ทรัมป์สัมพันธ์ดีกับซาอุฯ ร่วมต้านอิหร่าน

กลางเดือนมีนาคม Mohammed bin Salman รองมกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบียหารือประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาว แถลงการณ์ของฝ่ายซาอุฯ ระบุว่าเดิมมีความเห็นต่างบางเรื่อง (สมัยรัฐบาลโอบามา) บัดนี้ 2 รัฐบาลคิดเห็นตรงกันแล้ว พร้อมกับสนับสนุนนโยบายของทรัมป์ว่า “ซาอุดิอาระเบียไม่เชื่อว่ามาตรการ (ห้ามคน 6 ประเทศเข้าเมือง) มุ่งเป้าชาติมุสลิมหรือศาสนาอิสลาม” มีจุดมุ่งหมายเพื่อสกัดผู้ก่อการร้ายเข้าประเทศเท่านั้น เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของสหรัฐในฐานะรัฐอธิปไตยที่จะทำเช่นนั้น รัฐบาลซาอุฯ มีข้อมูลเช่นกันว่ามีผู้วางแผนโจมตีสหรัฐ แท้จริงแล้ว “ประธานาธิบดีทรัมป์เคารพศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง” เห็นว่าเป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญแต่ถูกพวกหัวรุนแรงนำไปใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ทรัมป์จึงเป็น “มิตรแท้ของมุสลิม” (true friend of Muslims) การมองทรัมป์แง่ลบต่ออิสลามเป็นเพราะสื่อบิดเบือน
            เรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าผลการเจรจาเมื่อปี 2015 เป็นข้อตกลงที่แย่ที่สุด เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพียงยับยั้งอิหร่านช่วงสั้นๆ นอกจากนี้อิหร่านคงนโยบายขยายอำนาจในภูมิภาค สนับสนุนองค์กรก่อการร้าย หวังขยายบทบาทในศาสนาอิสลาม ขัดขวางการแก้ปัญหาปาเลสไตน์ ตรงข้ามกับซาอุฯ ที่เป็นผู้นำโลกมุสลิมอย่างไร้ข้อกังขา 2 ฝ่ายเห็นร่วมที่จะต้องจัดการอิหร่านตัวการทำลายเสถียรภาพภูมิภาค นอกจากนี้ สหรัฐจะร่วมมือกับซาอุฯ ในทุกด้าน ดูแลอุปทานน้ำมันโลก
การใช้คำว่า “อิสลามหัวรุนแรง” ไม่เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลซาอุฯ :
            แถลงการณ์ของเจ้าชาย Salman ไม่เอ่ยถึงการที่ทรัมป์ใช้คำว่า “อิสลามหัวรุนแรง” (radical Islamic terrorism) แต่พอใจต่อทัศนคติ ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ต่ออิสลาม เห็นว่าท่านตั้งใจร่วมไม้ร่วมมือกับโลกมุสลิม ขอให้ทุกคนเข้าใจทรัมป์อย่างถูกต้องไม่เป็นไปตามการบิดเบือนของสื่อ
ตั้งแต่ช่วงหาเสียง นโยบายต่อต้านก่อการร้ายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลายคนตั้งคำถามว่าทรัมป์มุ่งเป้ามุสลิมหรือไม่ บางคนชี้ว่าการที่ทรัมป์หรือใครก็ตามที่ใช้คำว่าก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงย่อมตั้งใจที่จะเชื่อมโยง “อิสลาม” เข้ากับ “ก่อการร้าย” เข้ากับ “หัวรุนแรง นิยมความรุนแรง”
Zaid Jilani อธิบายในมุมกว้างว่า นับจากเหตุ 9/11 พวกฝ่ายขวาอเมริกันหาเสียงกับเรื่องโรคกลัวอิสลาม (Islamophobia) เชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้าย IS สถานการณ์ในซีเรีย อิรัก

บัดนี้ ถ้ายึดตามถ้อยแถลงของเจ้าชาย Salman ตัวแทนรัฐบาลซาอุฯ ย่อมต้องตีความว่ารัฐบาลซาอุฯ เห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านก่อการร้ายของทรัมป์ ห้ามมุสลิมมองว่าทรัมป์กำลังคิดร้ายต่ออิสลาม รัฐบาลสหรัฐไม่ได้โหมกระแสโรคกลัวอิสลามแต่อย่างไร ความสัมพันธ์ทวิภาคีกำลังไปด้วยดีและจะดีกว่าที่แล้วมา
เป็นเรื่องแปลกที่ตั้งแต่ช่วงหาเสียง นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่าทรัมป์พยายามปลุกกระแสอิสลามหัวรุนแรง โรคกลัวอิสลาม เพราะเห็นว่าเป็นอีกประเด็นที่ “ให้ความรู้สึกรุนแรง” มากเพียงพอที่จะผลักให้คนอเมริกันออกจากบ้านไปคูหาเลือกทรัมป์ เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าชาวอเมริกันกับยุโรปตะวันตกมีทั้งต่อต้านและสนับสนุน มุสลิมในหลายประเทศต่อต้าน แต่รัฐบาลซาอุฯ เห็นว่าทรัมป์ไม่ได้พยายามต่อต้านมุสลิมแต่อย่างไร และสนับสนุนทรัมป์

