ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความเกลียดชังคือหายนะ

ประชาธิปไตยที่ทำลายตัวเองย่อมไม่อาจเรียกว่าประชาธิปไตยแท้ เพราะระบอบการปกครองดังกล่าวมีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขยั่งยืน

            ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การชนะเลือกตั้ง ชนะในรัฐสภาจำต้องมีเสียงข้างมาก ฝ่ายการเมืองหรือผู้ถืออำนาจการเมืองจะต้องหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน เป็นหลักพื้นฐานประชาธิปไตย แต่นับวันประชาชนจะเบื่อหน่ายระบอบ ไม่เห็นว่าพวกถืออำนาจการเมืองแก้ปัญหาของพวกเขาได้จริง หรือใส่ใจพวกเขาจริง ผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนกลุ่มน้อย
            คนหันหลังให้การเมืองกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ถืออำนาจต้องแก้ ทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้คนออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง สนับสนุนพวกตน หนึ่งในวิธีการที่ใช้ได้ผลคือทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกความเป็นพวกมากกว่าคำนึงเหตุผล ผลที่ตามมาคือการแบ่งเป็นฝักฝ่ายชัดเจน เกิดการเผชิญหน้า ขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงอยู่เสมอ

            ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่ฟังดูดี ต่างมีแฟนคลับสมาชิกที่สนับสนุนแบบไม่ลืมหูลืมตา ขอเพียงฝ่ายตนชนะก็เป็นพอ มีการสร้างสถานการณ์ว่าจะต้องเอาชนะให้ได้หรือแพ้ไม่ได้

            ตามหน้าสื่อจะปรากฏข่าวการแบ่งขั้ว ความขัดแข้งระหว่างขั้วทุกวี่วัน เพราะฝ่ายค้านต้องบั่นทอนคะแนนนิยมรัฐบาลไปเรื่อยๆ พร้อมกับสร้างพลพรรค กล่อมเกลาให้เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม สะสมกำลังพลให้มากพอจนแน่ใจว่าจะเป็นฝ่ายได้คะแนนเสียงข้างมาก ด้านฝ่ายรัฐบาลต่อต้านสุดฤทธิ์รักษาฐานเสียงของตน ความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง (หรือพยายามให้เกิดล้มล้าง ถอดถอนผู้นำประเทศ ให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่)

ย้อนหลังเลือกตั้งสหรัฐปี 2016 :

            โดนัลด์ ทรัมป์แม้จะสังกัดพรรครีพับลิกันแต่ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองอิสระ ไม่ใช่พวกชนชั้นปกครองของเดโมแครทหรือรีพับลิกัน คนอเมริกันตระหนักว่าทรัมป์มีข้อเสียมากมายแต่ลงคะแนนให้เพราะคิดว่าท่านจะเป็นประธานาธิบดีที่รักคนอเมริกัน สามารถปฏิรูปประเทศได้จริง ไม่ใช่คำมั่นสัญญาที่ลอยมาและหายไปเหมือนประธานาธิบดีคนก่อนๆ

            หากเลือกฮิลลารี คลินตัน (สมัยเลือกตั้ง 2016) การเมืองจะเป็นเหมือนเดิม เพราะคิดว่าคลินตันคือตัวแทนของชนชั้นปกครองดั้งเดิม เมื่อการเมืองไม่เปลี่ยนก็ไม่ต้องคิดจะปฏิรูปด้านอื่นใดอีก

จอมเผด็จการทรัมป์ :

            ไม่นานหลังเริ่มบริหารประเทศ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ามาแทบทุกวัน พวกเดโมแครทเรียกประธานาธิบดีทรัมป์ว่าเป็น “จอมเผด็จการ” (dictator) “กษัตริย์” (king) หรือไม่ก็ “ฟาสซิสต์” (fascist) ความหมายคำเหล่านี้ไม่แตกต่างกันในแง่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” มีหลักฐานมากมายชี้ไปที่คำเหล่านี้ ไม่ว่าจากนโยบายในประเทศหรือนโยบายต่างประเทศของทรัมป์

แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) แกนนำพรรคเดโมแครทกล่าวว่าถ้าเรายอมให้มีประธานาธิบดีแบบนี้เท่ากับปล่อยให้ระบบสาธารณรัฐล่มสลาย ยอมรับประธานาธิบดีที่เหมือนกษัตริย์ (president king) ผู้นำประเทศที่อยู่เหนือกฎหมาย ทำได้ก็ได้ตามใจชอบ การถอดถอนทรัมป์เป็นเรื่องการปกป้องประชาธิปไตย เพื่อประชาชน ทรัมป์คือภัยคุกคามประเทศ

            สังเกตว่าในขณะที่คนหนึ่งโจมตีนักการเมืองเดโมแครทว่าเป็นตัวแทนชนชั้นปกครอง พวกเดโมแครทจะตราหน้าทรัมป์ว่าพวกเผด็จการ ทำลายประชาธิปไตย

