ย้อนรอยความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับผู้หวังครองน้ำมัน

อิหร่านต่อกรกับสหรัฐเรื่อยมา ไม่เพียงเพราะการปฏิวัติอิสลาม การมองย้อนหลังไกลกว่า 40 ปีช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น ชาติมหาอำนาจต้องการครอบงำอิหร่าน เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ค้นพบน้ำมัน

            ปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิวัติอิหร่าน  ถ้ามองในเชิงศาสนาคือการปฏิวัติชีอะห์ ถ้ามองในเชิงต่อสู้กับต่างชาติคือการต่อต้านขัดขืนมหาอำนาจที่สามารถมองย้อนหลังไกลกว่า 110 ปี
เรื่องราวเริ่มขึ้นปี 1908 อังกฤษประกาศค้นพบน้ำมันในอิหร่าน ในตอนนั้นอังกฤษกับรัสเซียร่วมกันครอบงำอิหร่าน บริษัทน้ำมันอังกฤษ Anglo-Iranian Oil Company (AIOC - ในที่นี้ใช้ชื่อสุดท้าย) ได้รับสัมปทาน แบ่งผลประโยชน์แก่อิหร่านเพียงน้อยนิด เช่นบางช่วงให้ร้อยละ 16 อีกทั้งไม่ยอมให้รัฐบาลอิหร่านดูบัญชีบริษัทด้วย
นอกจากผลประโยชน์เรื่องกำไร เมื่อเรือรบเริ่มเปลี่ยนจากมาใช้น้ำมัน รัฐบาลอังกฤษเล็งเห็นคุณค่าของน้ำมันในฐานะยุทธปัจจัย ต้องมั่นใจว่าสามารถควบคุมบ่อน้ำมันที่นี่
ในยุคต้นของการใช้น้ำมันเป็นพลังงานแทนถ่านหิน บ่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่ค้นพบในโลกมีไม่กี่แห่ง แต่ละแหล่งจึงมีคุณค่าสูงมากสำหรับประเทศอุตสาหกรรมและการเป็นมหาอำนาจ บ่อน้ำมันอิหร่านคือแหล่งน้ำมันสำคัญที่สุดของอังกฤษ
รัฐบาลอังกฤษปฏิบัติต่ออิหร่าน ชนชาวอิหร่านดังเช่นปฏิบัติต่ออาณานิคม ดูหมิ่นดูแคลน เห็นว่าต่ำต้อย ตักตวงผลประโยชน์จากอิหร่านอย่างเต็มที่ มีเพียงพวกราชวงศ์อิหร่าน เจ้าหน้าที่บางส่วนได้ผลประโยชน์จากน้ำมันบ้าง หรืออาจอธิบายว่าเพราะผู้ปกครองอิหร่านจำยอม เห็นว่าไม่อาจต้านมหาอำนาจ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อิหร่านประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่รัสเซียกับอังกฤษไม่วางใจ ส่งทหารเข้าอิหร่าน อ้างป้องกันการรุกรานจากฝ่ายเยอรมนี
เพื่อควบคุมอิหร่านเบ็ดเสร็จ ปี 1921 รัฐบาลอังกฤษกับรัสเซียร่วมกับสนับสนุนพันเอก Reza Khan ยึดอำนาจรัฐบาลเก่า ยุติราชวงศ์ Qajar dynasty
Reza Khan สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Shah Pahlavi) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlavi) เมื่อปี 1925
ในระยะต้นกษัตริย์ปาห์ลาวีอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษกับรัสเซีย แต่เมื่อรวบอำนาจเป็นที่เรียบร้อย เศรษฐกิจไปได้ดี จึงหันไปผูกมิตรกับเยอรมัน หวังลดทอนอิทธิพลของอังกฤษ สร้างความไม่พอใจแก่อังกฤษกับรัสเซียอย่างมาก
เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของกษัตริย์ปาห์ลาวีประกาศเป็นกลางอีกครั้ง (เพื่อไม่เป็นเหตุให้มหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ารุกรานเพื่อต่อต้านอีกฝ่าย) และเช่นเดียวกับครั้งก่อน อังกฤษกับรัสเซียส่งทหารรุกรานอิหร่าน อ้างว่าเพื่อต้านอิทธิพลเยอรมัน เป้าหมายที่แท้จริงคือรักษาแหล่งน้ำมัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ อังกฤษกับรัสเซียเห็นพ้องต้องกันขับไล่กษัตริย์เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี ออกนอกประเทศ และให้ลูกของท่าน Mohammad Reza อายุ 22 ขึ้นครองตำแหน่งแทน เกิดสนธิสัญญา Tripartite Agreement 1942 สาระสำคัญคือสิ้นสงครามโลกเมื่อไร กองกำลังต่างชาติต้องถอนตัวออกจากประเทศ แลกกับที่ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรอิหร่าน
ตรงนี้อาจตีความว่ารัฐบาลอิหร่านยอมสูญเสียผลประโยชน์น้ำมันเพื่อรักษาเอกราช หรืออาจมองว่า ผลประโยชน์หลักที่อังกฤษต้องการคือน้ำมัน ไม่ประสงค์จะครอบครองประเทศ เพราะต้องลงทุนมาก ต้องส่งทหารมาประจำการมาก อาศัยกษัตริย์ Mohammad Reza เป็นหุ่นเชิด ให้อิหร่านปกครองกันเอง เช่นนี้เป็นประโยชน์มากกว่า
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร นับจากอังกฤษเข้าฉวยประโยชน์เมื่อค้นพบน้ำมันในอิหร่าน นับวันชาวอิหร่านจะสะสมความโกรธแค้นชิงชังประเทศนี้

