มุมมองท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากระบบโลก

อียูต้องการรัสเซียที่เข้มแข็งมากพอที่จะต้านสหรัฐและเป็นมิตรกับตน แม้อีกด้านอียูเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐ เป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Gazprom ของรัสเซียกับบริษัทของเยอรมันและอีกหลายประเทศ สร้างท่อส่งก๊าซจากรัสเซียที่ลอดทะเลบอลติกขึ้นฝั่งที่เมือง Greifswald ประเทศเยอรมนี รวมระยะทาง 1,200 กิโลเมตร สามารถส่งก๊าซจากรัสเซียสู่เยอรมนีปีละ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับ Nord Stream (อันเดิม) จะส่งก๊าซถึง 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า (2020) ทำให้เยอรมนีกลายเป็นศูนย์พลังงานแห่งหนึ่งของยุโรปตะวันตก
การเชื่อมต่อตรงระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีหมายถึงโอกาสที่จะถูกปิดกั้นระหว่างทางน้อยลงด้วย
มุมองสหรัฐ VS เยอรมนี :
ฝ่ายสหรัฐให้เหตุผลว่าหากเยอรมนีหรืออียูนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเท่ากับผูกโยงพึ่งพาเศรษฐกิจการเมืองกับรัสเซียมากขึ้น
รัฐบาลรัสเซียชี้ว่าเหตุที่สหรัฐพยายามขวางก็เพราะหวังเป็นผู้ขายก๊าซแก่อียูเสียเอง จึงพยายามใช้อิทธิพลข่มขู่กดดัน อ้างสารพัดเหตุผลเพื่อไม่ซื้อก๊าซรัสเซีย เป็นเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐพูดแบบอ้อมๆ แอ้มๆ ปัญหาคือก๊าซที่ขนส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากสหรัฐมีต้นทุนสูงกว่ามาก ความปลอดภัยต่ำกว่า ดังนั้นในแง่ราคาและความปลอดภัยก๊าซจากรัสเซียจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เป็นความจริงที่ยากจะโต้แย้ง
แม้ความจริงเป็นเช่นนั้น รัฐบาลสหรัฐไม่วายที่จะต่อต้านและรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันอังคาร 17 ธันวาคม รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายคว่ำบาตรบริษัทเยอรมันที่เกี่ยวข้องกับการสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2
ไฮโค มาส (Heiko Maas) รมต.ต่างประเทศเยอรมนีชี้ว่าเรื่องจะซื้อก๊าซจากรัสเซียหรือไม่เป็นเรื่องของยุโรป ประเทศอื่นไม่มีสิทธิแทรกแซง ไม่กี่วันต่อมานายกฯ แมร์เคิลยืนยันว่ารัฐบาลเยอรมันจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐบาลสหรัฐ หลังรัฐสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายคว่ำบาตรบริษัทเยอรมัน ย้ำว่าเป็นเรื่องของอธิปไตย เยอรมนีจะไม่ละทิ้งนโยบายซื้อก๊าซจากรัสเซีย
รัฐบาลเยอรมันอธิบายว่าตนนำเข้าน้ำมันก๊าซธรรมชาติจากหลายประเทศ รัสเซียเป็นอีกแหล่ง เป็นไปตามหลักความมั่นคงทางพลังงาน ใช้พลังงานหลากหลาย นำเข้าพลังงานจากหลายแหล่ง
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ารัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซีย อุตสาหกรรมน้ำมันก๊าซธรรมชาติเป็นรายได้หลักของรัสเซีย การสกัดกั้นท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จึงเป็นเรื่องสำคัญ การปล่อยให้เยอรมันหรือยุโรปซื้อใช้ก๊าซรัสเซียเท่ากับบั่นทอนนโยบายปิดล้อม
ในขณะที่ฝ่ายยุโรปมีผลประโยชน์ของตนเองที่ต้องเก็บเกี่ยวทั้งจากสหรัฐกับรัสเซีย
ยุโรปเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐมายาวนาน ได้ผลประโยชน์มากมายจากการนี้ แต่ต้องการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากรัสเซียด้วย ผลประโยชน์เศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ
ฝ่ายสหรัฐมองรัสเซียเป็นปรปักษ์สำคัญในฐานะเป็นมหาอำนาจทำนองเดียวกับจีน ที่มีโอกาสท้าทายอำนาจสหรัฐจึงต้องปิดล้อมให้มากที่สุด พยายามกดดันให้ยุโรปเลิกซื้อเลิกติดต่อค้าขายกับรัสเซียประเด็นที่ย้อนแย้งคือหากรัสเซียเป็นปรปักษ์ตัวร้ายต่อนาโต ทำไมสหรัฐยังคงค้าขายกับจีนทั้งที่จีนเป็นปรปักษ์สำคัญเช่นกัน และอาจท้าทายมากกว่ารัสเซียด้วย
