เหตุผลที่โลกไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์

ทุกวันนี้การเปิดฉากทำสงครามเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับนานาชาติ ไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ชั่ววูบภายใต้การตัดสินใจของไม่กี่คน ยิ่งเป็นสงครามนิวเคลียร์ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก

            ในขณะที่มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโลกสุ่มเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น แต่ในอีกมุมชี้ว่าโอกาสเกิดน้อยมาก บทความนี้นำเสนอเหตุผลที่โลกไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์ 6 ประการตามบริบทโลกล่าสุด ดังนี้


          ประการแรก สงครามเย็นใหม่ที่สหรัฐเล่นฝ่ายเดียว

            ไม่กี่ปีมานี้มีการเอ่ยถึงสงครามเย็นครั้งใหม่ คราวนี้มุ่งเป้าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับจีน (รัสเซียมีส่วนด้วย) รัฐบาลทรัมป์กับ ส.ส. ส.ว. หลายคนมักใช้คำว่า “รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน” เพื่อพยายามตีตราว่าจีนปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ สร้างภาพความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่หากมองตามเนื้อแท้ความเป็นจริงนับวันจีนจะเปิดประเทศมากขึ้น ใช้ระบบการค้าเสรีภายใต้องค์การค้าโลก สังคมจีนยุคปัจจุบันมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าอดีต เพียงแต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังเป็นแกนกลางควบคุมอำนาจประเทศ สหรัฐต่างหากที่ถอยตัวออกจากโลกเสรี ละเมิดข้อตกลงองค์การค้าโลก บริหารประเทศแบบอำนาจนิยมมากขึ้น

            เป็นเวลานานแล้วที่รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งเสริมเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ มุ่งสร้างสัมพันธ์รอบทิศ ทำมาค้าขายกับนานาชาติมากกว่า ไม่แปลกที่หลายประเทศมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญรวมทั้งสหรัฐ ทุกวันนี้แทบทุกประเทศมีสัมพันธ์กับจีน (ต่างจากการปิดล้อมในยุคสงครามเย็น) นานาชาติปัจจุบันให้ความสำคัญกับสันติภาพมากกว่าความขัดแย้ง การจะจุดความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์การเมืองจึงเป็นเรื่องยาก เพราะสวนทางความจริง ไม่ตอบโจทย์บริโลกปัจจุบัน

          ประการที่ 2 การอยู่รอดสำคัญที่สุด

            “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ระบุว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐมักตั้งอยู่บนหลักสัจนิยม (Realism) เป็นความคิดนำ (dominated thinking) รัฐพร้อมทำทุกอย่าง เสริมสร้างให้ตัวเองเข้มแข็งที่สุด เหมือนสัตว์ป่าตัวที่เข้มแข็งที่สุดในป่าเพื่อมีชีวิตอยู่รอด

            ความขัดแย้งสหรัฐ-จีนเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้และจะทวีความรุนแรง แต่สงครามล้างโลกคือหายนะ ไม่สนองเป้าหมายการอยู่รอด มีคำถามว่าการทำลายล้างด้วยกันทั้งหมดคือการป้องกันประเทศหรือ ประโยชน์ของอาวุธนิวเคลียร์อยู่ตรงไหน

          ประการที่ 3 ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องสำคัญกว่า

            ประชาชนย่อมไม่อยากให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ ทำไมพวกเขาต้องเสียชีวิต ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในโลกหลังสงคราม แค่จินตนาการว่าต้องกักตุนอาหาร เด็กนักเรียนฝึกเข้าหลุมหลบภัยนิวเคลียร์อย่างยุคสงครามเย็น เท่านี้ก็น่าปวดหัวน่าหวาดกลัวมากพอแล้ว ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจำต้องถึงกับทำสงครามล้างโลกกันเลยหรือ อุดมการณ์ลัทธิการเมืองใดที่สอนให้ผู้นำประเทศทำเช่นนั้น

            คนในยุคนี้ให้ความสำคัญต่อชีวิตที่สุขสบาย ไม่ใช่เรื่อง่ายที่จะกล่อมให้คนยอมตายเพื่ออุดมการณ์

          ประการที่ 4 เพื่อผลประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อล้างโลก

            ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ต่างให้เหตุผลว่าเพื่อป้องปรามไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้นิวเคลียร์ ป้องกันสงครามใหญ่ จึงสรุปว่ามีนิวเคลียร์เพื่อสันติ ประเด็นนี้สามารถถกแถลงได้แต่เป็นจริงไม่น้อย

            นอกจากสันติภาพยังใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา

            นอกจากปัจจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยนอกประเทศ บ่อยครั้งที่อาวุธนิวเคลียร์เป็นประเด็นหาเสียงสำคัญ เป็นจุดยืนหรือท่าทีของพรรค

          อันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์สอนว่า การทำลายล้างอีกฝ่ายไม่จำต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เสมอไป การทำสงครามใหญ่ไม่เป็นที่นิยมและสูญเสียมาก เป็นเหตุผลว่ารัฐบาลสหรัฐยังคงใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน

          ประการที่ 5 การติดต่อสื่อสาร

            หากดูข่าวอาจเห็นภาพความขัดแย้ง วิวาทะของผู้นำประเทศ การเคลื่อนฝูงบิน กองกำลังเรือรบที่ส่อว่าตึงเครียด แต่ความจริงอีกข้อคือ แท้จริงแล้วผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีการติดต่อสื่อสารอยู่เสมอ มากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าวหลายเท่าตัว

            การตัดสินใจเปิดฉากทำสงครามเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ ยิ่งคิดจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทุกครั้งที่ผ่านมาเมื่อมีวิกฤต ทุกฝ่ายจะปรึกษาหารือทั้งทางตรงทางลับ ดังเช่นวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missle Crisis) เมื่อปี 1962 ลงเอยด้วยต่างฝ่ายต่างถอยคนละก้าว หลีกเลี่ยงสงคราม

            มกราคม 1995 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในโลกที่ประธานาธิบดีรัสเซีย บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) เปิดกระเป๋าเตรียมยิงนิวเคลียร์เนื่องจากมีสัญญาณปล่อยขีปนาวุธจากอีกฝ่าย เรื่องลงเอยด้วยดี เป็นความเข้าใจผิดเพราะเป็นเพียงจรวดทดลองวิทยาศาสตร์ของนอร์เวย์ บางคนตีความว่าเรื่องเล็กๆ เช่นนี้อาจทำให้มหาอำนาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่การตีความอีกแบบการกระทำของรัสเซียเป็น ขั้นตอนปฏิบัติปกติเป็นการเตรียมพร้อมเท่านั้น ที่สุดเมื่อสื่อสารกันก็ลงเอยด้วยดี

            เมื่อเทียบปัจจุบันกับ 30-40 ปีก่อน ระบบตรวจจับพัฒนาดีขึ้นมาก ดาวเทียมของสารพัดประเทศลอยเต็มท้องฟ้า (ไม่เฉพาะของชาติมหาอำนาจเท่านั้น) เรดาร์นับร้อยนับพันสถานีคอยตรวจจับตลอด 24 ชั่วโมง ประเทศเหล่านี้จะล่วงรู้หากใครยิงนิวเคลียร์ ส่งเครื่องบินรบ ยิงจริงหรือไม่จริง ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ภายใน 5-10 นาทีบรรดาผู้นำประเทศจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

            ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดสงครามล้างโลกจากความเข้าใจผิด อารมณ์ชั่ววูบจึงไม่มี การใช้หัวรบนิวเคลียร์ต้องผ่านระบบความปลอดภัย ตรวจสอบหลายชั้นหลายขั้นตอน คอมพิวเตอร์ชุดหนึ่งอาจทำงานผิดพลาดแต่ไม่ใช่ทุกชุดทุกระบบ ทุกประเทศที่ครอบครองต่างป้องกันเต็มที่ไม่เปิดโอกาสผิดพลาดทางเทคนิค ไม่เป็นอย่างที่ดูกันในภาพยนตร์

