จากเผาสถานทูตสหรัฐในอิรักสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

การสูญเสียผู้บัญชาการนายพลสุไลมานี คือการสูญเสียนายทหารคนสำคัญของผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน ด้านรัฐบาลสหรัฐเห็นว่าคือการตอบโต้ต่อผู้บุกเผาทำลายสถานทูต ทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย
กองทัพอิหร่านกับ IRGC และ Quds Force :
กองทัพอิหร่านกับ IRGC และ Quds Force มีความแตกต่างกัน
IRGC เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิหร่านที่แยกออกมาเฉพาะมีชื่อเต็มว่า “กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม” (Islamic Revolutionary Guards Corps: IRGC) จัดตั้งขึ้นใหม่หลังปฏิวัติอิหร่าน 1979 เป็นกองกำลังที่มีอุดมการณ์ชีอะห์เหนียวแน่น จึงได้ชื่อว่าพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามซึ่งหมายถึงการปฏิวัติตามแนวทางของนิกายชีอะห์ ทำให้การล้มระบอบเก่าสู่ระบอบปัจจุบันเป็นไปด้วยดี ท่ามกลางสถานการณ์ระยะเปลี่ยนผ่านที่เต็มด้วยความวุ่นวาย มีหลากหลายกลุ่มที่ต่างแย่งชิงอำนาจ มีข้อมูลว่าปัจจุบันมีกำลังพล 125,000-150,000 นาย
อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่านมักกล่าวชื่นชม IRBC ว่าเป็นผู้รักษาการปฏิวัติอิสลาม
Quds Force หมายถึงกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลัง อาจเป็นชาวอิหร่านหรือต่างชาติ เช่น ฮิซบอลเลาะห์อยู่ในกลุ่มนี้
จากข้อมูลฝ่ายสหรัฐ Qods Force มีบทบาทต่อความขัดแย้งในอิรักกับซีเรียอย่างชัดเจน สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายชีอะห์ (Shia terrorist groups) เช่น Kata’ib Hizballah ในอิรัก สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายชีอะห์ในอัฟกานิสถานกับปากีสถานเพื่อเข้าร่วมต่อสู้ป้องกันรัฐบาลอัสซาด มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนซุนนี
นักวิชาการบางคนเห็นว่า IRGC กับ Qods ไม่ใช่เพียงกองกำลังหน่วยหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสถาบันรัฐซ้อนรัฐ มีอำนาจเหนือสถาบันอื่นๆ ควบคุมเศรษฐกิจ มีกิจการของตนเองนับร้อยนับพันแห่ง เป็นองค์กรที่เป็นแขนขาของผู้นำฝ่ายศาสนาและสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในอิรัก
นโยบายต่อต้านก่อการร้ายต่ออิหร่าน :
 “รายงานการก่อการร้ายรายประเทศ” ฉบับปี 2017 (Country Reports on Terrorism 2017) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า อิหร่านสร้างความขัดแย้งและบ่อนทำลายผลประโยชน์สหรัฐในหลายประเทศ ระดมกองกำลังชีอะห์จากทั่วโลก (ส่วนใหญ่ระดมคนจากภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้)
นับจากปี 1984 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐตีตราอิหร่านคือรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย (State Sponsors of Terrorism) จากการสนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มก่อการร้ายในฉนวนกาซา หลายกลุ่มในซีเรียกับอิรัก และอีกมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง กระทำผ่าน IRGC กับ Qods Force ผ่านกระทรวงข่าวกรองและความมั่นคง (Ministry of Intelligence and Security) บ่อนทำลายเสถียรภาพตะวันออกกลาง ให้ทั้งอาวุธ เครื่องไม้เครื่องมือ
เฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ อิหร่านให้เงินหลายร้อนล้านดอลลาร์ ให้เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อผลิตจรวดเป็นพันๆ ลูก และอาวุธต่างๆ ละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 1701 เป็นอีกกลุ่มที่เข้าร่วมรบในซีเรียเพื่อสนับสนุนอัสซาด
ที่ประเทศบาห์เรน อิหร่านให้อาวุธและฝึกกองกำลังชีอะห์ท้องถิ่น มีหลักฐานชัดว่าอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มที่ชื่อว่า al-Ashtar Brigades (AAB)
