เป้าโจมตีอิหร่านหากการเจรจาล้มเหลว

กระแสข่าวโจมตีอิหร่านเด่นชัดขึ้นทุกที เป้าหมายการโจมตีทางอากาศน่าจะเป็นกองกำลังสำคัญๆ ระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศและโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันในขณะที่อิหร่านพร้อมรับมือ
            ความตึงเครียดระหว่างฝ่ายสหรัฐกับอิหร่านปะทุขึ้นอีกรอบ ฝ่ายสหรัฐในที่นี้ประกอบด้วยรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลกลุ่มประเทศอาหรับและอิสราเอล ต่างมองว่าอิหร่านมีพฤติกรรมเป็นภัยคุกคามเพื่อนบ้าน ในขณะที่อิหร่านย้ำว่าต้องการอยู่กับเพื่อนบ้านอย่างสันติ แต่เพราะรัฐบาลสหรัฐกับพวกที่พยายามปิดล้อมอิหร่านตั้งแต่หลังการปฏิวัติอิหร่าน 1979 เป้าหมายสุดท้ายคือล้มล้างระบอบอิหร่าน

ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ :
            รัฐบาลสหรัฐทุกสมัยต่างต่อต้านอิหร่านในระดับความเข้มข้นต่างกัน รัฐบาลที่แล้ว (สมัยโอบามา) ถูกฝ่ายซาอุฯ โจมตีว่าเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ การก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีทรัมป์เปลี่ยนสถานการณ์จากหน้ามือหลังมือ ตีตราว่าอิหร่านคือภัยคุกคามสำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย ส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายอย่างฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส และกองกำลังมุสลิมชีอะห์จากหลายประเทศทั่วโลก พยายามพัฒนาขีปนาวุธ (ballistic missile) มีความคิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้าน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ
            การยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 เป็นกรณีตัวอย่างชัดเจนที่รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกเพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ผู้กำกับดูแลยืนยันเรื่อยมาว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ประเทศคู่สัญญาอื่นๆ อย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย จีน ล้วนพอใจกับข้อตกลง ช่วยให้มั่นใจว่าอิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรระหว่างประเทศดังเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
            แต่ด้วยเหตุผลของฝ่ายสหรัฐดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลทรัมป์ออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมหลายอย่าง ล่าสุดคือขู่คว่ำบาตรทุกประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน รวมทั้งประเทศที่แต่เดิมเคยรับการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ เป็นความพยายามปิดล้อมอย่างรุนแรงที่สุด
สถานการณ์ตึงเครียด :
            ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านรัฐบาลทรัมป์กับรัฐบาลอาหรับหลายประเทศพูดเสียงเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงว่าไม่คิดทำสงครามกับอิหร่าน แต่พฤติกรรมที่สวนทางคือสหรัฐส่งกองกำลังเสริมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กองเรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องรบ B-52, F-35, F-15 เตรียมพร้อมระบบต่อต้านขีปนาวุธ และอาวุธอื่นๆ อีกมากที่ปิดลับ
            อีกข่าวที่แทรกเข้ามาคือการก่อเหตุร้ายในแถบอ่าวเปอร์เซีย เริ่มจากเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 4 ลำ (รวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมัน) โดนก่อวินาศกรรมแถบชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
วันต่อมาเครื่องโดรนติดอาวุธโจมตีสถานีสูบน้ำมัน 2 จุดของซาอุฯ สถานีหนึ่งถึงกับไฟไหม้ คาดว่าเป็นฝีมือของกองกำลังฮูตี (Houthi) ในเยเมนที่อิหร่านหนุนหลัง
ประธานาธิบดีทรัมป์ออกโรงเตือนรัฐบาลอิหร่านจะต้องรับโทษอย่างสาสม หากตรวจพบว่าเป็นผู้ก่อเหตุวินาศกรรม เหตุร้าย 2 เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเสริมทัพของสหรัฐเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนว่าสถานการณ์เข้าสู่ความตึงเครียด
