การแข่งขันช่วงชิงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

มีแนวคิดว่าแท้จริงแล้วการที่รัฐบาลสหรัฐจ้องเล่นงานอิหร่านเป็นเพราะแรงกดดันจากซาอุดีอาระเบีย ความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่านเป็นการช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยอมกันไม่ได้
            นักวิชาการบางคนอธิบายว่าความเป็นไปในภูมิภาคตะวันออกกลางในยุคนี้แท้จริงแล้วเป็นการแข่งขันช่วงชิงระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับผู้ปกครองซาอุดีอาระเบีย
            ฝ่ายซาอุฯ หวังยืมมือรัฐบาลสหรัฐจัดการอิหร่าน ชักชวนกดดันให้รัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายเป็นปรปักษ์กับอิหร่าน รัฐบาลบางชุดร่วมมือด้วยดี บางชุดซาอุฯ ไม่พอใจดังเช่นรัฐบาลโอบามา
            ธันวาคม 2013 เจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz เขียนบทความลงสื่อ ความตอนหนึ่งว่า นโยบายหลายเรื่องที่มีต่ออิหร่านกับซีเรียของพวกตะวันตกทำให้เสถียรภาพและความมั่นคงของตะวันออกกลางตกอยู่ในความเสี่ยง เป็นเดิมพันอันตราย ทำให้เราไม่สามารถทนนิ่งเงียบ นิ่งเฉยอีกต่อไป” แทนที่จะจัดการรัฐบาลซีเรียกับอิหร่าน หุ้นส่วนชาติตะวันตกของเราบางประเทศปฏิเสธที่จะลงมือเต็มกำลัง พวกตะวันตกยอมให้ระบอบหนึ่งอยู่รอดต่อไป และอีกระบอบหนึ่งยังคงสามารถเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม (หมายถึงซีเรียกับอิหร่าน)
            รัฐบาลซาอุฯ จะรับผิดชอบต่อเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าชาติตะวันตกจะสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม ไม่มีอะไรสามารถขัดขวางความต้องการแสวงหาสันติภาพ ความมั่นคงของโลกอาหรับ เป็นสารที่ส่งตรงถึงรัฐบาลโอบามาแม้จะไม่เอ่ยนามโดยตรง
รากฐานความขัดแย้ง :
            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าผู้นำซาอุฯ ประกาศว่าตนเป็นผู้นำศาสนาที่แท้จริง เป็นผู้นำมุสลิมโลก
            กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ (King Salman Bin Abdul Aziz) ตรัสในที่ประชุม Arab Islamic American Summit 2017 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ร่วมงานว่า ชาติอาหรับกับอิสลามผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด 55 ประเทศเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการต่อสู้ลัทธิสุดโต่ง (extremism) กับลัทธิก่อการร้าย เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพโลก การประชุมช่วยกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ
            “ด้วยความรับผิดชอบต่อองค์อัลเลาะห์ (Allah) ต่อประชาชนของเราและต่อโลก เราจะยืนเคียงข้างกันเพื่อสู้พลังความชั่ว (forces of evil) ลัทธิสุดโต่ง”
            “ทุกวันนี้เราเห็นบางคนที่คิดว่าตัวเองเป็นมุสลิมพยายามบิดเบือนภาพลักษณ์ศาสนา พยายามเชื่อมโยงศาสนาอันยิ่งใหญ่เข้ากับความรุนแรง” “ระบอบอิหร่านกับกลุ่มและองค์กรใกล้ชิดอย่างฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส รวมทั้ง ISIS (Daesh) อัลกออิดะห์ และอีกหลายกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนพวกเหล่านี้ พยายามใช้ประโยชน์จากอิสลาม (exploit Islam) เพื่อปิดบังเป้าหมายทางการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง ความสุดโต่ง การก่อการร้าย ความขัดแย้งทางศาสนาและนิกาย
            ในอีกวาระหนึ่งกล่าวว่า ระบอบอิหร่านเป็นหัวหอกก่อการร้ายโลกตั้งแต่ปฏิวัติโคไมนีจนถึงทุกวันนี้ ปฏิเสธความหวังดีของเพื่อนบ้าน เป็นพวกมักใหญ่ใฝ่สูงที่ชอบขยายอำนาจ (expansionist ambitions) พวกก่ออาชญากรรม แทรกแซงกิจกการภายในของประเทศอื่นๆ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดหลักการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน การเคารพซึ่งกันและกัน
            Adel al-Jubeir ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ กล่าวว่า อิหร่านไม่มีส่วนกับโลกอาหรับจึงต้องถูกขับออกไป เราจะเจรจากับประเทศที่ต้องการฆ่าเราได้อย่างไร
