นาโตไม่แตกแม้ 2 ฝั่งแอตแลนติกขัดแย้ง

การปล่อยให้นาโตแตกไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำประเทศจะตัดสินใจได้โดยลำพัง แม้มีความขัดแย้งมากบ้างน้อยบ้าง ไม่มีฝ่ายใดปล่อยให้นาโตแตก เพราะต่างได้ผลประโยชน์มากมายจากนาโต

            ทันทีเมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ระบุว่าปัญหานาโตมี 2 ข้อ ข้อแรกคือล้าสมัยเพราะก่อตั้งสมัยสงครามเย็น บริบทปัจจุบันแตกต่างไปมาก ข้อ 2 สมาชิกนาโตให้ความสำคัญกับก่อการร้ายน้อยเกินไป ในขณะที่สหรัฐต้องเสียงบประมาณสนับสนุนมากเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ ไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้ ดังนั้น หากชาติสมาชิกนาโตไม่ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จะขอพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต และถ้าการทำเช่นนี้เป็นเหตุให้นาโตแตกก็ให้แตกไปเลย
            ถ้อยคำของทรัมป์สร้างความตื่นตะลึงไม่น้อย เพราะองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่านาโตเป็นเสาหลักความมั่นคงระดับโลกและพันธมิตร 2 ฝั่งแอตแลนติก
เงิน เงิน เงิน ไม่แตกเพราะเงิน :
            เมื่อรัฐบาลทรัมป์ให้ความสำคัญกับการลดขาดดุลการค้า ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายระลอก เกิดความขัดแย้งทางการค้ากับหลายประเทศ รวมทั้งอียู จีน ฯลฯ ผู้นำสหรัฐจะพูดเรื่องภาระงบประมาณนาโตในแทบทุกเวทีเมื่อเอ่ยถึงยุโรป
หากศึกษาย้อนอดีตจะพบว่าตั้งแต่ก่อตั้งนาโต รัฐบาลสหรัฐพยายามเรียกร้องให้ฝั่งยุโรปแบกรับภาระเพิ่มเติม เป็นความจริงว่างบประมาณกลาโหมฝั่งยุโรปเมื่อเทียบต่อจีดีพีค่อนข้างต่ำ หลายประเทศไม่คิดเพิ่มงบประมาณ
สมัยโอบามาไม่ต่างจากรัฐบาลทรัมป์ที่เรียกร้องให้ชาติยุโรปรับภาระเพิ่ม มิถุนายน 2013 Ivo Daalder เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำนาโตพูดย้ำตรงไปตรงมาว่าสัดส่วนที่ชาติยุโรปรับภาระนั้นน้อยเกินไปจนถึงระดับที่อยู่ต่อไม่ได้แล้ว (unsustainable level)
ดังนั้น ประเด็นขอให้ยุโรปช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายทศวรรษ
ประเด็นน่าคิดคือถ้าเรื่องงบประมาณเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ สหรัฐควรยื่นคำขาดให้ชาติสมาชิกอื่นๆ ไปนานแล้ว แต่ผ่านมาแล้วหลายทศวรรษสหรัฐยังอยู่กับนาโต อธิบายได้ว่าหากสหรัฐถอนตัวจากนาโต จะลดทอนความเป็นมหาอำนาจโลกของตัวเอง อดีตประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) แห่งฝรั่งเศสกล่าวว่านาโตคือเครื่องมือสร้างความเป็นเจ้าของสหรัฐ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือเปิดทางให้ยุโรปใกล้ชิดคู่แข่งสำคัญอย่างรัสเซีย จีนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้รัฐบาลสหรัฐจะไม่พอใจยุโรปก็จะไม่ปล่อยให้นาโตแตก

ความเข้าใจสำคัญอีกข้อคือรัฐบาลทรัมป์ใช้นโยบายชาตินิยม โดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้น (หรือถูกโดดเดี่ยว) แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ติดต่อกับโลกภายนอก คำถามง่ายๆ คือจะยังรักษาวิถีชีวิตแบบอเมริกันได้หรือไม่หากไม่ติดต่อกับโลกภายนอก
หลัก “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่การโดดเดี่ยวตัวเอง แต่เป็นการยกระดับใช้พลังอำนาจบีบให้ผู้อื่นทำตามประสงค์ของตน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์โลก (เช่นการถอนตัวออกจากการแก้ไขภาวะโลกร้อน) แม้นานาชาติไม่พอใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เช่นกัน รัฐบาลสหรัฐทุกชุดไม่ว่ามาจากรีพับลิกันหรือเดโมแครทล้วนทำบางสิ่งที่นานาชาติไม่พอใจ เป็นเช่นนี้เรื่อยมา ที่อาจแตกต่างคือประธานาธิบดีทรัมป์มักพูดเสียงดังฟังชัด
ถ้าคิดตามคำพูดของทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับเงิน สหรัฐจะเสียหายชนิดประเมินค่าไม่ได้หากนาโตแตก นี่คือเหตุผลว่ารัฐบาลสหรัฐจะรักษานาโตต่อไป แม้จะอ้างเรื่องรับภาระมากเกินไป