            รัฐบาลสหราชอาณาจักรถึงกับออกโรงเตือนอิหร่านว่าอย่ายั่วยุสหรัฐเด็ดขาด ทรัมป์ “เอาจริง” ไม่ใช่ขู่เล่นๆ ล่าสุดช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โอมานส่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไปหารือกับอิหร่าน รายงานผลผ่านสื่อสั้นๆ ว่า มีโอกาสเกิดสงครามกระทบต่อทั้งโลก ทั้งอเมริกากับอิหร่านต่างรับรู้อันตรายของสงคราม
จากการวิเคราะห์พบว่ารัฐบาลทรัมป์น่าจะเริ่มแผนเสริมกองกำลังตั้งแต่เดือนเมษาหรือต้นเดือนพฤษภา กำหนดวันปฏิบัติการที่อาจเป็นไปได้คือปลายพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ทั้งนี้ขึ้นกับการเจรจาว่าจะยืดเยื้อหรือไม่
            กำหนดการที่สำคัญคือการประชุมฉุกเฉินของกลุ่ม GCC กับสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ในปลายเดือนนี้ อาจมีการลงมติตัดสินใจบางเรื่อง ในอดีตที่ประชุมสันนิบาตอาหรับประกาศระงับสมาชิกภาพของซีเรีย เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นที่หลายประเทศส่งกองทัพเข้าซีเรีย สงครามกลางเมืองซีเรียจึงรุนแรงและยืดเยื้อ
21 พฤษภาคม ผลโพลของ Reuters/Ipsos ชี้ชาวอเมริกันร้อยละ 51 คิดว่าจะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านใน 2-3 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นถึง 8 จุดเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนก่อน ร้อยละ 54 เห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง (serious) หรือเป็นภัยจวนตัว (imminent) อย่างไรก็ตามร้อยละ 49 ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการอิหร่านของรัฐบาล
            ถ้าอิงผลโพลดังกล่าวรัฐบาลทรัมป์สามารถตัดสินใจโจมตีทางอากาศโดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบทางการเมืองที่จะตาม แต่เป็นการยากที่จะสรุปว่าจะเปิดฉากโจมตีหรือไม่ เพราะขึ้นกับผลการเจรจาที่ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา ผ่านหลายช่องทาง
เป้าหมายการโจมตีจากสหรัฐและการรับมือจากอิหร่าน :
            หากมีการสู้รบจริง น่าจะเป็นการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสหรัฐ เป้าหมายที่น่าจะเป็นไปได้คือฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps), Quds Force และอาจขยายไปถึงกองกำลังที่อิหร่านหนุนในซีเรียกับอิรัก
อีกจุดที่เป็นไปได้คือ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำมัน เพื่อลดการส่งออกน้ำมันจากอิหร่าน สอดคล้องกับแผนจำกัดการส่งออกน้ำมัน การคว่ำบาตรเศรษฐกิจที่ดำเนินเรื่อยมาและเข้มข้นมากในสมัยทรัมป์ การโจมตีทำลายเป็นทางเลือกในตอนนี้
รายงาน The Military Balance 2018 ของ International Institute for Strategic Studies (IISS) นำเสนอว่าอิหร่านยังคงเผชิญปัญหาอาวุธล้าสมัยลงทุกวัน ต้องพัฒนาปรับปรุงและสร้างด้วยตัวเอง แม้บางประเทศขายบางชิ้นบางเทคโนโลยีให้โดยเฉพาะรัสเซียกับจีน
อิหร่านมีกำลังพลทั้งสิ้น 523,000 นาย เป็นกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) 125,000 นาย IRGC เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่แยกออกมา จัดตั้งขึ้นหลังปฏิบัติ 1979 นอกจากนี้ยังมี Quds Force เป็นกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังซึ่งอาจเป็นชาวอิหร่านหรือต่างชาติ เช่น ฮิซบอลเลาะห์อยู่ในกลุ่มนี้
เครื่องบินรบที่สำคัญคือ MiG-29, F-7M (MiG-21 ที่จีนสร้างปรับปรุงใหม่) เครื่องบินโจมตี Su-24 นอกจากนั้นยังมีอีกหลายรุ่นแต่อายุใช้งานค่อนข้างสูง เช่น F-4, F-5, F-14
ขีปนาวุธ (ballistic missile) รุ่นล่าสุดคือ Shahab-3 มีพิสัยยิงถึง 1,300 กิโลเมตร Fateh-110 พิสัย 200-300 กิโลเมตร
ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สำคัญประกอบด้วยระบบ S-200A "Angara" ที่อิหร่านปรับปรุงด้วยตัวเอง ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้ TOR-M1 9A331 (SA-15) กับ Shahab Thaqeb FM-80 (HQ-7) และรุ่นเก่าอีกหลายรุ่น เช่น MIM-23 Hawk, S-75M (SA-2) นอกจากนี้ยังมีขีปนาวุธประทับบ่า ปืนต่อสู้อากาศยาน ที่สำคัญคือได้รับขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกล S-300 จากรัสเซียในชื่อรุ่น SA-20c หลังบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015
