาคือเกิดค่านิยมสนับสนุน ความจริงอีกแบบใครอยากเชื่ออะไรก็เชื่อไป ไม่ต้องคำนึงเหตุผลความจริง ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นแบบอย่างเรื่องนี้ พูดจริงบ้างเท็จบ้างตลอดเวลา ยืนยันคำพูดตนแม้ถูกพิสูจน์ว่ากล่าวเท็จก็ตาม ผู้สนับสนุนทรัมป์มักจะเชื่อคำพูดของเขา

            ผลร้ายคือ สังคมแบ่งแยกทางความคิดเพราะยึดถือ “ความจริง” ที่แตกต่างและไม่อาจบรรจบกันได้ อาจนำสู่ความขัดแย้งแบ่งแยกไม่สิ้นสุด

          กรณีตัวอย่าง เลือกตั้งอเมริกาโกงเป็นระบบ

            แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลสหรัฐจะอวดอ้างว่าตนคือแบบอย่างประชาธิปไตย คอยชี้นิ้วว่าเลือกตั้งประเทศใดไม่โปร่งใส ในการเลือกตั้งปลายปี 2020 ทรัมป์ย้ำว่าโดนโกงเลือกตั้ง พยายามใช้ทุกวิถีทางตั้งแต่ให้นับคะแนนใหม่ ยื่นฟ้องศาลหลายรัฐ แต่ทุกที่ยืนยันว่าไม่มีการโกงเลือกตั้งมากมายตามข้อกล่าวหา แต่ทรัมป์ยังยืนว่าตนแพ้เพราะโดนโกงอย่างเป็นระบบ

            ประธานาธิบดีทรัมป์กลายเป็นผู้ป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าเลือกตั้งอเมริกาไม่โปร่งใส โกงกันเป็นระบบและจับผิดไม่ได้ (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม)

          ประการที่ 2 Deep State

            Deep State หรือที่บางคนเรียกว่า “รัฐพันลึก” หมายถึงอำนาจแฝงที่ควบคุมรัฐอีกทอดหนึ่ง มีกลุ่มชนชั้นการเมืองอยู่เบื้องหลังทำการอย่างเป็นระบบ เป็นองค์กรลับ

            พวกที่สนับสนุนทรัมป์จะชูประเด็นว่าทรัมป์กำลังต่อสู้กับพวก Deep State ที่คอยขัดแข้งขัดขา ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือเท็จผลโพลจาก NPR/Ipsos เมื่อปลายธันวาคม 2020 คนอเมริกัน 39 % เชื่อว่าอเมริกามี Deep State ที่จ้องทำลายทรัมป์

            อันที่จริงเรื่อง Deep State เป็นที่กล่าวถึงมานาน บางคนย้อนหลังประวัติศาสตร์ได้หลายร้อยปี มีข้อมูลตำราให้ศึกษามากมายแต่ขาดหลักฐานที่ใช้ได้จริง การมีองค์กรลับเช่นว่าส่อมีพฤติกรรมผิดกฎหมาย เป็นรัฐซ้อนรัฐ

            พวกที่สนับสนุนทรัมป์พูดถึงเรื่องนี้มากมาย

          ประการที่ 3 ปลุกเร้าพวกสุดโต่ง ทฤษฎีสมคบคิด

            ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มสุดโต่งหลายกลุ่ม ยกตัวอย่าง

            White Supremacy

            ในเหตุขัดแย้งเรื่องคนผิวสีในอเมริกา ทรัมป์มักจะแสดงท่าทีสนับสนุนพวกผิวขาวสุดโต่งหรือที่เรียกว่า White Supremacy เรื่องที่คนผิวขาวบางกลุ่มเห็นว่าตนเป็นผู้ปกครองประเทศอันชอบธรรม มีอภิสิทธิ์เหนือชนกลุ่มน้อยชนเชื้อสายอื่นๆ เป็นความชอบธรรมที่คนผิวขาวใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ส่วนคนผิวสีต้องเป็นผู้รับใช้ การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐไม่ใช่เรื่องทัศนคติส่วนบุคคลแต่เป็นโครงสร้างสังคม เป็นที่ยึดถือในคนกลุ่มก้อนใหญ่