ที่ฉนวนกาซา อิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮามาส (Hamas) กับพวกปาเลสไตน์อีกหลายกลุ่ม เช่น Palestine Islamic Jihad กับ Popular Front กลุ่มเหล่านี้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุร้ายหลายครั้งทั้งในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ โจมตีอิสราเอลกับอียิปต์
รัฐบาลอิหร่านเร่งสนับสนุนใช้การโจมตีด้วยไซเบอร์ สนับสนุนกลุ่มไซเบอร์โจมตีรัฐบาลต่างชาติและเอกชน และยอมให้อัลกออิดะห์ใช้เป็นแหล่งซ่องสุม
เป็นประเทศที่รัฐบาลสหรัฐมองว่าเป็นภัยร้ายแรงที่สุด
เมษายน 2019 รัฐบาลทรัมป์ประกาศตีตรากองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ (foreign terrorist organization: FTO) เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายต่างๆ โดยตรง รวมถึงกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลังในซีเรีย อิรัก
รวมความแล้วรัฐบาลสหรัฐตีตรารัฐบาลอิหร่านคือผู้อุปถัมภ์ผู้ก่อการร้าย และกระทำผ่านกองทัพอย่างตน โดยเฉพาะ IRGC กับ Quds Force ส่งเสริมสนับสนุนผู้ก่อการร้ายมากมายหลายกลุ่มทั่วโลก (สมาชิกส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์)
Popular Mobilization Forces (PMF) :
.           ข้อมูลบางชิ้นระบุว่ารัฐบาลอิหร่านมีอิทธิพลต่อขบวนการชีอะห์อิรักตั้งแต่ปี 2003 สมัยทำสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน การทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายไอซิสเมื่อปี 2014 เป็นอีกเหตุที่กองกำลังดังกล่าวเฟื่องฟู สามารถช่วยทำลายไอซิสทั้งในซีเรียกับอิรัก โดยเฉพาะประเทศอิรักกลับมาสงบมากขึ้นอีกครั้ง (แม้ไม่สมบูรณ์)
            Popular Mobilization Forces เป็นชื่อรวมของกองกำลังจากหลายประเทศหลายกลุ่มที่เข้ามาร่วมต่อต้านไอซิสในอิรัก Kataeb Hezbollah คือกลุ่มหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึงในเหตุการณ์โจมตีเผาทำลายสถานทูตสหรัฐกลางกรุงแบกแดดเมื่อ 31 ธันวาคม 2019
            กลุ่มย่อยอื่นๆ เช่น Imam Ali Brigades กับ Sayed al-Shuhada และ Badr Organization
PMF ไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐบาลอิรักแต่อยู่ใต้อิทธิพลอิหร่าน
รัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ กับพวกและอิสราเอลกังวลเรื่องนี้ เกรงว่ารัฐบาลอิหร่านจะมีอิทธิพลครอบงำอิรัก เท่ากับฝ่ายสหรัฐเสียอิทธิพล เสียผลประโยชน์ในที่สุด พยายามเล่นงานกองกำลังชีอะห์ที่อิหร่านหนุนหลังทั้งในซีเรียกับอิรักด้วยหลายมาตรการ
การเสียชีวิตของนายพลกอซิม สุไลมานี :
            ข่าวที่โหมกระพือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านปะทุอีกครั้ง เมื่อนายพลกอซิม สุไลมานี (Qassim Soleimani) ผู้นำกองทัพคนสำคัญของอิหร่านที่เคลื่อนไหวในอิรักกับซีเรียเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในกรุงแบกแดดด้วยฝีมือของกองทัพสหรัฐ อีกคนที่เสียชีวิตคือ  Abu Mahdi al-Muhandis ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองกำลัง PMF
            กระทรวงกลาโหมแถลงประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้สั่งการโจมตีสังหารผู้นำกองกำลังอิหร่านในอิรัก ตอบโต้ที่สถานทูตสหรัฐถูกเผา ส.ส. ส.ว. สหรัฐมีทั้งพวกที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย วุฒิสมาชิก Lindsey Graham จากพรรครีพับลิกันเชื่อว่าสถานการณ์จะรุนแรงกว่านี้เพราะอิหร่านพร้อมจะตอบโต้
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเอ่ยถึงกองกำลังในอิรักที่อิหร่านหนุนหลัง จะปรากฏชื่อนายพลสุไลมานีเสมอ มีข่าวเข้าๆ ออกๆ อิรัก การปราบไอซิสในอิรักถือเป็นความชอบของท่านโดยตรง ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งทั้งจากผู้นำอิหร่านและประชาชนทั่วไป สำหรับอิหร่านแล้วการจากไปของท่านคือการจากไปของวีรบุรุษ