ร่วมมือเพราะผลประโยชน์ เป้าหมายเดียวกัน :
            การเยือนของเจ้าชาย Salman แสดงภาพบวกแต่ความสัมพันธ์ซับซ้อนกว่านั้น แต่ไหนแต่ไรชาติมหาอำนาจพยายามครอบงำภูมิภาคตะวันออกกลาง ทรัพยากรน้ำมันเป็นอีกเหตุผลที่มหาอำนาจไม่อาจปล่อยภูมิภาคให้หลุดมือ
            ถ้าจะพูดว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเริ่มมีสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐตั้งแต่สมัย แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) เป็นประธานาธิบดี กุมภาพันธ์ 1945 ไม่กี่เดือนก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กษัตริย์ Abdel-Aziz พบประธานาธิบดีรูสเวลท์ 2 ฝ่ายตกลงกันว่าสหรัฐจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันของซาอุฯ แลกกับการที่สหรัฐจะปกป้องราชวงศ์
            เป็นความสัมพันธ์ที่สหรัฐได้เปรียบ แต่ในเวลาต่อมารัฐบาลซาอุฯ กับพวกสามารถเพิ่มผลประโยชน์ของตน วิกฤตน้ำมัน 1973 เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี เมื่อผู้ผลิตน้ำมันตะวันออกกลางเริ่มตระหนักว่าพวกตนมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมัน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล 1973 รัฐบาลสหรัฐหนุนหลังอิสราเอล โอเปกประกาศไม่ขายน้ำมันแก่ประเทศที่เป็นมิตรกับอิสราเอล หวังกดดันให้ลดการสนับสนุนอิสราเอล สร้างความปั่นป่วนแก่สหรัฐอย่างไม่รู้ลืม ต้องชื่นชมความสามารถของซาอุฯ กับพวกในสมัยนั้น
            จุดปรับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่อีกครั้งเกิดขึ้นจากปฏิวัติอิสลาม (1977-79) การก้าวขึ้นมาของ อยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบอบกษัตริย์ซาอุฯ กับประเทศรอบข้าง พร้อมกับที่สหรัฐเห็นว่าตนเสียประโยชน์มหาศาลเนื่องจากไม่สามารถมีอิทธิพลต่ออิหร่านดังสมัยกษัตริย์ ชาห์ ปาห์ลาวี (Shah Pahlavi) อีกต่อไป
เป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐกับขั้วซาอุฯ มีศัตรูร่วม จึงร่วมกันสนับสนุนให้อิรักทำสงครามกับอิหร่าน (1980-88) ซาอุฯ กับพวกให้งบประมาณมหาศาล เงินกู้ยืมแก่อิรัก (สมัยประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน) ส่วนสหรัฐให้อาวุธกับภาพถ่ายดาวเทียม
สงครามลงเอยด้วยไม่สามารถโค่นล้มระบอบอิหร่าน และเกิดปัญหาซ้อน เมื่ออิรักซึ่งขณะนั้นมีกำลังพลมหาศาลเข้ายึดครองคูเวต ประชิดชายแดนซาอุฯ ร้อนถึงรัฐบาลสหรัฐให้มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ เป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นความอ่อนแอของขั้วซาอุฯ กองกำลังต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก โดยเฉพาะทหารอเมริกันปรากฏดาษดื่นบนแผ่นดินหลายประเทศในตะวันออกกลาง บางคนตั้งคำถามว่าราชวงศ์ซาอุฯ เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำอิสลาม ผู้พิทักษ์อิสลามหรือไม่

            และเป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ 2 ฝ่ายอันซับซ้อน Kristian Ulrichsen อธิบายว่า ในระดับรัฐ ซาอุฯ พึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐ แต่ในอีกด้านรัฐบาลซาอุฯ ส่งเสริมให้พลเมือง (มุสลิม) ต่อต้านการเข้ามาของทหารต่างชาติ ดังที่ทหารอเมริกันเผชิญการต่อต้านอย่างดุเดือดจากสารพัดกองกำลังหลังสิ้นระบอบซัดดัม มีข้อมูลว่ากองกำลังติดอาวุธต่างชาติ (ต่อต้านพวกตะวันตก) ที่อยู่ในอิรักส่วนใหญ่คือคนซาอุฯ สื่อตะวันตกในยุคนั้นรายงานทหารอเมริกันที่ถูกยิงบาดเจ็บเสียชีวิตในแต่ละวัน คะแนนนิยมของประธานาธิบดีบุชหดหายไปเรื่อยๆ