โค่นล้มรัฐบาล มอสซาเดก :
            เข้าสู่ทศวรรษ 1950 เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือการปรากฏตัวของ โมฮาเหม็ด มอสซาเดก (Mohammad Mossadegh) นักชาตินิยม มีความรู้ทั้งด้านการเงินและรัฐศาสตร์ ทำงานการเมืองเรื่อยมา ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในหลายกระทรวง
เมื่อมอสซาเดกดำรงตำแหน่ง chairman of the government's Oil Committee เห็นว่า AIOC เป็นสัญลักษณ์จักรวรรดินิยม ขัดขวางอธิปไตยและความมั่งคั่งของชาติ มอสซาเดกกับพวกจึงต่อสู้ขอแบ่งประโยชน์ที่ได้จากน้ำมันเสียใหม่ เมื่อมอสซาเดกได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยความยินดีของประชาชน งานชิ้นแรกคือการออกพ.ร.บ.ยึดกิจการน้ำมัน (Oil Nationalisation Bill) รัฐเข้าถือครองบ่อน้ำมันแทน AIOC แนวทางของมอสซาเดกสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ผลลัพธ์ตามมาคือรัฐบาลชาติตะวันตกร่วมกันต้านมอสซาเดกด้วยเกรงว่ากระแสยึดคืนจะแผ่ทั่วตะวันออกกลาง จึงร่วมกันคว่ำบาตร อิหร่าน ในมุมของเจ้าอาณานิคม ความสำเร็จของมอสซาเดกอาจทำให้ประเทศอาณานิคมอื่นๆ ลุกฮือต่อต้าน ผลประโยชน์ที่เสียหายจึงไม่จำกัดเฉพาะที่อิหร่านเท่านั้น
            ในแง่เศรษฐกิจเท่ากับสร้างอุปสรรคต่อรัฐบาลอังกฤษ ชาติตะวันตก บรรษัทน้ำมันในการควบคุมราคาน้ำมันโลก
            ประเด็นจึงไม่อยู่ที่มอสซาเดกเป็นชาตินิยมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เคยได้รับต้องหดหาย รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง
            อันที่จริงแล้วการยึดกิจการน้ำมันกลับมาเป็นของรัฐเป็นแค่จุดเริ่มของการเจรจาต่อรอง เพราะอิหร่านไม่อาจดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันด้วยตนเอง ขาดบุคลากร เครื่องมือที่อิหร่านผลิตเองไม่ได้ ไม่มีเรือบรรทุกน้ำมันที่จะส่งไปขายต่างประเทศ เป็นจุดอ่อนที่มอสซาเดกแก้ไขไม่ได้ ได้เป็นเพียงเครื่องต่อรองแบ่งสรรรายได้กับบรรษัทน้ำมันต่างชาติให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
            แต่ชาติมหาอำนาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเจรจาต่อรองใหม่