            จะเห็นว่าระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่น่ากลัวสุดคือ S-300 กับ S-200A เป็นไปได้ว่าระบบดังกล่าวคือเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสหรัฐต้องทำลายให้สิ้นซาก
คำถามสำคัญคืออิหร่านจะตอบโต้อย่างไร :
            ฝ่ายสหรัฐจะเปิดฉากโจมตีหรือไม่เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ บางคนคิดว่าไม่น่าจะเกิด คำถามสำคัญกว่าคือหากเกิดขึ้นจริงอิหร่านจะตอบโต้อย่างไร รุนแรงเพียงใด เปิดศึกหน้ากว้างแค่ไหน เช่น โจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ฐานทัพสหรัฐในภูมิภาค ปิดอ่าวเปอร์เซีย โจมตีพวกอาหรับ โจมตีอิสราเอล หรือกระทั่งโจมตีสถานทูต ผลประโยชน์สหรัฐทั่วโลก
            คำถามตามมาอีกข้อคือหากอิหร่านตอบโต้ ฝ่ายสหรัฐจะโจมตีให้หนักกว่าเดิม ยืดเยื้อกว่าเดิมหรือไม่
            สงครามจะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา เป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด
26 พฤษภาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8232 วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2562)
----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
อิหร่านต่อกรกับสหรัฐเรื่อยมา ไม่เพียงเพราะการปฏิวัติอิสลาม การมองย้อนหลังไกลกว่า 40 ปีช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น ชาติมหาอำนาจต้องการครอบงำอิหร่าน เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ค้นพบน้ำมัน
ทรัมป์ใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตีอิหร่านเรื่อยมา การพูดอีกรอบในช่วงนี้จึงอาจดูเหมือนไม่ใช่ของแปลกใหม่ แต่ถ้าคิดอย่างมีเหตุผล อาจเป็นการทดสอบปฏิกิริยาคนอเมริกันและอาจเล่นงานอิหร่านให้หนักกว่าเดิม
ไม่มีนิยามสากลว่าจันทร์เสี้ยวชีอะห์ครอบคลุมพื้นที่ใด คำตอบที่ถูกต้องไม่มี เพราะแท้จริงแล้วไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจน เป้าหมายที่สร้างขึ้นเพื่อจะทำลาย
บรรณานุกรม :
1. First assessment blames Iran for Middle East ship explosions, official says. (2019, May 13). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/world/iran-middle-east-ship-explosions-assessment
2. International Institute for Strategic Studies (IISS). (2018). The Military Balance 2018. USA: Routledge.
3. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global Response. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
4. Oman trying to reduce US-Iran tensions: foreign ministry tweet. (2019, May 24). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1501476/middle-east
5. S. Arabia calls urgent Gulf, Arab League meetings over tensions. (2019, May 19). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/s-arabia-calls-urgent-gulf-arab-league-meetings-over-tensions-doc-1gm7w13
6. Saudi Arabia says oil facilities outside Riyadh attacked. (2019, May 14). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-saudi-oil-usa-iran/saudi-arabia-says-oil-facilities-near-riyadh-attacked-idUSKCN1SK0YM
7. Saudi oil tankers sabotaged off UAE coast as Trump warns Iran of ‘suffering greatly’ if Tehran attacks. (2019, May 13). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1496301/saudi-arabia
8. US Americans believe war with Iran is coming: poll. (2019, May 21). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/us-americans-believe-war-with-iran-is-coming-poll/a-48822649
9. Trump: U.S. will respond with 'great force' if Iran attacks interests. (2019, May 21). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-iran/trump-u-s-will-respond-with-great-force-if-iran-attacks-interests-idUSKCN1SQ2BX
-----------------------------

unsplash-logoUX Gun