            จะเห็นว่านโยบาย “รัฐบาลพึ่งพา ประชาต่อต้าน” เพิ่มพูนอำนาจต่อรองกับสหรัฐ ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต่อต้านทหารต่างชาติในถิ่นมุสลิม ส่งเสริมความชอบธรรมของราชวงศ์ซาอุฯ

            เมื่อเอ่ยถึงปัจจุบัน สถานการณ์ซีเรียคือตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ 2 ประเทศ
            แม้รัฐบาลโอบามาประกาศชัดต้องการให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad)
ก้าวลงจากอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่พยายามเลี่ยงใช้กำลังทหาร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสวนทางนโยบายที่ต้องการพาทหารกลับมาตุภูมิ พลเมืองอเมริกันไม่สนับสนุนการทำสงคราม ยังติดภาพหลอนจากสงครามอิรัก
            ในเวลาต่อมามีผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธสารพัดกลุ่มเข้าซีเรีย ทำสงครามกับรัฐบาลอัสซาด รวมทั้ง IS/ISIL/ISIS รัฐบาลโอบามาจึงประกาศทำศึกต่อต้านก่อการร้าย เพิ่มการสนับสนุนโค่นล้มระบอบอัสซาด เริ่มจากให้ความช่วยเหลือสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธสังหาร จากนั้นใช้กำลังทางอากาศต่อ IS ใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนฝ่ายต่อต้านสายกลาง แต่ดูเหมือนว่าขั้วซาอุฯ ยังไม่พอใจ เพราะรัฐบาลโอบามาไม่ยอมส่งกองทัพเข้าทำศึกภาคพื้นดิน ทำให้สถานการณ์ซีเรียยืดเยื้อ ไม่มีฝ่ายใดชนะขาด
            ซ้ำร้ายกว่านั้น ตุลาคม 2014 รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวในงานปาฐกถาของ Harvard Kennedy School ความตอนหนึ่งว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดคือพันธมิตรของเราเอง” ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ เช่น กาตาร์ “มุ่งมั่นโค่นล้มอัสซาดและทำสงครามตัวแทนของซุนนี-ชีอะห์ ... พวกเขาให้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์และอาวุธหนักหลายพันตันแก่ใครก็ตามที่สู้กับอัสซาด” เอ่ยชื่อกลุ่มก่อการร้ายอย่าง Al-Nusra อัลกออิดะห์ และพวกญิฮาดสุดโต่ง
            ไม่กี่วันต่อมาทำเนียบขาวแถลงว่ารองประธานาธิบดีไบเดน “ขออภัยต่อผลกระทบใดๆ ที่มีต่อตุรกี พันธมิตรหรือประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ในภูมิภาค ที่ว่าประเทศเหล่านี้ตั้งใจสนับสนุน ISIL หรือกลุ่มสุดโต่งหัวรุนแรงอื่นๆ ในซีเรีย” ชี้แจงว่ารองประธานาธิบดีไม่ได้หมายถึงเช่นนั้นจริงๆ
            สถานการณ์ซีเรียเป็นกรณีตัวอย่างปัจจุบัน แสดงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างรัฐบาลสหรัฐ (โอบามา) กับขั้วซาอุฯ คล้ายหลายเหตุการณ์ในอดีต

วิเคราะห์องค์รวม :
            จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐในปัจจุบันพัฒนากลายเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่แบบอาณานิคมอีกต่อไป ถ้ายึดผลประโยชน์แต่ละฝ่ายเป็นที่ตั้ง ต้องชื่นชมความสามารถของขั้วซาอุฯ ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลสหรัฐมากกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลสหรัฐยังให้ความคุ้มครอง แสดงออกเป็น 2 ฝ่ายร่วมมือกันในระบบค้าน้ำมันโลก ต่อต้านก่อการร้าย แก้ปัญหาปาเลสไตน์ และอีกประเด็นคือต่อต้านอิหร่าน
            อันที่จริงแล้ว ถ้าไม่คิดเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้หากสามารถควบคุมอิหร่าน อิหร่านถือเป็นภัยที่ไกลตัวสหรัฐ แต่ใกล้ตัวซาอุฯ การที่รัฐบาลสหรัฐถืออิหร่านเป็นภัยคุกคามสำคัญส่วนหนึ่งจึงน่ามาจากการชักนำของซาอุฯ
