ยุทธศาสตร์สร้างความเกลียดชังรัฐบาลจีน

รัฐบาลทรัมป์ประสบผลไม่น้อยในการสร้างความเกลียดชังรัฐบาลจีน ความเกลียดชังนี้ขยายผลสู่ระดับประชาชน เป็นประเทศที่ใช้นโยบายเกลียดชังคนอื่นเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม หวังผลทางการเมือง

             รัฐบาลสหรัฐต้องการปิดล้อมจีนเพื่อรักษาความเป็นมหาอำนาจของตนเอง การสร้างความเกลียดชังเป็นอีกวิธีที่ใช้เพื่อสร้างศัตรู ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็นที่ตีตราความเลวร้ายของลัทธิสังคมนิยม หรืออิหร่านกับเกาหลีเหนือในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์สร้างความเกลียดชังรัฐบาลจีน :

            หลักสำคัญคือพยายามพูดแง่ลบต่อจีน ชี้ว่าเป็นความผิดของรัฐบาลจีน

ประการแรก รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน

ประธานาธิบดีทรัมป์และไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รมต.ต่างประเทศ รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. พรรครีพับลิกันมักเอ่ยถึงรัฐบาลจีนด้วยคำว่า “Chinese Communist Party” เพื่อตอกย้ำว่าจีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ปอมเปโอกล่าวเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าตั้งแต่เริ่มระบอบการปกครองใหม่ จีนถูกปกครองโดย ระบอบอำนาจนิยมที่โหดร้ายอุดมการณ์ทางการเมืองของจีนเป็นปรปักษ์ต่อประเทศเสรี

            เป็นความจริงที่จีนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ต่างจากอดีต สังคมจีนปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เศรษฐกิจเปิดออกมากขึ้น เป็นสมาชิกองค์การค้าโลก คนจีนรุ่นใหม่เป็นพวกวัตถุนิยม คิดแต่จะร่ำรวย คิดถึงประโยชน์ตนเองมากกว่าส่วนรวม ไม่ต่างจากคนอเมริกันหลายคน ผิดจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ต้องการสร้างสังคมไร้ชนชั้น สังคมแห่งความเท่าเทียม

            ปีการศึกษา 2018-19 นักเรียนนักศึกษาจีน 369,548 คนลงทะเบียนเรียนในสหรัฐจากจำนวนนักเรียนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 1,095,299 คน (เท่ากับร้อยละ 33.7) เป็นสถิติสูงสุดต่อเนื่อง 10 ปีแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนไม่หวั่นคนรุ่นใหม่จะเป็นอุปสรรคต่อการปกครองของตน

เป็นความจริงที่ว่าชนชั้นปกครองได้ประโยชน์จากระบอบ มีการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย แต่หากมองภาพรวมปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ทำให้ประเทศพัฒนา ประชาชนอยู่ดีกินดีเมื่อเทียบกับก่อนเป็นคอมมิวนิสต์

ประการที่ 2 กรณีขาดุลการค้าจีน

            ทรัมป์พูดราวกับว่าปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐ คนว่างงาน อุตสาหกรรมในประเทศที่อ่อนแอ ต้นเหตุทั้งหมดมาจากจีน จึงตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายรอบ โทษจีนว่าเป็นต้นเหตุคนว่างงาน ทำให้การเจรจาล้มเหลว คำถามคือทำไมบริษัทอเมริกันมากมายจึงย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไปสู่ประเทศอื่นๆ จีนเป็นเพียงหนึ่งในเป้าหมายเท่านั้น

ด้านรัฐบาลจีนรายงานในรอบ 11 เดือนแรกของปี 2019 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มจากเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 15.5 เปอร์เซ็นต์ มีกิจการต่างชาติเปิดใหม่ 36,747 ราย จีนยังเป็นแหล่งลงทุนเนื้อหอมของนานาชาติ นักลงทุนคิดต่างจากรัฐบาลสหรัฐ

ประการที่ 3 กรณี BRI

งานวิจัยจากสหรัฐหลายชิ้นพูดแง่ลบต่อข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ Belt and Road Initiative (BRI) อย่างต่อเนื่อง รายงานเหล่านี้มุ่งเอ่ยถึงคือข้อเสียโครงการ ต้องยอมรับว่า BRI มีทั้งข้อดีข้อเสีย มีโครงการที่ล้มเหลว แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธคือยอดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศคู่ค้าภายใต้ BRI เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

            เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐกับนานาชาติคิดไม่ตรงกัน

ประการที่ 4 กรณีฮ่องกง

ทั้งๆ ที่ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน เป็นเขตอธิปไตยของจีนโดยแท้ ภายใต้การปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ แต่รัฐบาลทรัมป์เห็นว่าเป็นความชอบธรรมที่จะสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เรียกร้องปกครองตนเอง สนับสนุนฝ่ายต่อต้านให้เกลียดชังรัฐบาลจีน เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย ในขณะที่กล่าวประณามอย่างรุนแรงกล่าวหารัฐบาลต่างชาติแทรกแซงกิจการภายในของตน

การสร้างความแตกแยก ความเกลียดชังภายในประเทศ เป็นอีกพฤติกรรมของรัฐบาลสหรัฐที่มีมาเนิ่นนาน

ประการที่ 5 กรณีโรคระบาดโควิด-19

ปลายเดือนมีนาคมเมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในสหรัฐ รัฐบาลทรัมป์แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า จีนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและคนอเมริกันที่เสียชีวิต ไมค์ ปอมเปโอ รมต.สหรัฐชี้ว่าเหตุที่แพร่ระบาดหนักเพราะรัฐบาลจีนไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐต้านการแพร่ระบาดแต่แรก

รัฐบาลทรัมป์พยายามพูดเป็นนัยว่าเป็นไวรัสของจีน สวนทางกับข้อสรุปขององค์การอนามัยโลก วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขสหรัฐ

            ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญต่อการป้องกันภายในประเทศ ไม่แสดงภาวะผู้นำโลก ไม่ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกเท่าที่ควร กลายเป็นการเปิด “ช่องว่าง” ให้จีนแสดงบทบาทช่วยเหลือนานาชาติอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเรื่ององค์ความรู้ บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ แม้กระทั่งหน้ากากอนามัย

            รัฐบาลทรัมป์กับชาติตะวันบางประเทศชี้ว่าจีนไม่ได้ช่วยอย่างจริงใจ มีผลประโยชน์แอบแฝงซึ่งน่าจะจริง (อย่างน้อยบางกรณี) แต่ต้องถามกลับว่าปกติการช่วยเหลือระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศใช่หรือไม่ มักมีผลประโยชน์แอบแฝงใช่หรือไม่

            ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ หลายประเทศร้องขอความช่วยเหลือจากจีน แม้กระทั่งประเทศที่เป็นพันธมิตร เป็นมิตรประเทศของสหรัฐ

          ประการที่ 6 กรณีหยวนดิจิทัล

            ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐโจมตีกล่าวหาจีนหวังใช้หยวนดิจิทัลครอบงำเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้มีส่วนจริง แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องมองว่าระบบโลกปัจจุบันเป็นระบบแข่งขัน

แท้จริงแล้วทุกประเทศสามารถสร้างสกุลดิจิทัลของรัฐขึ้นมา หลายประเทศกำลังพัฒนา เช่น สวีเดน แคนาดา เกาหลีใต้ ไทย เป็นทิศทางโลกที่จะมีเงินดิจิทัลใช้หลายสกุล ไม่มีใครห้ามรัฐบาลสหรัฐ หากจะสร้าง “ดอลลาร์ดิจิทัล” (บางคนเรียกว่า Fed Coin) ของตัวเอง ทำไมไม่คิดว่าดอลลาร์ดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ ให้สหรัฐสามารถครอบงำระบบการเงินโลกได้ดีกว่าเดิม ไม่ช้าก็เร็วรัฐบาลสหรัฐจะออกสกุลเงินดิจิทัลของตนเช่นกัน

            การโจมตีรัฐบาลจีนเรื่องหยวนดิจิทัลและประเด็นอื่นๆ ข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสเกลียดชังรัฐบาลจีน

รัฐบาลทรัมป์ผู้สร้างสังคมแห่งความเกลียดชัง :

            ไม่ว่าจะเรื่องใด รัฐบาลทรัมป์มักจะชี้นิ้วไปที่จีน โทษจีน เหตุที่รัฐบาลสหรัฐโจมตีเล่นงานจีนมาจากหลายเหตุผลทั้งการเมืองภายในประเทศกับการเมืองระหว่างประเทศ เช่น เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง บิดเบือนกลบเกลื่อนความผิดพลาดจากการบริหาร ความอ่อนแอภายในของประเทศ และอีกเหตุผลคือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน

            จะเห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์พูดจริงบ้างเท็จบ้าง มักใช้ hate speech หว่านความเกลียดชังไปเรื่อยและคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเห็นคล้อยตาม โดยเฉพาะพวกที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน

ในยุครัฐบาลทรัมป์มีข้อสรุปว่าทัศนคติคนอเมริกันมองจีนในแง่ลบมากขึ้น ยกตัวอย่างข้อมูลจาก Deutsche Bank เมื่อกลางพฤษภาคมเผยว่าคนอเมริกันร้อยละ 41 จะไม่ซื้อสินค้า “Made in China” ด้วยเหตุผลเกี่ยวข้องกับโควิด-19 เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งจากถ้อยคำของประธานาธิบดีทรัมป์ งานวิจัยอีกชิ้นจาก FTI Consulting ของสหรัฐเผยว่าคนอเมริกันร้อยละ 78 ยอมจ่ายแพงเพื่อซื้อสินค้าที่ไม่ได้ผลิตในจีน

            บทวิเคราะห์นี้สรุปว่ารัฐบาลทรัมป์ประสบผลไม่น้อยในการสร้างความเกลียดชังรัฐบาลจีน ความเกลียดชังนี้ขยายผลสู่ระดับประชาชน เป็นประเทศที่ใช้นโยบายเกลียดชังคนอื่นเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม แน่นอนว่ารัฐบาลจีนกระทำโดยคิดวางแผนอย่างดีเพื่อขยายผลประโยชน์ของตน การขัดผลประโยชน์เป็นที่มาของความขัดแย้ง

          แต่เป็นนโยบายที่ดีแล้วหรือที่สร้างความเกลียดชังในสังคมตัวเอง เป็นสังคมแห่งความจงเกลียดจงชัง คิดหรือไม่ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคมตัวเอง หรือหวังแค่ได้ชัยชนะในสนามเลือกตั้ง

31 พฤษภาคม 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8602 วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563)

-----------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :

ทฤษฎีสมคบคิด โควิด-19 ไวรัสของใคร

ถ้าเชื่อหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์จะสรุปว่าเกิดจากธรรมชาติ ถ้าเชื่อว่าเป็นฝีมือมนุษย์ต้องคิดต่อว่าจะเชื่อฝั่งใด เป็นเชื้อโรคหรือแผนของประเทศใด สหรัฐ จีน ฯลฯ ด้วยหลักฐานเหตุผลใด

การเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนกับสหรัฐว่าด้วยโควิด-19

โควิด-19 กลายเป็นอีกสนามของการต่อสู้ระหว่างชาติมหาอำนาจ น่าคิดว่าหากร่วมมือกันจะช่วยรักษาชีวิตได้กี่คน ลดความสูญเสียมากเพียงไร แม้กระทั่งต่อพลเมือง เศรษฐกิจสังคมของตนเอง

 

บรรณานุกรม :

1. China, US consumers turn on each other's goods as pandemic drives commercial nationalism. (2020, May 20). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/world/2020/05/672_289819.html

2. China sees steady inflow of FDI. (2019, December 29). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2019-12/29/c_138665133.htm

3. EU split over China’s ‘face mask’ diplomacy. (2020, March 28). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/03/eu-split-over-chinas-face-mask-diplomacy/

4. Harvey, David. (2003). The New Imperialism.  New York: Oxford University Press.

5. IMF says governments could set up their own cryptocurrencies. (2018, November 14). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/business/2018/nov/14/imf-says-governments-could-set-up-their-own-cryptocurrencies

6. Institute of International Education. (2019). Number of International Students in the United States Hits All-Time High. Retrieved from https://www.iie.org/Why-IIE/Announcements/2019/11/Number-of-International-Students-in-the-United-States-Hits-All-Time-High

7. Nearly 30% in the US believe a coronavirus theory that's almost certainly not true. (2020, April 13). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/04/13/us/coronavirus-made-in-lab-poll-trnd/index.html

8. Trump fans flames of Chinese lab coronavirus theory during daily briefing. (2020, April 16). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2020/apr/15/trump-us-coronavirus-theory-china

9. 'We stand with Australia': Mike Pompeo hits out at China threats. (2020, May 20). The Age. Retrieved from https://www.theage.com.au/world/north-america/we-stand-with-australia-mike-pompeo-hits-out-at-china-threats-20200521-p54uzz.html

-----------------------------

เครดิตภาพ : https://unsplash.com/@thevoncomplex