            Yousef al-Otaiba เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ประจำสหรัฐกล่าวว่าแรงกดดันจากภายนอกเป็นกุญแจและจำต้องมีเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอิหร่าน ต้องปิดล้อมอิหร่านทุกทาง
จะเห็นว่า มุมมองของรัฐบาลซาอุฯ ต่ออิหร่านไม่แตกต่างจากรัฐบาลทรัมป์ จนต้องตั้งคำถามว่าใครลอกใคร ใครตามใคร หรือเป็นการปรึกษาหารือได้ข้อสรุปร่วมกัน

            ข้อมูลอีกด้านระบุว่าปี 1979 ไม่เพียงเป็นปีปฏิวัติอิหร่านเท่านั้น ยังเป็นปีที่รัฐบาลซาอุฯ เริ่มนโยบายส่งเสริมวาฮะบีระลอกใหม่ ใช้เงินมหาศาลจากการขายน้ำมันส่งเสริมวาฮะบีทั่วโลก เป็นที่มาของมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่มในปัจจุบัน พวกวาฮะบีต่อต้านชีอะห์อย่างรุนแรง
            อดีตผู้นำอยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) กล่าวว่าผู้ปกครองซาอุฯ เป็นพวกวาฮะบีที่ไร้พระเจ้า (godless Wahhabis) เรียกร้องให้ล้มราชวงศ์ซาอุ
            ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองซาอุฯ กับระบอบอิหร่านจึงมีที่มาทั้งจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะห์ กับความขัดแย้งที่เพิ่มซ้อนทับจากสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ปกครองซาอุฯ ต้องการล้มล้างระบอบอิหร่าน เช่นเดียวกับที่ระบอบอิหร่านต้องการล้มล้างราชวงศ์ซาอุ

ทำไมต้องต้านอิทธิพลอิหร่านในซีเรีย :
            สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นอีกตัวอย่างแสดงให้เห็นความเป็นปรปักษ์ระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน มีข้อมูลจำนวนมาชี้ว่ารัฐบาลอาหรับสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธมุสลิมสารพัดกลุ่มเข้าร่วมทำสงครามล้มล้างระบอบอัสซาด รวมทั้งกลุ่มที่ยอมรับกันทั่วไปว่าคือผู้ก่อการร้าย ISIS เป็นเพียงกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น หลายประเทศร่วมกันส่งกองทัพจัดการผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ รวมทั้งรัฐบาลอิหร่านสนับสนุนกองกำลังชีอะห์ช่วยรัฐบาลอัสซาด
            ทั้งที่อิหร่านประกาศว่าคือการต่อต้านก่อการร้ายเช่นเดียวกับที่นานาชาติกระทำ แต่ฝ่ายซาอุฯ มองว่าอิหร่านกำลังขยายอิทธิพลในซีเรีย เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะนอกจากประเด็นต่อต้านก่อการร้ายแล้ว ฝ่ายซาอุฯ สนับสนุนโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด
            เจ้าชาย Abdulaziz กล่าวว่ากองกำลังอิหร่านในซีเรียเป็นแรงเสริมระบอบอัสซาด ทหารเหล่านี้ไม่ได้เข้าประเทศซีเรียเพื่อป้องกันการยึดครองจากศัตรูภายนอก แต่เพื่อสนับสนุนระบอบอันชั่วร้ายที่ทำร้ายทำลายประชาชนซีเรีย รัฐบาลซาอุฯ จะสนับสนุน Free Syrian Army และกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียต่อไป
            ถ้าอธิบายตามยุทธศาสตร์ปิดล้อม นี่คือการปิดล้อมอิทธิพลอิหร่านในซีเรียที่ฝ่ายซาอุฯ กับสหรัฐพยายามเรื่อยมา ดังเช่นในอิรัก เยเมนและทุกที่ๆ มีชีอะห์
ยืมมือรัฐบาลทรัมป์คว่ำบาตรอิหร่าน :
            ผลสำคัญข้อหนึ่งของการมีข้อตกลงนิวเคลียร์ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ปี 2015 ที่ลงนามในสมัยรัฐบาลโอบามาคือ นานาชาติเลิกคว่ำบาตรอิหร่านตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ นักธุรกิจยุโรปนับร้อยนับพันแห่เข้าไปลงทุนในอิหร่านในยามที่อิหร่านต้องการการลงทุนจากต่างชาติอย่างยิ่ง
            ฝ่ายซาอุฯ ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ที่สำคัญกว่าคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจอิหร่านคือการฟื้นตัวของระบอบที่แข่งอิทธิพลกับซาอุฯ
            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ รัฐบาลซาอุฯ ยืมมือรัฐบาลทรัมป์ (พรรครีพับลิกัน) ประกาศยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ฝ่ายเดียว พร้อมกับประกาศห้ามเอกชนไม่ว่าจากประเทศใดทำธุรกิจกับอิหร่าน มิฉะนั้นจะอยู่บัญชีรายชื่อที่รัฐบาลสหรัฐจะคว่ำบาตร ผลคือบริษัทเอกชนยุโรปพากันถอยกรูด แม้กระทั่งบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับรัฐบาลของตน
            การก้าวขึ้นมาของรัฐบาลทรัมป์ช่วยพลิกสถานการณ์ให้กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเข้มข้นอีกครั้ง