            QAnon

            กลุ่มคิวแอนนอน (QAnon) มีต้นกำเนิดในสหรัฐและกระจายหลายสิบประเทศทั่วโลก เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าประธานาธิบดีทรัมป์รีทวิตข้อความของพวก QAnon อยู่เสมอ แสดงถึงการสนับสนุน ช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารของกลุ่ม ครั้งหนึ่งเอ่ยถึง QAnon ว่า ประชาชนผู้รักประเทศของเรา ไม่แปลกใจที่ในหมู่ QAnon ทรัมป์เป็นฮีโรของพวกเขา ผู้นำทำสงครามกับชนชั้นนำที่บูชาซาตาน

            ข้อมูลของ HOPE Not Hate ชี้กว่าร้อยละ 20 ของคนที่สนับสนุนทรัมป์คือพวกกลุ่ม QAnon (มากกว่าสิบล้านคนขึ้นไป) พวกเขาต้องการให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอีกครั้ง เนื่องจากทรัมป์คือผู้กอบกู้อเมริกา ต่อต้านไบเดนที่เป็นตัวแทนของชนชั้นปกครอง

            สาวกบางคนในกลุ่มพูดถึงเรื่องใหญ่โต เช่น กำลังเตรียมการทำลายระบบโลกเดิม สร้างโลกใหม่

            เมื่อฟังเรื่องราวของ QAnon บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับพวก QAnon ย่อมไม่เป็นเช่นนั้น

          ประการที 4 ปลุกกระแสความเกลียดชัง

            รวมความแล้วตลอด 4 ปีของประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำประเทศเป็นผู้ปลุกกระแสความรุนแรง เกลียดชังอีกฝ่าย โหมกระพือ White Supremacy อเมริกาแบ่งแยกกว่าเดิม เจมส์ แมตทิส (James Mattis) อดีตรมต.กลาโหมกล่าวว่าทรัมป์คือประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่พยายามรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว พยายามสร้างความแตกแยก

            ในด้านนโยบายต่างประเทศก็เช่นกัน โดยเฉพาะกระแสเกลียดชังมุสลิม ออกกฎหมายห้ามมุสลิมหลายประเทศเข้าเมือง ด้วยเหตุผลว่าป้องกันการก่อการร้าย ยกจีนเป็นศัตรูตัวฉกาจอันดับ 1 กระแสต้านจีนนี้ลงไปถึงระดับประชาชน คนจีนในอเมริกันโดนคุกคามกลั่นแกล้งสารพัด (แม้กระทั่งคนเอเชียตะวันออกอื่นๆ เพราะคนอเมริกันแยกไม่ออกว่าคนจีนหรือเปล่า)

            น่าแปลกใจว่านี่คือรัฐบาลที่ประกาศว่าเชิดชูสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน พยายามอ้างว่าเป็นผู้นำโลกเสรี

4 ปีทรัมป์ 4 ปีประชาธิปไตยถดถอย :

            ถ้ายังจำได้เมื่อ 4 ปีก่อนกระแสโดนัลด์ ทรัมป์มาแรง เพราะเขาไม่เคยผ่านตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน ถูกยกชูว่าแข่งกับฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนชนชั้นปกครอง

            4 ปีที่แล้วสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่ง (inauguration address) ของประธานาธิบดีทรัมป์ ความตอนหนึ่งมีใจความว่า เรื่องสำคัญไม่ใช่พรรคใดคุมรัฐบาลแต่อยู่ที่ประชาชนควบคุมรัฐบาล วันนี้จะได้รับการบันทึกว่าประชาชนกลายเป็นผู้ปกครองประเทศอีกครั้ง ชายหญิงที่เคยถูกละทิ้งจะไม่ถูกทอดทิ้งต่อไป

            บัดนี้ครบ 4 ปีชาวอเมริกันคงได้คำตอบแล้ว

            แดรอน อเซโมกลู (Daron Acemoglu) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันแสดงความเห็นว่าปัญหาที่สะสมหมักหมมมานานทำให้คนอเมริกันจำนวนมากไม่เชื่อถือนักการเมืองเดิมๆ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์ได้รับเลือก รัฐบาลทรัมป์พยายามเอาใจคนอเมริกันกลุ่มนี้ด้วยการออกนโยบายต่อต้านคนผิวสี ต่อต้านคนต่างด้าวอพยพเข้าเมือง ใช้กลยุทธ์สร้างความแตกแยกเพื่อชักนำคนฝ่ายหนึ่งมาสนับสนุนตนอย่างแข็งขัน แต่หลังบริหารประเทศไม่นานคนอเมริกันพบว่าทรัมป์บั่นทอนประชาธิปไตยอย่างมากเพราะมีแนวคิดต่อต้านเสรีนิยม ไม่สนใจเรื่องต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน มีแนวคิดปกครองประเทศแบบอำนาจนิยม พยายามนำคนในครอบครัวมาบริหารประเทศ