มุมของยุโรป มีกองทัพของตนเอง :
หันมามองมุมจากยุโรป ยุโรปมีสิทธิถอนตัวจากนาโตเช่นกันหรือสร้างสนธิสัญญาป้องกันประเทศใหม่ที่ปราศจากสหรัฐ
ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) กล่าวย้ำอีกครั้งว่ายุโรปต้องมีกองทัพที่เป็นของยุโรปจริงๆ เพื่อป้องกันภัยจากรัสเซีย จีนและแม้กระทั่งสหรัฐ“ยุโรปจำต้องปกป้องตัวเองได้ดีด้วยตัวเอง โดยไม่พึ่งพาสหรัฐอเมริกา” เราต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ประกันความมั่นคงด้วยตัวเอง ปกป้องอธิปไตยยุโรป
            ผู้นำฝรั่งเศสพูดชัดเจนว่าต้อง “ไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกา”  ทั้งยังกล่าวว่าอียูควรปรับสัมพันธ์กับรัสเซียเพื่อรักษาผลประโยชน์อียูซึ่งจะส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงแก่ยุโรปโดยรวม
แนวคิดนี้สอดคล้องกับกระแสในยุโรปที่ต้องการเป็นอิสระ ถอยห่างจากสหรัฐมากขึ้น
ปลายเดือนพฤษภาคม 2017 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเอ่ยถึงนโยบายต่างประเทศว่า “ห้วงเวลาที่เราต้องพึ่งพาประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิงได้สิ้นสุดลงแล้ว” ประโยคดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดแต่ทุกคนรู้ดีว่าหมายถึงสหรัฐอเมริกา
            ดังที่เคยเสนอในบทความก่อนว่านโยบายหลายอย่างของสหรัฐบั่นทอนผลประโยชน์ยุโรปอย่างรุนแรง แนวคิดสร้างกองทัพยุโรป ฟื้นความสัมพันธ์รัสเซีย ล้วนสะท้อนความสัมพันธ์เชิงลบต่อสหรัฐ

            เมื่อผู้นำฝรั่งเศสเสนอสร้างกองทัพยุโรป ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีต่อต้านทันที กล่าวว่าแนวคิดยุโรปสร้างกองทัพตัวเองเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ถ้าทรัมป์จะเพิ่มเหตุผลนี้เป็นข้ออ้างทิ้งนาโตก็ย่อมได้แต่ไม่ทำ เช่นเดียวกับที่ยุโรปไม่ทำเช่นนั้นด้วย
            ไม่กี่วันต่อมาปรากฏข่าวสหรัฐกับฝรั่งเศสบรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “เราต้องการยุโรปที่เข้มแข็ง เป็นเรื่องสำคัญต่อเรามาก ไม่ว่าจะใช้ทางใดจะเป็นทางที่ดีที่สุด มีประสิทธิผลมากกว่าเดิม ที่ทั้งคู่ต้องการ” สหรัฐยังต้องการช่วยยุโรปแต่ต้องเป็นธรรมด้วย ตอนนี้สหรัฐเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช่จ่ายส่วนใหญ่
            ด้านผู้นำมาครงตอบว่ายินดีช่วยสหรัฐเรื่องภาระงบประมาณแต่ยุโรปควรมีกองทัพของตัวเอง แนวคิดยุโรปมีกองทัพของตัวเองสอดคล้องกับสนธิสัญญานาโต
เช่นเดียวกับนายกฯ แมร์เคิล เอ่ยถึงการรวมทัพสหภาพยุโรปว่าไม่ใช่เพื่อบั่นทอนแต่เพื่อสนับสนุนนาโต หมดสมัยแล้วที่จะพึ่งพาคนอื่น คนยุโรปต้องดูแลอนาคตด้วยมือของตัวเอง “มีวิสัยทัศน์ว่าวันหนึ่งต้องสร้างกองทัพของยุโรปแท้ๆ”
            สังเกตว่าไม่มีใครพูดเรื่องจะให้นาโตแตก

ทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือยุโรปเพิ่มงบประมาณกลาโหม แบ่งเบาภาระนาโตเพิ่มอีกนิด พร้อมกับการสร้างกองทัพยุโรปอันหมายถึงการประสานการอำนวยการ การซ้อมรบร่วมในฐานะเป็นกองทัพยุโรป เริ่มจากทีละน้อยทีละไม่กี่ประเทศ เพื่อลดความขัดแย้งกับสหรัฐพร้อมกับดำเนินสู่เป้าหมายของยุโรป
            แนวทางเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ายุโรปคิดจะเป็นศัตรูกับสหรัฐ ทั้ง 2 ยังเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำคัญ ยังคงร่วมมือท่ามกลางความขัดแย้งในบางเรื่อง ปรับปรุงความสัมพันธ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง

สรุป :
            การปล่อยให้นาโตแตกเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะตัดสินใจได้โดยลำพัง ยิ่งเป็นฝ่ายยุโรปยิ่งตัดสินใจยากเพราะสมาชิกมากและคิดเห็นแตกต่าง ไม่ว่าจะใช้วิธีมองย้อนอดีต ใช้มุมมองจากยุโรป แม้มีความขัดแย้งมากบ้างน้อยบ้าง ไม่มีฝ่ายใดปล่อยให้นาโตแตก จริงๆ เพราะต่างได้ผลประโยชน์มากมายจากสนธิสัญญาดังกล่าว ความสัมพันธ์ความมั่นคงทางทหารของ 2 ฝั่งแอตแลนติกผูกโยงกับความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ ความขัดแย้งอยู่คู่ความร่วมมือ แม้จะขัดแย้งรุนแรงมากในบางเรื่องก็เป็นของธรรมดา แท้จริงแล้วเป็นเช่นนี้เรื่อยมา นาโตจะยังคงอยู่อีกนานจนกว่าบริโลกจะเปลี่ยนแปลงมากจริงๆ ที่เหลือเป็นเพียงวาทกรรมของใครบางคนที่มักพูดเกินเลย พูดรุนแรงเกินจริง
ชาญชัย คุ้มปัญญา
18 พฤศจิกายน 2018
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8044 วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2561)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ระเบียบโลกเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ประเด็นอยู่ที่ทำอย่างไรจะเรียนรู้เท่าทันและได้ประโยชน์ อียูกำลังใช้โอกาสช่วงนี้ถอยห่างจากรัฐบาลสหรัฐ กำหนดวาระของตนเอง เป็นตัวแปรสำคัญของโลกอนาคตฃ
คำว่านาโตล้าสมัยเป็นคำพูดที่บิดเบือน เพราะนาโตปรับปรุงเรื่อยมา แต่ที่พูดว่าล้าสมัยเป็นเพราะไม่ตรงตามความต้องการของรัฐบาลสหรัฐ เป็นโจทย์ที่ฝั่งยุโรปต้องหาคำตอบว่าควรพึ่งพาสหรัฐหรือควรเป็นอิสระมากขึ้น แต่เนื่องจากสมาชิกปัจจุบันแตกต่างหลากหลาย ไม่อาจให้คำตอบง่ายๆ และไม่ตรงความต้องการสหรัฐเต็มร้อย ที่สุดแล้วนาโตน่าจะคงอยู่ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า

บรรณานุกรม :
1. Folly, Martin H. (2008). North Atlantic Treaty Organization. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 544-546). USA: The Gale Group.
2. France's Macron says he wants to reassess the EU's relations with Russia. (2018, August 30).  CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2018/08/30/frances-macron-says-he-wants-to-reassess-the-eus-relations-with-russia.html
3. Howorth, Jolyon. (2015). Implications of the US Rebalance toward Asia: European Security and NATO. In Origins and Evolution of the US Rebalance toward Asia: Diplomatic, Military, and Economic Dimensions. (Pp.197-222). New York: Palgrave Macmillan.
4. Macron and Trump meet amid European defence row. (2018, November 10). France 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20181110-macron-trump-meet-advance-world-war-i-commemoration
5. Macron urges European army to defend against Russia, US. (2018, November 6). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/macron-urges-european-army-defend-against-russia-us-doc-1al8xf1
6. Merkel echoes call for an EU military. (2018, November 14). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/612883/Merkel-echoes-call-for-an-EU-military
7. Time for Germany to Learn to Lead. (2018, January 5). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/waning-us-germany-must-learn-to-take-responsibility-a-1186075.html
8. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
9. Trump predicts "very massive recession" in U.S. (2016, April 3). CNBC. Retrieved from http://www.cnbc.com/2016/04/03/trump-predicts-very-massive-recession-in-us.html
10. Trump, Macron agree on defense after 'insulting' European army spat. (2018, November 11). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-ww1-century-trump-macron/trump-macron-agree-on-defense-after-insulting-european-army-spat-idUSKCN1NE2MA
-----------------------------