            การที่รัฐบาลทรัมป์บรรลุข้อลงเบื้องต้นกับจีนเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนระลอกใหม่ ลดภาษีสินค้าจีนบางรายการ แลกกับจีนจะซื้อสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐคือตัวอย่างรูปธรรมว่ารัฐบาลทรัมป์ยังต้องการค้าขายกับจีนต่อไป ไม่ว่าทรัมป์จะเคยพูดโจมตีจีนสารพัดเรื่อง
การพยายามกดดันให้ยุโรปเลิกค้าขาย เลิกซื้อก๊าซจะรัสเซียจึงเป็นประเด็นย้อนแย้ง แสดงความเป็น 2 มาตรฐานของรัฐบาลสหรัฐอีกครั้ง หรือว่าทุกประเทศต้องเสียสละที่จะไม่ติดต่อค้าขายกับรัสเซียและจีน เว้นแต่สหรัฐที่ยังทำได้
ความคิดของอภิมหาอำนาจกับระบบโลก :
            หลักนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ (ไม่ว่าเป็นรัฐบาลจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท) คือการทำลายคู่แข่ง รัฐบาลสหรัฐจะทำลายทุกประเทศที่คิดแข่งอิทธิพล หรือมีทีท่ากำลังเติบใหญ่จะเป็นมหาอำนาจในอนาคต เป็นเหตุผลสำคัญที่สหรัฐกลัวรัสเซียกับจีนเป็นอย่างมากในขณะนี้
            เพื่อรักษาความเป็นมหาอำนาจ ได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบโลก ฝ่ายยุทธศาสตร์จะคิดเสมอว่ามีใครกำลังบั่นทอนผลประโยชน์ของประเทศหรือไม่ทั้งปัจจุบันและอนาคต แนวทางนี้นำสู่การเล่นงานผู้ถูกกำหนดให้เป็นศัตรูแน่เนิ่นๆ ตัวอย่างที่ดีคือการก้าวขึ้นมาของจีน รัสเซียในยุคปูตินดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
แต่สำหรับประเทศในกลุ่มอียูอย่างเยอรมนี ไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่ยุคสงครามเย็น และแท้จริงแล้วอียูไม่ต้องการทำให้เกิดสงครามเย็นรอบใหม่อีกครั้ง เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบด้านลบมากมาย สุ่มเสี่ยงต่อสงคราม รวมทั้งสงครามนิวเคลียร์ การอยู่ด้วยกันฉันมิตร ทำมาค้าขาย ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกจะไม่ดีกว่าหรือ
ในอีกมุมหนึ่งตีความได้ว่าอียูต้องการระบบโลกพหุภาคีมากกว่าเอกภาคี ต้องการระบบโลกที่มีชาติมหาอำนาจหลายประเทศที่อยู่ร่วมกัน ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เชื่อว่าวิธีนี้โลกจะสงบสันติมากที่สุด ตรงข้ามกับลัทธิเอกภาคี (มีอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว) ที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การเป็นเจ้าของสหรัฐ
ดังนั้น อียูต้องการรัสเซียที่เข้มแข็งมากพอที่จะต้านสหรัฐและเป็นมิตรกับตน ทำนองเดียวกับการสัมพันธ์กับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา แม้อีกด้านอียูเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐ
โดยสรุปแล้ว การที่อียูมีแนวทางไม่สอดคล้องกับสหรัฐในเรื่องนี้ เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของตน นำสู่นโยบายที่ขัดแย้งกัน (หรือไม่ตรงกันเสียทีเดียว) ซึ่งเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เว้นเสียแต่อียูเป็นรัฐอาณานิคมสหรัฐ อียูพยายามปลดแอกไม่พึ่งพาสหรัฐมากจนเกินควร
มองอนาคตทั้งแบบใกล้กับไกล :
การผ่านร่างกฎหมายคว่ำบาตรบริษัทที่เกี่ยวข้องกับท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอีกมาตรการที่เป็นรูปธรรม หากการก่อสร้างท่อก๊าซยังดำเนินต่อไป เกิดการซื้อขายก๊าซระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีผ่านท่อเส้นนี้ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงกว่านี้
อันที่จริงแล้วกระแสการคว่ำบาตรมีเรื่อยมาทุกประเทศรับรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การยืนกรานของเยอรมนีเท่ากับประกาศชัดว่าจะไม่ยอมรัฐบาลสหรัฐในเรื่องนี้ ได้ประเมินแล้วว่าน่าจะโดนเล่นงานอย่างไร นำสู่คำถามว่าเยอรมนีจะตอบโต้หรือไม่อย่างไร มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐหรือไม่