            ล่าสุดรัฐบาลทรัมป์ประกาศขู่คว่ำบาตรทุกประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน รวมทั้งประเทศที่เดิมได้รับผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ เห็นชัดว่าเป็นการปิดล้อมเศรษฐกิจอิหร่านอย่างรุนแรง ตรงตามความต้องการของฝ่ายซาอุฯ
การจัดระเบียบตะวันออกกลาง  :
            เรื่องราวทั้งหมดสามารถอธิบายว่ารัฐบาลซาอุฯ กำลังจัดระเบียบตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ จัดการรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นอุปสรรค ดังที่เจ้าชาย Abdulaziz กล่าวว่าซาอุฯ เป็นเสาหลักของอิสลาม เป็นแหล่งพลังงานของโลก นี่คือท่าทีและเป้าหมายของซาอุ
            มีผู้เสนอให้ชาติตะวันตกวางตัวเป็นกลาง นำ 2 ฝ่ายสู่โต๊ะเจรจาระงับความขัดแย้ง เพื่อยุติการเข่นฆ่าที่ไม่รู้จบ เกิดผู้อพยพลี้ภัยหลายล้านคนที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก กำลังเป็นปัญหาแก่หลายประเทศ แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายซาอุฯ ยังไม่อยากเจรจา แม้กระทั่งนักการเมืองอเมริกันบางคน เพราะคิดว่าการจัดการศัตรูตัวร้ายสำคัญกว่า ความโกลาหลและหายนะเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากกว่า
12 พฤษภาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8218 วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2562)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
Mohammed bin Salman รองมกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบียหารือประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเป็นทางการ ฝ่ายซาอุฯ ไม่เชื่อว่ามาตรการ (ห้ามคน 6 ประเทศเข้าเมือง) มุ่งเป้าชาติมุสลิมหรือศาสนาอิสลาม แท้จริงแล้วทรัมป์เคารพศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง เป็น “มิตรแท้ของมุสลิม” 2 ฝ่ายเห็นร่วมที่จะต้องจัดการอิหร่านตัวการทำลายเสถียรภาพภูมิภาค
ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรกับรัฐบาลซาอุฯ ท่ามกลางผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ รวม 55 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือร่วมต่อต้านก่อการร้ายซึ่งหมายถึงมุสลิมสุดโต่งกับอิหร่าน เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์พูดถึงความดีความชั่ว ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย ยอมรับว่าแนวทางศาสนาของซาอุฯ เข้าได้กับนโยบายของตน
บรรณานุกรม :
1. Iran has no role in the Arab world other than to get out: Saudi FM. (2018, Sep 27). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1378501/saudi-arabia
2. King Salman: Iran spearheading global terror. (2017, May 22). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1103121/saudi-arabia
3. Prince Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz. Saudi Arabia Will Go It Alone. (2013, December 17). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2013/12/18/opinion/saudi-arabia-will-go-it-alone.html?_r=0
4. Saudia Arabia and Iran: The Cold War of Islam. (2016, May 9). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/saudia-arabia-iran-and-the-new-middle-eastern-cold-war-a-1090725.html
5. ‘Saudi Arabia will go it alone,’ says diplomat.  (2013, December 18). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2013/12/18/-Saudi-Arabia-will-go-it-alone-.html
6. Saudi, UAE officials call for regime change in Iran at US summit. (2018, Sep 26). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2018/09/saudi-uae-officials-call-regime-change-iran-summit-180926120309913.html
7. Washington Post: State Department to announce all countries importing Iranian oil will be subject to US sanctions. (2019, April 22). CNN.  Retrieved from https://edition.cnn.com/2019/04/21/politics/state-department-iran-oil-sanctions/index.html
-----------------------------

unsplash-logoKyle Glenn