อยาตุลเลาะห์คาเมเนอี ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่านกล่าวว่าการลอบสังหารนายพลสุไลมานีจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านสหรัฐกับอิสราเอล แม้ท่านจะจากไปแต่งานของทำจะได้รับการสานต่อและการแก้แค้นรออยู่เพื่อให้อาชญากรรับโทษ
เหตุการณ์นี้กระทบตลาดเงินตลาดทุนอย่างมาก ราคาทองคำกับน้ำมันขึ้นสูง หลายฝ่ายเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลายกว่านี้ เป็นเรื่องที่ควรติดตามใกล้ชิด
IRGC กับ Quds Force คือกองกำลังพิเศษที่อยู่คู่การปฏิวัติอิสลามตามแนวทางของชีอะห์อิหร่าน การสูญเสียนายพลสุไลมานีคือการสูญเสียนายทหารคนสำคัญของผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน ด้านรัฐบาลสหรัฐเห็นว่านี่คือการตอบโต้ผู้บุกเผาทำลายสถานทูตของตนซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ คือการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายที่ดำเนินเรื่อยมา
5 มกราคม 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8456 วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2563)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
อิหร่านต่อกรกับสหรัฐเรื่อยมา ไม่เพียงเพราะการปฏิวัติอิสลาม การมองย้อนหลังไกลกว่า 40 ปีช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น ชาติมหาอำนาจต้องการครอบงำอิหร่าน เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ค้นพบน้ำมัน
การห้ามนานาประเทศซื้อน้ำมันอิหร่านไม่ใช่เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่านเท่านั้น ยังมีผลโดยตรงต่อระเบียบการซื้อขายน้ำมันโลก หลายประเทศต้องมุ่งนำเข้าน้ำมันจากผู้ส่งออกที่เป็นมิตรกับสหรัฐเท่านั้น
การยอมรับรัฐอิสราเอล ซาอุฯ ไม่มีปัญหาคนยิวทั้งยังมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่างจากปากของมกุฎราชกุมารซัลมาน จะนำสู่การพันธมิตรของ อำนาจ 3 เส้าผู้หมายครองตะวันออกกลางอย่างเปิดเผย
บรรณานุกรม :
1. AP Explains: Who are Iraq’s Iran-backed militias? (2019, December 31). AP. Retrieved from https://apnews.com/57a346b17d6da07ae732ba1437520fd2
2. Council on Foreign Relations. (2019, May 6). Iran’s Revolutionary Guards. Retrieved from https://www.cfr.org/backgrounder/irans-revolutionary-guards
3. Iran supreme leader vows severe revenge’ for Soleimani killing. (2020, January 3). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2020/01/03/Iran-supreme-leader-Khamenei-vows-severe-revenge-for-Soleimani-killing.html
4. Iraq: Anti-government protesters denounce pro-Iran crowds. (2020, January 2). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2020/01/iraq-anti-government-protesters-denounce-pro-iran-crowds-200102144314331.html
5. Saudia Arabia and Iran: The Cold War of Islam. (2016, May 9). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/saudia-arabia-iran-and-the-new-middle-eastern-cold-war-a-1090725.html
6. Trump orders killing of key Iranian commander in Baghdad airport strike. (2020, January 3). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/01/02/middleeast/baghdad-airport-rockets/index.html
7. US declares Iran’s guard force a ‘terrorist organization’. (2019, April 8). AP.  Retrieved from https://www.apnews.com/f1c86b8dc63d4277a0033b11a3bbec0c
8. U.S. State Department. (2018, September).  Country Reports on Terrorism 2017. Retrieved from https://www.state.gov/documents/organization/283100.pdf
9. Vatanka, Alex. (2019, October 29). Iran’s IRGC Has Long Kept Khamenei in Power. Retrieved from https://foreignpolicy.com/2019/10/29/iran-irgc-islamic-revolutionary-guard-corps-kept-supreme-leader-ayatollah-ali-khamenei-power/
-----------------------------

unsplash-logoMeriç Dağlı