            ในช่วงนั้นตรงกับยุคต้นสงครามเย็น ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าเนื่องจาก AIOC เสียผลประโยชน์จึงติดต่อกับหน่วยข่าวกรองอังกฤษ (MI6) เพื่อโค่นล้มรัฐบาลมอสซาเดก ทางด้านหน่วยข่าวกรองอังกฤษขอการสนับสนุนจาก CIA ตอนแรกรัฐบาลสหรัฐ (สมัยทรูแมน) ไม่เห็นด้วย จนเมื่อเข้าสมัยไฮเซนฮาวร์ (Eisenhower – ชนะเลือกตั้งพฤศจิกายน 1952) จึงรับข้อเสนออังกฤษ ยกข้ออ้างเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ ให้ CIA ปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลมอสซาเดก 
            วิธีการที่ CIA ทำคือจัดตั้งกลุ่มการเมืองภายในอิหร่านเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมอสซาเดก ซื้อสื่อเพื่อเขียนข่าวโจมตี สื่ออย่าง BBC เป็นส่วนหนึ่งของแผนด้วย กล่าวหาว่าชนะเลือกตั้งด้วยการโกง รัฐบาลมอสซาเดกอยู่ใต้อำนาจของคอมมิวนิสต์ จ้างนักเลงก่อเหตุวุ่นวาย ใช้เงินซื้อนายทหารก่อรัฐประหาร
มอสซาเดกซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรมจึงถูกคว่ำ ทดแทนด้วยระบอบกษัตริย์ที่รัฐบาลสหรัฐกับอังกฤษหนุนหลัง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงแรกของสงครามเย็น ที่รัฐบาลสหรัฐกับอังกฤษชูนโยบายเสรีนิยมประชาธิปไตย
            หลังยึดอำนาจรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้นำแบ่งสรรผลประโยชน์ บริษัทน้ำมันของสหรัฐควบคุมน้ำมันอิหร่านร้อยละ 40 AIOC ของอังกฤษได้ร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เป็นของฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์
การรักษาผลประโยชน์ทั้งระบบและการปฏิวัติอิสลาม :
ในแง่ของเหตุผล รัฐบาลอังกฤษใช้เหตุผลว่าสังคมเสรี โลกเสรี จะถูกกระทบหากสูญเสียผลประโยชน์จากน้ำมันอิหร่านจึงจำต้องล้มรัฐบาลมอสซาเดก แต่ไม่เอ่ยไม่สนใจว่าประชาชนอิหร่านจะเป็นอย่างไร ยังต้องอยู่ในความทุกข์เข็ญหรือไม่ ด้านสหรัฐคิดเห็นไม่ต่างจากอังกฤษ เห็นว่าหากปล่อยไปจะกระทบต่อชาติอารยะ (civilized countries) ความเป็นไปของบรรษัทน้ำมันสำคัญยิ่งยวดต่อชีวิตและสวัสดิภาพของผู้คนมากมาย
            ความเข้าใจเรื่องหนึ่งที่ได้คือชาติมหาอำนาจซึ่งตักตวงผลประโยชน์มหาศาลจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จำต้องเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะส่วนที่กระทบต่อผลประโยชน์ของตน มหาอำนาจมองผลประโยชน์ของเขาทั้งระบบ (ทั้งโลก) จึงไม่อาจปล่อยให้มอสซาเดกอยู่นาน เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ประเทศอื่นๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความอารยะตามมุมมองของพวกเขา
ผู้นำที่ตะวันตกยกขึ้นมาคือกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี การปกครองเต็มด้วยปัญหา ประชาชนไม่พอใจ รัฐบาลปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง ในที่สุดเกิดปฏิวัติอิสลาม และกลายเป็นคู่ต่อกรกับรัฐบาลสหรัฐจวบจนบัดนี้
            ดังที่เกริ่นตั้งแต่ต้นว่าถ้ามองประวัติศาสตร์อิหร่านสมัยใหม่ในเชิงต่อสู้กับสหรัฐ คือการต่อต้านขัดขืนชาติมหาอำนาจที่หวังตักตวงผลประโยชน์ที่ดำเนินเรื่อยมากว่า 110 ปีแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนตัวแสดงตามกาลเวลา และเพิ่มเรื่องอิสราเอล เพิ่มเรื่องนิกายศาสนา การมองย้อนหลังไกลกว่า 40 ปีช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น เพราะไม่ว่าจะมีปฏิวัติอิสลามหรือไม่ จะมีรัฐอิสราเอลหรือไม่ ชาติมหาอำนาจต้องการครอบงำอิหร่าน เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ค้นพบน้ำมัน
17 กุมภาพันธ์ 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8134 วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562)

-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทรัมป์เตือนว่า ใครทำธุรกิจกับอิหร่าน สหรัฐจะไม่ทำธุรกิจกับผู้นั้นเป็นการเจาะจงเล่นงานบริษัทเอกชน เป็นแนวทางของจักรวรรดินิยมปัจจุบัน
ตลอด 240 ปีนับจากก่อตั้งประเทศได้พิสูจน์ชัดว่าชาวอเมริกันผู้รักสันติแทบไม่มีผลต่อนโยบายทำสงคราม เป็นเหตุให้สหรัฐเข้าทำสงครามน้อยใหญ่อยู่เสมอ สงครามมีเพื่อใครกันแน่
บรรณานุกรม :
1. Abrahamian, Ervand. (2008). A History of Modern Iran. UK: Cambridge University Press.
2. Abrahamian, Ervand. (2013). The coup: 1953, the CIA, and the roots of modern U.S.-Iranian relations. New York: The New Press.
3. Cooper, Andrew Scott. (2011). The Oil Kings: How the U.S., Iran, and Saudi Arabia Changed the Balance of Power in the Middle East. New York: Simon & Schuster.
4. Mossadegh, Mohammed. (2013, March 17). Iran. Retrieved from http://www.moreorless.au.com/heroes/mossadegh.html
5. Mousavian, Seyed Hossein., Shahid Saless, Shahir. (2014). Iran and the United States: An Insider's View on the Failed Past and the Road to Peace. New York: Bloomsbury Academic.
-----------------------------

unsplash-logoZbynek Burival