ล่าสุด นายกฯ แมร์เคิลกล่าวว่าแล้วเยอรมนีจะไม่ตอบโต้สหรัฐที่คว่ำบาตรบริษัทของตนล่าสุด เรียกร้องให้เจรจาหารือ
คำถามอีกข้อคือในอนาคตรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ รัฐบาลเยอรมันจะอดทนได้นานเพียงไร หากเยอรมนีตอบโต้ สหรัฐจะโต้กลับหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐบาลทรัมป์ที่มักใช้วิธีเจรจาแข็งกร้าว ตอบโต้อีกฝ่ายเสมอ เป็นไปได้ว่าทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้าตัวอื่นๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอียู เช่น รถยนต์ของเยอรมนี ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศกังวล
            เนื่องจากชาติสมาชิกอียูบางประเทศไม่เห็นด้วยกับท่อส่งก๊าซนี้ตั้งแต่ต้น (เช่น โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโรมาเนีย) โอกาสที่จะมีข้อมติจากอียูเพื่อตอบโต้สหรัฐจึงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งฝ่ายสหรัฐคงมุ่งเล่นงานเยอรมนีมากกว่า คู่ขัดแย้งน่าจะจำกัดวง แต่หากมองมุมกว้างแน่นอนว่าเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐกระทำการขัดผลประโยชน์ชาติยุโรป พยายามนำชาติอียูให้พึ่งพาสหรัฐ เป็นวิถีครองความเป็นเจ้า
22 ธันวาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8442 วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
นาโตเป็นตัวอย่างองค์การระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงยาวนานถึง 70 ปี แต่นาโตปัจจุบันไม่เป็นเอกภาพดังเดิม เป็นอีกตัวอย่างแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันซับซ้อน การบั่นทอนต่อสู้กันภายในนาโตไม่แตกแม้ 2 ฝั่งแอตแลนติกขัดแย้ง
การปล่อยให้นาโตแตกไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำประเทศจะตัดสินใจได้โดยลำพัง แม้มีความขัดแย้งมากบ้างน้อยบ้าง ไม่มีฝ่ายใดปล่อยให้นาโตแตก เพราะต่างได้ผลประโยชน์มากมายจากนาโต
บรรณานุกรม :
1. Gazprom. (2019). Nord Stream 2. Retrieved from https://www.gazprom.com/projects/nord-stream2/
2. Germany Calls for US Not to Interfere in Russia-Ukraine Gas Row. (2019, December 18). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/europe/201912181077604364-germany-calls-for-us-not-to-interfere-in-russia-ukraine-gas-row/
3. Germany ‘won’t back down’ under threat of US sanctions over Nord Stream 2 pipeline with Russia – Merkel. (2019, December 18). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/476192-merkel-nord-stream-sanctions/
4. Kremlin says Nord Stream 2 will be completed despite possible US sanctions. (2019, December 18). TASS. Retrieved from https://tass.com/economy/1100491
5. Merkel rules out retaliation against sanctions. (2019, December 20). The Japan News. Retrieved from https://the-japan-news.com/news/article/0006243583?fp=3c69a3675a4ee1bacd8030af38c4d48d
6. Nord Stream 2: Chiding is Not Enough, German Gov't Should Strongly Reject US Sanctions – Politician. (2019, December 12). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/analysis/201912141077569471-nord-stream-2-chiding-is-not-enough-german-govt-should-strongly-reject-us-sanctions--politician/
7. Trump says US, China have reached deal; Sunday tariffs off. (2019, December 13). AP. Retrieved from https://apnews.com/415cc91f3bb305ddb08620c53eea2d58
8. Younger, Stephen M. (2008). The Bomb: A New History. USA: HarperCollins Publishers.
-----------------------------

unsplash-logoFranck V.