การเยือนของเจ้าชาย Salman ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอิหร่านกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐบาลทรัมป์คิดเห็นตรงกับซาอุฯ มากกว่าสมัยรัฐบาลโอบามา 2 ฝ่ายสนับสนุนแนวทางต่อต้านก่อการร้ายที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามุ่งหมายมุสลิมหัวรุนแรง อีกไม่นานนโยบายเหล่านี้จะชัดเจนยิ่งขึ้น มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น การจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางเข้าสู่อีกเฟสแล้ว
26 มีนาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7443 วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2560)
---------------------------
ทความที่เกี่ยวข้อง 
รองประธานาธิบดีไบเดนอ้างว่ารัฐบาลตุรกี ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ให้เงินและอาวุธกับผู้ก่อการร้าย รวมทั้งกลุ่ม IS แม้ว่าทำเนียบขาวจะชี้แจงว่าท่านไม่ได้ตั้งใจหมายความเช่นนั้นจริง แต่เป็นอีกข้อมูลอีกชิ้นที่ชี้ว่าชาติอาหรับให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย และเกิดคำถามว่าคำพูดของท่านสร้างความกระจ่างหรือสร้างความสับสนกันแน่
บรรณานุกรม:
1. Bazian, Hatem. (2017, January 30). Trump's war on Islam and clash of civilization wrecking crew! Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/columns/hatem-bazian/2017/01/30/trumps-war-on-islam-and-clash-of-civilization-wrecking-crew
2. Biden: Turks, Saudis, UAE funded and armed Al Nusra and Al Qaeda. (2014, October 4). Mideast Shuffle. Retrieved from http://mideastshuffle.com/2014/10/04/biden-turks-saudis-uae-funded-and-armed-al-nusra-and-al-qaeda/
3. Convergence on Iran, visa ban during Mohammed bin Salman-Trump meeting. (2017, March 15). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/perspective/features/2017/03/15/Convergence-on-Iran-visa-ban-during-Mohammed-bin-Salman-Trump-meeting.html
4. Dargie, Richard. (2008). Iran.USA:  Arcturus Publishing.
5. Katusa, Marin. (2015). The Colder War: How the Global Energy Trade Slipped from America's Grasp. USA: John Wiley & Sons.
6. Saudi Prince Sees Trump as 'True Friend' to Muslims (Full Text). (2017, March 15). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-03-15/saudi-prince-sees-trump-as-true-friend-to-muslims-full-text
7. The White House. (2017, March 15). T Readout of the President's Meeting with Mohammed bin Salman Abdulaziz Al Saud, Deputy Crown Prince and Minister of Defense of the Kingdom of Saudi Arabia. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/03/15/readout-presidents-meeting-mohammed-bin-salman-abdulaziz-al-saud-deputy
8. Trump ‘true friend of Muslims,’ Saudi prince says after meeting. (2017, March 15). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/380822-trump-saudi-muslim-friend/
9. Ulrichsen, Kristian Coates. (2015). Insecure Gulf: The End of Certainty and the Transition to the Post-oil Era. New York: Oxford University Press.
10. What to know about the meeting between the Deputy Crown Prince and Trump. (2017, March 15). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/features/2017/03/15/All-what-you-need-to-know-about-the-meeting-between-the-Crown-Prince-and-Trump.html
11. Zaid Jilani: There Is an Islamophobia Industry in the US That Makes a Lot of Money. (2016, April 24). FNA. Retrieved from http://en.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13950204001409
-----------------------------