            ประเด็นหนึ่งที่น่าคิดคือในขณะที่นักการเมืองทุกพรรคพูดว่าสนับสนุนประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่ผลลัพธ์ออกมาตรงข้าม

            การปกครองแบบอเมริกาให้ความสำคัญกับเสรีภาพเป็นอันดับแรก เพราะนักเสรีนิยมเชื่อมั่นความสามารถการใช้เหตุผลของมนุษย์ เชื่อว่าปัจเจกบุคคลสามารถคิดตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีแก่ตนเอง รัฐบาลต้องเคารพการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล แต่ต้องย้ำว่าคือการใช้เสรีภาพอย่างมีเหตุผล เลือกสิ่งดีที่สุด ปัญหาใหญ่จึงเกิดขึ้นเมื่อหลายคนใช้เสรีภาพบนความไร้เหตุผล ไม่คำนึงความยั่งยืน ยึดถือทฤษฎีสมคบคิด เป็นการใช้เสรีภาพเพื่อทำลายตัวเองโดยแท้

24 มกราคม 2021 
ชาญชัย คุ้มปัญญา 
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8839 วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564)  

---------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
หากประชาชนไม่กำกับตรวจสอบฝ่ายการเมืองและมีส่วนร่วมในการปฏิรูป (ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองทำเพียงลำพัง) เช่นนั้นย่อมโทษใครไม่ได้ และไม่อาจเรียกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยที่ทำลายตัวเองย่อมไม่อาจเรียกว่าประชาธิปไตยแท้ เพราะระบอบการปกครองดังกล่าวมีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขยั่งยืน
กว่า 240 ปีที่สหรัฐประกาศเอกราช หลักเสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตยยังเป็นเพียงเป้าหมายเชิงอุดมคติเท่านั้น เพราะ White Supremacy ฝังรากลึกในสังคมตั้งแต่ก่อนกำเนิดประเทศ

บรรณานุกรม :

1. Biden addresses nation's information crisis: We must 'defeat the lies'. (2021, January 20). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/01/20/media/inaugural-address-biden-information/index.html

2. Democrats announce two impeachment charges against Trump. (2019, December 10). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/democrats-announce-two-impeachment-charges-against-trump-doc-1my53n3

3. Even If It's 'Bonkers,' Poll Finds Many Believe QAnon And Other Conspiracy Theories. (2020, December 30). NPR News. Retrieved from https://www.npr.org/2020/12/30/951095644/even-if-its-bonkers-poll-finds-many-believe-qanon-and-other-conspiracy-theories

4. FULL TEXT: President Donald Trump's Inauguration Speech. (2017, January 20). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Politics/full-text-president-donald-trumps-inauguration-speech/story?id=44915821

5. James Mattis Denounces President Trump, Describes Him as a Threat to the Constitution. (2020, June 3). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/politics/archive/2020/06/james-mattis-denounces-trump-protests-militarization/612640/

6. Magstadt, Thomas M. (2009). Understanding Politics (8th Ed.). (CA: Wadsworth/Cengage Learning).

7. The House Impeaches Trump Again, but Most Republicans Stick with Him. (2021, January 13). The New Yorker. Retrieved from https://www.newyorker.com/news/our-columnists/the-house-impeaches-trump-again-but-most-republicans-stick-with-him

8. The U.S. Must Now Repair Democracy at Home and Abroad. (2021, January 10). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2021/01/us-must-now-stand-democracy-home-and-abroad/617626/

9. Top Trump aide claims Biden would encourage child trafficking, echoing baseless QAnon conspiracy. (2020, October 28). The Independents. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-election-2020/stephen-miller-qanon-conspiracy-joe-biden-us-election-2020-b1402665.html

10. 'Trump Poses a Great Risk to U.S. Democracy'. (2019, December 10). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/business/economist-acemoglu-trump-poses-risk-to-u-s-democracy-a-1300376.html

11. U.S. Department of State. (2021, January 12). Reclaiming America’s Voice for Freedom. Retrieved from https://www.state.gov/reclaiming-americas-voice-for-freedom/

12. What role did QAnon play in the Capitol riot? (2021, January 9). The Independent. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-election-2020/qanon-capitol-congress-riot-trump-b1784460.html

--------------------------