ต้องการรัฐบาลที่บริหารได้ดีมากกว่าเป็นประชาธิปไตย :

คนอเมริกันส่วนใหญ่ยอมรับว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เป็นประชาธิปไตย ผลโพลเมื่อพฤศจิกายน  2019 ของ AP-NORC ระบุว่า คนอเมริกันร้อยละ 61 คิดว่าทรัมป์ไม่เคารพหลักประชาธิปไตย ในจำนวนนี้ร้อยละ 26 เป็นพวกรีพับลิกัน

            ผลโพลเดียวกันนี้ยังระบุอีกว่าร้อยละ 85 ของพวกรีพับลิกันสนับสนุนให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย แม้หลายคนยอมรับว่าทรัมป์มีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์ มักพูดเรื่องที่ผิดจากข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามคนที่สนับสนุนทรัมป์ยังชี้ว่าการ “สู้เพื่อทรัมป์คือการสู้เพื่อประชาธิปไตย”

            สังเกตว่าพวกเดโมแครทบอกว่าทรัมป์ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่พวกรีพับลิกันกลับชี้ว่าแบบทรัมป์นี่แหละประชาธิปไตย ... เป็นอีกความขัดแย้งใครกันแน่ที่เป็นประชาธิปไตย

            นักวิเคราะห์ Robert Boxwell มีความเห็นว่าแท้จริงแล้ว พวกที่เลือกทรัมป์จะดูว่าท่านดูแลเศรษฐกิจได้ดีเพียงใด ซึ่งหมายถึงเรื่องปากท้อง พวกเขายังสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ รัฐบาลจะเผด็จการหรือไม่ ไม่น่ากลัวเท่ากับความอดอยาก

            คนอเมริกันไม่แตกต่างจากทั่วไปคือสนใจเรื่องปากท้องเป็นหลัก เรื่องเศรษฐกิจคือเรื่องที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอันดับ 1 ไม่แปลกใจที่ 2 พรรคใหญ่จะต้องออกนโยบายที่ “โดนใจ” มากที่สุด เสรีภาพประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญยิ่งแต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง ความเป็นทรัมป์เป็นหลักฐานเรื่องนี้อีกครั้ง ในการเลือกตั้งปลายปีนี้ระหว่างไบเดนกับทรัมป์ใครมีข้อเสียน้อยกว่า พูดให้ชัดคือ จะเลือกนักอำนาจนิยมทรัมป์หรือพรรคอำนาจนิยมเดโมแครท หรือกษัตริย์ทรัมป์กับราชวงศ์เดโมแครท

            ดีที่ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันยังมีการเลือกตั้ง แต่ตัวเลือกที่มีนั้นดีพอหรือไม่

            การเมืองอเมริกาในขณะนี้เหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้ว สู้กันอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประชาชนต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะระบบการต่อสู้ทางการเมืองชักนำให้อยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จึงมีคนที่รักทรัมป์แบบหัวปักหัวปำกับฝ่ายที่ต่อต้าน หรืออธิบายอีกอย่างว่านี่คือต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยตราบเท่าที่ยังอยู่ภายใต้กฎหมาย

.           มองในกรอบกว้างขึ้น ส.ส. ส.ว. ของ 2 พรรคใหญ่ พวกผู้มีอำนาจบารมีในระบบได้ประโยชน์และเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน เลือกตั้งอีกกี่รอบก็จะเป็นเช่นนี้ ... นี่คือประเด็นที่ต้องสนใจไม่น้อยกว่าตัวผู้นำประเทศเพียงคนเดียว

ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความเกลียดชังคือหายนะ :

            ระบอบประชาธิปไตยให้คนที่คิดต่างชอบต่างอยู่ด้วยกันได้ แต่หากใช้เสรีภาพโดยไม่เคารพเสรีภาพคนอื่น ไม่ตั้งอยู่บนกฎกติกา ระบอบจะค่อยๆ ทำลายตัวเอง 2 คนที่ไม่อยากอยู่ด้วยกันอีกมักลงเอยด้วยการแยกย้ายกันไปในที่สุด ประชาธิปไตยไม่ประกันว่าชาติจะรวมเป็นหนึ่งเดียวตลอดไป

            หลักสำคัญคือหากจะอยู่ดีมีสุขอย่างถาวรคนในชาติต้องมีใจปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกัน แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมที่สุด มีผู้นำ คณะผู้ปกครองที่ทำงานเพื่อปวงชนจริงๆ

