เสรีภาพการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย

หากประชาชนไม่กำกับตรวจสอบฝ่ายการเมืองและมีส่วนร่วมในการปฏิรูป (ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองทำเพียงลำพัง) เช่นนั้นย่อมโทษใครไม่ได้ และไม่อาจเรียกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย 

            เสรีนิยม (Liberalism) เป็นลัทธิการเมืองที่เป็นรากฐานระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เป็นลัทธินำของโลกปัจจุบัน ประเทศยุโรปตะวันตกกับอเมริกาเหนือซึ่งเป็นแนวหน้าให้กำเนิดระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy - หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่าประชาธิปไตย) ล้วนเป็น เสรีนิยม” (Liberal) ก่อน และค่อยพัฒนาเป็นประชาธิปไตย (Democratic) ในภายหลัง

             “ลัทธิเสรีนิยม” สัมพันธ์กับ “เสรีภาพ” แต่ไม่ไปในทางเดียวกันเต็มร้อย เสรีนิยมเป็นลัทธิที่พัฒนาไปเรื่อย พอๆ กับแนวคิดเสรีภาพ ต่างฝ่ายต่างพัฒนาตามทางของตน ดังนั้นแม้แนวคิดเสรีภาพมีส่วนสำคัญในเสรีนิยมแต่ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน ลัทธิเสรีนิยมไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพเท่านั้น


นิยามเสรีนิยม :

            ลัทธิ “เสรีนิยม” มีรากฐานนิยาม 2 แนว แนวแรกมีรากฐานจากพวกโปรเตสแตนต์ กับอีกแนวเป็นเรื่องลดอำนาจกษัตริย์ขุนนางสู่ประชาชน

          นิยามเสรีนิยม 1 จากพวกโปรเตสแตนต์

            เสรีนิยมคือชื่อของกลุ่มแนวคิดเกี่ยวกับรัฐบาลและสังคมที่ปรากฏตัวในยุโรปหลังจากปฏิวัติศาสนาของพวกโปรเตสแตนต์ (Protestant Reformation)

            เสรีนิยมไม่ใช่แนวคิดเดียวโดดๆ ประกอบด้วยแนวคิดย่อย มีจุดยึดหลักร่วมกันในเรื่องการอดกลั้น ให้เสรีภาพแก่มุมมองเรื่องความหมายของชีวิต ชีวิตหลังความตาย แนวคิดลดทอนบทบาทรัฐ หลักนิติธรรม ทรัพย์สินส่วนบุคคล การคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคล

          นิยามเสรีนิยม 2 การลดอำนาจกษัตริย์สู่ประชาชน

             แนวนิยามนี้เอ่ยถึงการส่งถ่ายอำนาจจากกษัตริย์สู่ขุนนางและประชาชน พูดถึงการปฏิวัติอังกฤษ (English Revolution) ในศตวรรษที่ 17 การปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) เมื่อปี 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) เมื่อปี 1789

            แนวทางนี้ต่อต้านอำนาจจากสวรรค์ของกษัตริย์ (divine right) เริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญ (เพื่อจำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ใต้กฎหมาย) ต่อมาพัฒนาเป็นรัฐบาลตัวแทน (ส.ส. ส.ว.) ต่อต้าน Absolutism (ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์) สิทธิพิเศษของพวกอภิสิทธิ์ชน (รวมทั้งขุนนาง) อำนาจของสถาบันศาสนา

            ในศตวรรษที่ 19 เศรษฐกิจเป็นอีกเรื่องที่ชาติตะวันตกให้ความสำคัญ ต้องการระบบเศรษฐกิจที่รัฐไม่แทรกแซง เป็นที่มาของการค้าเสรี อังกฤษก้าวหน้าเรื่องนี้มากที่สุด และกระจายสู่ทวีปอื่นๆ ในศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่ลัทธิเสรีนิยมต้องแข่งขันกับลัทธิอื่นๆ เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม การต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า

เสรีภาพไม่ใช่ทำตามใจทุกอย่าง :

            จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, ค.ศ. 1806-1873) ผู้วางรากฐานเสรีภาพพูดในหนังสือ ว่าด้วยเสรีภาพ” (On Liberty) กล่าวว่าเสรีภาพของปัจเจกบุคคลกับการพัฒนาเป็นเรื่องเดียวกัน มองว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างความดีงามทั้งหลาย ดังนั้นต้องให้เสรีภาพกับมนุษย์เท่านั้น มนุษย์จึงจะสามารถสร้างความดีงาม มนุษย์จำต้องสามารถเลือกทางเดินชีวิตด้วยตนเองซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาใช้ขีดความสามารถในตัวเพื่อพัฒนาชีวิต แต่ไม่ได้หมายถึงการเลือกความสุขชั่วครั้งครั่งคราว ตอบสนองความรู้สึกพื้นฐาน และยังหมายถึงความสุขความพอใจในสติปัญญา ศีลธรรมความดีด้วย

            Jan Narveson นักคิดยุคปัจจุบันกล่าวว่าถ้าคิดว่าเสรีภาพของมนุษย์สำคัญ ควรคิดต่อว่าต้องไม่ใช้เสรีภาพเพื่อการทำลาย แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกเรียกว่า “เสรีภาพ” ก็ตาม

