เหตุผลโลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น

สงครามใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ภายใต้หลักคิดของรัฐบาลสหรัฐมองว่ากำลังถูกคุกคาม ประเทศตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงจำแก้ไข เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์

             สงครามใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะส่งผลกระทบทั่วโลก ยิ่งเป็นสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบยิ่งมีโอกาสน้อยมากเพราะทำลายล้างโลก อารยธรรมโลกถูกทำลายถอยหลังหลายสิบหลายร้อยปี แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งเห็นว่าโลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น ทำไมจึงคิดเช่นนั้น บทความนี้นำเสนอเหตุผล 6 ล่าสุดประการตามบริบทขณะนี้

          ประการแรก สนธิสัญญานิวเคลียร์หลายฉบับถูกฉีก

            เช่น ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JCPOA) สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate Nuclear Forces treaty) Open Skies Treaty (ยอมให้เครื่องบินลาดตระเวนของอีกประเทศบินเหนือน่านฟ้า ไม่มีพื้นที่ยกเว้น เพื่อลาดตระเวนถ่ายรูป การจัดวาง การเคลื่อนย้ายกำลังพลอีกฝ่าย รวมทั้งที่ตั้งนิวเคลียร์)

            เป็นหลักฐานว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคมหาอำนาจนิวเคลียร์ต่างคนต่างคิด ต่างสะสมอาวุธนิวเคลียร์

          ประการที่ 2 การปิดล้อมจีน

            ยุทธศาสตร์ในสมัยทรัมป์ประกาศชัดว่าจีนคือรัฐปรปักษ์ ความบาดหมางลงลึกไปถึงระดับประชาชน คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเกลียดชังคนจีนด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเป็นคนจีน

            ทรัมป์ฉีกทิ้งสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางเพียงฝ่ายเดียว อ้างว่ารัสเซียละเมิดสนธิสัญญามานานแล้ว (สนธิสัญญานี้เกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป) ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับจีนโดยตรง มีข่าวหลายชิ้นบอกว่ารัฐบาลทรัมป์หวังติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในแถบเอเชียแปซิฟิกด้วย (ไม่ใช่แค่ยุโรปอีกแล้ว) รัฐบาลสหรัฐอยากติดตั้งในออสเตรเลีย สมาชิกอาเซียน แม้รัฐบาลออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์ปฏิเสธไปแล้วแต่รัฐบาลสหรัฐไม่ลดละความพยายาม ยังเสาะหาประเทศในเอเชียที่ยอมให้ติดตั้งนิวเคลียร์ของตน

            ล่าสุดรายงานกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่นำเสนอเมื่อต้นเดือนกันยายนเผยจีนมีแผนเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เท่าตัว มีขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงใส่อเมริกาได้ทุกจุดและใกล้จะสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์จากภาคพื้นดิน อากาศและทะเล ครบ 3 วิธีแต่จีนปฏิเสธแผนเพิ่มหับรบนิวเคลียร์เท่าตัว ไม่ว่าเหตุผลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เห็นชัดว่ารัฐบาลสหรัฐมุ่งที่จีนเป็นภัยคุกคามมากขึ้นซึ่งเป็นจริงอยู่ไม่น้อย

            John Mearsheimer จาก University of Chicago ชี้ว่านโยบายบรรทัดสุดท้ายของสหรัฐคือจะไม่ปล่อยให้จีนเป็นมหาอำนาจเทียบเคียงตน

            ภายในแนวคิดนี้จีนกำลังก้าวขึ้นมาสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น

          ประการที่ 3 การฟื้นฟูกองกำลังนิวเคลียร์รัสเซีย

            เมื่อสหภาพโซเวียตแตกและเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยขณะนั้นอ่อนแอมาก อาวุธจำนวนมากถูกทิ้งร้าง มีคำถามว่าอาวุธนิวเคลียร์ยังเก็บมิดชิดปลอดภัยหรือไม่ การก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีปูติน นำประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่กี่ปีหลังนี้พัฒนาอาวุธใหม่ๆ เช่น ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิคอแวนกาจด์ (Avangard) ที่บอกว่าสามารถหลบรอดระบบป้องกันขีปนาวุธสหรัฐ

            ในมุมมองของสหรัฐ การฟื้นตัวของรัสเซีย ความร่วมมือทางทหารระหว่างจีนกับรัสเซียเพิ่มความกังวลเป็น 2 เท่า

          ประการที่ 4 สหรัฐปรับยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ครั้งใหญ่

            ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจีน รัสเซีย การคงความเป็นเจ้าของสหรัฐ เหล่านี้เป็นเหตุผลมากพอที่รัฐบาลประกาศพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review: NPR) ฉบับล่าสุดปี 2018 ประกาศชัดว่า รัฐบาลมีหน้าที่คงกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือทุกประเทศใดโลก ด้วยความเชื่อว่านอกจากปลอดภัยแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา เรื่องนี้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจประเทศโดยตรง

            บริบทโลกในขณะนี้และอนาคตอันใกล้ล้วนชี้ว่าชาติมหาอำนาจทั้ง 3 เผชิญหน้าทางทหารมากขึ้น แน่นอนว่าหมายถึงอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

          ประการที่ 5 สหรัฐมีนโยบายยิงก่อนถ้าจำเป็น

            รัฐบาลสหรัฐรวมทั้งนักวิชาการหลายคนพยายามพูดว่าสหรัฐจะไม่เป็นฝ่ายยิงก่อน โอกาสที่จะใช้นิวเคลียร์มีน้อยมากและปกติไม่คิดจะใช้เลย คำอธิบายทำนองนี้ชี้ว่าโอกาสใช้น้อยมากแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้เลย รวมถึงเป็นฝ่ายใช้ก่อนด้วย

            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่านับจากโลกมีอาวุธนิวเคลียร์ถูกใช้ไปแล้ว 2 ลูก สหรัฐใช้ระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกเพื่อหยุดญี่ปุ่น คนอเมริกันสมัยนั้นส่วนใหญ่เห็นด้วย สงครามเกาหลี (1950-53) เป็นอีกครั้งที่สหรัฐคิดใช้ระเบิดนิวเคลียร์ นายพลดักลาส แมกอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) เสนอให้โจมตีจีนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ประธานาธิบดีทรูแมนไม่เห็นชอบ

            โอกาสที่จะใช้จึงมีและเคยทำมาแล้ว

          ประการที่ 6 กระแสสงครามล้างโลก

            มีกลุ่มคนที่คิดถึงเรื่องสงครามล้างโลกอยู่เสมอ เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ คนเหล่านี้มักจะพูดในทำนองว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้ว เช่น กรณีอิรักในสมัยซัดดัม ฮุสเซน ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน การทดลองนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ โครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจในขณะนี้

            ถ้าติดตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ ย้อนหลัง 10 ปี 20 ปี 30 ปีหรือไกลกว่านั้น (ยุคสงครามเย็น) แทบทุกปีจะมีคนพูดว่าจะเกิดสงครามล้างโลกแล้ว การเอ่ยถึงสงครามล้างโลกบ่อยๆ ทำให้เกิดกระแสคิดว่าสงครามนิวเคลียร์ใกล้แล้ว หลายคนพลอยคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น แม้ไม่อยากให้เกิดแต่ยอมรับว่าวันหนึ่งเป็นเช่นนั้น

            โดยรวมแล้ว ชาติมหาอำนาจขัดแย้งกันมากขึ้น เผชิญหน้ากันมากขึ้น หลายคนชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่อีกครั้ง จึงไม่แปลกถ้าจะพูดว่าโลกเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์เหมือนยุคสงครามเย็นที่ต่างฝ่ายต่างสะสมนิวเคลียร์จำนวนมาก แสดงท่าทีพร้อมใช้ถ้าจำเป็น เกิดวิกฤตใกล้นิวเคลียร์เป็นระยะ

            ต้องจับตาท่าทีรัฐบาลสหรัฐเพราะมีแนวโน้มว่าสหรัฐจะเป็นฝ่ายข่มขู่ยั่วยุก่อน รัฐบาลสหรัฐจะแสดงท่าทีชัดเจนมากขึ้น

จับตาการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ปี 2021 :

            New Strategic Arms Reduction Treaty (New START) เป็นสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐกับรัสเซียฉบับเกิดเมื่อปี 2010 จำกัดการเก็บสะสมนิวเคลียร์ สนธิสัญญานี้จะหมดอายุในกุมภาพันธ์ 2021 รัฐบาลทรัมป์แสดงท่าทีชัดเจนว่าการเจรจารอบใหม่จะต้องมีจีนร่วมโต๊ะเจรจา เป็นไปได้ว่าสหรัฐต้องการปรับเงื่อนไขนิวเคลียร์ใหม่หมด (เป็นที่มาของการฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์พิสัยกลางกับ Open Skies Treaty ก่อนหน้านี้) ซึ่งจีนแสดงท่าทีเรื่อยมาว่าไม่เห็นด้วย ตั้งเงื่อนไขว่าจะเข้าร่วมเจรจาหากจีนเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์เท่ากับสหรัฐ หรือสหรัฐจะปรับลดจำนวนหัวรบให้เท่ากับจีน (ปัจจุบันสหรัฐกับรัสเซียมีประเทศละ 6 พันหัวรบ ส่วนจีนมี 300 หัวรบ)