            นักเมืองทุกคนรู้ดีว่าประเทศจะพัฒนาก้าวไปข้างหน้าคนในประเทศต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่บางคนเพียงเพราะต้องการเอาชนะ ใช้ทุกวิถีทางแม้กระทั่งหว่านความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก หลอกล่อด้วยผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อดึงคนไปเป็นพวก การเมืองจึงวนเวียนอยู่ในวังวนเดิม สร้างสถานการณ์ผลักดันให้คนไปเลือกตั้ง แต่สังคมยังคงเหลื่อมล้ำและปัญหาหมักหมม ประชาชนคนส่วนใหญ่คือเหยื่อของระบอบการเมืองเช่นนี้ ไม่ว่าจะเรียกมันด้วยชื่อใด

            หากไม่ยับยั้งไว้ พัฒนาขั้นสุดท้ายคือสงครามกลางเมือง แบ่งแยกดินแดน และอย่าคิดว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ เพราะอาจเป็นโอกาสให้ต่างชาติเข้าแทรกตักตวงผลประโยชน์ ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย เช่น อดีตเวียดนามหรือกับใต้ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ประชาชนล้มตายในสงครามนับสิบล้าน และอีกหลายล้านที่กลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย หรืออิรัก ซีเรีย ลิเบียในปัจจุบัน

            หลักฐานข้อมูลมีมากมาย เปิดใจให้กว้างแล้วจะค้นพบความจริง

            ทุกรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะพูดว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพภายใต้กฎหมาย แต่หากเป็นเสรีภาพเทียมผลที่ตามมาคือประชาชนจะรู้สึกแปลกแยก ไม่คิดว่ารัฐบาลกำลังทำหน้าที่เพื่อตนเองมากพอ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเมืองผ่านสถาบันการเมืองที่มีอยู่ คนจะหันไปหาทางอื่นเพื่อแสดงออก มีส่วนร่วมทางการเมืองในช่องทางอื่นๆ ที่ระบอบไม่มีให้หรือไม่เอื้ออำนวยมากพอ

            ในขณะเดียวกันเป็นไปได้ว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่สามารถชนะภายใต้วิถีที่กำหนด จึงหันไปใช้วิธีอื่นๆ เพื่อหวังเอาชนะให้จงได้

            ความคิดเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ การแข่งขันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ ประชาธิปไตยที่ทำลายตัวเองย่อมไม่อาจเรียกว่าประชาธิปไตยแท้ เพราะระบอบการปกครองนี้มีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขยั่งยืน ระบอบหรือสังคมที่บั่นทอนทำลายตัวเองย่อมต้องมลายตายจากไปในที่สุด มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วมากมาย

16 สิงหาคม 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8679 วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563)

----------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง 

การถดถอยของเสรีประชาธิปไตย

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนยอมรับมากขึ้นแล้วว่าระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตก (Western liberal democracy) ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมควร ลัทธิอำนาจนิยมกำลังเบ่งบาน

ภาพลักษณ์ของทรัมป์กับสหรัฐในสายตาโลก

งานศึกษาของ Pew Research Center ชี้ว่าประชาชนหลายประเทศทั่วโลกมองแง่ลบต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ที่น่าตกใจคือประเทศเหล่านี้คือยุโรปตะวันตก เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ผลลัพธ์คือบั่นทอนพลังอำนาจอ่อน (soft power) ทั้งนี้เพราะทรัมป์ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีตั้งแต่ต้น เป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยสหรัฐที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

อย่างไรดีกว่า โค่นเผด็จการหรือให้เป็นรัฐล้มเหลว

อิรักกับซีเรียเป็น 2 ตัวอย่างว่านโยบายกำจัดเผด็จการเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด กลายเป็นรัฐล้มเหลว การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไปเป็นโทษน้อยกว่า การกำจัดเผด็จการไม่เป็นเหตุให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ถ้ามองว่าเผด็จการหมายถึงประชาชนถูกกดขี่ เมื่อเป็นรัฐล้มเหลวประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งกว่า ชีวิตอยู่ในอันตรายมากกว่า แต่รัฐบาลโอบามายังยืนหยัดนโยบายโค่นเผด็จการไม่ต่างจากรัฐบุชและอีกหลายชุด

บรรณานุกรม :

1. 61% say Trump doesn't respect democratic norms, 56% say 'honesty' doesn't describe him: AP-NORC poll. (2019, November 1). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2019/11/01/world/politics-diplomacy-world/61-say-trump-doesnt-respect-democratic-norms-56-say-honesty-doesnt-describe-ap-norc-poll/#.Xbt2m5IzbZ4

2. Democrats announce two impeachment charges against Trump. (2019, December 10). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/democrats-announce-two-impeachment-charges-against-trump-doc-1my53n3

3. House nears nighttime impeachment vote as Trump cries foul. (2019, December 18). AP. Retrieved from https://apnews.com/d78192d45b176f73ad435ae9fb926ed3

4. How Donald Trump wins again, in 3 sentences. (2020, May 18). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/05/18/politics/donald-trump-james-woods-2020-reelection/index.html

5. Mouffe, Chantal. (2005). On the Political. London: Routledge.

--------------------------