            เสรีภาพการพูด เสรีภาพทางการเมืองคือเสรีภาพสำคัญ เพียงแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่ใช่ประท้วงพร้อมกับทำลายข้าวของ ปล้นสะดมร้านค้า จุดไฟเผารถเผาบ้าน ทำร้ายร่างกายคนอื่น

            ดังนั้นเสรีนิยมไม่ใช่เสรีเต็มร้อย มีระดับเสรีภาพสูงต่ำ เมื่อ 2 คนเอ่ยว่าเป็นนักเสรีนิยม ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่มีระดับเสรีเท่ากัน

            แนวคิดเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่มีมาตรฐานในตัวเอง เช่น ยุคหนึ่งส่งเสริมให้เสรีภาพ เป็นไปตามกลไกตลาดเต็มที่ ต่อมาเมื่อบริบทเปลี่ยนไปเสรีภาพลดลง ดังนั้นเมื่อเอ่ยถึงเสรีภาพการแสดงออกจึงยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนตาม “ระดับเสรีภาพ” ที่กฎหมายหรืออำนาจรัฐมอบให้

ความอดกลั้นภายใต้เสรีนิยม :

            “ความอดกลั้น” ต่อความเห็นต่างคิดต่างเป็นพื้นฐานของเสรีนิยม ต้นกำเนิดมาจากความขัดแย้งระหว่างพวกโปรเตสแตนต์กับพวกคาทอลิก ในที่สุดยุติด้วยการให้แต่ละรัฐมีอิสระนับถือศาสนา เป็นที่มาของ Peace of Westphalia 1648 ความอดกลั้นต่อความแตกต่างด้านศาสนาความเชื่อจึงเปิดทางให้ “เสรีภาพ” แก่การนับถือศาสนาความเชื่อต่างๆ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุโรป เป็นที่มาของแนวคิดความอดกลั้นภายใต้เสรีนิยม (liberalism as toleration) กลายเป็นพื้นฐานของหลักเสรีภาพ ให้เสรีแก่มนุษย์ที่จะคิดต่างเห็นต่างชอบต่าง เพื่ออยู่ร่วมกันโดยสันติท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนั้น

พันธะสัญญานิยม” (Contractarianism) :

            เป็นอีกหลักคิดสำคัญของเสรีนิยม ชี้ว่าในสภาพที่ทุกคนมีเสรีภาพมากที่สุดคือสภาวะที่เสรีภาพของทุกคนได้รับความคุ้มครองจากรัฐ โดยแต่ละคนยินยอมเสียสละเสรีภาพบางส่วนเพื่อเป็นหลักประกันว่าเสรีภาพส่วนใหญ่ของตนถูกรักษาไว้

            รัฐหรือส่วนกลางทำหน้าที่วางระบบระเบียบที่เชื่อว่าเป็นภาวะที่ทุกคนมีเสรีภาพมากที่สุดอย่างสมควร เช่น ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย (สูญเสียเสรีภาพที่จะกระทำตามอำเภอใจอย่างไรขอบเขต) แต่ด้วยการที่สังคมมีกฎหมายทำให้เสรีภาพ (ส่วนใหญ่ที่คงอยู่) ของทุกคนได้รับความคุ้มครอง

            จุดอ่อนคือกฎหมายทั้งสิ้นมีเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากน้อยเพียงไร เอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ เกิดคำถามว่าประชาชนส่วนใหญ่ควรยอมรับเรื่องการเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มน้อย เพื่อรักษาเสรีภาพของตนหรือไม่ เช่น ยอมให้ชนชั้นปกครองขูดรีดบ้างเพื่อแลกกับความมั่นคงในชีวิต ยังมีเสรีภาพบางส่วน

            นักเสรีนิยมแม้จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแต่ไม่ใช่พวกมองโลกสวย ยอมรับว่าหากปล่อยให้ทุกคนใช้เสรีภาพโดยไร้การควบคุมจะมีบางคนที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น บังคับผู้อื่นให้กลายเป็นทาส นักเสรีนิยมจึงเห็นด้วยกับการมีรัฐและกฎหมาย บังคับควบคุมพลเมืองให้ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ขอบเขต เสรีภาพไม่ใช่สิทธิที่จะทำร้ายทำลายผู้อื่นโดยเสรี จะต้องอยู่ใต้สัญญาประชาคมที่จะอยู่ร่วมอย่างสงบสุข

            ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นจริงต้องเป็น สังคมประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ได้ผู้ปกครองประชาธิปไตย (สมมุติว่าเป็นเช่นนั้น) แต่ประชาชนไม่สนใจ ไม่ต้องการประชาธิปไตย ดังนั้น ทุกคนต้องเรียนรู้ สนใจการเมืองการปกครอง มีส่วนร่วมสม่ำเสมอ การเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่หรือผู้มีการศึกษาเท่านั้น ทุกคนทุกฝ่ายต้องแสดงออก

ต้องส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมทางการเมือง :

            ยกตัวอย่าง ผลการเลือกตั้งของประเทศเบลารุสเมื่อสิงหาคม ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenko) ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง ได้เสียงสนับสนุนถึง 80% ของผู้ไปลงคะแนน  ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคิดว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง จึงเดินขบวนประท้วงนับแสน

            เป็นการถูกต้องที่ฝ่ายต่อต้านใช้สิทธิคัดค้านผลเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลหากคิดว่าผลการเลือกตั้งยอมรับได้ควรออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล พร้อมกับให้ต่างฝ่ายต่างแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ปรึกษาหารือร่วมกัน เช่นนี้คือการใช้เสรีภาพการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย

            ประชาธิปไตยแท้ ผู้ปกครองทุกระดับต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่หลอกล่อด้วยการตั้งกรรมาธิการ คณะรับฟังความคิดเห็นมากมายแต่ไม่มีผลบังเกิดขึ้นจริง นานวันเข้าประชาชนจะรู้สึกแปลกแยก รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลของเขา ผู้ปกครองไม่ชอบธรรม

            กรณีตัวอย่างสหรัฐ 240 กว่าปีนับจากก่อตั้งประเทศ มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเรื่อยมา ไม่เคยรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ประชาชนไม่น้อยคิดว่ารัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อพวกเขาจริง ไม่ว่านักการเมือง รัฐบาลจะพูดอย่างไร นับวันชาวอเมริกันจะไม่เชื่อและไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่พูด เพราะการทำงานของนักการเมือง การบริหารประเทศไม่ได้สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชน ที่พวกเขาทำจริงคือผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

            ในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าในบางเรื่องชาวอเมริกันมีความต้องการแตกต่างกัน รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองทุกฝ่าย เพราะเมื่อให้ฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายจะเสีย เช่น ควรใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องราคาพืชผลเท่าใด ตั้งงบรักษาสุขภาพมากแค่ไหน หรือควรลดงบประมาณเพื่อลดภาษี

            การเมืองประชาธิปไตยคือการเมืองของประชาชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ปล่อยให้ ส.ส. ส.ว. หรือผู้มีอำนาจไปทำการแทนตนเพียงฝ่ายเดียว ประชาชนเจ้าของประเทศหากปล่อยปละละเลย ปล่อยให้นักการเมืองใช้อำนาจแทนตนตามอำเภอใจ เท่ากับมอบความเป็นเจ้าของประเทศแก่นักการเมืองโดยปริยาย

            หากประชาชนไม่กำกับตรวจสอบเท่ากับยอมให้ผู้ปกครองกดขี่ เช่นนั้นโทษใครไม่ได้ และไม่อาจเรียกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

            นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองมิได้หมายถึงการชุมนุมประท้วงเท่านั้น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้านชุมชน อาจเป็นเรื่องถนนซอย ขยะหมู่บ้าน การแบ่งสันน้ำในคลอง ล้วนหมายถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง แสดงออกต่อเรื่องใกล้ตัว มีส่วนร่วมแก้ปัญหา ไม่จำต้องเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศเสมอไป

            ถ้าอยากสอนลูกสอนหลานให้เป็นประชาธิปไตย จงเริ่มจากเรื่องรอบตัวเขาแล้ววันหนึ่งเขาจะพัฒนาตัวเองให้เข้าใจการเมืองที่ซับซ้อน ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก

23 สิงหาคม 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8686 วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563)

-----------------------------

บทความใหม่ 

ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความเกลียดชังคือหายนะ

ประชาธิปไตยที่ทำลายตัวเองย่อมไม่อาจเรียกว่าประชาธิปไตยแท้ เพราะระบอบการปกครองดังกล่าวมีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขยั่งยืน

บรรณานุกรม :

1. สมเกียรติ วันทะนะ. อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: อักษรข้าวสวย, 2551

2. Democrats announce two impeachment charges against Trump. (2019, December 10). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/democrats-announce-two-impeachment-charges-against-trump-doc-1my53n3

3. Barry, Norman. (2001). liberalism. In Encyclopedia of democratic thought. (pp. 510-516). London: Routledge.

4. Belarus election: Lukashenko wins another term, election commission says. (2020, August 18). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/alexander-lukashenko-wins-belarus-election/a-54506718

5. Belarus' Opposition Leaders Reemerge After Post-Election Crackdown. (2020, August 14). NPR News. Retrieved from https://www.npr.org/2020/08/14/902488755/belarus-opposition-leaders-reemerge-after-post-election-crackdown

6. Denitch, Bogdan. (1992). After the Flood: World Politics and Democracy in the Wake of Communism. USA: Wesleyan.

7. Gaus, Gerald F. (1996). Liberalism. In Stanford Encyclopedia of Philosophy. Retrieved from http://plato.stanford.edu/entries/liberalism/

8. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.

9. Heywood, Andrew. (2017). Political Ideologies: An Introduction (6th Ed.). UK: Palgrave.

10. Hoffman, John., Graham, Paul. (2015). Introduction to Political Theory (3rd Ed.). Oxon: Routledge.

11. Johnston, David C. (2007). Liberalism. In Encyclopedia of Governance. ( pp.524-528). USA: SAGE Publications.

--------------------------