          ประการที่ 6 ผู้นำสหรัฐไม่ต้องการสงครามล้างโลก

            แม้บางครั้งประธานาธิบดีสหรัฐใช้ถ้อยคำรุนแรง สุ่มเสี่ยงเผชิญหน้ากัน เพิ่มงบประมาณกลาโหม สร้างอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ๆ แต่เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นปกครองอเมริกาคิดทำสงครามนิวเคลียร์ อาจตั้งคำถามว่าชนชั้นปกครองอเมริกาอยากทำสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ อยากดำเนินชีวิตต่อในโลกยุคหลังสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ คำตอบโดยสามัญสำนึกคือ พวกเขาอยากอยู่ดีกินดี มีชีวิตยืนยาวอีกหลายๆ ปี ใช้ชีวิตเยี่ยงราชามากกว่า

            ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าเพราะรู้ว่าหากเกิดสงครามโลกจะหมายถึงการสิ้นสุดอารยธรรม ประเทศต่างๆจึงไม่คิดทำสงครามใหญ่

สงครามนิวเคลียร์ในโลกแห่งความเป็นจริง :

            ดังที่นำเสนอในบทความก่อนว่ามีคนหรือกลุ่มคนที่คิดถึงเรื่องสงครามล้างโลกอยู่เสมอ เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ คนเหล่านี้มักจะพูดในทำนองว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้ว ถ้าติดตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ ย้อนหลัง 10 ปี 20 ปี 30 ปีหรือไกลกว่านั้น (ยุคสงครามเย็น) แทบทุกปีจะมีคนพูดว่าจะเกิดสงครามล้างโลกแล้ว บางปีพูดมากกว่า 1 ครั้ง พูดให้ชัดคือตั้งแต่โลกมีอาวุธนิวเคลียร์ เสียงสงครามล้างโลกก็ดังเรื่อยมา

            การเอ่ยถึงสงครามล้างโลกบ่อยๆ ทำให้เกิดกระแสคิดว่ากำลังจะเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้ว ทำให้หลายคนพลอยคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ในโลกแห่งความจริงการเปิดฉากทำสงครามเป็นเรื่องใหญ่ระดับนานาชาติ ไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ชั่ววูบอยู่ภายใต้การตัดสินใจของไม่กี่คน ยิ่งเป็นสงครามนิวเคลียร์ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก ผู้คนในยุคนี้หวังทำมาหากินใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่คิดสละชีพเพื่ออุดมการณ์ ต้องทนทุกข์ยากเพราะผลจากสงคราม

            ข้อสรุปของบทความนี้คือ มีหลายเหตุผลชี้ว่าโลกเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงมากขึ้น อาวุธยุคใหม่รุนแรงกว่าเดิม แต่เหตุผลเหล่านั้นไม่นำสู่สงครามล้างโลก แต่ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีวันเกิด โอกาสที่เป็นไปได้มีน้อยมาก

13 กันยายน 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8707 วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :

เหตุผลโลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น

สงครามใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ภายใต้หลักคิดของรัฐบาลสหรัฐมองว่ากำลังถูกคุกคาม ประเทศตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงจำแก้ไข เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์

บรรณานุกรม :

1. Art, Robert J., Jervis, Robert. (2017). In International Politics: Enduring Concepts and Contemporary Issues (13th Ed.). New York: Pearson.

2. Fear of World War III should stop global disputes, Russia's Putin says. (2018, June 7). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2018/06/07/russias-vladimir-putin-holds-annual-phone-in.html

3. From pandering to Putin to abusing allies and ignoring his own advisers, Trump's phone calls alarm US officials. (2020, June 30). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/06/29/politics/trump-phone-calls-national-security-concerns/index.html

4. Gray, Colin S. (2007). War Peace and International Relations: An introduction to strategic history. Oxon: Routledge.

5. Haley, John. (2006). National Security Strategy Report. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.505-506). California: Sage Publications.

6. Siracusa, Joseph M. (2008). Nuclear Weapons: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press.

7. The nuclear mistakes that nearly caused World War Three. (2020, August 10). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/future/article/20200807-the-nuclear-mistakes-that-could-have-ended-civilisation

8. U.S. Department of Defense. (2018). Nuclear Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF

9. Viotti, Paul., Kauppi, Mark. (2009). International Relations and World Politics (4th Ed.). USA.: Pearson Education.

10. Younger, Stephen M. (2008). The Bomb: A New History. USA: HarperCollins Publishers.

--------------------------