            อีกแนวทางคือจีนพร้อมเจรจานิวเคลียร์ในหมู่ 5 สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (สหรัฐ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส) ไม่ใช่แค่ 3 ประเทศตามที่เสนอมา

            ประเด็นอยู่ที่จีนต้องการเป็นชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ยืนได้ด้วยขาตัวเอง ไม่พึ่งความมั่นคงจากรัสเซีย เป็นไปได้ว่าจีนจะค่อยๆ เพิ่มกำลังรบนิวเคลียร์ตามหลักคิดประเทศที่ก้าวขึ้นมาต้องก้าวขึ้นมาทุกด้าน ไม่เฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าจีนพัฒนาและขยายแสนยานุภาพทางทหาร รัฐบาลจีนไม่ยอมให้ก้มหัวให้ใคร จีนมีศักยภาพที่สร้างอาวุธนิวเคลียร์ให้มากเท่าสหรัฐ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่

            เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐอาจใช้เรื่องนี้ยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าว เปิดทางสร้างสะสมอาวุธนิวเคลียร์ตามใจชอบ ปี 2021 จะเป็นปีแห่งความวิตกกังวลเมื่อชาติมหาอำนาจขัดแย้งเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ เป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าการบั่นทอนบ่อนทำลายอีกฝ่าย

6 กันยายน 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8700 วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิพากษ์ความคิดรัฐบาลสหรัฐผู้ล้างสัญญานิวเคลียร์ INF

การล้มสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) เปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐสามารถยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ของตนใหม่ทั้งหมด คงความเป็นเจ้าโลกด้านอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปอีกนาน

การป้องปรามนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrence)

นับจากหลายประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่มีใครใช้อีก นับว่าการป้องปรามได้ผล แต่ความสำเร็จในอดีตไม่เป็นเหตุจะรักษาไว้ได้ตลอดไป โอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์จึงมีอยู่เสมออยู่ตราบเท่าที่โลกมีอาวุธชนิดนี้

โลกเข้าสู่ยุคสงครามนิวเคลียร์ สหรัฐจะชิงลงมือก่อน?

โอกาสเกิดสงครามล้างโลกนิวเคลียร์เป็นไปได้น้อยมาก ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นคือสหรัฐจะเป็นผู้ลงมือใช้ก่อนกับประเทศเล็กๆ 

เหตุผลที่โลกไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์
ทุกวันนี้การเปิดฉากทำสงครามเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับนานาชาติ ไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ชั่ววูบภายใต้การตัดสินใจของไม่กี่คน ยิ่งเป็นสงครามนิวเคลียร์ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก

บรรณานุกรม :

1. Australia rules out hosting US missiles. (2019, August 5). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1535676/world

2. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against American Power. London: Pluto Press.

3. Beijing to Join US-Russia Talks If US Cuts Nukes to Chinese Level, China's Foreign Ministry Says. (2020, July 8). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/world/202007081079824464-beijing-to-join-us-russia-talks-if-us-cuts-nukes-to-chinese-level-chinas-foreign-ministry-says/

4. China firmly opposes U.S. report on Chinese military. (2020, September 2). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2020-09/02/c_139338038.htm

5. China planning to double its stockpile of nuclear warheads: Pentagon. (2020, September 1). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/politics/china-double-nuclear-warheads-pentagon

6. Dockrill, Michael L., Hopkins, Michael F. (2006). The Cold War 1945-91 (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.

7. Huge gap between Chinese and US nuclear arsenals causes concerns. (2020, July 7). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/content/1193892.shtml

8. INTERVIEW/ John Mearsheimer: U.S.-China rift runs real risk of escalating into a nuclear war. (2020, August 17). The Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/13629071

9. New START talks cannot include China. (2019, April 29). Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/1147895.shtml

10. ‘The end of us all!’ Duterte will NEVER let US deploy nukes & mid-range missiles in the Philippines. (2019, August 7). Al Arabiya. Retrieved from https://www.rt.com/news/465940-manila-no-us-nukes-inf/

11. U.S. Department of Defense. (2018). Nuclear Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF

12. Wirtz, James J., Larsen, Jeffrey A. (2005). Nuclear Transformation: The New Nuclear U.S. Doctrine. New York: PALGRAVE MACMILLAN.

--------------------------